5 เหตุผล ห้ามจ่ายบัตรเครดิตแค่ขั้นต่ำ ถ้าไม่อยากช้ำใจไปนาน

27 8

สำหรับสาวๆ Shopping Time น่าจะเป็น Happy Time โดยเฉพาะถ้าได้ไป Shopping กับ “บัตรเครดิตเพื่อนเลิฟ” จะยิ่ง Happy สุดๆ ไปเลย เพราะใช้ง่ายจ่ายสะดวก (แล้วค่อยมาปาดเหงื่อกันอีกทีตอนเห็นใบแจ้งหนี้ ... พวกเรารู้ พวกเราเห็น เพราะพวกเรา “แก๊งนักสืบดอกจัน” เป็นแบบนี้กันทู้กกกคน ^^) ก็จะไม่ยกให้ “บัตรเครดิต” เป็นเพื่อนรักเพื่อนเลิฟของสาวๆ ได้ยังไง เพราะมีทั้งส่วนลด มีเงินคืน สะสมคะแนน มีสิทธิประโยชน์บางอย่างที่เงินสดไม่มี ไม่ต้องหอบเงินสดจำนวนมากๆ ไปซื้อของ และที่สำคัญ คือ ให้ยืมเงินใช้ฟรีไม่มีดอกเบี้ยด้วยล่ะจ้าาาาาา

เพราะบัตรเครดิตจะให้ “เวลาปลอดดอกเบี้ย” ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 50-55 วัน เท่ากับว่า เราสามารถนำเงินของคนอื่นไปใช้ได้นานถึง 50-55 วัน แล้วนำเงินมาคืน โดยที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยสักบาทแต่ “เพื่อนรัก” จะกลายเป็น “เพื่อนร้าย” ทันที ถ้าครบกำหนดเวลาปลอดดอกเบี้ยแล้ว เราจ่ายคืนแค่ขั้นต่ำ หรือจ่ายคืนแค่บางส่วน ไม่สามารถจ่ายคืนได้เต็มจำนวนดังนั้นถ้าอยากจะเป็นเพื่อนรักกันไปนานๆ อย่าจ่ายแค่ขั้นต่ำ หรือ จ่ายคืนแค่บางส่วน เพราะ...

1. ถ้าจ่ายแค่ขั้นต่ำ... จะถูกคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่รูดถ้าครบกำหนดแล้ว สาวๆ ไม่ได้จ่ายบัตรเครดิตเต็มตามจำนวนที่ใช้ไป สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ดอกเบี้ย เพราะถือว่าเงินที่เราค้างชำระเป็น “หนี้บัตรเครดิต” ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่แค่จ่ายขั้นต่ำ หรือ 10% ของยอดค้างชำระตามที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจ่ายเพียงแค่บางส่วนด้วย และดอกเบี้ยที่คิดก็ไม่ได้เริ่มจากวันที่ครบกำหนดชำระ แต่จะเริ่มคิดตั้งแต่วันที่เราใช้บัตรเครดิต หรือ วันที่สถาบันการเงินเจ้าของบัตรออกเงินให้เราไปก่อน 

เพื่อให้เข้าใจวิธีการคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตขึ้นมาอีกนิดนึง ลองมาคำนวณกันซักนิ้ดดดดนึง นิดเดียวจริงๆ อย่าเพิ่งเบื่อกันซะก่อน  

ตัวอย่างสมมติ บัตรเครดิตของธนาคาร JB คิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 18% ต่อปี สรุปยอดทุกวันที่ 25 และกำหนดชำระทุกวันที่ 10 ของเดือนถัดไป วันที่ 5 ต.ค. >> นางสาว จ. ใช้บัตรเครดิตธนาคาร JB ไป 10,000 บาท เมื่อ และหลังจากนั้นก็ไม่ได้ใช้บัตรอีกเลย วันที่ 25 ต.ค. >> ธนาคารสรุปยอดใช้จ่าย เท่ากับ 10,000 บาท และกำหนดยอดชำระขั้นต่ำ 1,000 บาท วันที่ 10 พ.ย. >> เป็นวันครบกำหนดชำระ นางสาว จ. ชำระแค่ขั้นต่ำจำนวน 1,000 บาท วันที่ 25 พ.ย. >> ธนาคารสรุปยอดใช้จ่ายอีกครั้ง มียอดต้องชำระรวม 9,248.54 บาท แบ่งเป็น 3 ก้อน คือ 1. ยอดที่ยังไม่ได้ชำระ 9,000 บาท2. ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมก้อนแรกคำนวณจากยอดเต็ม นับตั้งแต่วันที่ธนาคารทดรองจ่ายเงินให้นางสาว จ. จนถึงวันก่อนชำระ = (10,000 x18% x 36)/ 365  = 177.53บาท3. ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมก้อนที่สองคำนวณจากยอดที่ยังไม่ได้ชำระ นับตั้งแต่วันที่ชำระบางส่วนจนถึงวันสรุปยอดรายการในเดือนถัดไป =  (9,000 x 18% x 16)/ 365  = 71.01บาท

วันที่ 10 ธ.ค. >> เป็นวันครบกำหนดชำระ นางสาว จ. ชำระเต็มจำนวนที่เรียกเก็บ 9,248.54 บาทวันที่ 25 ธ.ค. >> แม้ว่า นางสาว จ. จะจ่ายเงินครบตามยอดเรียกเก็บไปแล้ว แต่หนี้ยังไม่หมด เพราะดอกเบี้ยบัตรเครดิตคำนวณกันเป็นรายวัน จึงยังเหลือดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่คำนวณจากวันที่ 26 พ.ย. - 9 ธ.ค. (วันก่อนชำระเงิน) = (9,000 x 18% x 14)/ 365 = 62.13 บาท  รวมแล้ว นางสาว จ. ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคาร JB ทั้งหมด 310.67 บาท

วิธีแก้ >>> หลีกเลี่ยงดอกเบี้ยบัตรเครดิตด้วยการจ่ายเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนดชำระ*แต่ถ้าเป็นการกดเงินสดจากบัตรเครดิต นอกจากจะไม่มีเวลาปลอดดอกเบี้ยแล้ว (กดเงินออกมาวันนี้ ดอกเบี้ยเริ่มเดินหน้าทันที) ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมเบิกเงินสดอีก 3% ทันทีอีกด้วย

2. ถ้าจ่ายแค่ขั้นต่ำ... กว่าจะจ่ายดอกเบี้ยหมด ใช้เวลาเป็นปีๆ ช่วง happy time มักอยู่กับเราไม่นาน เช่นเดียวกับการใช้บัตรเครดิตที่เพียงไม่กี่วินาที ก็รูดบัตรเรียบร้อย แต่ช่วงเวลาการจ่ายหนี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน ถ้าเลือกที่จะจ่ายแค่ขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ถ้าจะให้เดาว่า เราจ่ายบัตรเครดิตเท่ากับขั้นต่ำที่เรียกเก็บ หรือ 10% ของยอดหนี้คงค้างไปเรื่อยๆ จะใช้เวลากี่ปีถึงจะปลดหนี้บัตรเครดิตจำนวน 50,000 บาท (ระหว่างนี้สัญญาว่าจะไม่ก่อหนี้เพิ่มซักบาทเดียว) ที่คิดดอกเบี้ย 18% ต่อปี ได้หมด สาวๆ อาจจะคิดว่า แหม! เลขง่ายๆ เด็กประถมก็ตอบได้ จ่ายเดือนละ 5,000 บาท 10 เดือนก็หมดแล้ว... ผิดค่ะ คำตอบที่ถูกต้อง คือ 76 เดือน หรือ 6 ปี 4 เดือนระยะเวลาและจำนวนเงินที่ต้องจ่ายรวมทั้งหมด หากชำระเท่ากับยอดเรียกเก็บขั้นต่ำ (10% ของหนี้คงค้างในแต่ละเดือน)

ตัวอย่างสมมตินี้อาจจะดูสุดโต่งไปหน่อย เพราะถ้าชำระไปเรื่อยๆ หนี้คงค้างเหลือน้อยลงเรื่อยๆ เราคงไม่ได้จ่ายแค่ขั้นต่ำตามที่เรียกเก็บแน่ๆ แค่อยากเตือนใจกันไว้ซักหน่อยว่า อย่าเพลิดเพลินไปกับยอดขั้นต่ำ เพราะมันทำให้เรากลายเป็น “หนี้เรื้อรัง” ได้ไม่ยาก

วิธีแก้ >>> หลีกเลี่ยงดอกเบี้ยบัตรเครดิตด้วยการจ่ายเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนดชำระ หรือ ถ้าไม่สามารถจ่ายเต็มจำนวนได้ ควรจะชำระให้มากกว่ายอดเรียกเก็บขั้นต่ำ *กรณีที่ตั้งใจจะปลด “หนี้เรื้อรัง” ควรกำหนดจำนวนเงินที่จะจ่ายในแต่ละเดือนเป็นจำนวนคงที่ ไม่วอกแวกไปกับยอดชำระขั้นต่ำที่ลดลง เช่น ถ้ามีหนี้ค้างชำระ 50,000 บาท เดือนแรกจ่ายขั้นต่ำ 5,000 บาท เดือนต่อๆ ไปยังคงจ่าย 5,000 บาท เท่าเดิม แม้ว่ายอดเรียกเก็บขั้นต่ำจะลดเหลือประมาณ 4,500 บาทแล้วก็ตาม ถ้าทำได้แบบนี้ แค่ 10 เดือนก็สบายแล้ว

3. ถ้าจ่ายแค่ขั้นต่ำ... หนี้จะก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจะเป็นหนี้นานแล้ว การจ่ายแค่ยอดเรียกเก็บขั้นต่ำยังทำให้เป็นหนี้มากขึ้นอีกด้วย ถ้าดูจากตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยของ นางสาว จ. อาจจะรู้สึกว่าไม่ได้มากมายอะไรก็ “แค่ดอกเบี้ยไม่กี่ร้อยบาท” แต่ถ้าจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น มียอดค้างชำระ 50,000 บาท แล้วจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อย โดยที่ไม่ได้นำบัตรเครดิตใบนี้ไปใช้อีกเลย จะเสียดอกเบี้ยรวม 8,810.75 บาท  แต่ถ้าเราไม่ได้หยุดใช้บัตรเครดิตใบนี้ และรักษามูลหนี้เอาไว้ที่ 50,000 บาท อย่างเหนียวแน่น โดยที่รูดแล้วจ่ายแค่ขั้นต่ำ 5,000 แล้วรูดใช้อีก 5,000 บาท แล้วก็จ่ายแค่ขั้นต่ำอีก 5,000 บาท... ที่อัตราดอกเบี้ย 18% ต่อปี จะต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมประมาณ 9,000 บาทต่อปีปีละ 9,000 บาท เอาไปซื้ออะไรได้ตั้งเยอะ หรือ จะเอาไปสร้าง happy time แบบอื่นๆ ได้อีกตั้งหลายอย่าง นี่ยังโชคดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศให้ลดเพดานดอกเบี้ยบัตรดิตไม่ให้คิดเกินกว่า 18% จากเดิมกำหนดเพดานไว้ที่ 20% ทำให้ภาระหนี้ลดลงได้ เพราะถ้าเป็น 20% ต่อปี จะต้องจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด 10,000 บาท  

วิธีแก้ >>> หลีกเลี่ยงดอกเบี้ยบัตรเครดิตด้วยการจ่ายเต็มจำนวนเมื่อครบกำหนดชำระ หรือ ถ้าไม่สามารถจ่ายเต็มจำนวนได้อาจจ่ายให้เร็วขึ้นไม่ต้องรอวันครบกำหนด เพื่อลดดอกเบี้ย*อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตเป็น “ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเบี้ย” เพราะฉะนั้นยิ่งจ่ายเร็ว หนี้ยิ่งหมดเร็ว และไม่ทำให้ดอกเบี้ยพอกพูน 

ตัวอย่างสมมติ (อีกแล้ว) ถ้า นางสาว จ. มีหนี้บัตรเครดิตคงค้าง 50,000 บาท ที่อัตราดอกเบี้ย 18% และเลือกจ่ายขั้นต่ำ 5,000 บาท กรณีที่ 1. นางสาว จ. ชำระเมื่อครบกำหนด 50 วัน หลังจากใช้บัตร เงิน 5,000 บาทที่จ่ายไปจะไปเป็นดอกเบี้ย 1,250 บาท และเหลือหนี้ค้างชำระประมาณ 46,250 บาท (ขอใส่ ดอกจัน* ตรงนี้อีกนิดว่า จ่ายไป 5,000 บาท แต่ยอดหนี้ไม่ได้เหลือ 45,000 บาท เพราะเงินที่จ่ายไปจะถูกนำไปจ่ายดอกเบี้ยก่อนถึงจะมาตัดเงินต้น)กรณีที่ 2. แต่ถ้า นางสาว จ.  จ่ายเร็วขึ้นอีกนิด ไม่รอให้ครบกำหนด 50 วัน แต่ไปจ่ายหลังจากวันใช้บัตร 30 วัน เงินที่จ่ายไป 5,000 บาทจะเป็นดอกเบี้ย 750 บาท เหลือเงินต้นอีก 45,750 บาท... ประหยัดดอกเบี้ยและเงินต้นเหลือน้อยลงด้วย

4. ถ้าจ่ายแค่ขั้นต่ำ... แล้วพลาดจ่ายช้า อาจเจอค่าทวงหนี้ในแต่ละเดือนจะมีใบแจ้งหนี้ส่งมาบอกว่า ยอดใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเท่าไร พร้อมกับแจ้งว่า จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องชำระเป็นเท่าไร บางทีมันก็เล็กน้อยจะเราไม่ได้ใส่ใจ เช่น ถ้ายอดหนี้ 10,000 บาท ขั้นต่ำก็แค่ 1,000 บาท เมื่อถ้ากำหนดที่ต้องจ่าย เราก็ไปทำนั่นทำนี่จนเลยเวลาครบกำหนด เจอค่าทวงถามไป 88-100 บาท ต่องวด หรือ ต่อเดือน 

วิธีแก้ >> หลีกเลี่ยงการถูกเรียกเก็บค่าติดตามทวงถามด้วยการจ่ายเต็มจำนวนก่อนถึงวันครบกำหนด *ถ้าเป็นสาวขี้ลืม อาจจะเลือกใช้วิธีหักบัญชีเงินฝากไปชำระหนี้แบบอัตโนมัติ ซึ่งนอกจากจะหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะโดนเรียกเก็บค่าทวงถาม หรือ ติดตามหนี้ เพราะความขี้ลืมแล้ว ยังช่วยเพิ่มวินัยในการใช้บัตรเครดิต โดยเราก็ใช้เท่าที่มีเงินอยู่ในบัญชีเงินฝาก รับรองว่าไม่มีหนี้ ไม่เสียดอกเบี้ย และค่าทวงหนี้ซักบาท

 

5. ถ้าจ่ายแค่ขั้นต่ำ... อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังมีหนี้เกินตัวถ้าในแต่ละเดือนเราไม่สามารถจ่ายหนี้บัตรเครดิตได้มากกว่ายอดขั้นต่ำ นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนเราว่า ตอนนี้สถานการณ์ทางการเงินอาจจะ “ตึง” ไปหน่อยแม้ว่า วันนี้เราจะยังสามารถซื้อเวลาด้วยการจ่ายขั้นต่ำไปได้เรื่อยๆ แต่ถ้าไม่รีบจัดการปัญหาเล็กๆ นี้อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่อนาคต ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่การเป็น “หนี้เกินตัว” เท่านั้น แม้ว่า วันนี้เราจะยังมีประวัติเครดิตที่ดี ไม่มียอดค้างชำระ แต่บางทีก็เป็นปัญหาที่เราคิดไม่ถึง เช่น เวลาไปขอสินเชื่อบ้าน หรือ สินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ อาจจะถูกปฏิเสธสินเชื่อก็ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ขนาดบัตรเครดิตยังจ่ายได้แค่ขั้นต่ำ แสดงว่า “ความสามารถในการชำระหนี้” อาจจะเหลืออยู่น้อยนิด ไม่สามารถรับภาระหนี้ได้เพิ่มอีกแล้ว 

วิธีแก้ >> หยุดใช้บัตรเครดิต (ทุกใบทันที เปลี่ยนสถานะมาเป็น “ห่างกันสักพัก” จากนั้นก็วางแผนการใช้จ่ายเพื่อให้มีเงินเหลือมาจ่ายหนี้ได้มากขึ้น และหาทางลดภาระหนี้โดยด่วน*แต่ตรงนี้ต้องใส่ “ดอกจัน” ตัวใหญ่ๆ เอาไว้เลยว่า การแก้หนี้เก่าด้วยการสร้างหนี้ใหม่ ไม่ใช่ทางออกที่ดี โดยเฉพาะการเบิกเงินสดจากบัตรนั้นมาโปะบัตรนี้ ยิ่งทำให้ติดในวังวนหนี้ ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง วิธีที่ดีที่สุด คือ การปรับวิธีการใช้จ่าย วางแผนการชำระหนี้ และไปลองหา Happy Time แบบอื่นๆ ที่จะไม่ทำให้บัตรเครดิตเพื่อนรักต้องกลายเป็นเพื่อนร้าย

ดูคลิปรู้ทันการใช้บัตรเครดิตเพิ่มเติม กดเลย


DokChanMoney

DokChanMoney

FULL PROFILE