Jeban x SkinX | วิธีเช็กผิวด้วยตัวเอง ฉบับหมอผิวหนัง ผิวแบบไหน รู้ให้ชัวร์! จะได้ดูแลได้อย่างถูกต้อง

by

DaisyOfficial

วิธีเช็กว่าเรามีสภาพผิวหน้าแบบไหน ต้องดูยังไง

สภาพผิวหน้าของเราอยู่ในประเภทไหนสามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือ หลังล้างหน้าเสร็จ อย่าเพิ่งทาสกินแคร์ หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ลงบนผิว ให้รอประมาณ 15 - 30 นาที เพื่อสังเกตความมันบนใบหน้า ดังนี้

  • ถ้าเริ่มมีความมันบนผิวหน้า นั่นก็คือเรามีสภาพผิวมัน
  • ถ้าผิวหน้ายังแห้งก็คือเรามีสภาพผิวแห้ง
  • ถ้าผิวหน้าเริ่มกลับมามีความชุ่มชื้น แต่ไม่ได้มันมาก แสดงว่าเรามีสภาพผิวผสม หรือให้สังเกตบริเวณทีโซน ที่มีทั้งความมัน และส่วนที่แห้งบริเวณรูปเกือกม้าที่อยู่ด้านล่างของใบหน้า

สภาพผิวหน้ามีกี่ประเภท

สภาพผิวของคนเราแบ่งได้หลายแบบ แต่ที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดจะแบ่งเป็น 4 แบบ คือ ผิวแห้ง ผิวมัน ผิวผสม และผิวแพ้ง่าย แต่ในหนึ่งคนก็สามารถมีสภาพผิวที่ต่างกันได้ เช่น มีผิวแพ้ง่าย ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในคนผิวแห้ง ผิวมัน และผิวผสม

วิธีเช็คว่าเรามีสภาพผิวกายแบบไหน / ดูยังไง

วิธีเช็คสภาพผิวกายคล้ายกับสภาพผิวหน้า เนื่องจากผิวกายมีความคล้ายกับผิวหน้า แต่อุดมไปด้วยต่อมไขมัน และขนมากกว่า เพราะผิวกายคือผิวหนังถูกยืดออกไปตามสรีระของเรา ทำให้รูขุมขนมีความห่างของผิวมากกว่าผิวหน้า ดังนั้นจำนวนขนบนผิวจะลดลง แต่จะมีความแห้ง และต้องการน้ำมันที่มากกว่าผิวหน้า

การดูแลผิวกายแต่ละประเภท

การเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกายควรจะเน้นเรื่องความชุ่มชื้น และใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีออยล์เป็นส่วนผสม ต่างจากผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าที่จะเน้นเรื่องคืนความชุ่มชื้น แต่ถ้าหากใช้ผิดประเภท อาจทำให้เกิดปัญหาสิวตามมาได้

และการดูแลผิวกายควรเน้นไปที่การดูแลผิวไม่ให้เกิดการระคายเคือง เช่น ไม่ดึงน้ำมันออกจากผิว ระวังไม่ให้ผิวแห้งเกินไป หรือระวังไม่ให้เกิดความอับชื้น เพราะจะทำให้มีโอกาสเกิดเชื้อราตามมาได้

ปัญหาที่มักพบในผิวกาย

ผิวหนังของคนเราก็เหมือนกับสภาวะแวดล้อม ทั้งเป็นป่าดงดิบบนหนังศีรษะ ป่าชุ่มชื้นบนผิวที่มีความมัน ทั้งยังมีส่วนที่แห้งกร้าน ส่วนที่ขนเยอะ ขนน้อย หรือส่วนที่อับชื้น แตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละส่วนก็มีวิธีการดูแลที่แตกต่างกัน

  • จุดที่อับชื้น จะง่ายต่อการติดเชื้อรา
  • จุดที่มีความมันเยอะ จะง่ายต่อการเกิดสิว
  • จุดที่มีความแห้ง อาจทำให้เป็นแผลเป็นง่าย บางคนเป็นสิวง่าย

สภาพผิวแต่ละประเภทจึงมีการดูแลที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าดูแลไม่เหมาะกับสภาพผิว ก็อาจก่อให้เกิดสิว อาการแพ้ หรือระคายเคืองได้

ดูแลผิวกายยังไงดี และควรหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง

สิ่งที่ผิวหนังต้องการคือน้ำมันเคลือบผิวที่เพียงพอ

  • ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยสบู่ โดยใช้ให้น้อยที่สุด หรือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้ผิวแห้งกร้านเกินไป
  • อุณหภูมิของน้ำที่เหมาะกับผิว คือ 33-36 องศาเซลเซียส น้ำที่ร้อนหรือเย็นเกินไปจะทำให้ผิวแห้งได้

ขนคุดคืออะไร เกิดจากอะไร และมีวิธีการรักษายังไง?

ขนคุด เป็นอีกหนึ่งปัญหาผิวที่พบได้บ่อย บริเวณต้นแขน และต้นขา ซึ่งขนคุดเกิดได้จากการยืดขยายของผิวหนังในช่วงที่เป็นวัยรุ่น ขณะที่ขนโตตามไม่ทัน ทำให้มีลักษณะวกของเส้นขนเกิดการคุด ซึ่งการรักษาขึ้นอยู่กับภาวะความรุนแรงที่เกิดขึ้น ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

ผิวลอกเป็นขุยเกิดจากอะไร มีวิธีการรักษายังไง?

ปกติผิวคนเราจะมีการลอกอยู่ทุกวัน แต่เป็นการลอกในระดับปกติ แต่ในคนผิวแห้งที่มีน้ำมันไม่เพียงพอ ผิวก็จะแข็ง ทำให้เกิดการลอกมากกว่าปกติ โดยผิวจะจับตัวรวมเป็นก้อน แล้วลอกออกทีเดียวเป็นแผ่น ซึ่งแก้ได้ด้วยการเติมความชุ่มชื้นให้ผิว เช่น การทาสกินแคร์ ทามอยเจอร์ไรเซอร์เป็นประจำ หรืออาจจะงดใช้สบู่ในช่วงที่ผิวแห้ง และลอกมากๆ

ปัญหาผิวกายที่ควรพบแพทย์ผิวหนัง

ผื่นแพ้ผิวหนังเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย รองจากกลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น โรคเชื้อราตามข้อพับ ขาหนีบ และจุดที่มีความที่อับชื้นมากเกินไป ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดความระคายเคือง ติดเชื้อรา หรือเป็นงูสวัดตามมาได้ ปัญหาเหล่านี้ หากเป็นแล้ว ไม่ควรปล่อยให้เรื้อรัง จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางโดยเฉพาะให้เร็วที่สุด

  • วิธีเช็กว่าเรามีสภาพผิวหน้าแบบไหน หลังล้างหน้าเสร็จ อย่าเพิ่งทาสกินแคร์ ให้รอประมาณ 15 - 30 นาที เพื่อสังเกตความมันที่เกิดขึ้นบนผิวหน้า
  • สภาพผิวมี 4 แบบ คือ ผิวแห้ง ผิวมัน ผิวผสม และผิวแพ้ง่าย แต่ในหนึ่งคนผิวหน้าสามารถเกิดหลายสภาพผิวได้
  • วิธีเช็คสภาพผิวกายคล้ายกับสภาพผิวหน้า เนื่องจากผิวกายมีความคล้ายกับผิวหน้า
  • การดูแลผิวกายควรเน้นเรื่องความชุ่มชื้น และดูแลไม่ให้เกิดการระคายเคือง
  • สภาพผิวแต่ละประเภทมีการดูแลที่ต่างกัน ถ้าดูแลไม่เหมาะกับสภาพผิว ก็อาจก่อให้เกิดสิว อาการแพ้ หรือระคายเคืองได้

มีเรื่องผิวกวนใจ ปรึกษาปัญหาด้านผิวหนัง ได้ทุกเรื่อง ได้ทุกที่

กับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ SkinX แอปพบแพทย์ผิวหนังออนไลน์

daisy-skinx.png

ขอบคุณข้อมูล :
นายแพทย์สาโรช สุวรรณสุทธิ แพทย์ผิวหนังโรงพยาบาลสมิติเวช