วิธีรักษาและป้องกันฝ้า กระ ให้หายอย่างปลอดภัย ฉบับหมอผิวหนัง | Jeban x SkinX

by

DaisyOfficial

ฝ้าคืออะไร

ฝ้า เกิดจากการสะสมของตัวเมลานิน หรือเม็ดสีเพิ่มขึ้นใต้ผิวหนัง ซึ่งบริเวณที่มักเกิดฝ้าคือผิวหน้าบริเวณทีโซน คือ หน้าผาก และแก้ม

สาเหตุของการเกิดฝ้า

ฝ้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นพันธุกรรม ฮอร์โมน และตัวการสำคัญคือแสงแดด รวมไปถึงยาบางตัวที่กระตุ้นการเกิดฝ้า หรือแสงความถี่ต่ำ อย่าง Blue Light ที่หากได้รับต่อเนื่องก็เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้หน้ามีรอยด่างดำเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ฝ้าแบ่งออกเป็น 4 ประเภท

  • ฝ้าตื้น เป็นฝ้าที่เกิดบริเวณผิวชั้นนอก หรือชั้นหนังกำพร้า จุดสังเกตคือจะมีขอบเข้มชัด
  • ฝ้าลึก เป็นฝ้าที่เกิดในชั้นผิวหนังแท้ สีจะหม่นๆ เทาๆ รักษาได้ยากกว่าฝ้าตื้น
  • ฝ้าแบบผสม เป็นฝ้าที่เกิดอยู่ร่วมกันในบริเวณต่างๆ ทั้งตื้น และลึก
  • ฝ้าเลือด เป็นเกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดฝอยบนใบหน้า เส้นเลือดแดงโป่งขยาย

วิธีการรักษาให้ฝ้าหาย

ฝ้าไม่สามารถรักษาด้วยยาทา หรือยากินแล้วหาย แต่ต้องใช้หลายๆ ทางช่วยกัน โดยเบื้องต้นสามารถดูแลได้ด้วยตัวเอง

  • ใช้กลุ่มยาทา หรือสกินแคร์กลุ่มไวท์เทนนิ่ง กลุ่มยับยั้งการสร้างหรือส่งผ่านเม็ดสี อย่างวิตามินซี, Niacinamide, Arbutin หรือ Azelaic acid
  • หากเป็นฝ้าตื้นๆ พวกนี้ก็จะตอบสนองดีต่อการผลัดเซลล์ผิว AHA , BHA ที่ใช้ลอกหน้าเบาๆ ก็ทำให้ฝ้าค่อยๆ จางลง
  • ต้องป้องกันไม่ให้มันเป็นมากขึ้นด้วยการทาครีมกันแดด ใช้ร่ม และพยายามหลบแดดซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการสร้างเม็ดสีขึ้นมาได้ใหม่
  • นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยเลเซอร์ที่ช่วยสลายเม็ดสี แต่ทำแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นได้ใหม่ได้
  • สำหรับในบางรายอาจจำเป็นต้องใช้วิธีรักษาหลายรูปแบบร่วมกัน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด

ระยะเวลาการรักษาฝ้า

การรักษาอาจต้องใช้ระยะเวลาขั้นต่ำ 2-6 เดือน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง โดยสามารถให้แพทย์ช่วยประเมินความเสี่ยงได้ด้วยเช่นกัน

กระคืออะไร

กระ มีลักษณะเป็นดวงเล็กๆ ขนาดประมาณ 3-5 มิลลิเมตร กระจายที่บริเวณโหนกแก้ม มีขอบเขตที่เห็นได้ชัดเจนมากกว่าฝ้า

กระแบ่งออกเป็น 4 ประเภท

  • กระตื้น จะเห็นเป็นจุดเล็กๆ ขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร พบได้บริเวณแก้ม จมูก หรือบริเวณตามผิวกายก็พบได้เช่นกัน จุดสังเกตที่ได้ชัดๆ คือจะเป็นเม็ดสีที่สะสมบริเวณใต้ผิวหนัง ส่วนใหญ่พบในชาวต่างชาติที่มีผิวสีอ่อน เพราะคนสีผิวอ่อนจะมีโอกาสเป็นกระได้มากกว่าคนผิวสีเข้ม และส่วนมากจะพบได้บ่อยในคนอายุน้อยกว่า 20 ปี
  • กระลึก มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลที่มีสีออกหม่นๆ เทาๆ พบได้บ่อยบริเวณแก้ม ไม่ว่าจะข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจเกิดทั้งสองข้างก็ได้ และส่วนมากจะพบได้บ่อยในคนที่อายุ 20 ปีขึ้นไป
  • กระแดด มีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาล มีตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ บ่งบอกถึง Aging หรือความชราของผิว ส่วนใหญ่จะเจอในคนที่ต้องเจอกับแสงแดดโดยตรงเป็นเวลานานๆ และมักเจอในกลุ่มที่มีอายุวัยกลางคนมากกว่าในวัยหนุ่มสาว
  • กระเนื้อ มีลักษณะคล้ายติ่งเนื้อที่มีความนูน พบได้บริเวณหน้า คอ แขน และขา เป็นอาการที่แสดงถึงความเสื่อมชราของร่างกาย

วิธีการรักษากระ

การรักษากระจะขึ้นอยู่กับความลึก ความตื้นของผิวหนัง และดูจากลักษณะรอยโรคเป็นหลัก แต่ที่สำคัญต้องแยกประเภทของกระให้ได้ก่อน

  • สกินแคร์ที่ใช้ในการลดเลือนกระจะอยู่ในกลุ่มไวท์เทนนิ่ง เช่น Arbutin, Niacinamide แต่ส่วนผสมเหล่านี้เมื่อใช้แล้วอาจจะไม่ได้เห็นผลดีเท่ากับการรักษารอยดำ หรือฝ้า
  • ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่มากระตุ้น เช่น แสงแดดที่มีผลกระตุ้นให้กระเข้ม
  • การักษาด้วยเลเซอร์เพื่อยิงกระตุ้นให้เม็ดสีค่อยๆ สลายออก บางคนอาจจางลงในครั้งเดียว แต่บางครั้งต้องทำซ้ำ 3-6 ครั้งขึ้นไป หรือใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน เป็นเวลา 6 เดือนขึ้นไป

ข้อระวังเมื่อเป็นกระ

ถ้าปัญหากระที่เป็น มีเม็ดสีที่ไม่สม่ำเสมอ หรือโตเร็วผิดปกติ มีขอบเขตที่ดูไม่เรียบไม่ชัดเจน อาจจะต้องระวังโรคมะเร็งผิวหนังร่วมด้วย หากไม่มั่นใจแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังร่วมด้วย เพื่อตัดชิ้นเนื้อไปตรวจอย่างละเอียด และวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่จะเข้าข่ายเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง

  • ฝ้า เกิดจากการสะสมของตัวเมลานิน หรือเม็ดสีเพิ่มขึ้นใต้ผิวหนัง บริเวณที่มักเกิดฝ้าคือช่วง T-Zone,หน้าผาก และแก้ม ฝ้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นพันธุกรรม ฮอร์โมน, ยาบางตัว, Blue Light และตัวการสำคัญคือแสงแดด
  • ฝ้าไม่สามารถรักษาด้วยยาทา หรือยากินแล้วหาย แต่ต้องใช้หลายๆ ทางช่วยกัน เช่นการทายา หรือสกินแคร์ไวท์เทนนิ่ง ทั้งกลุ่มยับยั้งการสร้างหรือส่งผ่านเม็ดสี หรือกลุ่มผลัดเซลล์ผิว
  • กระ มีลักษณะเป็นดวงเล็กๆ กระจายที่บริเวณโหนกแก้ม มีขอบเขตที่เห็นได้ชัดเจนมากกว่าฝ้า
  • สกินแคร์ที่ใช้ในการลดเลือนกระจะอยู่ในกลุ่มไวท์เทนนิ่ง เช่นเดียวกับการรักษาฝ้า เช่น Arbutin, Niacinamide แต่ใช้แล้วอาจจะไม่ได้เห็นผลดีเท่ากับการรักษารอยดำ หรือฝ้า
  • คนที่เป็นฝ้า กระ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่มากระตุ้นที่ทำให้หน้ามีรอยด่างดำเพิ่มมากขึ้น เช่น แสงแดด

มีเรื่องผิวกวนใจ ปรึกษาปัญหาด้านผิวหนัง ได้ทุกเรื่อง ได้ทุกที่

กับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ SkinX แอปพบแพทย์ผิวหนังออนไลน์

daisy-skinx.png

ขอบคุณข้อมูล :
นายแพทย์พนด ชินพิพัฒน์ แพทย์ผิวหนังจากโรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี