ชิมและรู้จัก “ข้าวแช่” ตำรับชาววังแท้ๆ พร้อมแวะชม เรือนพระราชทาน “บ้านวรรณโกวิท” Unseen bkk ที่ Ching Can Cook แนะนำค่ะ
ChingCanCook 4 2ชิ้งดีใจมากจริงๆที่ได้มาบ้านวรรณโกวิท ที่คงความคลาสสิกแบบโบราณไว้ได้เกือบทั้งหมด ขนลุกนะ! เพราะมองไปตรงไหนของบ้าน ก็รู้ว่ามีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่นี่ ไม่รู้สิ! เป็นคนที่ชอบอะไรที่เป็นไทยๆ โบราณๆแบบนี้มากเลย เหมือนเราออกจากความวุ่นวาย ผ่านกระจกเข้าไปในอดีต (ดูละครมากไปนิดส์นุง555) ไปถึงบ้านหลังนี้แล้วอยากเดินช้าๆ เยื้องย่างให้สง่างาม คือบรรยากาศพาไปมากค่ะ นี่ถ้าชิ้งใส่ชุดไทยไปน้า คงพูดเป็นภาษาวรรณคดีแน่ๆ 555
หลังจากตั้งสติได้แล้ว หลังปล่อยจินตนาการไปเยอะ น้ำเย็นๆก็มาเสิร์ฟที่โต๊ะค่ะ เป็นน้ำเปล่าที่ใส่อุทัยทิพย์ลงไปเล็กน้อยค่ะ เย็นชื่นใจสิคะ อิอิ
บ้านวรรณโกวิท เป็นบ้านที่ได้รับพระราชทานจากร.6 อายุกว่าร้อยปี ปัจจุบันได้เปิดบ้านเป็นร้านอาหาร ตั้งโต๊ะไว้รองรับลูกค้าทั่วบริเวณบ้าน โดยที่เจ้าของยังคงพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้นะคะ ถ้าเข้าใจไม่ผิด จะเปิดช่วงฤดูร้อนเท่านั้น ไม่ได้เปิดตลอดทั้งปี และต้องจองล่วงหน้าค่ะ ซึ่งก็ต้องขอบคุณเจ้าของบ้านมากๆเลยที่เปิดโอกาสให้คนนอกอย่างเราเข้าไปสัมผัสและภูมิใจกับความเป็นไทย
"ก่อนจะได้ยลโฉมข้าวแช่ มาเรียนรู้ประวัติของข้าวแช่สั้นๆก่อนนะคะ"
จริงๆแล้วข้าวแช่ เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ ทุกวันนี้เราอาจจะเคยได้ยินชื่อ "ข้าวแช่เสวย" หรือ "ข้าวแช่ชาววัง" หรือ "ข้าวแช่เมืองเพชร" ทั้งหมดนี้มีแบบอย่างมาจากข้าวแช่มอญทั้งนั้นค่ะ
ข้าวแช่มอญเริ่มเข้าวังเมื่อมีหญิงชาวมอญเข้ารับราชการฝ่ายใน เธอได้นำข้าวแช่ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นเครื่องเสวยเจ้าจอมมารดากลิ่น ซึ่งมีเชื้อสายมอญทางเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ซึ่งเข้ามาอยู่ในแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เจ้าจอมมารดากลิ่นได้นำข้าวแช่มอญตำรับของท่านถ่ายทอดให้ห้องเครื่อง เพื่อไปสอนให้สนมกำนัลห้องเครื่องของพระราชวังพระนครคีรีได้เรียนรู้ จนแพร่หลายไปยังสามัญชนชาวเพชรบุรีในที่สุด
แต่เนื่องจากข้าวแช่ตำรับชาววังแท้ๆทำยาก แถมมีเครื่องเคียงเยอะ ชาวเมืองเพชรบุรีเลยปรับเครื่องเคียงให้เหลือเพียง 3 อย่างเท่านั้น คือ หัวไชโป้วผัด, ลูกกะปิชุบไข่ทอด และ ปลาผัดหวาน และเรียกข้าวแช่ตำรับนี้ว่า "ข้าวแช่เมืองเพชร" ปัจจุบันมีขายตลอดปี แต่ก็มีร้านที่ขายไม่เยอะเหมือนแต่ก่อนแล้วค่ะ
คนไทยเรานิยมกินข้าวแช่ในฤดูร้อน โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมเพื่อคลายร้อน ไม่ได้กินเฉพาะวันสงกรานต์เท่านั้นเหมือนชาวมอญ
ข้าวแช่คืออะไร?
ข้าวแช่ คือข้าวที่แช่ลงในน้ำหอม วิธีเตรียมให้นำน้ำสะอาดมาต้มให้สุก เทน้ำลงใน หม้อดินเผาใหญ่ ลมควันเทียนและลอยดอกไม้หอม เช่น มะลิ กุหลาบมอญ กระดังงา ทิ้งไว้ 1 คืน
เครื่องเคียง ที่กินกับข้าวแช่ต้องมีการเตรียมล่วงหน้าเป็นเดือน เช่น ปลาแห้ง เนื้อแห้ง เครื่องเคียงข้าวแช่มอญแท้ๆ มีประมาณ 5 อย่าง หรือ 7 อย่าง แล้วแต่ท้องถิ่น แต่ส่วนใหญ่มักประกอบด้วย
1. ปลาแห้งป่น 2. เนื้อเค็มฉีกฝอย 3. หัวไชโป้วเค็มผัดไข่ 4. ไข่เค็ม 5. กระเทียมดอง
ข้าวแช่ บ้านวรรณโกวิท เป็นตำรับของนางสุนทรนุรักษ์ (ชื้น วรรณโกวิท) รุ่นคุณยาย ส่งต่อให้รุ่นลูก คุณป้านิตยา วรรณโกวิท และสืบทอดมายังรุ่นหลานในปัจจุบัน เครื่องเคียงก็จะมี ลูกกะปิทอด ซึ่งใช้เวลากวนนานกว่า 3 ชั่วโมง! ปลาแห้งหวาน ไช้โป้วผัดไข่ หมู/เนื้อฝอย และ พริกหยวกสอดไส้โรยฝอยไข่ มาถึงตรงนี้ชิมกันเลยดีกว่าค่ะ ^ ^
วิธีการรับประทาน ให้ตั้งข้าวสวยใส่ชามแบ่ง ตามด้วยน้ำแข็ง จากนั้นก็เทน้ำหอมโรยดอกไม้ เราจะต้องกินเคื่องเคียงก่อน ค่อยตักข้าวตาม โดยที่จะไม่ตักเครื่องเคียงใส่ถ้วยข้าวเด็ดขาด น้ำข้าวจะได้ไม่ขุ่น
ส่วนตัวชอบพริกหยวกสอดไส้หมูห่อด้วยหรุ่มไข่คำนี้มากค่ะ โชคดีที่เข้าของบ้านพี่แต้วไม่หวงสูตรเลย ชิ้งเลยแอบสัมภาษณ์มา ได้ความว่าพริกหยวกที่ใช้จะต้องเก็บช่วงหน้าร้อนแบบนี้ พริกจะได้ไม่เผ็ดและฉุนเกินไป นอกจากนี้ต้องหมักหมู1คืน คว้านไส้พริกหยวกออก จากนั้นก็ยัดไส้ และนำไปนึ่งจนสุก ก่อนจะนำมาห่ออีกที เอิบ… นี่แค่เครื่องเคียง1อย่างนะจ๊ะ หลายขั้นตอนมากเบย แอบปลื้มคนไทยสมัยโบราณเน้อ ช่างประดิษฐ์ประดอย ช่างคิด ช่างทำ ^ ^
อย่าลืมนะก๊ะ กินเครื่องเคียง1คำก่อนแล้วตามด้วยข้าว ห้าม mix กันเด็ดขาด!
ถือเป็นเมนูคลายร้อนจริงๆด้วย คนญี่ปุ่นมีหมี่เย็น ของเราก็มีข้าวแช่นี่แหล่ะ อิอิ เครื่องเคียงอื่นๆรสชาติจะออกหวานๆนะคะ เหมือนกินขนมเลย รู้สึกแปลกดี ซึ่งอาหารโบราณแต่ละบ้านรสชาติไม่เหมือนกัน บ้านนี้อาจจะออกหวาน ในขณะที่บ้านอื่นอาจจะออกเค็ม
มาต่อกันด้วยเมนูที่ 2 "ขนมจีนซาวน้ำ" ^ ^
ยอมรับเลยค่ะว่าเพิ่งเคยกินครั้งแรก เมนูนี้ทำไม่ยาก รสชาติไม่ซับซ้อน ออกหวานๆนะ และมีความเปรี้ยวนิดๆจากสับปะรดทำให้สดชื่น มีกุ้งแห้งโขลกโรยให้ออกรสเค็มหน่อยๆ เวลากินบีบมะนาวไปนิด อีกแล้วค่ะเป็นรสชาติที่ไม่คุ้นเลย แปลกดี น้ำกะทิที่ราด แค่ปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำปลาเท่านั้นเอง เป็นอีกหนึ่งเมนูคลายร้อนได้ดีจีจี
มาถึง "ข้าวตังหน้าตั้ง" กันบ้าง
ตบท้ายด้วย สลิ่มเย็นๆ เป็นเมนูสุดท้ายของทริปนี้
อิ่มมากเลยค่ะ ก่อนกลับมาชมบรรยากาศ บ้านวรรณโกวิท ซักหน่อย ^ ^
"เป็นอีก 1 วันที่ดีมากๆเลยค่ะ ไม่อยากจะเชื่อเลยว่ามีสถานที่เจ๋งๆแบบนี้ใน กทม.ด้วย บ้านวรรณโกวิทอยู่แถวๆแยกคอกวัวค่ะ เดินทางสะดวกสบาย ราคาอาหารก็ไม่แพงเลย ถึงอากาศจะร้อนไปซักหน่อย แต่ก็ดื่มด่ำกับความเป็นไทยมากๆเลยค่ะ แล้วคราวหน้าชุ้งชิ้งจะพาไปเที่ยวไหน ฝากติดตามด้วยนะก๊ะ วันนี้ไปแระ บะบาย" ^ ^