เรื่องสิวๆ การรักษาสิวตาม Guideline และความสำคัญของงานวิจัย
โลกของไดโนเสาร์ 12 5สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะมาพูดถึงการรักษาสิวตามแนวทางการรักษา หรือ Guideline นั่นเอง
กระทู้วันนี้อาจจะยาวหน่อย เพราะมีสิ่งที่อยากจะแชร์ให้เพื่อนๆได้รู้เยอะมาก เราขอแบ่งออกเป็น 2 พาร์ทหลักๆที่จะมาพูดกันในวันนี้นะคะ
- Guideline และความสำคัญของงานวิจัย
- เรื่องสิว และการรักษาสิวตาม Guideline
ก่อนอื่นต้องขอแนะนำก่อนว่า Guideline เนี่ย จะเป็นคล้ายๆกับคู่มือแนะนำในการทำอะไรซักอย่าง ซึ่งมีบทบาทค่อนข้างสำคัญมากในทางการแพทย์ เนื่องจากเจ้า Guideline เป็นสิ่งที่คอยรวบรวมข้อมูลและผลงานวิจัยต่างๆมาวิเคราะห์-สังเคราะห์ พิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูล และตีสรุปออกมาเป็นแนวทางการรักษาให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้กันค่ะ
ซึ่งในทางการแพทย์ แน่นอนว่าสิ่งที่จะนำมาทำไกด์ไลน์ก็มักจะเป็นแนวทางการรักษาโรคต่างๆ ทั้งโรคเรื้อรัง ไม่เรื้อรัง แม้กระทั่งโรคผิวหนัง หรือการรักษาสิวนี่ก็มีไกด์ไลน์เหมือนกัน
ทีนี้ สิ่งที่อยากจะเกริ่นก่อนคือความสำคัญของงานวิจัยค่ะ
ทำไมงานวิจัยถึงเป็นสิ่งที่ทางการแพทย์ให้ความสำคัญมากขนาดนั้นกันนะ?
เนื่องจากว่า ในการทำงานวิจัยแต่ละครั้ง ผู้วิจัยจะต้องมีการควบคุมหลายอย่างค่ะ
ทีนี้เราก็เห็นแล้วนะคะ กว่าจะออกมาเป็นงานวิจัยหนึ่งตัว รึการจะบอกว่าอะไรซักอย่างดีจริงๆสำหรับทางการแพทย์ถือว่ายากมากกกกกก ดังนั้นไกด์ไลน์ที่รวบรวมงานวิจัยเหล่านี้ไว้และสรุปผลออกมาเป็นแนวทางการรักษาให้เราๆได้ใช้กันจึงถือว่าสำคัญมากค่ะ แต่ไกด์ไลน์ที่ดีเองก็ต้องมีการอัพเดทอยู่สม่ำเสมอ ตามงานวิจัยที่ออกใหม่ เพราะบางงาน บางยา เคยศึกษาไว้ว่าดี แต่พอ 20 ปีต่อมาอาจไม่ดีเหมือนเดิม หรือบางทียาเดียวกัน แต่คนทำวิจัยคนละคน ผลออกมาแตกต่างกันก็มี
นอกจากนี้ไกด์ไลน์ยังให้ระดับความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลด้วย เช่น ข้อมูลยา ก. มีงานวิจัยสนับสนุนเยอะมากกกกกกว่ามันดี แถมผลดียังเห็นชัดเจน เขาจะให้ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ระดับ lA เลยค่ะในขณะที่แหล่งข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์เฉพาะทาง หรือ Expert’s opinion มีความน่าเชื่อถือที่ระดับ E เท่านั้น
เพราะงั้นไม่ต้องพูดถึงการรักษาที่เห็นตามเว็บบางเว็บ หรือการแชร์ในบางเพจ บางข้อมูลนี่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงและน่ากลัวมาก บางอย่างที่เขาแนะนำก็ดีในระยะสั้นๆ แต่ผลเสียร้ายแรงในระยะยาว หรือบางอย่างก็ดีแค่ในคนที่แนะนำคนเดียว เพราะฉะนั้นก่อนจะปักใจเชื่อข้อมูลด้านสุขภาพใดๆ ควรพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูลให้รอบคอบนะคะ สุขภาพเราเอง ร่างกายเราเอง เราต้องดูแลให้ดีที่สุดค่ะ
ทีนี้ก็มาถึงส่วนไฮไลท์ของเรากันเลย
เรื่องสิวๆ และการรักษาสิวตาม Guideline
Guideline ในการรักษาสิวเองมีหลายเล่มมากค่ะ ทั้งฝั่ง US UK EU แล้วแต่จะเลือกใช้ แต่ที่เราจะหยิบมาพูดถึงวันนี้คือตัวที่อัพเดทใหม่ล่าสุด หรือ American Academy of Dermatology 2016 นั่นเอง กลไกการเกิดสิว การเกิดสิวจะแบ่งได้จากกลไกลหลักๆ 5 อย่างค่ะ
- ต่อมไขมัน (Pilosebaceous gland) : เป็นต่อมไขมันที่อยู่ตรงรูขุมขนบนผิวเราเองค่ะ จะพบมากในวัยรุ่น และเริ่มลดลงหลังอายุ 25 ปี ส่วนมากพบในเด็กผู้ชาย เนื่องจากต่อมนี้ถูกควบคุมการทำงานโดยฮอร์โมนเพศชายค่ะ (อ๊ะๆ ถึงจุดนี้ผู้หญิงอย่างงนะคะ ผู้หญิงแบบเราๆก็มีฮอร์โมนเพศชายเหมือนกัน) หน้าที่ของต่อมนี้คือสร้างไขมันเพื่อหล่อเลี้ยงเซลล์ผิวหน้าของเรานั่นเองค่ะ ถ้าใบหน้าของเราแห้ง ขาดน้ำ เจ้าต่อมนี้ก็จะทำงานมากขึ้น โดยไขมันชนิด linoleic ที่เจ้าต่อมนี้สร้างจะทำให้เชื้อแบคทีเรียบนผิวหน้าเราเจริญได้มากขึ้นด้วย
- การที่เคราตินบนผิวหน้าแบ่งตัวมากเกินไป (Hyperkeratinization) : เคราตินเนี่ย เป็นชั้นบางๆบนผิวของเราเองค่ะ ในบางคนจะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์ตัวนี้มากเกินไป ทำให้เกิดการทับถมและอุดตัน กลายเป็น comedone
- เชื้อ P.acne ที่เราๆรู้จักกัน เป็นเชื้อแกรมบวกที่ไม่ชอบอากาศ ซึ่งเจ้าเชื้อตัวนี้เป็นตัวที่ทำให้เกิดสิวอักเสบมีหนองนั่นเอง
- ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (immune system) : สารอักเสบในร่างกายเราเองนี่แหละค่ะ ถูกหลั่งเข้ามาที่ผิวเรา
- Steroid : หรือสิวสเตียรอยด์ยอดฮิตของสาวๆที่เคยพลาดพลั้ง มีลักษณะเป็นสิวเม็ดเล็กๆเท่ากันทั้งหน้า ตัวสเตียรอยด์เนี่ยจะเข้าไปมีผลต่อการทำงานของไขมันค่ะ พอใช้แรกๆผิวเราจะฟู ฉ่ำ รู้สึกผิวดี เห็นผลไว ทำให้สาวๆหลายคนเคยพลาด ไปใช้ครีมที่แอบใส่สเตียรอยด์ ผลสุดท้ายคือแหก
ในไกด์ไลน์ตัวนี้ เดิมที (ปี 2009) เขาแบ่งความรุนแรงของสิวออกเป็น 4 ระดับค่ะ คือ Grade I (mild) – สิวเล็กน้อย, Grade II (moderate) – สิวปานกลาง, Grade III (moderate to severe) – สิวปานกลางถึงมาก, Grade IV (severe) – สิวรุนแรงโดยเกณฑ์การแบ่งความรุนแรงของเขาจะอยู่ที่จำนวนและชนิดของสิวค่ะ เช่น มีสิวชนิด papule หรือ pustule น้อยกว่า 10 จุด จัดเป็นแบบ mild, มีสิวหัวช้าง จัดเป็น moderate-severeแต่ในฉบับล่าสุด 2016 เหลือแค่ 3 ระดับคือ เล็กน้อย (mild), ปานกลาง (moderate) และ รุนแรง (severe) ค่ะโดยแนวทางการรักษาของเขาเป็นแบบนี้
ทีนี้ เรามาทำความรู้จักยารักษาสิวกันเถอะค่ะ
กลุ่ม Topical retinoids หรือพวกอนุพันธ์วิตามินเอชนิดทา
- Retinoid หรืออนุพันธ์วิตามินเอที่เราพบเห็นได้ตอนนี้มีหลายชนิดค่ะ โดยที่เรามักจะพบเห็นในไทยมีดังนี้
- retin-A ตัวยาคือ tretinoin หรือ trans-retinoic acid โดยในไทยเรามักจะพบ 2 ความแรงคือ 0.01% (หลอดสีเทา) และ 0.05% (หลอดสีฟ้า)
- ราคาอยู่ที่ 100 – 160 บาท ปริมาณ 20g
- Differin ตัวยาคือ Adapalene ในไทยเรามีความเข้มข้นเดียวคือ 0.1% ราคาอยู่ที่ประมาณ 450 บาท ปริมาณ 15g
*Epiduo เป็นยาที่ผสม adapalene 0.1%+Benzoyl peroxide 2.5% ราคาประมาณ 750 บาท ปริมาณ 15g*
- กลไก : ช่วยทำลาย Comedone, ลดการอักเสบ
- ข้อบ่งใช้ของยา : ใช้รักษาสิว ป้องกันสิวอักเสบและสิวเกิดใหม่
- วิธีใช้ : ทาบางๆที่ผิวหน้า วันละ 1 ครั้งก่อนนอน ควรเริ่มที่ความเข้มข้นต่ำๆก่อน
- ผลข้างเคียง : อาจทำให้เกิดการระคายผิว ทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น ดังนั้นควรทาก่อนนอน (แบบทาแล้วปิดไฟนอนเลย) และใช้ครีมกันแดดในตอนกลางวัน อาจทำให้สิวเห่อในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก (อย่าตกใจนะคะ หลายๆคนเลิกใช้เพราะตกใจที่สิวเห่อ)
กลุ่มยาทาฆ่าเชื้อ หรือ Antimicrobials
- ยาทาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อมีหลายตัวยามากเลยค่ะ ซึ่งแต่ละตัวยาก็จะมีกลไกในการฆ่าเชื้อที่ต่างกัน
- Benzoyl peroxide หรือที่เรามักจะรู้จักกันในชื่อการค้า Benzac ยอดฮิตนั่นเอง
- ความแรงของยาที่พบในไทย มีตั้งแต่ 2.5%, 5% หรือ 10% เลยค่ะ ราคาของหลอดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 200 บาท ปริมาณ 60g
- กลไก : ตัวยามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ลดการอักเสบ และสามารถสลาย comedone ได้ (แต่ฤทธิ์การสลายมีน้อยกว่า retinoid ค่ะ)
- วิธีใช้ : ทาบางๆทั่วใบหน้า เช้า-เย็น โดยอาจเริ่มจากความเข้มข้นต่ำ ทาทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วจึงล้างออก
- *ทั้งนี้ยังพบงานวิจัยอื่นๆที่ระบุว่า หากผิวหน้าของเราทนได้ การทา benzoyl peroxide เป็นระยะเวลานานๆจะมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงกว่า ดังนั้นหากในทนได้ แนะนำให้ทาตัวนี้ทิ้งไว้เลยค่ะ*
- *แต่ยาตัวนี้ไม่ควรทาร่วมกับ retin-A เนื่องจากตัวยาจะต่อต้านกัน ดังนั้นถ้าใช้ retin-A ด้วย ควรทา benzoyl peroxide ก่อนล้างหน้า แล้วทา retin-A ก่อนนอน หรือไม่ก็ใช้ differin แทน เนื่องจากไม่มีปัญหายาต้านฤทธิ์กัน*
- ผลข้างเคียง : อาจระคายเคือง และเกิดรอยด่างตามเสื้อผ้า (หลายๆคนใช้แล้วอาจรู้สึกว่าผิวขาวขึ้น)
- Azelaic acid หรือที่มักพบกันในชื่อการค้า Skinoren ค่ะ
- ความแรงของยาที่ใช้คือ 20% ราคาประมาณ 400 บาท ปริมาณ 30g
- กลไก : ตัวยามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ลดการอักเสบ และสามารถสลาย comedone ได้ คล้ายๆ Benzoyl peroxide แต่ความแรงของยาจะน้อยกว่า มักใช้รักษาเสริมค่ะ
- วิธีใช้ : ทาบางๆทั่วใบหน้า เช้า-เย็น
- ผลข้างเคียง : อาจระคายเคืองได้
ยาทาปฏิชีวนะ (Topical antibiotic)
ยาทาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาสิวมีตัวยา 2 ชนิดค่ะ คือ Clindamycin และ Erythromycinตัวอย่างยาทา Clindamycin มีความแรง 1% เท่ากัน ราคาแตกต่างกันไปตามยี่ห้อและเภสัชภัณฑ์
ตัวอย่างยาทา Erythromycin ความเข้มข้นที่ใช้คือ 4% ตัวนี้เราไม่ทราบราคานะคะ
- กลไก : แน่นอนว่ากลไกหลักของเขาคือใช้ฆ่าเชื้อค่ะ
- วิธีใช้ : เนื่องจากยามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อเท่านั้น ดังนั้นยาทาเหล่านี้จึงใช้ยาเฉพาะสิวที่อักเสบอยู่เท่านั้น แหละควรใช้ทาเฉพาะที่ โดยทาวันละ 2-3 ครั้ง/วัน ค่ะ
- ผลข้างเคียง : บางยี่ห้ออาจทำให้ผิวแดง และแสบจากการระคายเคืองสารที่ใช้ทำละลายยาได้ค่ะ
- *ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้รักษาเดี่ยวๆนานกว่า 3-4 สัปดาห์ เนื่องจากเชื้อจะดื้อยา ข้อนี้สำคัญมาก เนื่องจากเคยเห็นหลายๆคนใช้ยากลุ่มนี้แต้มสิวเดี่ยวๆเยอะมาก ที่จริงควรใช้ร่วมกับ Benzoyl peroxide หรือ retinoid นะคะ*
สารอื่นๆที่ใช้ในการรักษาสิว
- นอกจากยา ยังมีสารอื่นๆที่ไม่ใช่ยา แต่มีฤทธิ์ในการรักษาสิว ซึ่งใน Guideline ให้เป็นทางเลือกเสริม เนื่องจากสารเหล่านี้มีประสิทธิภาพที่อาจไม่ดีมาก หรือจำนวนงานวิจัยรับรองผลที่ยังน้อย เช่น Salicylic acid เป็นตัวหลักหรือตัวชูโรงในยาแต้มสิวหลายๆยี่ห้อ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนสำคัญในน้ำตบป้าพอลล่าที่หลายๆคนนิยมด้วยค่ะ
- ส่วนอื่นๆ เช่นยาคุม ยากินปฏิชีวนะสำหรับรักษาสิว หรือยากินอนุพันธ์วิตามินเอ (ที่เรารู้จักกันในนามแอคโนติน) ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเริ่มใช้ยาเสมอ เนื่องจากบางคนอาจไม่เหมาะกับยาบางตัว หรือในยาบางตัวส่งผลเสียต่อตับมาก ต้องทานภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
- ทีนี้หวังว่าหลายๆคนจะได้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางในการรักษาสิวที่เพิ่มขึ้นนะคะ รายละเอียดค่อนข้างจะเยอะแยะมากมายก่ายกอง พิมพ์เองยังรู้สึกเหนื่อยเองเลยค่ะ 5555
ขอบคุณและสวัสดีค่า