เก็บเงินแบบนี้ #มันดีต่อใจ ต้องเลือกแบบไหน ออมทรัพย์ หรือฝากประจำ

29 9

ก่อนจะสวัสดีอย่างเป็นทางการ ขอทวง “การบ้าน” จากครั้งที่แล้วกันก่อนเลย มีใครได้เริ่มจดบันทึก ทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วบ้างงงง ชูมือโชว์ตัวให้เพื่อนร่วมเส้นทางความสวยและรวยมากกก ได้อุ่นใจกันซักนิดว่า เราจะสวยและรวยไปด้วยกัน ขอเอาใจช่วย ให้กำลังใจสาวๆ ที่เริ่มทำแรกๆ เพราะมันอาจจะยากนิด ยุ่งหน่อย แต่ขอให้แข็งใจกันไว้ เพราะถ้าทำได้ครบ 1 เดือน รับรองว่า จะเห็นช่องทางตามล่าหาเงินหายคืนมาได้หลายบาท ... มั่นใจมากกกก

แต่สาวๆ ที่เริ่มต้นไปแล้ว อยากให้เตรียมใจไว้บ้าง เพราะพอตามล่ากลับมาได้แล้ว เราจะมีปัญหาใหญ่ตามมาทันที เพราะจะมีเงินเยอะขึ้น แล้วไม่รู้จะเอาไปเก็บไว้ตรงไหน จะเอาไปทำอะไรดี หรือ ฝากไว้ในบัญชีเงินฝากแบบไหน นี่ล่ะปัญหาใหญ่สำหรับมือใหม่หัดเก็บเงินอย่างเรา จะให้เอาไปลงทุนแบบเสี่ยงๆ ก็ยังหวั่นๆ ไม่มั่นใจ ขอเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากให้อุ่นใจซักแป๊บบบ แต่จะฝากเงินไว้กับบัญชีแบบไหนถึงจะ... ดีต่อใจ มาดูกัน

บัญชีเงินฝากออมทรัพย์บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ แทบจะเป็น “วิชาการเงินการธนาคาร 101” เพราะน่าจะเป็นปัญชีแรกในชีวิตของสาวๆ ส่วนใหญ่ (ยังจำความรู้สึกตอนไปเปิดบัญชีเงินฝากครั้งแรกกันได้อยู่มั้ย ที่แคะกระปุกออมสินแสนรัก แล้วหอบเงินเหรียญกองใหญ่ไปเปลี่ยนเป็นตัวเลขในสมุดบัญชี ตื่นเต้นที่สุด แต่ก็ปลื้มใจสุดๆ เหมือนกัน)แต่ไม่ว่าจะเรียกว่า เงินฝากเผื่อเรียก เผื่อทวงถาม ออมทรัพย์ สะสมทรัพย์ (Saving Account) ก็มีหลักการพื้นฐานไม่ต่างกัน คือ จะฝากกี่วันก็ได้ อยากถอนเมื่อไหร่ก็ได้ ฝากปุ๊บถอนออกปั๊บก็ไม่มีใครว่าอะไร แถมยังคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน แต่อย่าหวังว่าจะรวยจากดอกเบี้ยเงินฝากประเภทนี้ เพราะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ น้อยนิดกระจิ๊บกระจ้อยมาก เพราะฉะนั้นอย่าพยายามทิ้งเงินก้อนใหญ่ไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์  เพราะมันจะไม่งอกเงย

แต่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์จะเหมาะมากสำหรับการเก็บเงินในระยะสั้นๆ ไว้สำหรับจับจ่ายใช้สอย เพราะจะเบิกออกมากี่ครั้งก็ได้ สะดวกสบายด้วยการใช้คู่กับบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือ ใช้บริการหักบัญชีอัตโนมัติเพื่อชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ  เรียกว่า เหมาะที่จะใช้เป็น "ทางผ่าน" จากบัญชีเราออกไปเข้ากระเป๋าคนอื่น หรือเป็น "ที่พัก" ระหว่างรอไปทำหน้าที่ ไปใช้จ่าย ไปลงทุน

นอกจากนี้ โตแล้ววว จะเปิดกี่บัญชีก็ได้ กี่ธนาคารก็ได้ แต่... สาวๆ คะ ระวังไว้นิดก็จะดี เพราะบัญชีไหนที่เปิดแล้วมีเงินติดอยู่ในบัญชีไม่กี่บาท แถมไม่ขยับเขยื้อน ไปปิดบัญชีจะดีกว่า เพราะอาจถูกตัดไปเป็น “ค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี” เช่น ธนาคารจะคิดค่ารักษาบัญชีเดือนละ 50 บาท ถ้าบัญชีนั้นไม่เคลื่อนไหว (ไม่มีการฝาก หรือ ถอน) เกินกว่า 12 เดือน และมียอดคงเหลือต่ำกว่า 2,000 บาทเหมือนจะเดือนละไม่กี่บาท แต่กว่าจะรู้ตัวอีกที 3 ปีผ่านไป เงินที่มีอาจจะหายไปหมดแล้วก็ได้

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ จึงแนะนำให้ เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เท่าที่จำเป็นต้องใช้ ก็พอแล้ว และที่สำคัญ คือ เรามีสิทธิไม่ทำบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือ บริการอะไรก็ตามที่ต้องพ่วงกับบัญชีเงินฝาก ถ้าเราไม่ต้องการ (เว้นแต่ว่า ถ้ามีขอแถมน่ารักๆ โปรโมชั่นดีๆ อันนี้ก็ไม่ว่ากัน... เพราะเรา คือ ทาสการตลาด 555)อีกหนึ่งเรื่องที่สาวๆ ต้องระวังกันเอาไว้ คือ นอกจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์แบบธรรมดาๆ แล้ว บางธนาคารอาจมี บัญชีเงินฝากออมทรัพย์แบบพิเศษ เช่น เงินฝากแถมประกัน เงินฝากไม่มีค่าธรรมเนียม และอื่นๆ อีกมากมาย ต้องอ่านเงื่อนไขดีๆ บรรดา "ดอกจัน" ตัวจิ๋วๆ นี่แหละมักจะมีเยอะแยะหยุมหยิม เพราะฉะนั้นอย่าลืมหยิบแว่นขยายขึ้นมาแล้วเข้าร่วมขบวนการ "นักสืบดอกจัน" จะได้รู้ให้กระจ่างแจ้งก่อนจะตัดสินใจไปเปิดบัญชี

บัญชีเงินฝากประจำ

เพราะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ มันน้อยนิดกระจิ๊บกระจ้อยมาก ทำให้คนที่หวังจะได้รายได้จากดอกเบี้ยเป็นประจำจะมองหาบัญชีเงินฝากประจำ ไม่ว่าจะเป็นประจำ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี เพราะจะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์ นิดนึง... นิดนึง (ยิ่งฝากนานดอกเบี้ยยิ่งสูงขึ้นมานิดนึง)จึงเหมาะมากๆ กับคนที่หวังจะมีรายได้จากการมีดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ถ้าต้องการรายได้ดอกเบี้ยเยอะหน่อย ก็ต้องมีเงินฝากก้อนใหญ่มาก ไม่เหมือนรุ่นคุณปู่คุณย่าที่เคยอยู่ในยุคดอกเบี้ยเงินฝากเบ่งบาน ได้กันปีละเป็นสิบๆ ปี แค่มีเงินฝากประจำก็ไม่ต้องทำงานอะไรอีกแล้วแค่ต้องวางแผนการใช้เงินให้ชัวร์ก่อน เพราะถ้าฝากเงินไม่ครบตามระยะเวลาที่ธนาคารกำหนดไว้ เช่น เงินฝากประจำ 3 เดือน แต่เราฝากไปได้แค่ 2 เดือนนิดๆ ดันมีเหตุให้ต้องใช้เงินขึ้นมา ก็ต้องถอนเงินออก ธนาคารจะไม่ให้ดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ก็ได้ ธนาคารอาจจะให้เท่ากับบัญชีเงินออมทรัพย์ก็ได้

เพราะฉะนั้นถ้ามีคนบอกว่า ฝากประจำแล้วห้ามถอน ให้เถียงไปเลยค่ะว่า ถอนได้จ้า ก็แค่จะไม่ได้ดอกเบี้ย หรือ ได้ดอกเบี้ยน้อยลงเท่านั้นเองแต่ถ้าครบระยะเวลาแล้วจะฝากต่อไปอีกก็ได้ ไม่ว่ากัน ธนาคารจะนำดอกเบี้ยที่ได้ไปมาทบรวมเข้ากับเงินทั้งต้นที่มีอยู่เดิม มาเป็นเงินตั้งต้นคำนวณใหม่สำหรับงวดต่อไป แล้วค่อยคิดดอกเบี้ยให้อีกที โดยเราแบบนี้เรียกว่าการคิดดอกเบี้ยแบบทบต้น สุดยอดเครื่องมือมหัศจรรย์ของวิชาการเงินทั่วทุกมุมโลกข้อเสียอีกอย่างหนึ่งของบัญชีเงินฝากประจำ คือ ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก หัก ณ ที่จ่ายทันที 15%

ถึงตรงนี้ก็พอจะมองออกแล้วว่า บัญชีแบบไหนจะดีต่อใจเรามากที่สุด แต่ไว้ครั้งหน้ามาดูกันว่า ถ้าอยากจะเพิ่มความ Cool ให้กับบัญชีเงินฝาก ที่ #ดีต่อใจ ให้มากขึ้นอีกจะดีกว่า 


DokChanMoney

DokChanMoney

FULL PROFILE