9 เรื่อง เบื้องหลังการสร้างพระเมรุมาศ

14 3

ในวันนี้ทุกคนคงได้เห็นความสวยสง่าของพระเมรุมาศกันมาบ้างแล้ว แต่สาวๆ รู้ไหมว่าในความยิ่งใหญ่ของพระเมรุมาศนั่นมีความหมายมากมายที่ซ่อนอยู่ วันนี้เราได้รวบรวมความหมายจาก kingrama9.net มาให้สาวๆ ได้ทราบกันค่ะ เราไปดูแต่ละเรื่องกันเลย

1. พระเมรุมาศและความเชื่อ

ในเรื่องของคติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลนี้ เป็นที่มาของการสร้างพระเมรุมาศในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ไทยองค์ก่อนๆ โดยพระเมรุมาศเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และมีอาคารรายล้อมเสมือนสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมจักรวาล อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะระบุความหมายอย่างแน่ชัดในแบบแผนของพระเมรุมาศทั้งหมด เนื่องจากสิ่งก่อสร้างบางอย่างก็สร้างขึ้นตามประโยชน์ใช้สอย อาทิ พระที่นั่งทรงธรรม ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เมื่อเสด็จไปงานถวายพระเพลิง

ซึ่งการสร้างพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพคือการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ทรงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

2. การวางผังพระเมรุมาศ

ในการวางผังพระเมรุมาศฯ นั้นสาวๆ รู้ไหนว่าจริงๆแล้ว มีความเชื่อมโยงกับศาสนสถานโบราณสำคัญที่อยู่บริเวณรอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวงด้วย โดยกำหนดที่ประดิษฐานของบุษบกองค์ประธาน ที่ตั้งของพระจิตตกาธาน สำหรับถวายพระเพลิง พระบรมศพฯ จากจุดตัดของเส้นทิศเหนือ – ใต้ ซึ่งลากจากยอดพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับเส้นทิศตะวันออก – ตะวันตก ที่ลากจากเขตพุทธาวาส วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร

ซึ่งหากมองพระเมรุมาศฯ จากกึ่งกลางของทางเข้าด้านทิศเหนือ (หันหน้าเข้าพระบรมราชวัง) จะสามารถมองเห็นยอดพระศรีรัตนเจดีย์ของวัดพระแก้วซ้อนอยู่ในบุษบกองค์ประธาน  ซึ่งก็เป็นความงดงามทางภูมิสถาปัตย์ที่น่าประทับใจมาก นับเป็นความตั้งใจของกรมศิลปากร หน่วยงานรับผิดชอบการจัดสร้างเพื่อให้พระเมรุมาศฯ ให้มีความงดงาม ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชค่ะ

3. คันนาเลข ๙ สื่อถึง ร.9

จากแรงบันดาลใจ นาข้าวในวังสวนจิตรลดา จึงสร้างแปลงนาข้าวนอกสถานที่ที่ใหญ่ที่สุด ด้านหน้าพระเมรุมาศ  เพื่อสื่อความหมายถึงพระอัจฉริยภาพของ ร.9 กับสถานที่ทดลองโครงการส่วนพระองค์ที่เกี่ยวกับการเกษตร และเป็นศูนย์วิจัยพัฒนาแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ตามแนวพระราชดำริในเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อคิดค้นแนวทางแก้ปัญหาด้านการเกษตรให้แก่ประชาชน

ซึ่งรอบแปลงนาข้าวจะปลูกพืชชนิดต่างๆ อาทิ หญ้าแฝก ยางนา มะม่วงมหาชนก เป็นต้น ดินที่ใช้เป็นดินผสมทรายสีทองเพื่อให้สวนมีความโดดเด่นมากขึ้น อีกทั้งยังมีการติดตั้งกังหันชัยพัฒนา ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยวิธีการเติมอากาศ ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาได้คิดค้นพัฒนาขึ้นตามแนวพระราชดำริด้วยค่ะ

4. มหาเทพ 4 องค์

บนฐานชานชาลาชั้นที่ 3 ของพระเมรุมาศจะมีรู้ปั้นมหาเทพตั้งอยู่ทั้ง 4 ด้าน ซึ่งตามความเชื่อที่ว่ามหาเทพทั้ง 4 องค์จะเสด็จลงมาเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสู่สรวงสวรรค์ 

และนี่ก็คือมหาเทพทั้ง 4 และความเชื่อตามความศรัทธาของแต่ละองค์ค่ะ

พระอิศวร (พระศิวะ) ผู้ประทานพรวิเศษแก่ผู้หมั่นทำความดี และยึดมั่นในศีลธรรม

พระอินทร์ ผู้บันดาลความสุขแก่โลก เช่น บันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล บันดาลให้พืชผลงดงาม

พระนารายณ์ ผู้อวตารบนโลกเพื่อปราบทุกข์เข็ญ

พระพรหม ผู้กำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์

5. บันไดนาค

ตามความเชื่อในคติพุทธนะคะ เราจะพญานาคเปรียบเป็นสัญลักษณ์ของสายน้ำ และเหมือนดั่งสะพานสายรุ้ง เชื่อมโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ โดยภพภูมิของพญานาคคือเทพกึ่งสัตว์ เป็นที่มาของประติมากรรมราวบันไดนาคประดับพระเมรุมาศ ซึ่งมีทั้งหมด 4 แบบ อยู่บนพระเมรุมาศทั้ง 4 ชั้น โดยบันไดนาคในแต่ละชั้นมีลักษณะแตกต่างกันตามความสำคัญและระดับชั้นบารมีของนาค ซึ่งผู้ออกแบบสื่อให้เห็นถึงการลดละกิเลสสู่ความเป็นเทพในชั้นที่สูงขึ้นค่ะ (ยิ่งชั้นบารมีของนาคสูงเท่าไหร่ ยิ่งเป็นนาคที่ลดละกิเลสมากเท่านั่นค่ะ)

6. ประติมากรรมสุนัขทรงเลี้ยง

เป็นที่รู้ดีนะคะว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงรักและเอ็นดูเหล่าสุนัขทรงเลี้ยงของพระองค์มาก จึงมีการสร้างรูปปั้นสุนัขทรงเลี้ยงของพระองค์ ได้แก่  คุณทองแดง และคุณโจโฉ ในอิริยาบทนั่งสองขาหลัง ปั้นต้นแบบด้วยดินเหนียว และหล่อเป็นไฟเบอร์กลาส ตั้งคู่กันด้านซ้ายและขวาของพระจิตกาธาน บนพระเมรุมาศด้วยค่ะ

คุณทองแดง สุนัขเพศเมีย ประติมากรได้เน้นการปั้นแนวสื่อความหมาย ในหลักคิดของประติมากรรมแบบตะวันออก จึงใส่กระพรวนสีทองแดง ใช้สีโทนน้ำตาลเข้มและขาว

คุณโจโฉ ใช้สีน้ำตาลอ่อน กระพรวนสีเงิน เหตุเพราะเป็นสุนัขเพศผู้พันธุ์บ็อกเซอร์ ที่มีลักษณะเป็นประติมากรรมแบบตะวันตก เน้นความสมจริง

7. เทพชุมนุมฐานไพรี

มีการสร้างประติมากรรม เทพชุมนุมฐานไพรีนั่งราบ และราวบันไดนาคที่ใช้ประกอบพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จำนวน 132 องค์ โดยใช้ประดับรอบฐานท้องไม้พระเมรุมาศชั้นล่าง  ซึ่งความพิเศษของเทพชุมนุม แต่ละองค์จะมีใบหน้าที่แตกต่างกัน ไม่มีองค์ใดที่มีใบหน้าซ้ำกันเลยค่ะ ทั้งเทพ ยักษ์ และลิง

8. สระอโนดาตและสัตว์หิมพานต์

สำหรับการสร้างสัตว์หิมพานต์ประกอบงานพระบรมศพและพระศพนั้น เป็นราชประเพณีสืบต่อกันมาช้านานค่ะ เพราะมีความเชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทวราช ซึ่งสัตว์หิมพานต์ในพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 ประดับไปด้วยสิงสาราสัตว์นานาพันธุ์ ที่ตั้งบนโขดหินเทียมในสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ ประดับไปด้วยพันธุ์พืชสวยงาม รูปปั้นสัตว์ขนาดย่อส่วนลง สีของสัตว์มีความสำคัญตามลักษณะต่างๆ เพื่อให้เข้ากับเรื่องราวป่าหิมพานต์ค่ะ

9. ภาพจิตรกรรมประดับฉากบังเพลิง

การฉากบังเพลิงเขียนจิตรกรรมประดับตกแต่งด้วยภาพเทวดา เพื่อเป็นเครื่องกั้นทางขึ้นลงพระเมรุมาศในชั้นจิตกาธาน จะมีลักษณะเป็นฉากพับได้ ติดไว้กับเสาทั้ง 4 ด้าน บริเวณบันไดขึ้นลงพระเมรุมาศ เพื่อไม่ให้เห็นการถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และใช้บังลมด้วยค่ะ  ฉากบังเพลิงในงานพระราชพิธีนั้นมี 4 ทิศ  ในส่วนด้านหน้าจะเป็นภาพพระนารายณ์อวตารในปางต่าง ๆ 8 ปาง พร้อมสัตว์พาหนะ และกลุ่มเทวดา ส่วนขอบด้านล่างจะมีภาพวาดเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดดิน น้ำ ลม และไฟ ด้วยค่ะ

หลังพระราชพิธี เปิดให้ชม 1 เดือนเต็ม

ก่อนรื้อส่วนประกอบทั้งหมดนำไปเก็บไว้ที่สำนักช่างสิบหมู่ และพิพิธภัณฑ์ กรมศิลปากรเตรียมเปิดให้ประชาชนเข้าชมพระเมรุมาศ ตั้งแต่วันที่ 2- 30 พ.ย 60 โดยด้านในจะแสดงนิทรรศการแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในหลวง ร.9 ตลอดจนงานภูมิสถาปัตย์โดยรอบพระเมรุมาศ เช่น นาข้าว กังหันชัยพัฒนา จะนำมาจัดแสดงภายในพระที่นั่งทรงธรรม

ส่วนนิทรรศการ ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างพระเมรุมาศทั้งหมด จะจัดแสดงภายในอาคารประกอบต่างๆ เช่น ศาลาลูกขุนอีก 2 หลัง รวมถึงจะมีการสาธิตขั้นตอนในการจัดสร้าง การหล่อ และการปั้น 

ส่วนการจัดแสดงมหรสพ จะมีการแสดงเหมือนวันพระราชพิธีจริง เพียงแต่อาจจะมีการตัดทอนบางช่วง บางตอน

ผู้ที่เข้าชมจะได้รับแผ่นพับนำชมนิทรรศการ ที่ใช้ระบบคิวอาร์โค้ดให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย โดยเจ้าหน้าที่จะแบ่งผู้ชมออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ประชาชนทั่วไป คนชรา/คนพิการ/เยาวชน และชาวต่างชาติ ซึ่งการเข้าชมจะจัดระบบเช่นเดียวกับการสักการะพระบรมศพ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชมอยู่ที่ 1 แสนคน

เข้าชมพระเมรุมาศได้ตั้งแต่วันที่ 2 - 30 พ.ย 60

เวลา 07.00 - 23.00 น.

รอบละ 500 คน แต่ละรอบห่างกัน 10 นาที

มีเจ้าหน้าที่นำชม ให้ครบทุกจุด

มีจุดอำนวยความสะดวกให้คนพิการ ทางลาดสำหรับรถเข็น และการใช้อักษรเบลล์

เป็นยังไงกันบ้างคะ สาวๆ รู้สึกเหมือนกันไหมคะว่า ยิ่งเราได้รู้ถึงความหมายที่ซ้อนอยู่ในความสวยงามของพระเมรุมาศที่เราได้เห็น ก็ยิ่งทำให้รู้สึกถึงความอลังการของพระเมรุมาศ ความใส่ใจในทุกๆ รายละเอียดของเหล่าผู้สร้างที่ตั้งใจสร้างพระเมรุมาศ เพื่อให้สมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เป็นที่เคารพรักของเราชาวไทยทุกคนเลยนะคะ 


lemonhoneybee

lemonhoneybee

สวัสดีค่ะ
ชื่อน้ำผึ้งนะคะ ตอนนี้กำลังพัฒนาตัวเองในทุกๆด้าน เลยอยากจะแชร์ประสบการณ์ให้เพื่อนๆได้อ่านด้วย หวังว่าจะเป็นประโยชน์และสร้างพลังให้กับใครที่ได้เข้ามาอ่านไม่มากก็น้อยนะคะ
เป็นกำลังใจให้เราด้วยน้าาา

ทักทายกันได้จ้า เหงาๆมาเม้าส์ได้ทุกเรื่อง

ป.ล. เราเป็นทาสน้องหมาน้องแมวงับ กับมนุษย์ทุกคนก็เป็นมิตรเช่นกัน แหะ😆

FULL PROFILE