รวมเกร็ดความรู้ จากริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ
lemonhoneybee 12 4สำหรับพวกเราคนไทยทุกคน ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 นี้คงจะเป็นวันที่อยู่ในความทรงจำของพวกเราไปตราบนานเท่านาน ในระหว่างวันนี้ที่ได้รับชมพระราชพิธีฯ เราก็ได้รวมเกร็ดความรู้ที่ได้จากการรับชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่อยากจดจำและบอกต่อกับทุกคนค่ะ
เชือกชักลากราชรถเชือกที่ใช้สำหรับชักลากมหาพิชัยราชรถ และพระเวชยันตราชรถ เป็นเชือก "มะนิลา" ที่มีความคงทนมาก ใช้ด้านหน้า 4 สาย ด้านหลัง 2 สาย ใช้คนชักลากทั้งหมด 216 คน
ส่วนราชรถน้อย ใช้เชือกชักลากจำนวนเท่ากัน แต่ใช้จำนวนคนน้อยกว่า เพียง 74 คน โดยเปลี่ยนจากเชือกมะนิลาเป็นเชือก “เปอร์ล่อน” ที่กองทัพเรือใช้กับเรือรบแทน เนื่องจากมีความเหนียว ไม่ยืดง่าย ทนทานนิ่มและน้ำหนักน้อยกว่า อีกทั้งจะมีการเพิ่มตะขอเกี่ยวเป็น 2 ตะขอ กับราชรถทุกองค์
ผู้ถือแพนหางนกยูงหน้าพระมหาพิชัยราชรถคุณมนต์ชัย นิลนฤนาท สารถีผู้ถวายงานรถพระที่นั่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ สนองพระเดชพระคุณครั้งสุดท้าย เป็นผู้ถือแพนหางนกยูงหน้าพระมหาพิชัยราชรถ
เพลงมาร์ชราชวัลลภเพลงพระราชนิพนธ์ มาร์ชราชวัลลภ หรือ Royal Guards March เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๗ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๑ ชื่อ “ราชวัลลภ” และพระราชทานให้เป็นเพลงประจำกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อไว้ใช้ในพิธีสวนสนาม หลังจากนั้น ผบ.กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ได้มอบหมายให้พันตรี ศรีโพธิ์ ทศนุต แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย มีห้องเพลงยาวกว่าเดิม จึงขอพระราชทานทำนองเพิ่มเติมเพื่อให้เข้ากับคำร้องในการแก้ไขทำนองให้เข้ากับคำร้องนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) ช่วยตรวจทาน และได้พระราชทานนามเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า “มาร์ชราชวัลลภ” (The Royal Guards March) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยคำว่า "ราชวัลลภ" นี้ แปลได้ว่า ผู้เป็นที่รัก สนิท คุ้นเคยของพระราชา
ภูษามาลาบนพระมหาพิชัยราชรถ จะเห็นว่ามีคนแต่งกายชุดขาวคอยประคองพระบรมโกศอยู่ที่ด้านบน 2 คน ซึ่งตำแหน่งนี้เรียกว่า "ภูษามาลา" และผู้ที่ทำหน้าที่นี้ ได้แก่ นายแพทย์ผู้ถวายการดูแลและรักษาในหลวง ร.9 ครั้งยังทรงมีพระชนม์ชีพ ซึ่งนี้ถือเป็นการถวายงานแด่พระองค์ครั้งสุดท้าย ได้แก่
- ศ. คลินิค นพ. ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน นายแพทย์ประจำพระองค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งเป็นผู้ที่เคยทำหน้าที่เข็นพระเก้าอี้เลื่อนทุกครั้ง เป็นภูษามาลาประคองหน้า
- นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช รับหน้าที่ภูษามาลาประคองหลัง
เกรินบันไดนาคตามความเชื่อ เกรินบันไดนาคเป็นเหมือนเป็นสะพานเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ โดยใช้อัญเชิญพระโกศขึ้นหรือลง จากพระมหาพิชัยราชรถ โดยการหมุนกว้านเลื่อนแท่นที่วางโกศขึ้นไปตามรางเลื่อนไม้จำหลักรูปนาค จึงเรียกว่าเกรินบันไดนาค ส่วนแท่นที่วางพระโกศ เป็นแท่นสี่เหลี่ยมท้ายเกรินมีลักษณะคล้ายท้ายสำเภาสำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นนั่งประคองพระโกศพระบรมศพ ประดิษฐ์ขึ้นโดยสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ใช้ครั้งแรกในงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2355
ร้อยเอก จิทัศ ศรสงคราม พระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร อัญเชิญเครื่องทองน้อย นำขบวนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องราชูปโภค และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ร้อยเอก จิทัศ ศรสงคราม เป็นบุตรชายคนเดียวของ ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ซึ่งเป็นพระธิดาเพียงคนเดียวของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พราหมณ์สยายผม"พราหมณ์" เมื่อบวชแล้ว จะไม่ตัดผมอีกเลย จะม้วนผมไว้เพราะมีความเชื่อว่าเป็นที่สถิตของเทวดา "การสยายมวยผม" ของพราหมณ์ จึงถือเป็นการไว้ทุกข์แสดงความอาลัยขั้นสูงสุด ซึ่งเคยปรากฏครั้งพระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานมีบันทึกไว้ในพระไตรปิฏก และตามโบราณราชประเพณีโบราณคนที่ทำหน้าที่นี้ จะเป็นผู้ช่วยพราหมณ์เรียกว่า "นาลิวัน" ในปัจจุบันไม่มีตำแหน่งนาลิวันแล้ว พราหมณ์ที่เข้าริ้วขบวนจึงเป็นพราหมณ์เทวสถานราชสำนัก
เศวตฉัตร ๙ ชั้น เศวตฉัตร ๙ ชั้น ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณีแล้ว เรียกว่า พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เรียกอย่างย่อว่า พระมหาเศวตฉัตร ลักษณะเป็นฉัตรผ้าขาว ๙ ชั้น แต่ละชั้นมีระบายขลิบทองแผ่ลวดซ้อน ๓ ชั้น ฉัตรชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง เศวตฉัตรแบบนี้ใช้แขวนหรือปักในสถานที่และโอกาสต่างๆ
สายรัดพระวิสูตรบนบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ จะมีพระวิสูตร (ผ้าม่าน) อยู่ทั้งสี่มุม โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้สายรัดพระวิสูตร โดยได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เสียงปืนใหญ่ถวายพระเกียรติยศเสียงปืนใหญ่ที่เราได้ยินทุกนาที เป็นการยิงปืนของ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (1st Battery of Artillery Queen's Guard) โดยทำการยิงสลุต (Gun-salute) ระหว่างเคลื่อนพระบรมโกศ ใช้ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีราบแบบ 80 ขนาด 75 มิลลิเมตร จำนวน 4 กระบอก โดยกระสุนที่ใช้ จะไม่มีหัวกระสุน มีแต่เสียงและควัน ซึ่งจะยิงต่อเนื่องทุก 1 นาที จนกว่าพระบรมโกศจะประดิษฐานเรียบร้อย ณ พระเมรุมาศ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุด ในฐานะทรงเป็นองค์จอมทัพไทย
ซึ่งนี้ก็เป็นเกร็ดความรู้เพียงบางส่วนเกี่ยวกับริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่เราได้รวมมาให้ ซึ่งเราคิดว่าเป็นสิ่งน่าสนใจที่เราอยากบอกต่อให้ทุกคนได้รู้กันค่ะ
ส่วนใครอยากรู้เรื่องริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ก็สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://kingrama9.net/Honor/Detail/12 และสำหรับใครที่อยากจะรับชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศแบบเต็มย้อนหลัง ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ก็สามารถดูได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=5vTvD6mkvkI ค่ะ