มนุษย์เมนส์ รู้ทันฮอร์โมน รอบเดือนไม่ว้าวุ่น
พี่ริต้า 15 8สาวๆ เคยสังเกตไหม ในแต่ละวันร่างกายและจิตใจของเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา วันไหนอารมณ์แปรปรวนมากๆ ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็น “มนุษย์เมนส์” เมนส์จะมาใช่ไหม ที่เป็นแบบนี้เพราะระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวันก่อนการมีรอบเดือน ส่งผลต่อร่างกายและอารมณ์ของเราได้จริงๆ แต่ถ้ารู้ทัน ดูแลร่างกายให้ฮอร์โมนสมดุลมากขึ้น อาการต่างๆ แบบเมนส์จะมาจะลดน้อยลง
หนึ่งรอบเดือนของเราไม่เท่ากัน
โดยปกติหนึ่งรอบเดือนจะมีประมาณ 20-40 วัน แต่เฉลี่ยส่วนมากจะมีกัน 28 วัน จำนวนวันของรอบเดือนขึ้นกับอายุและสภาพร่างกายของแต่ละคน คราวนี้มาดูระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในรอบเดือนปกติ 28 วัน กันดีกว่าว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้าง
ช่วงที่ 1 วันที่ 1-14 ของรอบเดือน * วันที่ 1-7เริ่มจากวันนั้นของเดือนวันแรก ช่วงนี้ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนลดลงอย่างเร็วจนเกือบเหลือศูนย์ ฮอร์โมนเอสโตรเจนก็ลดด้วย ร่างกายจึงอ่อนแอ ผิวหนังอักเสบง่าย แพ้ง่าย ถูกกระตุ้นได้ง่าย สาวๆ บางคนที่เป็นไมเกรนอยู่แล้วจะเกิดอาการปวดหัวในช่วงนี้ เพราะสมองถูกกระตุ้นได้ง่ายด้วย* วันที่ 8 - 14ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนยังไม่เพิ่มมาก แต่เอสโตรเจนจะเริ่มสูงขึ้น ร่างกายเริ่มหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินทำให้สบายและผ่อนคลายขึ้น ตอนนี้ล่ะที่สาวๆ บางคนรู้สึกฮอตอยากกุ๊กกิ๊กกับหนุ่มๆ เป็นสัญญาณการเริ่มต้นตกไข่นั่นเอง ธรรมชาติจัดสรรไว้แล้วให้เตรียมพร้อมเรื่องการสืบพันธุ์ไงล่ะ ใครอยากมีน้องก็เตรียมสังเกตตัวเอง แล้วปฏิบัติการในช่วงนี้เลยจ้ะ
ช่วงที่ 2 วันที่ 14-28 ของรอบเดือน
* วันที่ 14 - 20 ช่วงนี้เป็นช่วงตกไข่ ระดับเอสโตรเจนจะลดลงมากประมาณ 1 - 2 วัน หลังจากไข่ตกแล้วฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนจะค่อยเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติ ทำให้บางคนมีอาการบวมน้ำ รู้สึกเหมือนอ้วนขึ้น ความคิดอาจมึนๆ เบลอๆ อีกด้วย * วันที่ 21- 28 ก่อนจะมีรอบเดือน 7-8 วันนี้ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะเริ่มลดลงต่ำ และลดต่ำที่สุดอีกครั้งใน 1-3 วันสุดท้ายก่อนมีประจำเดือน ฮอร์โมนที่ลดลงฮวบฮาบนี้เองทำให้เกิดความอยากอาหาร หิวบ่อย มีอาการคัดเต้านม ท้องอืด
อาการมากมาย 14 วันก่อนมีประจำเดือน
ช่วงนี้หลายคนมีอาการต่างๆ เช่น ปวดท้อง ปวดเมื่อยหลัง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย น้ำหนักขึ้น มีอาการบวมน้ำ เต้านมตึงและเจ็บ รู้สึกอยากอาหารตลอด ท้องอืด สิวขึ้น ด้านอารมณ์รู้สึกหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เครียด วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ซึ่งอาการจะลดลงหลังมีประจำเดือนไปแล้ว 2-3 วันคำถามคือ ทำไมบางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย บางคนไม่มีอาการอะไรเลย แต่ละคนอาการไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความสมดุลของฮอร์โมนต่างๆ ในรอบประจำเดือน จากการศึกษาพบว่าคนที่ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงมักมีอาการมากกว่า นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับร่างกายขาดแร่ธาตุหรือวิตามินด้วย
ช่วงวิกฤติ 1-3 วัน ก่อนมีประจำเดือน
ช่วงนี้ระดับเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็ว ร่างกายจึงมีความไวต่อสิ่งกระตุ้น บางคนจึงเป็นสิว ผิวหนังอักเสบง่าย หรือคนที่เป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนอยู่แล้ว สมองจะได้รับการกระตุ้นให้ปวดศีรษะไมเกรนได้
ดูแลร่างกายให้ฮอร์โมนไม่วุ่นวาย
ปรับอาหาร ช่วงก่อนมีประจำเดือน 14 วัน ควรหันมากินอาหารจำพวกธัญพืช ผัก ผลไม้ เนื้อปลาให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารมันเค็ม เนื้อแดง และนม ก็จะช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนได้ออกกำลังกาย กำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และฮอร์โมนสมดุลมากขึ้นโยคะ และฝังเข็ม ในคนที่อาการมากๆ โดยเฉพาะปวดประจำเดือน การฝังเข็มและฝึกโยคะช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้
เมื่อรู้จักอาการพลุ่งพล่านของฮอร์โมนที่เกี่ยวกับรอบเดือน แล้วรับมือกันมันอย่างมืออาชีพ ลบข้อครหา “มนุษย์เมนส์” ไปเลยดีกว่า