เช็คร่าง Checklist 11 รายการตรวจร่างกายประจำปี
พี่ริต้า 13 8พออายุเลยเลข 3 มาสักระยะหนึ่ง พี่ริต้าก็พบว่าของขวัญที่ควรมอบให้ตัวเองทุกปีคือ ตรวจสุขภาพประจำปี แต่ช่วงแรก จะงงๆ เลือกไม่ถูก เพราะโปรแกรมตรวจสุขภาพของแต่ละที่มีให้เลือกมากมายหลายรายการ ถ้ารายการพื้นฐานตรวจสุขภาพทั่วไปจะคล้ายกัน แต่สิ่งที่ต้องตรวจเพิ่มในแต่ละช่วงอายุนี่สิ ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะมีความเสี่ยงอีกหลายโรคเพิ่มตามอายุ เราจะเลือกตรวจเพิ่มยังไง พี่ริต้ามีหลักง่ายๆ มาให้ดูกัน
อายุ 18 ปีขึ้นไป
- ความดันโลหิตสูง ควรตรวจทุก 2 ปี แต่ถ้ามีความดันโลหิตสูงควรตรวจปีละครั้ง
- ตรวจไขมันในเลือด ถ้าตรวจครั้งแรกค่าปกติ ต่อไปควรตรวจทุก 5 ปี แต่ถ้ามีความเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ อ้วน ความดันสูง มีญาติสายตรงป่วยโรคหลอดเลือดอุดตันควรตรวจทุกปี
- ค่าดัชนีมวลกาย ควรตรวจทุกปีเพื่อดูว่าผอมเกินไปหรืออ้วนเกินไปหรือไม่
- ตรวจไวรัสตับอักเสบบีและซี ตรวจครั้งแรกเพื่อดูว่าเป็นพาหะหรือไม่ หากพบว่าเป็นพาหะควรอัลตราซาวนด์ตับทุก 1 ปี เพื่อป้องกันมะเร็งตับ
- ไต ตรวจการทำงานของไต โดยตรวจปัสสาวะ หากไม่มีความผิดปกติก็ไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดตรวจ แต่ถ้าพบความผิดปกติต้องตรวจละเอียดต่อไปตามคำแนะนำของคุณหมอ
อายุ 30 ปีขึ้นไป
- ตรวจภายใน สาวๆ อายุ 18 ปีขึ้นไปควรตรวจภายในประจำทุกปี แต่พี่ว่าหลายคนไม่ยอมไปตรวจแน่ๆ ดังนั้นพี่แนะนำว่าถ้าอายุขึ้นเลข 3 ควรเริ่มไปตรวจทุกปีได้แล้ว
- ตรวจมะเร็งปากมดลูก สาวๆ วัยนี้เวลาไปตรวจภายในควรตรวจมะเร็งปากมดลูกเพิ่มด้วย โดยสาวๆ ที่เคยมีอะไรกับแฟนควรตรวจทุก 1-2 ปี ตรวจไปเรื่อยๆ ถ้า 2-3 ครั้งแรกที่ตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ สามารถเว้นระยะห่างออกไปเป็น 5 ปีครั้งได้ และพออายุ 35 ควรตรวจทุก 5 ปี จนถึงอายุ 60
อายุ 40 ปีขึ้นไป
- มะเร็งเต้านม ผู้หญิงอายุขึ้นเลข 4 ควรตรวจมะเร็งเต้านม โดยวิธีแมมโมแกรม (Mammogram) ปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมควรตรวจแมมโมแกรมก่อนอายุ 40 ปีได้เลย
- โรคเบาหวาน วัยนี้ควรตรวจหาค่าน้ำตาลในเลือด เพื่อหาความเสี่ยงโรคเบาหวานทุกคน
- โรคกระดูกพรุน ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนควรตรวจความหนาแน่นของกระดูก เพราะสาววัยทองจะมีภาวะเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะคนที่ตัวเล็กๆ และผอมๆ
อายุ 50 ปีขึ้นไป
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในคนไทย คนที่อายุมากกว่า 50 ปี และคนที่มีญาติสายตรงป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องเป็นประจำทุกปี
นอกจากดูตามลิสต์นี้แล้ว เนื่องจากไลฟ์สไตล์และประวัติครอบครัวของแต่ละคนทำให้มีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน ก่อนตรวจแต่ละอย่างควรปรึกษาคุณหมอได้เลย สงสัยตรงไหนซักถามให้ละเอียด คุณหมอส่วนใหญ่ก็ใจดีพร้อมตอบข้อสงสัยของสาวๆ อยู่แล้ว