#ออเจ้าต้องรู้ แฟชั่นสาวสยาม ในยุคอโยธยา จากจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์
tarnnn 39 8
อินกับละครบุพเพสันนิวาส จนต้องไปหาจดหมายเหตุบันทึกประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยามมาอ่านกัน บอกเลยว่า ยังมีเรื่องราวที่นอกเหนือจากละครที่เรายังไม่รู้อีกมาก เลยหยิบเอามาฝากกัน กับ “แฟชั่นสาวสยามในยุคอโยธยา” จากจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์
จากพงศาวดารว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม บอกไว้ว่า ชาวสยามมีความเป็นอยู่เรียบง่าย ในวันปกติที่อากาศร้อน พวกเขาและเธอมักจะนุ่งห่มผ้าน้อยชิ้น และจะไปไหนมาไหนด้วยเท้าเปล่า ไม่สวมหมวก แต่จะใช้ผ้าโพกหัวไว้ยามที่ต้องลงเรือ จนกลายเป็นธรรมเนียม
คราวนี้มาดูต่อว่า แฟชั่นในยุคนั้นต่างจากตอนนี้ยังไงบ้าง
ผ้านุ่ง
สาวสยามจะนุ่งผ้าตามความยาวของผืน เลียนแบบกระโปรงแคบๆ ให้ชายตกลงมาครึ่งแข้ง และนิยมปล่อยตัวล่อนจ้อน เกือบจะเปลือยหมด มีแต่คนมั่งมีเท่านั้นที่จะมีสไบ ผ้าม่วงไหม และผ้าลายเนื้อดี ผ้าแบบนี้นุ่งได้เฉพาะคนที่ได้รับพระราชทานเท่านั้น ส่วนสไบจะใช้วิธีห่มแบบปัดชายสไบเฉียงไปคลุมต้นแขน ส่วนหญิงสามัญชนจะนุ่งผ้าสีดำ สไบผ้ามัสลินสีขาว ตอนกลางคืนจะเปลี่ยนมาห่มตะเบงมานแทน และผลัดผ้านุ่งเข้านอนแทนที่จะเปลือยกายทั้งหมด
เครื่องประดับ
สาวสยามนิยมสวมแหวนที่นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย ของมือทั้งสองข้าง และสวมแหวนมากกว่า 1 วง หรือมากเท่าที่จะมากได้ พวกเธอจะใส่ต่างหูรูปร่างเหมือนลูกปัวร์ หรือลูกแพร์ ทำด้วยทองคำ เงิน หรือกาไหล่ทอง และสวมเล็บที่ทำด้วยทองเหลือง ส่วนเด็กผู้ดีจะสวมกำไลข้อมือ และข้อเท้าจนถึงอายุ 7 ขวบ
ทรงผม
สาวสยามมักไว้ผมสั้นเสมอใบหูด้านบน หรือไม่ก็กร้อนเกรียนติดหนังศีรษะ สีผมดำสนิท และหวีผมตั้งไว้บนหน้าผาก ส่วนสาวชาวรามัญในยุคนั้นจะปล่อยผมให้ยาวไปข้างหลัง แล้วขมวดเป็นมวยไว้ที่ท้ายทอย สระผมด้วยน้ำและใส่น้ำมันจันทร์ และชอบหวีผม
ความสะอาด
สาวสยามมักอบร่ำร่างกายด้วยสุคนธรส หรือเครื่องหอม ริมฝีปากสีด้วยขี้ผึ้งหอมทำให้ปากดูซีดกว่าปกติ ในยุคนั้นสาวสยามนิยมอาบน้ำบ่อย (วันละ 3-4 ครั้ง) และชอบที่จะประแป้งขาวให้เห็นเด่นชัดว่า อาบน้ำมาแล้ว
ย้อมฟัน
สาวสยามจะใช้วิธีอมซีกมะนาวไว้ในกระพุ้งแก้ม และที่ฟันหน้าราวหนึ่งชั่วโมงหรือนานกว่านั้น เพื่อให้ฟันน่วม แล้วใช้น้ำยางจากรางไม้บางชนิด หรือกะลามะพร้าวถูให้ฟันดำ เพื่อกันไม่ให้น้ำหมากพลูที่มาจับกับฟันสีขาวตามธรรมชาติดูน่าขยะแขยง
ย้อมเล็บนิ้วก้อย
สาวสยามไม่ทำเล็บ แต่รักษาความสะอาด และนิยมย้อมเล็บมือนิ้วก้อยให้เป็นสีแดง โดยใช้วิธีขูดผิวเล็บออก แล้วใช้น้ำยาชนิดที่ทำจากข้าวบดในน้ำมะนาวผสมกับใบไม้ชนิดหนึ่ง คล้ายๆ กับใบทับทิมทาทับ
จดหมายเหตุลาลูแบร์ ว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม (Du Royaume de Siam) เป็นจดหมายเหตุพงศาวดารที่กล่าวถึงราชอาณาจักรสยามในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2230 โดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทูลพระราชสาส์น ณ ประเทศสยาม ราว 3 เดือน 6 วัน ซึ่งอาศัยความรู้จากหนังสือที่ชาวตะวันตกซึ่งมากรุงสยามแต่ก่อน และสอบถามจากคนที่ไม่มีความรู้บ้าง ฟังจากคำบอกเล่าซึ่งจริงบ้างไม่จริงบ้าง บางเรื่องก็คาดเดาเอาเอง