เปิดปมขัดแย้ง ก่อชนวนดราม่า Cultural appropriation

31 7
Cultural appropriation คืออะไร  เหตุไฉน ประเด็นนี้จึงกลายเป็นชนวนดราม่าสร้างความความขัดแย้งมาแล้วหลายครั้ง   ??
คุณอาจจะเคยสงสัยว่า เพราะอะไรภาพของคาร์ลี่ คลอสที่ใส่เครื่องประดับผมของชาวเผ่าพื้นเมืองอเมริกันใน Victoria's Secret Fashion show จึงถูกวิพากษ์อย่างแรงทำให้แบรนด์ต้องออกโรงขอโทษและตัดชุดนี้ออกจากการเผยแพร่เทปบันทึกโชว์
เมื่อใดที่เซเลบที่ไม่ได้มีเชื้อสายแอฟริกันทำทรงผมCornrows  หรือ Dreadlocks แล้วจะมีเสียงกล่าวหาเรื่อง Cultural Appropriation  ตามมา
เพราะอะไร ผู้นำองค์กร the Universal Society of Hinduism จึงเรียกร้องให้เซเลน่า โกเมซแสดงคำขอโทษ หลังจากเธอขึ้นแสดงบนเวที MTV ด้วยท่าเต้นและเครื่องแต่งกายที่ตั้งใจทำให้เป็นสไตล์  Bollywood รวมถึงเครื่องหมาย Bindi ที่หน้าผาก
การหยิบยืมทางวัฒนธรรมหรือ cultural appropriation นี้เป็นสิ่งที่เกิดจากการถ่ายเทวัฒนธรรมจากกลุ่มชนชาติอื่นนำมาใช้  ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ทรงผม ดนตรี การเต้นระบำ การบริหารร่างกาย

cultural appropriation ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งมักจะเกิดจากการขาดความเข้าใจในวัฒนธรรมผู้อื่นและการแสดงออกที่ตอกย้ำบาดแผลของเจ้าของวัฒนธรรม ชี้ชัดให้เห็นถึงความเป็นอภิสิทธิ์ชนของผู้ที่หยิบยืมนำวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ของตัวเองมาใช้  ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เป็นต้นแบบนั้นกลับได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในสังคม พวกเขาถูกแบ่งแยกกีดกันจากการใช้วัฒนธรรมของตัวเอง และเมื่อเรียกร้องให้เกิดความเข้าใจและเคารพในวัฒนธรรมของพวกเค้ากลับถูกโต้กลับว่า senstive เกินไป  คิดมากไปเองไม่เข้าเรื่อง


คุณอาจจะเคยเห็นเครื่องประดับศีรษะของชนพื้นเมืองชาวอเมริกัน (อินเดียนแดง) บนปกแม็กกาซีน  เทศกาลดนตรี Coachella  หรือจะเป็นพาร์ตี้ย์กำหนด theme เหมือนกับภาพของคริส เฮมสเวิร์ธ เราหลายคนอาจจะมองว่าเครื่องประดับนี้ดูโดดเด่นเหมาะสำหรับที่จะเป็น fashion accessories  
แต่สำหรับผู้ที่สืบเชื้อสายชนพื้นเมืองที่มีจำนวนประชากรเหลืออยู่เพียงน้อยนิดหลังจากที่ถูกรุกรานจากชาวยุโรปผิวขาวที่เข้ามาตั้งรกรากในแผ่นดินอเมริกา  เครื่องประดับศีรษะเป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณ ผู้ที่จะสวมใส่ได้นั้นจะต้องสั่งสมบารมีแสดงความสามารถที่คู่ควรต่อเครื่องประดับนี้  มันไม่ใช่เรื่องของแฟชั่นที่สนุกสนาน แต่มีความสำคัญต่อผู้ที่สืบทอดวัฒนธรรมชนพื้นเมือง  มันคือเหตุผลที่ไม่ว่าเมื่อไรที่มีภาพการใส่เครื่องประดับศีรษะนี้เมือไรก็จะมีเสียงท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมทุกครั้งไป  คริส เฮมสเวิร์ธเป็นหนึ่งในคนดังที่ต้องขออภัยในความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้
ฟาเรลล์ วิลเลียมส์ เคยถูกโจมตีหลังจากใส่เครื่องประดับศีรษะ War bonnet อันเป็นเครื่องหมายของหัวหน้าเผ่าขึ้นปกนิตยสารแฟชั่น ในอดีต War bonnet จะถูกใช้สวมใส่ในการรบ  ซึ่งในปัจจุบันจะถูกใช้ในพิธีกรรมสำคัญเท่านั้น  แม้ว่าฟาเรลล์จะเคยเล่าว่าสืบเชื้อสายมาจากชนพื้นเมือง  แต่คลิฟฟ์ มาเทียส ผู้อำนวยการแห่ง Redhawk Native American Arts Council ได้ตำหนิว่า " ถ้าเขามีเชื้อสายชนพื้นเมืองอเมริกันก็ควรจะรู้ดีกว่านี้  ถึงคุณจะสืบเชื้อสายชนพื้นเมืองแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณมีสิทธิ์จะใส่ War Bonnet  คุณได้ทำอะไรให้กับชนพื้นเมืองมาบ้าง  คุณเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมใดกันแน่  มันน่าเศร้าถ้าคุณทำได้แค่พูดว่าเป็นชนพื้นเมืองอเมริกันและสามารถจะใส่สิ่งนี้ได้ "


หน่วยงาน Indian Country Media Network  แสดงความไม่พอใจเช่นกัน พวกเขาได้เตือนผ่านหน้าเว็บไซต์ว่า  "ลองใคร่ครวญตามนี้ดู  มีผู้คนอีกเยอะที่ตกตะลึงที่ได้เห็นภาพนี้  พวกเค้ามีความผูกพันลึกล้ำกับวัฒนธรรมชนพื้นเมืองและดำรงชีวิตกับสิ่งเหล่านี้มาโดยตลอด  หากพวกเค้าบอกว่าภาพนี้สร้างความเจ็บปวดใจให้  นั่นหมายความว่าพวกเค้าเจ็บปวดจริง ๆ "


หลังจากมีกระแสโจมตีด้วย #NotHappy  ฟาเรลล์ได้ออกมาแสดงความเสียใจ และยืนยันว่าเขาเคารพและให้เกียรติทุกชนชาติ ทุกเผ่าพันธุ์และทุกวัฒนธรรม"

ทรงผมกับความเท่าเทียม
เพราะอะไร  ทรงผมจึงเข้าไปพัวพันกับความเหลื่อมล้ำในสังคม   บางคนอาจจะสงสัยว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็มีสิทธิ์จะจัดแต่งทรงผมตามที่ต้องการโดยไม่ถูกตราหน้ามิใช่หรือ ?
แต่ในสังคมตะวันตกบางประเทศ ผู้คนเชื้อสายแอฟริกันยังต้องแบกรับกับ stigma ที่ถูกยัดเยียดให้  ไม่ว่าจะเป็นผมหยิกฟูตามธรรมชาติและการจัดทรงเพื่อคอนโทรลไม่ให้เส้นผมรบกวนชีวิตประจำวันในรูปแบบของ Cornrows Dreadlocks และเปียแบบต่าง ๆ ถูกตั้งแง่ด้วยทัศนคติที่เหยียดหยาม  
เด็กแฝดที่ถูกพักการเรียนและห้ามไปงานพรอมและเข้าชมรมเพราะต่อผมและถักเปียรอบศีรษะ   
เด็กหญิงในเท็กซัสถูกล้อเลียนเรื่องผมหยิกฟูตามธรรมชาติ  และเมื่อโรงเรียนทราบเรื่อง  นอกจากจะไม่จัดการคนที่ bully แล้ว ยังบอกให้แม่ของเธอพาไปยืดผมซะไม่งั้นจะให้เธอออกจากโรงเรียน  พอเรื่อนี้กลายเป็น viral โรงเรียนก็มาชี้แจงสั้น ๆ ว่าไม่ได้ให้ไปตัดผมออกซะหน่อย แค่ให้จัดแต่งทรงตามกฎในคู่มือ  ในขณะที่เด็ดผิวขาวสามารถปล่อยผมธรรมชาติในโรงเรียนได้  
สาวลูกครึ่งพนักงานในช็อป Zara ถูกผู้จัดการติเตียนเรื่องผมเปียที่ดูไม่เป็นมืออาชีพ
ไม่กี่ปีก่อน  บางสื่อได้ชี้ให้เห็นว่าหากค้น Google คำว่าทรงผมที่ดูไม่เป็นมืออาชีพในที่ทำงานกับทรงผมที่เป็นมืออาชีพ  ผลที่ได้คือ ผมหยิกตามธรรมชาติทีจัดเป็นทรงต่าง ๆ อันเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่สืบมาอย่างยาวนานของคนเชื้อสายแอฟริกันนั้นจะอยู่ในหมวดของไม่เป็นมืออาชีพ ตรงกันข้ามกับผมเรียบตรงเงางามของสาวผิวขาว (ปัจจุบัน result จากการ google จะไม่แบ่งแยกตามนั้นแล้วค่ะ เพราะเจอกระแสกดดันรุนแรงทีเดียว)
บางคนอาจจะคิดว่า ทรงผมเหล่านี้มีจุดกำเนิกมาจากวัฒนธรรมฮิปฮอปของชาวอเมริกัน  แต่ที่จริงแล้ว เปียและเดรดเหล่านี้เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของชาวแอฟริกันมาเนิ่นนาน ในบางชนเผ่า ทรงผมจะเป็นสัญลักษณ์ของนักรบผู้กล้าหาญ  เปียติดหนังศีรษะหรือ cornrows นั้นถือเป็นทรงผมที่สวยงาม และที่สำคัญยังดูแลรักษาได้ง่ายไม่ต้องยุ่งยากใจกับผมที่พันกันเป็นกระจุก   แต่ในช่วงเวลาหนึ่ง cornrows เป็นทรงผมต้องห้ามในที่ทำงานในประเทศอเมริกา  ทำให้คนเชื้อสายแอฟริกันต้องเรียกร้องให้สังคมเลิกอคติต่อความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของพวกเค้า
มีคนที่คิดว่า ผม dreadlocks คือตัวสัญลักษณ์ของฮิปปี้  แต่ทว่า ผู้นับถือลัทธิ Rastafari ในจาไมก้าได้ไว้ dreadlocks มานมนานก่อนที่บ็อบ มาร์เลย์จะกลายเป็นไอคอนแห่งวงการดนตรีเรกเก้และทำให้ผมทรงนี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ด้วยความเชื่อที่ว่าเส้นผมเป็นจุดศูนย์รวมแห่งพลังความแข็งแกร่งและจะไม่ตัดผมออก  ทรงผมจึงไม่ได้เป็นเรื่องของความสวยความงามและสไตล์ทันสมัยดึงดูดใจ แต่สำหรับส่วนหนึ่งของสังคม  ทรงผมคือการแสดงความภูมิใจในวัฒนธรรมที่ร่วมใจรักษาไว้
ในทางกลับกัน  แม้นั่นจะเป็นสิ่งที่กลุ่มคนเชื้อสายแอฟริกันภาคภูมิใจ  แต่เมื่อคนหมู่มากที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมหลักไม่ยอมรับ แสดงท่าทีต่อต้าน สร้างกฎระเบียบห้ามในสิ่งที่พวกเค้าเป็น  ความกดดันมันจะเป็นเช่นไร  เมื่อคิดภาพออกเลยใช่มั้ยคะ

พวกเค้าจะต้องเจอกับเรื่องทำนองนี้

- ปล่อยผมตามธรรมชาติ  ถูกด่าว่าไม่เรียบร้อย  เบี่ยงเบนความสนใจจนน่ารำคาญ

-  ถัก cornrows ให้เรียบติดหนังศีรษะ   ดูเหมือนนักเลงข้างถนน ไม่โพร

-  dreadlocks  เหมือนพวกชอบเล่นยาหรือโฮมเลส

-  ยืดผมให้ตรง  สงสัยอยากจะเป็นคนผิวขาวจนต้องเลียนแบบทรงผม



แต่เมื่อคนผิวขาวหยิบจับสิ่งนั้นมาแสดงออกทางแฟชั่นแล้วได้รับเสียงชื่นชม   โดยเฉพาะคนดังที่สื่อบันเทิงพร้อมใจจะพาดหัวว่าเป็นเทรนด์สุดร้อนแรงจากอิทเกิร์ล

คำว่า culture appropriation ก็กลายเป็นกระแสตีกลับทันที
แต่เมื่อคนผิวขาวหยิบจับสิ่งนั้นมาแสดงออกทางแฟชั่นแล้วได้รับเสียงยกย่องชื่นชมเป็นผู้นำเทรนด์   โดยเฉพาะคนดังที่สื่อบันเทิงพร้อมใจจะพาดหัวว่าเชียร์ว่ามันจะกลายเป็นลุคที่ฮิทไปทั่ว

คำว่า culture appropriation ก็กลายเป็นกระแสตีกลับทันที
เมื่อคุณ google คำว่า Kylie Jenner และ Cornrow จะมีบทความเรื่องการฉกฉวยทางวัฒนธรรมจากสื่อต่างๆ เรียงรายเต็มไปหมด จาก TeenVogue  , The Guardian , FOX news  ไปจนถึง VanityFair  แม้หลายคนจะออกโรงโต้ตอบแทนคนดังว่า "จะเอาอะไรกันนักกันหนากับแค่เรื่องทรงผม "  แต่ในส่วนหนึ่งของสังคม  คุณอาจจะถูกไล่ออกจากโรงเรียนหรือเสียงานไปเพราะทรงผมที่โดดเด่นในวัฒนธรรมของตัวเอง  เมื่อได้เห็นเหล่าอิทเกิร์ลปั่นเทรนด์ขึ้นมาจากสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ไม่เป็นที่ยอมรับ  กระแสความไม่พอใจก็ถาโถมขึ้นมา  จนในที่สุด สื่อต่าง ๆ ก็ได้เห็นความสำคัญกับการเคลื่อนไหวอันนี้และร่วมส่งสารสู่ผู้คนให้ได้เข้าใจถึงที่มาของการต่อต้าน culture appropriation   
อแมนด้า สเทนเบิร์ก ดาราสาวจาก The Hunger Games ได้ทักท้วงไคลี่ เจนเนอร์ที่ดูปลาบปลื้มในเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของคนเชื้อสายแอฟริกันผิวดำ แต่ไม่เคยใช้พื้นที่ในการเป็นคนดังทรงอิทธิพลของตัวเองเป็นปากเสียงให้กับคนดำที่ประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม   และเธอได้รับคำตอบจากอิทเกิร์ทคนดังว่า "กลับไปเล่นกับเจเดน สมิธซะเถอะ"  
สมาชิกบ้าน KarJenner นั้นจะได้รับเสียงวิจารณ์ในเรื่องนี้มาตลอด นอกจากพี่สาวคนโต  พวกเธอคบหาแต่ผู้ชายผิวดำจากวงการฮิปฮอปและวงการกีฬา มักนำเสนอรูปลักษณ์และสไตล์ที่ได้รับอิทธิพลมาจาก Black culture  มีทายาทเป็นลูกครึ่งผิวดำ แต่น้อยครั้งที่พวกเธอจะพูดถึงปัญหาการแบ่งแยกทางสีผิว  (คิมเคยเปิดใจถึงแนวทางการเลี้ยงลูกอย่างเปิดกว้างโดยเลือกที่จะไม่กังวลในเรื่องสีผิวที่แตกต่างกัน)
เซนดาย่าได้เปิดใจเคลียร์ต่อเรื่องนี้ว่า

"ก่อนอื่นนะคะ  เปียพวกนี้ไม่ใช่อะไรใหม่เลย  ผู้หญิงผิวดำทำผมแบบนี้มานานมาก  และมันเป็นเหตุผลที่พวกเราหงุดหงิดใจ   เราใช้มันเพื่อวิธีดูแลรักษาผมและมันก็เป็นทรงผมที่ดูดีด้วย มันเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมและกลุ่มพวกเรามายาวนาน  เพราะฉะนั้นพอมันไปอยู่บนหัวของคนอื่นที่ไม่ใช่คนดำ  ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องกลายเป็นสิ่งที่แปลกใหม่และสร้างความสนุกสนาน"

 "อแมนด้าสาวสุดเจ๋งเพื่อนของชั้นได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมา  เธอบอกว่าถ้าสังคมให้ความรักกับคนดำพอ ๆ กับที่รักวัฒนธรรมคนดำก็คงจะดีมากๆ  และนั่นคือความจริงค่ะ พวกเราไม่ได้รับเครดิตยามที่แสดงตัวตนที่มีเอกลักษณ์ ผู้คนนำเลือกแต่สิ่งดีๆในวัฒนธรรมเราไปใช้ แต่พวกเค้าไม่อยากรับรู้ถึงปัญหาใดๆ  ตอนที่พวกเราคนดำถูกยิงตามถนนหนทางนั่นล่ะ เข้าใจใช่มั้ยคะ  คุณต้องเผชิญกับทุกสิ่งร่วมกันสิคะ ไม่ใช่ว่าเลือกแต่อะไรที่คุณรู้สึกสะดวกใจเท่านั้น"


เมื่อสังคมเริ่มมีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มากขึ้น  จึงไม่น่าแปลกใจที่มีผู้ออกโรงตำหนิคนดังผู้มีพฤติกรรมแบบ cultural appropriation ไม่ใช่กลุ่มคนเชื้อสายแอฟริกันผิวดำเท่านั้น  สื่อดังบางเจ้าก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับ "เทรนด์" นี้ด้วยเช่นกัน
เรื่อง culture appropriation นี้ไม่ได้เป็นประเด็นถกเถียงในโลกตะวันตกเท่านั้น  คุณอาจจะผ่านหูผ่านตาดราม่าที่เกิดในวงการ K Pop มาแล้วหลายครั้ง ในขณะที่ผู้คนจำนวนหนึ่งยืนยันว่าสังคมของเกาหลีใต้แตกต่างกับในตะวันตกมาก จำเป็นด้วยหรือที่พวกเขาต้องยอมรับกระแส multicultural เหมือนกับในอเมริกาหรือยุโรป   ในเมื่อประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อชาติเกาหลี ทำไมจะต้องใส่ใจว่าสิ่งที่ปรากฎในสื่อจะไปกระทบกระเทือนใจชาวต่างชาติ ?
เมื่อลองวิเคราะห์ถึงการสร้างกระแสดนตรี K Pop ให้โด่งดังไปทั่วโลก  ไม่ใช่แต่ชาวเอเชียนเท่านั้นที่ปลาบปลื้มติดตามศิลปินจากเกาหลีใต้ ผู้คนจากหลากหลายประเทศในตะวันตกได้หันมาชื่นชม K Pop  แต่บางสิ่งที่ปรากฏในภาพสื่อบันเทิงเกาหลีใต้กลับสร้างข้อโต้แย้งขึ้นมา
คุณจะสัมผัสได้ชัดเจนว่า  K Pop รับเอาวัฒนธรรมดนตรีของอเมริกามาปรับให้เข้ากลับความนิยมของชาวเกาหลีใต้ ศิลปินหลายคนได้แสดงออกไม่ต่างจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน แฟชั่น ทรงผม แนวดนตรี  


แทยังวง  Big Bang ประกาศว่าใฝ่ฝันอยากเป็นที่ยอมรับในวงการดนตรีของชาวอเมริกันผิวดำ  "ผมไม่ใช่คนดำ ดังนั้นผมจึงต้องเพิ่มเติมประสบการณ์ที่เจ็บปวด ถ้าต้องการจะปลดปล่อยความรู้สึกและจิตวิญญาณที่คนดำมีผ่านดนตรีของผม  นั่นคือเหตุผลว่าทำไมผมจึงเชื่อว่าความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานนั้นสามารถทำให้ดนตรีผมลุ่มลึกบาดใจมากขึ้น"

แม้กระทั่งแร็พเพอร์ Zico ยังเคยแร็พว่า จิตวิญญาณของเขาเป็นคนดำ



แต่กลับกลายเป็นว่าคอมเมนท์ทำนองนี้ทำให้คนแอฟริกันผิวดำ(รวมไปถึงชนชาติอื่น) เกิดอาการประมาณขนลุกขึ้นมาทีเดียว
ในขณะที่ผู้คนเชื้อสายแอฟริกันหลายคนชี้ให้เห็นว่า  แม้คุณจะหลงรักดนตรีฮิปฮอปและชื่นชม black culture แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะประกาศตัวว่ามีจิตวิญญาณแบบคนดำได้  ไม่ว่าคณจะเติบโตที่ไหนในโลก หากคุณไม่เคยได้พบกับประสบการณ์ที่พวกเค้าได้เจอ  

-  ตั้งแต่เด็ก คุณอาจจะต้องพบเจอกับผู้คนที่ถูกปลูกฝังให้แบ่งแยกสีผิวไม่เปิดใจยอมรับความแตกต่าง ถูกล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์ หยามหยันด้วย N word คำต้องห้ามที่ถือเป็นการเเหยียดผิวนับแต่สมัยที่ยังมีการค้าทาสคนดำ
 - หากเข้าไปในช็อปก็อาจจะไม่ได้การต้อนรับอย่างเต็มใจ ขนาดโอปราห์ที่เข้าไปเลือกซื้อกระเป๋าในช็อปหรูที่สวิสเซอร์แลนด์ยังถูกพนักงานปฏิเสธที่จะหยิบสินค้ามาให้ดูและบอกว่ากระเป๋าใบนั้นแพงเกินไปสำหรับเธอ  Gabourey Sidibe ดาราจาก Empire ก็เคยถูกพนักงานช็อป Chanel ปฏิบัติแบบมีอคติจนเธอต้องออกมาเขียนจดหมายระบายความรู้สึก ทำให้แบรนด์ดังต้องออกโรงขอโทษในภายหลัง  หรือบางคนถูกกล่าวหาว่าเป็นขโมยเมื่อพิสูจน์ตัวได้ก็ไม่ได้รับคำขอโทษ
- ถูกตำรวจกระทำเกินกว่าเหตุจนเสียชีวิตไปหลายศพส่งผลให้เกิดการประท้วงลามปลายเป็นจลาจลหลายครั้ง


เป็นระยะเวลายาวนานที่มีการต่อสู้เพื่อทำลายกำแพงอคติของการเหยียดเชื้อชาติ แต่ปัญหานี้ก็ยังปลูกรากฝังลึกในสังคม  มันจึงเป็นเรื่องที่สวนทางความรู้สึกของกลุ่มชนเชื้อสายแอฟริกันบางกลุ่มที่ได้เห็นคนเชื้อชาติอื่นประกาศว่ามีจิตญาณคนดำหรือต้องการจะรู้สึกนึกคิดเหมือนกับคนดำ  ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริงว่าพวกเค้าต้องผ่านประสบการณ์ใดมาบ้าง  

และที่เจ็บกว่านั้นคือการแสดงออกแบบเหยียดผิวโดยใช้คำว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์มาขอโทษ


Black face ในสื่อเกาหลีใต้

ครูสอนภาษาอังกฤษในเกาหลีใต้คนหนึ่งได้ระบายว่า  มันก็ดีนะที่เห็นพวกเค้าชื่นชอบวัฒนธรรมของพวกเราและสื่อผ่านทางดนตรี  แต่มันก็เจ็บปวดที่ได้เห็นพวกเค้าดูถูกพวกเราออกสื่อ 
ในระยะหลายปีที่เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการสร้างอุตสาหกรรมบันเทิงส่งออกต่างประเทศและมีแฟนๆ หลายเชื้อชาติเพิ่มขึ้นสูง  ชาวเน็ทและสื่อออนไลน์ก็เริ่มตื่นตัวในการต่อต้าน Blackface ในสื่อ

Blackface คืออะไร  เพราะอะไรจึงถือว่าเป็นการเหยียดผิว?
มันคือใช้เมคอัพหรือเทคนิคตกแต่งให้คนเชื้อสายอื่นมีรูปลักษณ์แบบคนแอฟริกัน  ในอดีต การแสดง Blackface นั้นเป็นโชว์ที่มีวัตถุประสงค์ล้อเลียนคนผิวดำสร้างความขำขันให้กับผู้ชมผิวขาว และมีการยกเลิกการแสดงเหล่านั้นไปเนิ่นนานแล้ว 
และแม้ว่าจะถูกตำหนิไปหลายครั้งหลายครา โพรดิวเซอร์ของรายการวาไรตี้บางช่องก็นำ Blackface เข้ามาใส่ในสคริปท์รายการ  พวกเค้าให้คนเกาหลีใต้ทาหน้าดำคล้ำ ทาปากให้ใหญ่เกินจริง  บางคนใส่วิผมหยิกเพื่อนำเสนอความตลกขบขันให้กับผู้ชม
มีผู้แสดงความเห็นว่า เพราะอะไรโพรดิวเซอร์และตัวคนดังที่แต่ง Blackface จึงรู้สึกว่ามันโอเคที่จะแสดงออกว่ารูปลักษณ์ของมนุษย์ร่วมโลกนั้นดู "ตลก" และปล่อยให้มีภาพที่สร้างความกระทบกระเทือนใจเหล่านี้ออกมา
เรื่องนี้เกิดขึ้นหลายครั้งจนมีคนเข้าไปตั้งแคมเปญเรียกร้องให้ยุติ Blackface ในสื่อเกาหลีใต้
Sam Okyere  นายแบบชาวไนจีเรียนที่ไปโด่งดังในวงการ TV เกาหลีใต้ได้เรียกร้องว่า "ผมอยากบอกว่านี่มันรับไม่ได้เลยครับ  มันปีไหนแล้วเนี่ย  พวกเราไม่ได้มีให้ไว้ใช้เรียกความฮานะครับ  เรื่องนี้ควรจะหมด ๆ ไปซักที"   เขายังทิ้งคำพูดเตือนใจไว้ว่า แม้สีผิวจะต่างกัน แต่ก็มีเลือดสีเดียวกัน และขอแรงสนับสนุนให้ยุติการเหยียดผิวออกไปจากสังคม





candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE