ชวนดู 16 ชุดของคนที่ตกเป็นเหยื่อ แต่งตัวโป๊ ≠ ถูกข่มขืน #DontTellMeHowToDress

31 6
แต่งตัวแบบไหน กินเหล้ามาหรือเปล่า หรือว่าจริงๆ แล้วสมยอม!
 
คำถามเหล่านี้ผุดขึ้นบ่อยครั้งหลังเกิดเหตุคุกคามทางเพศ ทำให้เหยื่อเคราะห์ร้ายจากภัยข่มขืนจำนวนมาก ไม่กล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้กับความถูกต้อง คนผิดไม่ถูกลงโทษ ซ้ำร้ายยิ่งสร้างให้เกิดวังวนของการทำผิดซ้ำกับเหยื่อรายต่อๆ ไป

เสื้อผ้าทั้ง 16 ชุดของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ถูกนำมาจัดแสดงเพื่อตั้งคำถามต่อการยอมรับพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับสังคม ใน นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ (Social Power Exhibition Against Sexual Assault)




ชุดของเด็กสาววัยเพียง  2 ขวบ ที่เธอสวมใส่แทบทุกวัน มองเผินๆ ก็เป็นเพียงแค่ชุดอยู่บ้านธรรมดา ไม่ได้ทำให้ผู้พบเห็นเกิดอารมณ์ทางเพศ แต่กลับเป็นชุดที่เธอใส่ในวันที่ถูกขมขื่น

ไม่ต่างจาก 16 ชุด ที่ไม่ได้แสดงถึงความยั่วยวน หรือเชิญชวนให้ใครมาทำร้าย เป็นเพียงชุดที่เรียบง่าย ชุดที่ใส่ในชีวิตประจำวัน

"ถ้าผู้ชายคนนี้อดกลั้นกับสิ่งเร้าที่เห็นอยู่ตรงหน้าไม่ได้ เขาจะสามารถอดทนกับสิ่งเร้าในสังคมที่มีมากมายต่อไปได้หรือ?" ณัฐ ประกอบสันติสุข เจ้าของผลงานภาพถ่ายที่นำมาจัดแสดงในงาน ตั้งคำถามกับชุดของเหยื่อที่นำมาจัดแสดงเป็นตัวอย่าง

เขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวความเจ็บปวด ผ่านข้อความที่นำเสนอด้วยรูปภาพ เสียง และเสื้อผ้าของผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์จริง โดยได้ตัดทอนบางส่วนที่เกินรับไหวออกไป เพียงเพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึก ให้คนได้ฉุกคิด แล้วถามตัวเองว่า รู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เห็น


หนึ่งในเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเล่าว่า เธอเคยถูกคุกคามทางเพศเมื่อครั้งที่เป็นนักศึกษาหญิงโดยรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่เธอเลือกที่จะไม่กล่าวโทษตัวเอง และลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับสิ่งที่ถูกต้อง จนนำมาสู่การไต่สวน และลงโทษทางวินัย

เบื้องหลังที่ทำให้เธอเกิดความกล้านั้น เป็นเพราะคนในครอบครัว คนใกล้ชิด และสังคมคอยให้กำลังใจ สนับสนุน และยอมรับการตัดสินใจ จนก้าวข้ามผ่านคำถามมายาคติทั้งเรื่องการแต่งตัว สถานที่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสมยอม ที่ยังคงวนเวียนและสะท้อนถึงทัศนคติที่ผิดๆ ของคนในสังคม


แต่งตัวโป๊ = ถูกข่มขื่น จริงเหรอ? ซินดี้ สิรินยา บิชอพ
ตั้งคำถามกับผู้ชม

เสียงของเธอดังขึ้นครั้งแรกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา หลังจากที่เธออัดคลิปแสดงความเห็นในเรื่องนี้ จนเกิดการแชร์ออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว กลายเป็นหนึ่งในปรากฎการณ์ Social Movement ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกกับ #Metoo

ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อกล้าที่จะลุกขึ้นมาแสดงตัวตน และไม่ยอมให้เรื่องเงียบหายไปอย่างที่ผ่านมา หลายคนเลือกที่จะทะลายกำแพงความเงียบเฉย ออกมาปกป้องสิทธิ์ของตัวเอง บางคนตัดสินใจที่จะเล่าเรื่องราวอันเจ็บปวดของตัวเองออกมาเป็นครั้งแรก และตั้งคำถามกับตัวเองว่า การคุกคามทางเพศเป็นสิ่งที่ยอมรับได้หรือไม่



ซินดี้ บอกว่า ทุกเสียงล้วนมีพลัง ไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถใช้พลังโซเชียลสนับสนุนให้ สังคมเปลี่ยนได้ ผู้หญิงเราต้องรู้จักป้องกันตัว ขณะเดียวกันผู้ชายเองก็ต้องเคารพสิทธิ์ของเพศตรงข้ามด้วย

เสียงสัมภาษณ์ของเหล่าดาราเซเลปบริตี้ที่มีต่อมายาคติ จะช่วยย้ำเตือนอีกครั้งว่าเราคิดกับเรื่องนี้อย่างไร

แนวโน้มเด็กถูกข่มขืนอายุน้อยลง จาก 10-20 ปี เหลือเพียงขวบ 8 เดือน ไม่ได้อยู่ในสภาพที่ยั่วยวนได้ ในขณะที่ยายวัย 86 ปี ถูกข่มขืนที่บ้าน จากการกระทำของหลานชายของตัวเอง

ในความเป็นจริงแล้วเหตุคุกคามทางเพศไม่ได้เกิดขึ้นตามผับ บาร์ หรือสถานที่อโคจร อย่างที่หลายคนสร้างมายาคติขึ้นมา แต่มักเกิดขึ้นที่บ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน หรือแม้แต่ศาสนสถานที่ไม่ถูกเปิดเผยในสื่อ โดยผู้ที่ทำการลวงละเมิดทางเพศนั้นล้วนเป็นคนใกล้ตัว ที่มีความสนิทสนมกับเหยื่อ หรือรู้จักกันเป็นอย่างดี และมักไม่เหลือร่องรอยการบาดเจ็บ

ถ้าดูจากสถิติปี 2558 มีผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ 300 คน ที่มีการทำร้ายร่างกาย เกิดเป็นคดีความ และปรากฎเป็นข่าว แต่นักสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า ยังมีเหยื่ออีกจำนวนมากที่ไม่กล้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม และปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปอย่างไร้ร่องรอย

ในความเป็นจริงที่ถูกต้องแล้ว เหยื่อต้องได้รับการช่วยเหลือ และถูกเยียวยา โดยตอนนี้มี ศูนย์พึ่งได้ OSCC ที่ให้บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง (One Stop Crisis Center) ที่มีเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพพร้อมดูแล และให้ข้อมูลทั้งนักจิตวิทยา นักวิชาการ นักกฎหมาย และพนักงานสอบสวน มีศูนย์ประชาบดี สายด่วน 24 ชั่วโมง โทร 1300 ที่พร้อมทำหน้าที่ประสานงาน ช่วยเหลือ และส่งต่อในทันที

รวมถึงมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐
พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ออกมาคุ้มครองทางกฎหมายด้วย

ทั้งหมดของนิทรรศการนี้ก็เพื่อส่งต่อพลังเสียง #DontTellMeHowToDress ออกไป เพื่อลบมายาคติในการตั้งคำถามกับเหยื่อ ให้ผู้ชายรู้สึกผิดก่อนคิดละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น และเลิกโทษผู้หญิงฝ่ายเดียว

นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ เปิดให้ชมฟรีตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2561 ที่ Fashion Hall ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน จากนั้นจะย้ายไปจัดแสดงที่ ที่ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 4-15 กรกฎาคม 2561  


นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ

นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ


25 Jun - 15 Jul 2018
ศูนย์การค้าสยามพารากอน และหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร


tarnnn

tarnnn

แต่งหน้าไม่เก่ง แต่เราเป็นสายอุปกรณ์ ว่างๆ ก็ช็อปปิ้งคลายเครียด ล้มละลายได้ทุกวันเพราะเราคือ Jeban team

FULL PROFILE