กว่าจะเป็นนายพิธีสีชมพู

10 8
นายพิธี พิธีกรงานแต่งเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ถือว่าไกลตัวจั่นมากๆ แต่วันหนึ่งก็มีโอกาสได้เข้าสู่วงการนี้ค่ะ จนทุกวันนี้เรียนรู้จนกลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่รัก สำหรับใครที่สนใจสายอาชีพนี้ จั่นเอาประสบการณ์ของตัวเองมาบอกเล่าเก้าสิบทางนี้ค่ะ 
1. เริ่มจากเรียนการรันคิว
เริ่มแรก จั่นเลือกเรียนรันคิวกับแม่โบว์ ธัญยธรณ์ Wedding Planner KhunBeau แม่โบว์ฝึกรันคิวให้กับจั่นค่ะ บอกเลยว่าเป็นครูที่ใส่ใจนักเรียนมากๆ เลยค่ะ นอกจากนั้นแม่โบว์ยังเป็น Planner ให้กับออแกไนซ์ต่างๆ ด้วย ช่วงนั้นจั่นก็ได้ทำงานรันคิวมากับทีมแม่น่าจะอยู่ที่ 5-6 ปีได้ ระหว่างนั้นก็เริ่มสนใจงานในสายงานนี้ ในที่สุดจึงหาโอกาสไปลงเรียนนายพิธีเพิ่มเติมค่ะ 
2. เรียนนายพิธีงานแต่ง
จั่นเรียนนายพิธีงานแต่งทั้งหมด 2 สถาบัน เรียนกับครูโบว์สถาบันดิออล(Tuntaree Siratuchtaweenon) เป็นคลาสส่วนตัว นักเรียน 3 คน และครูลูกศร (Looxorn Sornrawan) ราคาเรียนประมาณ 8,000-10,000 บาท/คลาส ครูทั้ง 2 คนสอนดีมาก สอนแบบเหมือนจับมือทำเลยค่ะ เรียกได้ว่ามีวันนี้เพราะมีครูจริงๆ
3. ติดตามฝึกฝนกับรุ่นพี่นายพิธี
จั่นติดตามงานรุ่นพี่นายพิธีอยู่ 2 - 3 คนและตามงานครูโบว์ดิออล ลงฝึกปฏิบัติจริงอยู่ 4 - 5 งาน ถึงเริ่มรับงานเองค่ะ ด้วยแรงบันดาลใจในการทำงานที่ผ่านมา จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานแต่งงานออกมาดีที่สุด ออกมาได้ตรงตามที่บ่าวสาวต้องการที่สุดค่ะ
4. ศึกษาเรียนรู้งานเพิ่มเติม
จากนั้นจั่นยังศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมค่ะ ตามงานออกาไนเซอร์จากครูปภาที่โคราช (ครูปภา Wedding planner & Organizer) เพื่อเรียนรู้วิชาการจัดงาน การคุยกับเจ้าภาพและคู่บ่าวสาว สอนการลงทำงานตั้งแต่เริ่มจัดสถานที่ รันคิวและนายพิธี ครูปภาน่ารักมากๆ ค่ะให้นอนพักที่บ้าน กินนอนที่บ้านเลย ฝึกกันแบบใกล้ชิดสุดๆเลยค่ะ
5. ปรับบุคลิกยกเซ็ท
มาถึงจุดที่ยากอีกจุดหนึ่งค่ะ คือ การปรับบุคลิกภาพ/เสื้อผ้า/หน้าผม อย่างเช่น ปกติเป็นคนใจร้อน พูดเร็ว ก็ฝึกพูดช้าลง ใช้น้ำเสียงโทนที่ฟังสบายนุ่มนวล จากเป็นคนที่ไม่ค่อยแต่งหน้า ก็ลงทุนซื้อเครื่องสำอางที่ทนหน่อยเพราะเรามีโอกาสเติมหน้าได้แค่ครั้งเดียว หัดแต่งหน้าในโทนสุภาพ ไม่จัดเกิน ไม่อ่อนเกิน และต้องไม่เด่นเกินกว่าเจ้าสาวค่ะ 
6. ฝึกพูด ฝึกสวดมนต์
เรื่องสวดมนต์ เรียกว่าได้ว่า ฝึกทุกวันจริงๆเกือบตลอด 1 เดือนค่ะ บทที่ไม่เคยสวดเลยก็เริ่มฝึก หาคำแปล หาความหมาย น้ำเสียงในการสวดมนต์ควรเป็นอย่างไร ให้เหมาะกับกาลเทศะมากที่สุด  
7. การเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสม
ด้วยความที่จั่นค่อนข้างเด็กเลยพยายามหาเสื้อผ้าที่ไม่เด็กและไม่ผู้ใหญ่จนเกินไป ให้ดูสุขุมแต่ยังคงความสวยงาม ซึ่งเสื้อผ้าที่เลือกส่วนใหญ่เป็นชุดไทยล้านนา กระโปรงซุม เพื่อให้เหมาะกับการวิ่งเดิน ก้าวเดิน และทุกอิริยาบท  อย่าง LADA.LANNA.COLLECTION อยากบอกว่าชุดสวยมากๆมีเก็บเกือบทุกคอล ในส่วนของชุดงานเลี้ยงฉลองจะชอบซื้อที่แอปส้ม MY LADY BY BAIFERN (ต้นทุนชุดงานๆนึง อยู่ที่ 2,000 บาท/ งาน ตั้งเป้าว่าห้ามเกินนี้ แต่ถ้าเกินก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราก็ส่งต่อในกลุ่มเอาค่ะ)

อีกอย่าง ในงานพิธีมงคลสมรสส่วนใหญ่จะมีการกำหนดสีของธีมงาน เป็นอีกหนึ่งอย่างที่นายพิธีต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะเป็นคนที่อยู่เคียงข้างคู่บ่าวสาว ดังนั้นการเลือกชุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญค่ะ
• ชุดต้องสุภาพเรียบร้อยเพื่อให้เกียรติวันพิเศษ
• ไม่เด่นจนแย่งซีนเจ้าสาว
• กลมกลืนไปกับธีมงานที่เจ้าภาพแจ้ง
• เหมาะสมกับวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆค่ะ
8. ศึกษาเพิ่มเติมทางช่องทางออนไลน์ 
จั่นดูยูทูป ดูติ๊กตอก เฟสบุ๊คและโซเซียลต่างๆเกี่ยวกับงานแต่งงานและนายพิธี เพื่อพัฒนาการทำงานค่ะ การทำงานที่ว่าคือทั้งการพูด การออกเสียง ร.เรือ ล.ลิง คำควบกล้ำ การเว้นจังหวะ หรือแม้กระทั่งท่าทางการยืนในตำแหน่งที่ถูกต้องของนายพิธีค่ะ อันไหนดีงามเราก็รีบปรับรีบเปลี่ยน เพื่อความงดงามของพิธีในงานต่อๆไปค่ะ

9 . พยายามศึกษาข้อมูลเรียนรู้ประเพณีพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่น แบบมาเที่ยวจังหวัดไหนก็จะแอบๆถามคนพื้นที่ว่าเค้าแต่งกันยังไง เค้ามีอะไรที่พิเศษกว่าพิธีการปกติเช่น มีไหว้ผีมั้ย ไหว้แบบไหน ไหวกันตอนไหน เผื่อเจอในวันงานจะได้ไม่ตกใจ และแก้ไขสถานการณ์ได้ค่ะ
10. Branding
ทำเพจ คิด Branding  อันนี้ยากมากเพราะไม่รู้จะเริ่มยังไงให้คนรู้จัก ข้อนี้เลยจับทิศทางได้ว่าต้องหูไวตาไวและขยันค่ะ  ขยันที่ว่าคือฝึกเขียนคอนเทนต์ทุกวัน  เขียนแล้วส่งให้เพื่อนลองอ่านบ้าง ส่งให้รุ่นพี่ตรวจบ้างค่ะลองหลายแบบหลายแนวเลยค่ะ จนมาเป็นนายพิธีสีชมพูแบบทุกวันนี้ค่ะ

สำหรับใครที่สนใจสายอาชีพนี้ จั่นบอกเลยค่ะว่าใครๆ ก็สามารถเรียนรู้และทำได้ เป็นกำลังใจให้ทุกคนทั้งที่กำลังจะเริ่มต้นหรือกำลังทำงานในสายอาชีพนี้นะคะ 


Kannika Weerapan

Kannika Weerapan

ชีวิต คือ การได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ

FULL PROFILE