ปฏิกิริยาจากสื่อนานาชาติจากประเด็นร้อนด้านมืดวงการ K Pop
candy 51 4ภายในเวลาไม่กี่ปีจากปรากฏการณ์ Korean Wave เกาหลีได้ก้าวมาเป็นผู้นำอุตสาหกรรมบันเทิงเอเชียและสร้างรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศ คำว่า "เหมือนเกาหลี" กลายเป็นวลีสุดฮิตของบ้านเราและเชื่อว่าอีกหลายประเทศก็ยึดเกาหลีเป็น trendsetter แห่งเอเชียไม่ต่างกัน
เมื่อเวลาผันเปลี่ยนไปอีกทศวรรษ เกาหลีทำลายคำสาป "โกอินเตอร์" ได้สำเร็จ หลังจากพยายามส่งศิลปินไปสร้างความโด่งดังที่อเมริกาแต่ต้องพับโครงการกลับบ้านเพราะไม่สามารถสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักได้ แต่ทุกวันนี้ ศิลปินK Pop สามารถเดินสาย World tour และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากแฟนๆ และผงาดเข้าสู่ชาร์ทเพลงชื่อดังอย่าง Billboard แม้กระทั่งตลาดอเมริกาใต้ พวกเค้าได้สร้างปรากฏการณความคลั่งไคล้ที่ดูไม่ต่างจากแฟนๆในเอชียเลย K- Pop ได้ก้าวข้ามกำแพงภาษาและความแตกต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมจนทั่วโลกให้ความสนใจว่าพวกเค้าจะสร้างความสำเร็จมากขึ้นเพียงใดในอนาคต
แต่ข่าวสุดช็อกจากการสูญเสียไอดอลวัยหนุ่มสาวติดๆกันในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ก็ทำให้สื่อชื่อดังหลายเจ้าหันมาวิเคราะห์ถึงต้นตอปัญหา ด้วยมุมมองของชาติตะวันก บ้างก็ใช้นักข่าวเชื้อชาติเกาหลีตีแผ่ด้านมืดของสังคมในฐานะคนวงใน
และมันอาจจะช่วยให้พวกเราเข้าใจสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนี้มากขึ้น
ลองมาติดตามกันค่ะ
washingtonpost.com นำเสนอบทความจากนักข่าวชาวเกาหลีที่พาดหัวไว้ว่า
การเสียชีวิตของไอดอล K -Pop ที่เปิดโปงความจริงของสังคม
Haeryun Kang นักข่าวอิสระที่ประจำที่ Seoul ได้ถ่ายทอดความคิดผ่านตัวอักษรในฐานะคนเกาหลีแบบขยี้ประเด็นสำคัญโดยไม่อ้อมค้อมว่า
"สื่อยักษ์ใหญ่เจ้าหนึ่งเคยตั้งฉายาให้ Sulli ว่าเป็น "Kim Kardashian แห่งเกาหลีใต้ " ซึ่งมันดูย้อนแย้ง เพราะ Kim มีเสรีในการเปิดเผยเรือนร่างของเธออย่างหลากหลายรูปแบบ การใช้ชีวิตของเธอไม่ได้ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดจากความคาดหวังให้เซเลบสาวแสดงความใสซื่อบริสุทธิ์และต้องควบคุมการแสดงออกทางเพศ รวมไปถึงคำวิจารณ์ร้ายกาจหากไม่ประพฤติตามบรรทัดฐานเหล่านี้"
"หลังจากที่มีข่าวการเสียชีวิตของ Sulli ผู้คนจำนวนมากโฟกัสไปที่อันตรายจากการคุกคามในโลกออนไลน์ แต่ไม่ว่า Sulli จะจากไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม การโฟกัสไปที่ cyberbully เท่านั้นดูจะผิวเผินเกินไป เพราะcyberbully คือที่ผลพวงจากสังคมที่ไม่ยอมรับคนที่บังอาจทำตัวแตกต่างไปจากแบบแผนเดิมๆนั่นเอง"
ความตายของ Sulli คือเรื่องที่สำคัญ เพราะมันเป็นสิ่งที่ช่วยเตือนสติ ความตายของเธอตอกย้ำถึงอคติที่ยังครอบงำให้ผู้คนเกลียดชังผู้หญิงที่ 'แหกคอก' คนที่กล้าพอที่จะเลิกหงอ คนที่ใส่เสื้อที่เห็นหัวนมโผล่ คนที่ให้ความสำคัญกับจิตใจของตัวเองมากกว่าจะได้รับความชื่นชอบจากคนอื่น "
" ที่ดูแย่ไปกว่าคือศิลปินยังขาดการสนับสนุนจากต้นสังกัดหรือบริษัทที่ช่วยจัดการ SM Entertainment ประกาศว่าไม่อยากจะเชื่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นและรู้สึกเศร้าเสียใจต่อการตายของ Sulli เป็นอย่างยิ่ง แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าต้นสังกัดรับรู้เรื่องโรคซึมเศร้าของเธอมากเพียงใดและได้ยืนมือเข้ามาสนับสนุนเธออย่างไรบ้าง แต่ถ้าจะพูดถึงความอันตรายของโลก K -Pop แล้ว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากศิลปิน SM อย่าง Jonghyun ได้ฆ่าตัวตายเพียงไม่ถึงสองปี มันจึงเรื่องจำเป็นที่ต้องถามคำถามนี้"
คำถามของเจ้าของเว็บไซต์ Korea Exposé ตรงใจกับแฟนๆมากมาย หากต้นสังกัดห่วงใยในตัวศิลปินอย่างแท้จริง ย่อมเล็งเห็นได้ว่า "วิถีไอดอล" สร้างความตึงเครียดมากมายเพียงใด ความเหน็ดเหนื่อยทางร่างกายจากการทุ่มเททำงานก็อาจจะทำให้ท้อแท้อยู่แล้ว ยิ่งถูกบีบคั้นจากสังคมที่จ้องจับผิด ก็ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าศิลปินหลายคนจะป่วยเป็นโรคทางจิตใจ
และพวกเราก็ยังไมได้รับคำตอบเคลียร์ใจว่า ต้นสังกัดมีมาตรการป้องกันช่วยเหลือพวกเค้าอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ ?
ทุกคนน่าจะเห็นภาพกันแล้วว่า ศิลปินในวงการนี้ต้องอยู่คู่กับความกดดันราวกับเป็นเงาตามตัว เพื่อความฝันจะเป็นดาวดังก็ต้องจำใจยอมรับกับสภาพนี้ ไอดอลหลายคนหยุดปกปิดอาการเจ็บป่วยทางจิตใจและหันมาแบ่งปันเรื่องราวให้สังคมได้เข้าใจพวกเค้ามากขึ้น แต่กระนั้น mental illness ก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากไม่อยากยอมรับ แม้ว่าการฆ่าตัวตายจะเป็นตัวการอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตวัยรุ่นเกาหลี แต่ผู้ป่วยกลับถูกยัดเยียดว่าเป็นพวกเสพติดความสนใจ และใช้โรคทางจิตมาเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความเห็นใจจากคนอื่น
ลองมาชมความเห็นจาก The New York Times กันต่อ สื่อเจ้านี้นำเสนอบทความปลายปากกา Choe Sang-Hun และ Su-Hyun Lee นักข่าวเชื้อสายเกาหลีเช่นเดียวกันค่ะ
การเสียชีวิตของนักร้อง K-Pop ส่งผลให้มีการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในเกาหลีใต้
"หนุ่มสาวชาวเกาหลีกลุ่มใหญ่จะต้องเริ่มเทรนตั้งแต่ยังเริ่มเป็นวัยรุ่น ทั้งทักษะการขับร้องและการเต้นด้วยความหวังที่จะสร้างความประทับใจต่อนักปั้นในเอเจนซี่เพื่อจะได้เดบิวท์ และถึงแม้ว่าจะก้าวมาเป็นไอดอล K- Pop ได้ แต่อายุความเป็นดาวดังนั้นไม่ได้ยืนยาว ไอดอลในวัยเพียงปลายยี่สิบก็ถือว่าอายุมากแล้ว เพราะจะมีคลื่นลูกใหม่ที่สดใสน่ารักกว่า เต้นเก่งกว่าได้เข้ามาแทนที่ เหล่าไอดอลที่เคยดังต้องพยายามเข้าสู่วงการแสดงหรือการออกผลงานsolo หรือร่วมรายการ TV อุปสรรคที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้หลายคนไม่ประสบความสำเร็จนัก"
"ปรากฎการณ์ความโด่งดังของ K-pop แผ่ขยายไปในวงกว้างผ่าน social media ในช่องทางต่างๆ และยังเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและ cyberbully จิกกัดตั้งแต่รูปร่างหน้าตา ความสามารถในการร้องเพลงไปจนถึงชีวิตส่วนตัวของศิลปิน"
Lee Hark-joon นักข่าวชาวเกาหลีผู้เป็นโพรดิวเซอร์สารคดีการปั้นGirl Group และเป็นผู้ร่วมแต่งหนังสือ K-pop Idols: Popular Culture and the Emergence of the Korean Music Industry ได้ให้ความเห็นไว้ว่า
"เหล่าไอดอลใช้ชีวิตราวกับเครื่องจักมาตั้งแต่อายุน้อยๆ ด้วยการเทรนอันหนักหน่วงราวกับการแข่งวิ่งวิบาก พวกเค้าแทบไม่ได้มีชีวิตปกติอย่างการไปโรงเรียนหรือมีความรักเหมือนกับคนในรุ่นเดียวกันได้ทำ"
"พอถึงบทจะต้องเจอกับขาลงก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วฉับพลันและเต็มไปด้วยดราม่า มันจึงนำไปสู่ความตึงเครียดภายในจิตใจ พวกเค้าถูกจับผิดบน social media และยังมีการปล่อยข่าวเท็จในเรื่องชีวิตส่วนตัวของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา"
นักข่าวจาก The New York Times ยังรายงานว่า หลังจากที่ Goo Hara เสียชีวิต ก็มีการลงชื่อมากกว่าสองแสนรายชื่อเพื่อเรียกร้องต่อประธานาธิบดี Moon Jae-in ให้ปรับเปลี่ยนกฎหมาย เพิ่มโทษการล่วงละมิดทางเพศให้หนักขึ้นเอีกเท่าตัว อันเนื่องมาจากคดีที่เธอฟ้องร้องแฟนเก่าด้วยข้อหา blackmail และทำร้ายร่างกายที่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์เพื่อให้ฝ่ายชายได้รับโทษหนักยิ่งขึ้น
แม้วิธีการฝึกฝนศิลปินให้ก้าวขึ้นมาสร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติได้จะรับการชื่นชมยอมรับว่าเป็นการแสดงความฝึกฝนทุ่มเทและวินัยที่โดดเด่นของชนชาติเกาหลี หลายคนเชื่อมั่นด้วยซ้ำว่า ถ้าไม่มีขั้นตอน training โหดหินเช่นนี้ K- Pop คงสร้างความโด่งดังไปทั่วโลกไม่ได้เหมือนในปัจจุบัน เพื่อที่จะเดบิวท์ หนุ่มสาวเหล่านั้นต้องทุ่มเทอดทนเกินขีดจำกัดของตัวเองและยังต้องยินยอมที่จะตกอยู่ในสภาพที่ถูกควบคุมอย่างเต็มตัว เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินแล้วก็ต้องรักษามาตรฐานให้สูงใกล้เคียงกับความคาดหวังจากสังคม หากหลุดจากมาตรฐานไปเพียงแค่ปลายเส้นผม สงครามการคุกคามจากชาวเน็ทก็จะปะทุขึ้นมาทันที
South China Morning Post สื่อจากประเทศเพื่อนบ้านนั้นมาในทางกลับกันค่ะ แม้จะเป็นสื่อAsian แต่ผู้เขียนบทความนั้นเป็นนักข่าวฝรั่งตะวันตก
การเสียชีวิตของ Goo Hara Sulli และ Jonghyun ได้ทิ้งรอยเลือดไว้ในอุ้งมือของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี
Adam Wright ได้วิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาว่า
" ความกดดันของการค้นหาดวงดาวมาประดับวงการ K Pop โดยเฉพาะกลุ่มไอดอลหญิงแล้ว เริ่มต้นตั้งแต่พวกเค้าก้าวเข้าสู่การ trainตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น ถูกยึดโทรศัพท์มือถือไป ต้องแยกจากครอบครัวและเพื่อน ห้ามมีความรักตามประสาวัยรุ่นเด็ดขาด และต้องเรียนรู้ที่สร้างภาพลักษณ์ที่ขัดแย้งกันเอง เพราะต้องแสดงความใสซื่อบริสุทธิ์และมีความยั่วยวนทางเพศในเวลาเดียวกัน"
"และผลกระทบที่ตามมาจากการบีบบังคับเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่รุนแรงอย่างมากคือเหล่าซาแซงแฟน"
" Sulli และ Hara ถูกไล่จับผิดเรื่องชีวิตส่วนตัวอย่างหนักและต้องเจอกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงจากโลกออนไลน์
Sulli ตกเป็นประเด็นร้อนเมื่อเธอ เปิด live บน instagram ขณะที่กำลังดื่มสังสรรค์ในparty
ส่วน Hara กำลังต่อสู้คดีฟ้องร้องคนรักเก่าจากด้วยข้อกล่าวหาว่าเขาถ่าย sex tape ขู่เธอ
มันเป็นเรื่องสองมาตรฐานอย่างชัดเจนอย่างยิ่ง ไอดอลสาวทั้งสองถูก bully และถูกตีตราเรื่องทางเพศ ทั้งๆที่ถ้าเป็นสังคมที่มีเสรีและความเปิดกว้างมากกว่านี้จะไม่ถือว่าพฤติกรรมของพวกเธอเป็นเรื่องแปลกแยกแต่อย่างใด"
"ในขณะเดียวกัน ชายคนดังอย่าง Jung Joong young และ Choi Jong-hoon กลับมั่นหน้าว่าไม่มีใครแตะต้องพวกเขาได้ ถึงขนาดว่าเปิดห้องแชทเพื่อแชร์ภาพที่พวกเค้ากำลังมี sex กับผู้หญิงที่ดูไร้สติหรือถูกมอมยา"
บรรณาธิการแห่ง South China Morning Post ได้สรุปไว้ว่า
"จากการเสียชีวิตของสาวๆที่อายุยังน้อยเหล่านี้ ได้ทำให้พวกเราได้เห็นแรงกดดันของคนดังเกาหลีใต้อันก่อให้เเกิดผลลัพธ์ที่แสนสะเทือนใจ รวมไปถึงการขาดความช่วยเหลือในเรื่องของความเจ็บป่วยทางจิตใจ ทั้งๆที่เป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในกลุ่มประเทศมหาอำนาจ"
"ตราบใดที่วงการ K Pop ยังไม่หันมาหาแนวทางป้องกันโรคทางจิตใจของเหล่าศิลปิน และยุติการนำเสนอพวกเขาราวกับเป็นสินค้าปั๊มจากโรงงานที่กอบโกยรายได้ด้วยคุณสมบัติเพื่อรองรับสังคมชายเป็นใหญ่ของเกาหลีใต้ ก็ยังจะมีเลือดเปื้อนที่เงื้อมมือของวงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ "
ชีวิตที่ยังมีลมหายใจอยู่ในวงการ K Pop ยังตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง
ทราบไหมว่า Johnny Depp สามารถเข้าถึงนักบำบัดได้แม้กระทั่งในกองถ่าย เพราะเจ้าตัวมีปัญหาเรื่อง mental healthมายาวนาน (เริ่มจากการหวาดกลัวสังคม แล้วก็มีโรคอื่นๆตามมา)
Justin Bieber อาจจะมีอิสระในการใช้ชีวิตตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไปเที่ยวค้างคืนในทริปหรูกับแฟนสาว ถึงขนาดเคยเดินออกมาจากสถานขายบริการ ก็ไม่ถูกพิพากษาจนความนิยมตก แต่สร้างผลงานที่ประสบความสำเร็จถล่มทลายออกมาเรื่อยๆ ทั้งยังสามารถ cancel งาน meet and greet เพราะไม่ต้องการฝืนใจตัวเองเพื่อเอาอกเอาใจแฟนๆในขณะที่จิตใจยังไม่พร้อม
แต่กระนั้น JB ก็ยังต้านทานความกดดันที่มาจากชื่อเสียงไม่ไหว หันไปพึ่งพายาเสพติดและต้องเผชิญกับโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า และพยายามรักษาด้วยการบำบัดมาโดยตลอด เขาเปิดเผยหมดเปลือกว่า แม้แต่การทำอะไรทุกอย่างได้ดังใจต้องการก็ยังมีผลร้ายตามมา
ลองคิดดูว่า ในโลกที่มีศิลปินดังมีอิสระในการใช้ชีวิต และเมื่อเจ็บป่วยทางจิตใจขึ้นมา ทั้งต้นสังกัดและผู้คนรอบข้างต่างยื่นเข้ามาช่วยเหลือให้ศิลปินดังรับการรักษาตัว แต่พวกเค้าก็ยังผ่านแต่ละวันไปด้วยความยากลำบาก
แล้วเหล่าไอดอลเกาหลีล่ะ ? เมื่อพูดถึงสังคมที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องมาตรฐานความคาดหวังสูงแทบจะแตะต้องไม่ได้และมีบริบทที่ย้อนแย้งกันเอง สถิติการฆ๋าตัวตายคือสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตในหมู่วัยรุ่น พวกเค้าถูกต้นสังกัดควบคุมให้สร้างภาพลักษณ์ของมนุษย์ perfect และถูกละเมิดสิทธิความเป็นคนอย่างน่าเหลือเชื่อว่านี่คือสังคมประเทศมหาอำนาจ ถ้าเบี่ยงเบนออกจากความคาดหวังไปเพียงปลายเส้นผมก็ถูกรุมถล่มราวกับเป็นอาชญากร
คนในสังคมยังขาดความเข้าใจเรื่อง mental illness ต้นสังกัดยังปฏิบัติกับพวกเค้าเหมือนสินค้าทำเงิน แต่ไม่ได้มีการชี้แจงหรือนำเสนอแนวทางป้องกันปัญหานี้ ในทศวรรษที่ผ่านมา มีคนดังฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้ามากจนต้องตั้งคำถามว่า เมื่อใดเราจะได้เห็นความพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่การประกาศความเสียใจอย่างสุดซึ้งหลังจากที่ชีวิตหนึ่งต้องหลุดรวงไปราวกับใบไม้
แต่ล่าสุด การประกาศยุติงานทั้งหมดของ Kang Daniel เพื่อหยุดพักและรักษาตัวจากโรคซึมเศร้าก็อาจจะเป็นสัญญาณสำคัญว่าอาจจะมีความเปลี่ยนแปลง เขาเคยยืนยันมาก่อนว่า เหนื่อยล้าจาก cyberbully เกินทนและขอความช่วยเหลือจากทุกคน และน่าเป็นห่วงเหลือเกินว่าอาจจะมีเรื่องเศร้าซ้ำรอยขึ้นอีก
เขาpost ข้อความข้อความช่วยเหลือที่อาจจะทำให้หลา่ยคนฟังแล้วใจสลายไปไม่น่านมานี้ว่า
"จริงๆนะครับ มันมากเกินไปแล้ว ผมเหนื่อยเหลือเกิน ทำไมมันถึงหนักหนาสาหัสแบบนี้ ช่างยากลำบากเหลือเกิน ใครก็ได้ ช่วยผมที"
เขายังได้บรรยายถึงความเจ็บปวดที่เกิดจาก cyberbully ว่า
"ภาพที่ผมกำลังคุกเข่าลงหลังจากร่วมแสดงคอนเสิร์ตของ Wanna One และการอารมณ์ที่แสดงออกมา ณ ตอนนั้นกลายมาเป็นเครืองมือที่ถูกใช้ล้อเลียนผมเอง
พวกเค้าปลอมอะไรขึ้นมาเพื่อแสดงว่าทุกอย่างที่ผมทำมันดูแย่
ดนตรีและการแสดงที่ผมรักถูกเปรียบเทียบว่าเป็นขยะ
แฟนๆที่ผมให้ความสำคัญกลับถูกเยาะเย้ย
ครอบครัวของผมถูกด่าว่าแทนที่ผมจะโดนซะเอง
อยู่ดีๆ การที่ใครจะบอกว่าชอบผมมันก็ปิดอย่างกับว่าเป็นอาชญากรรม
ทุกอย่างมันดูยากไปหมด
จริงๆแล้วเป็นตัวผมเองที่ทำให้มันยากเอง"
"ตั้งแต่ที่ผมได้เข้ามาร่วมในวง
ผมเฝ้าอดทนกับทุกสถานการณ์และข่าวลือทั้งหลาย
จะเป็นปีนี้ หรือเพิ่งจะอาทิตย์ที่แล้ว ผมก็อดทนเก็บกดมันไว้
แต่ตอนนี้ผมเหนื่อยมากเหลือเกิน
มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากจริงๆ"
"มันมาถึงจุดที่ผมหวาดกลัวที่จะเห็นพระทิตย์ขึ้นในวันพรุ่งนี้
ผมหวาดหวั่นใจที่จะได้เห็นชื่อตัวเองตามหัวข้อข่าว"
" ผมรู้ว่าทุกๆวันนี้ผู้คนเหยียดหยามผมว่าอย่างไรบ้าง
ผมรู้ถึงทุกๆคำที่พวกเค้าใช้ด่าและความเห็นร้ายกาจเกี่ยวกับตัวผม
ผมรู้ว่าพวกเค้าตัดสินตัวผมเพียงแค่ได้อ่านคำพูดไม่กี่ประโยคและข่าวลือลวงๆ
ผมทนมามากมายแล้ว จริงๆครับ
ตอนนี้ผมเหนื่อยเหลือเกิน"