เจาะเส้นทางก้าวสู่ซีรีส์อันดับ1แห่งNetflix ของ Bridgerton

58 15
" SHOW ล้มยักษ์"   นี่คือคำนิยามที่หลายคนตั้งขึ้นให้กับ Bridgerton  หลังจาก Netflix ได้ประกาศตัวเลขจำนวนผู้เข้าชมซีรีส์ที่ร้อนแรงเรืองนี้อยู่ที่ 82 ล้านเพียงในเดือนแรก    นี่คือผลงานที่ได้ก้าวข้ามสถิติของซีรีส์ฟอร์มยักษ์อย่าง The Crown และ The Witcher  ที่มีเงินลงทุนมหาศาลและพร้อมพรั่งไปด้วยนักแสดงระดับ A List    ซีรีส์ทั้งสองเรื่องนี้มีการโพรโมทและสร้างกระแสฮือฮาอย่างครึกโครมก่อนที่จะออนแอร์ซะด้วยซ้ำ    


Bridgerton ก้าวสู่ความสำเร็จอย่างอลังการงานสร้างได้เช่นไร  มาวิเคราะห์ไปกับเราเลยค่ะ



นี่คือ show ที่เหมาะที่สุดในการเยียวยาจิตใจในสถานการณ์โรคระบาดที่แสนหดหู่


เราเพิ่งเปิดประเด็นนี้ในวงสนทนาไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ความ cliché ของเรื่องราว romance ที่คุณสามารถคาดเดาตอนจบของเรื่องได้ตั้งแต่เปิดชมตอนแรกอาจจะไม่ได้สร้างความตื่นเต้นในด้านเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดปิตาธิปไตยของอังกฤษในยุค 1900s ที่หยั่งรากลึกส่งผลให้ผู้หญิงหมกมุ่นอยู่กับกับหาสามีผู้ช่วยช่วยคุ้มครองดูแลให้พวกเธอและครอบครัวมั่นคงไปด้วยความสมบูรณ์พูนสุขไปตลอดชีวิต หรือเรื่องความรักของชายหนุ่มสูงศักดิ์หยิ่งผยองผู้ตั้งตัวเป็นขบถต่อจารีตเรื่องการแต่งงาน ที่ได้โคจรมาพบกับหญิงสาวผู้แบกรับความคาดหวังของครอบครัวชั้นสูงในการเลือกหาสามี จะพูดให้ตรงกว่านั้น เป็นเธอต้องพยายามแสดงคุณมบัติที่เลิศเลอเพื่อให้ต้องตาชายโพรไฟล์เป๊ะเพื่อครอบครัวจะได้มีหน้ามีตา ปูทางต่อถึงบรรดาพี่น้องให้มีคู่ครองที่ดีงามไม่แพ้กัน เอ๊ะ นี่มันฟังดูไม่ต่างจาก Pride And Prejudice ไม่ใช่หรือไร ?

หากได้อ่านคำบรรยายใจความของ Bridgerton เพียงสั้นๆ ก็อาจจะทำให้คนขี้เบื่อขยับนิ้วคลิกเปลี่ยนรายการได้แล้ว แต่ถ้าเราเพิ่มเติมข้อเท็จจริงที่ว่า ทีเด็ดของซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้มีแต่เนื้อหาเพ้อฝันให้จิกหมอนจนขาดวิ่นเท่านั้น แต่ได้ฝากคำเหน็บแนมสังคมอนุรักษ์นิยมเมื่อราวๆสองร้อยปีก่อนได้อย่างถึงพริกถึงขิง





  • ฉากกามารมณ์ที่ร้อนฉ่า
  • ความลับสุดฉาวที่รอคอยจะถูกเปิดโปง
  • การแข่งขันประชันมารยาหญิงเพื่อ "จับ" ผู้ชาย
  • เรื่องทรยศหักหลังกับบทพูดเชือดเฉือน
  • คำพูดส่อเสียดสังคมปัจจุบันที่ยังมีปัญหาแนวคิดล้าหลังไม่ต่างจากยุค Regency
ผู้ชมหลายคนยอมรับเรื่องประโลมโลกเหล่านี้ช่างเหมาะกับชีวิตที่ต้องจับเจ่าไร้อิสระในช่วงวิกฤติการณ์โรคระบาด   ในหลายๆประเทศ  อย่าว่าแต่การหาความสุขด้วยการท่องเที่ยว ผู้คนไม่สามารถไปผับเพื่อพบปะคนภายนอกซะด้วยซ้ำ    การดำเนินชีวิตอย่างมีข้อจำกัดจากข้อบังคับเพื่อป้องกันโรคระบาดสร้างทำให้ห่อเหี่ยวกันไปทั่วโลก   หากจะเสพผลงานที่มีเนื้อหาหนักชวนจิตตกก็อาจจะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดเข้าไปอีก  ซีรีส์ที่เผยด้านฉาวโฉ่เช่นนี้ดูจะเพิ่มความคึกคักในหัวใจให้ผูัชมไม่น้อย     โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย คือคุณผู้หญิงที่ผ่านไปเป็นเดือนแล้วก็ยังหวีดร้องกับความเร้าใจของ  Bridgerton กันเกลื่อน social media 



การลงทุนที่ดูคุ้มค่ากับ Shonda Rhimes

Netflix ได้ทุ่มเงินทุนให้กับ Shonda Rhimes ใเจ้าแม่รายการ TV ที่อำนวยการสร้าง ผลงานอย่าง Grey's Anatomy   How to Get Away with Murder  และ  Scandal ที่มีชื่อเสียงเรื่องความเผ็ดแซ่บดึงดูดให้คนดูให้ติดงอมแงมยาวนานหลายซีซัน    Netflix มีแผนจะสร้างผลงานสู่วงการ streaming ร่วมกับ Shonda  ที่เริ่มไปแล้วถึง 12 โพรเจคท์    สำหรับ Briderton     Shonda ได้จับมือ Chris Van Dusen นักเขียนบทผู้เป็นมันสมองเบื้องหลังหลายผลงานชื่อดังภายใต้การอำนวยการสร้างของเธอมาสั่นสะเทือนวงการ TV       สัญชาติอเมริกันของผู้สร้างไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์ดราม่าอังกฤษย้อนยุคเลย     แน่นอนว่าในทีม producer และทีมงานที่เป็นคนอังกฤษผนึกกำลังในการสร้างสรรค์ Bridgerton ให้โดนใจผู้ชม




การสร้างจักรวาลใหม่ของสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติในยุค Regency  ของอังกฤษ


ถึงตอนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถามจากแทบทุกคอนเทนท์ของ Bridgerton ว่า เหตุใดจึงมีตัวละครเชื้อสายผิวดำในบทบาทของราชนิกูลและชนชั้นสูงของอังกฤษในยุค Regency รวมไปถึงเสียงวิจารณ์ที่ว่า การนำเสนอความหลากหลายทางเชื้อชาติที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ทำให้รู้สึก "ไม่อิน" ไปกับเรื่องราวในซีรีส์ดัง

สื่อต่างๆได้นำเสนอคำอธิบายจากผู้สร้างซีรีส์ รวมไปถึงการแสดงความเห็นส่วนตัวจากนักวิจารณ์ในเรื่องเชื้อชาติของตัวละครที่มุ่งไปทางเดียวกันว่า นี่ไม่ใช่การถ่ายทอดข้อมูลตามหลักฐานที่พิสูจน์ได้ แต่เป็นสร้างจักรวาลสังคมจากจินตนาการ นั่นคือ ทั้งราชนิกูลและชนชั้นสูงเชื้อสายผิวดำนั้นเเริ่มต้นจากการอภิเษกสมรสของเจ้าเหนือหัวที่มีเชื้อชาติแตกต่างกัน

จากคำพูดของเลดี้ Danbury ต่อดยุคแห่ง Hastings

" ดูพระราชินีและพระราชาของเราสิ   ดูชีวิตคู่ของสองพระองค์     ดูสิ่งทั้งหลายที่ทำให้เราเป็นอย่างทุกวันนี้ได้    พวกเราเคยมาจากสังคมที่แตกต่างและแยกขาดจากกันจากสีผิว จนกระทั่งพระราชาตกหลุมรักกับหนึ่งในคนของเรา  ความรักสามารถพิชิตได้ทุกสิ่งนะท่านดยุค"


เพราะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  การถกเถียงเรื่องจักรวาลใหม่ของซีรีส์พีเรียดนี้จึงยืดยาวไม่มีบทสรุปแน่ชัด    แต่จากกระแสตอบรับที่ค่อยๆ peak ขึ้นมา  จาก top 5 ในช่วงวันหยุดยาวหลังจากที่ออนแอร์ใหม่ๆ  ก้าวมาเป็นซีรีส์อันดับ 1 ก็น่าจะพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า   ผู้ชมจำนวนมากเพลิดเพลินไปกับความหลากหลายทางเชื้อชาติใน Bridgerton    และบางคนก็ได้ชี้ให้เห็นว่า เป็นเวลายาวนานที่เราเคยรับชมผลงานต่างๆที่นักแสดงผิวขาวสามารถรับบทได้ทุก race   ไม่ว่าจะเป็นคนดำ เอเชียน อาหรับ  พวกเค้าจึงไร้อคติกับจักรวาล Bridgerton เพราะเข้าใจว่านี่คือ fiction ไม่ใช่การนำประวัติศาสตร์มาขยายความให้ตรงตัวเป๊ะ


ในขณะที่มีคนต่อต้านจินตนาการเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติของผู้สร้าง  Bridgerton   แต่ majority ของแฟนๆก็แสดงถึงความเพลิดเพลินกับภาพของควีนลูกครึ่งกับนางสนองพระโอษฐ์ผิวสีนิลในสังคมที่ไร้ปัญหาการเหยียดผิว  การอยู่ร่วมกันของคนทุกเชื้อชาติโดยปราศจากการแบ่งแยกนั้นเป็นโลกแห่งอุดมคติที่แม้แต่วันเวลาล่วงผ่านมากว่าสองร้อยปี ก็ยังมีผู้ห้ำหั่นประหัตประหารกันเพียงเพราะความแตกต่างของเผ่าพันธุ์      การติดตามซีรีส์รักร้อนแรงเรื่องนี้อาจจะเป็นการเสริมกำลังใจให้กับคนที่โหยหาความเท่าเทียมก็เป็นได้




ดยุคคือที่สุด....


ด้วยใบหน้าที่งดงามดุจงานที่สลักเสลาจากฝีมือศิลปินเอก รูปร่างsexyชวนให้น้ำลายหก น้ำเสียงสำเนียงที่แพงสุด รวมไปถึง smoldering look (การส่งสายตาเก๊กหล่อ) ที่นอกจะไม่ทำให้หมั่นไส้รำคาญ แต่ต้องเขินสะเทิ้นไปทุกครั้งที่ท่านดยุคมองมา (ถึงจะไม่ได้มองเราก็ตาม)

ไฉนจึงเพิ่งจะแจ้งเกิดเต็มที่ตอนนี้  ?    อายุก็ก้าวขึ้นหลัก 3 เป็นวัยฉกรรจ์เต็มตัวแล้ว    ออร่าพระเอกที่เจิดจ้าแสบตาทำให้เราจินตนาการถึงภาพของเค้าในบทเริ่ดๆจากหนังดัง    ด้วยแพคเกจครบเครื่องรวมถึงฝีมือการแสดงที่ตอนนี้ก้าวไปถึงรอบชิงชัย SAG award   เส้นทางในวงการของ Regé-Jean Page ก็รุ่งโรจน์ขึ้นมาทันที


มีแฟนๆ period drama หลายคน นำกระแสความคลั่งไคล้ในตัวSimon ไปเปรียบเทียบMr. Darcy แห่ง Pride And Prejudice แต่แน่นอนว่า ความเร่าร้อนของท่านดยุคนั้นไม่จบตรงที่เสื้อเปียกน้ำเหมือนพระเอกแนวอนุรักษ์นิยมของ Jane Austen เพราะเขามาพร้อมกับฉากติดเรทที่ผู้เขียนต้องแอบลูกไปดูอีกห้อง เสน่ห์ของ Regé-Jean Page มีพลังทำลายล้างสูงมากจนสาวต้องเพ้ออยากจะกลายเป็นดัชเชส ทั้งๆที่storyline แบบbad boy หล่อรวยจอมเย่อหยิ่งกับคุณหนูผู้รักในศักดิ์ศรีไม่ได้แปลกใหม่แต่อย่างใด แต่ภาพของท่านดยุคได้สร้างความหวานซาบซ่านในใจแฟนๆจนหลายคนยอมรับว่ากลับมาดูซ้ำแล้วหลายครั้ง


พิสูจน์ได้จาก meme ของผู้ชมสาย thirsty ทั้งหลายที่ประกาศอย่างไม่รักษาภาพลักษณ์ว่า    "ดยุคคือเหตุผลเดียวที่ฉันติด Bridgerton ค่ะ!"


ล่าสุด Rege ได้ยอมรับว่า ความสำเร็จของ Bridgertonทำให้เขาตกตะลึง และถึงกับรู้สึกหวาดหวั่นกับกระแสตอบรับล้นหลามในช่วง lockdown  จนต้องลังเลหากจะออกไปไหน ( น่าจะหมายถึง ชื่อเสียงที่มาพร้อมความคลั่งไคล้ของแฟนๆที่บางทีก็เกินขอบเขตนั่นเองค่ะ)  ก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด  เพราะน้องนางเอกเองยังต้องคอยตอบคำถามซ้ำๆจากสื่อและคนรอบข้างว่า   Rege -Jeanมีรูปรสกลิ่นเสียงเป็นเช่นไร ถึงขั้นจินตนาการถึงการลองลิ้มรสชาติของท่านดยุคไปแล้ว!



ความน่าสนใจของหลากหลายตัวละคร



พอเห็นเราพร่ำเพ้อว่าพระเอกงานดีมากมายขนาดไหนอาจจะตั้งข้อกังขาว่าลำเอียงรึเปล่า ?   แม้เราจะเชื่อว่า ดยุคแห่ง  Hastings คือแม่เหล็กดึงดูดความสนใจได้มากที่สุด   แต่เขาไม่ได้ทำหน้าที่ "แบก" show นี้ไว้เพียงผู้เดียว    ทีมนักแสดงทั้งหลายต่างก็ได้รับเครดิตในการสร้างความสนุกสนานจน Bridgerton สร้างปรากฏการณ์แห่ง streaming show ได้เพียงนี้
Daphne  นางเอกที่ทำให้ผู้ชมจำนวนมากอยากจะถอดวิญญาณไปสลับร่างให้รู้แล้งรู้รอด     แม้จะไม่ได้อ่านนิยายต้นฉบับมาก่อน  แต่ก็ทำให้เชื่อนี่เป็น casting ที่มีคุณภาพไม่แพ้ฝั่งพระเอกเลยทีเดียว    เธอเป็นตัวละครที่มีความซับซ้อน  ด้วยท่าทางกุลสตรีชั้นสูงที่ถูกอบรมเตรียมตัวเพื่อเป็นภรรยาที่เยี่ยมยอดมาตลอดชีวิตจนดูเป็นผู้ใหญ่มากกว่าอายุ แต่ก็มีทั้งความเฉลียวฉลาดและซุกซนแสบสันในบางโอกาส  ด้านหนึ่งก็ดูบริสุทธิ์ผ่องแผ้วสมฉายาเพชรน้ำหนึ่ง แต่ก็โหยหาในเรื่องความสัมพันธ์ของชายหญิง  แม้ว่าจะถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงข้อมูลเรื่องเพศศึกษา  นี่คือตัวแทนของผู้หญิงจาก fantasy ที่สามารถใช้ความรักทลายกำแพงของชายหนุ่มผู้เต็มไปด้วยบาดแผลในใจ    แม้จะเป็นพล็อทที่คุณผ่านตามาแล้วซ้ำๆ   แต่ก็อดจะเอาใจช่วยเธอไม่ได้

( แต่ต้องเตือนตัวเองว่าอย่าอินกับเรื่องใน fiction มากจนเอามาสับสนกับชีวิตจริงนะจ๊ะ)

Phoebe Dynevor เป็นทายาทของครอบครัวนักเขียนบทและนางเอกที่มีชื่อเสียงจากอังกฤษ  เห็นดูเด็กแบบนี้  เธอโลดแล่นในวงการ TV อังกฤษมาตั้งแต่อายุ 14 แล้ว  ตั้งแต่นั้นก็มีงานเข้ารัวๆจนไม่สามารถจัดตารางเวลาเพื่อไป audition เข้า drama school ชื่อเสียงเก่าแก่เหมือนกับฝ่ายพระเอก    แต่เรื่องฝีมือการแสดงนั้นก็สร้างความประทับใจให้กับผู้ชม เรียกได้ว่าเป็นนางเอกดาวรุ่งที่น่าจับตาเลยทีเดียว
เลดี้ Danberry  สตรีที่ทำให้พวกเราสัมผัสถึงพลังอันแข็งแกร่งของสตรีจนอยากจะให้เพิ่มบทของเธอขึ้นมาอีก     เธอคือสุดยอด mentor ผู้คอยช่วยเหลือคนที่รักอย่างจริงใจ   แต่ละคำพูดของเธอบาดลึกและสร้างความฮึกเหิมอย่างน่าประหลาด  เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่นึกอยากจะให้อยู่ใกล้ตัวในชีวิตจริง ( แทนที่จะเป็นป้าที่คอยถามเรื่องเงินเดือน และคอยเปรียบเทียบตวามสำเร็จในชีวิตของเรากับคนอื่น)     ส่วนวาทะอันเชือดเฉือนช่วยปรุงรสให้ show เอร็ดอร่อยขึ้นอีก
มิตรภาพของเพื่อนสาวคู่ซี้ดูจะขาดจากซีรีส์รักไปไม่ได้เลย  
Eloise & Penelope เป็น duo ที่น่าเอ็นดูไม่ใช่เล่น สำหรับสาวน้อยหัวก้าวหน้าจากบ้าน Bridgerton นั้น เธอมาพร้อมกับจุดยืนอันหนักแน่นเพื่อต่อต้านการฝึกมารยาหญิงเพื่อหาสามี แต่อยากมีอนาคตที่เธอเลือกได้เองจากการศึกษาหาความรู้เพื่อที่จะไม่ต้องเอาแต่ยื้อแย่งผู้ชาย profile เริ่ดกับผู้หญิงคนอื่น ต้องยอมรับว่าการเรียกร้องสิทธิสตรีผ่านTV show ยังทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าเป็นการยัดเยียดหรือเกิดอคติ แต่เรามองว่าการถ่ายทอดตัวละครEloiseนี้ดูกลมกล่อมลงตัว เธอยังอายุน้อยก็จริง แต่ก็รู้เท่าทันความคิดในใจของพี่สาวที่ให้ความสำคัญกับการหาสามีมาเป็นอันดับแรกจนเกิดเป็นข้อขัดแย้งเล็กๆน้อยๆสม่ำเสมอ ถึงจะดูหัวดื้อ แต่เธอก็เคยให้คำแนะนำดีๆกับพี่น้อง

ผู้ที่จะเข้ามาเป็นเพื่อนสนิทของEloiseได้ ก็หนีไม่พ้นสาวที่ดูหัวอ่อนแสนดีและคอยเออออไม่ขัดใจอย่าง Penelope แม้จะมาจากครอบครัวFeatheringtonที่เป็นคู่แข่งกัน แต่เธอดูใสซื่อแตกต่างจากคนอื่นๆในบ้าน เพราะรูปร่างอวบกลมทำให้เธอดูเจียมเนื้อเจียมตัวแต่ก็มีเสน่ห์น่ารักน่าเอ็นดู ไม่โลกสวยจนรำคาญใจ และยังเป็นตัวแปรอันสำคัญต่อการดำเนินเรื่องที่ทำให้ผู้ชมคาดหวังในซีซันต่อไป

 show นี้ถูกเปรียบเทียบกับ Gossip Girl ในหลายแง่มุม    จากพล็อทนักเขียนกอสสิปลึกลับและจำนวนตัวละครที่เยอะละลานตา จนคนอาจจะเข้าใจผิดว่าจะเป็นการลอกเลียนconcept   แท้จริงแล้วนวนิยาย Duke And I ที่เป็นต้นฉบับนั้นเป็นผลงานที่มีอายุกว่ายี่สิบปี    เมื่อซีซันแรกประสบความสำเร็จถึงเพียงนี้  เส้นทางต่อไปของ Bridgerton ก็ยังรอการพิสูจน์ว่า  เมื่อนักแสดงคนอื่นจะเปลี่ยนมารับบทหน้าที่ในการดำเนินเรื่องแทนคู่ดยุคและดัชเชส  จะยังสร้างความฮือฮาเหมือนเดิมหรือไม่


ความโมเดิร์นที่มาพร้อมกับซีรีส์ย้อนยุค



แม้ว่าเราจะยกตัวอย่างซีรีส์ฟอร์มยักษ์ของ Netflix ที่มีเงินลงทุนสูงอย่าง The Witcher และ The Crown  มาเปรียบเทียบ แต่  Bridgerton ก็ไม่ใช่ซีรีส์ที่ฝืดเคืองเรื่องงบแต่อย่างใด  จากการรายงานว่า ทีม costumeได้ตัดเย็บเสื้อผ้าขึ้นมาถึง 7800 ชิ้น  (OMG!)   รวมถึง production ต่างๆที่สร้างความรู้สึกแปลกใหม่ให้กับแฟนๆหนังและซีรีส์ย้อนยุค  ทั้ง location และสีสันแบบลูกกวาดที่แตกต่างจากหนังและซีรีส์ยุค Regency เรื่องอื่นๆที่เคนชมมาก่อน    ทีมงานประกาศชัดเจนว่า ต้องการให้มีความสีสันที่สดใส   fashion ที่เล่นใหญ่อย่างจงใจ   ถึงจะมีคนไม่ถูกใจบ้างก็ไม่เป็นไร  ถนัดความเยอะแบบนี้!


แม้ Bridgerton จะมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ซีรีส์ย้อนยุคที่สะท้อนชีวิตชนชั้นสูงเรื่องอื่นๆนัก     แต่ก็มีความโดดเด่นเฉพาะจากการสอดแทรกความ modernเข้ามา  จนเป็นมิติใหม่ที่น่าติดตาม


ฉากงานเต้นรำวนเวียนไปมาแทบทุก episodeอาจจะชวนง่วงเหงาหาวนอนสำหรับคนที่ไม่อินกับวิธีหาคู่ของคนในยุคนั้น แต่เมื่อใช้ทำนองเพลงฮ็อทฮิทติดชาร์ทจากยุคปัจจุบัน มันก็เป็น gimmick ที่ทำให้ผู้ชมให้ความสนใจใคร่รู้ได้มากขึ้นว่า ในฉากเต้นรำต่อไปจะบรรเลงเพลงใดให้ร้องเพลงคลอตาม


อันที่จริงแล้วยังมีผู้ที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีการคำนวณตัวเลขผู้เข้าชม Briddgerton ของ Netflix ว่าอาจจะเป็นวิธีหนึ่งในการปั่นกระแสดึงดูดให้มีผู้อยากรู้อยากเห็นเข้ามาลองชมเพิ่มอีก (เราเป็นคนหนึ่งที่เคยประหลาดใจจากช่วงแรกที่มีการประกาศว่ามีตัวเลขผู้ชมสูงกว่า The Queen's Gambit) แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ซีรีส์ที่ถูกจริตคนดูทุกกลุ่ม มีหลายคนที่ยืนยันว่าไม่ไปต่อด้วยหลากหลายเหตุผลกันไป (และนั่นมันก็เป็นเรื่องที่ปกติสุดๆ) แต่เราค่อนข้างมั่นใจว่า ความสำเร็จของ Bridgerton ไม่ใช่แค่ราคาคุยหรือการPR จากกระแสความฮือฮาบน social media และการตอบรับที่ร้อนแรงของสื่อแทบทุกเจ้า

คงอีกนานกว่าได้ชม season 2 ช่วยเล่าให้เราฟังกันสักนิดสิว่า คุณคิดอย่างไรกับความสำเร็จของ Bridgerton ?


The End


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE