มุมมองต่อผิวสีแทนจากหลายหลายวัฒนธรรม

52 12

พวกเราต่างรู้ดีว่า มุมมองต่อความงามนั้นเป็นเรื่อง "ต่างจิตต่างใจ" "โทนสีผิว" เป็นสิ่งที่สร้างข้อถกเถียงข้ามสหัสวรรษ แต่ด้วยวันเวลาที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาเปิดใจยอมรับสิ่งที่แตกต่างโดยกำจัดอคติที่ถูกปลูกฝังออกไป ในสังคมหนึ่ง ผู้คนอาจจะยึดว่าโทนผิวสีเข้มเป็น "ปมด้อย" ที่ทำให้พลาดโอกาสดีๆในชีวิต แต่อีกสังคม อาจจะเชิดชูให้เป็น "ความโดดเด่น" ที่ใครๆปรารถนา

ลองมาติดตามุมมองต่อผิวสีแทนจากวัฒนธรรมที่แตกต่างได้เลยค่ะ


จุดเปลี่ยนที่ทำให้โลกตะวันตกโยนแนวคิดความคลั่งผิวขาวทิ้งไป


คุณน่าจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า "ผิวเข้มสเป็คฝรั่ง" กันมาแล้วหลายครั้ง แต่แท้จริงแล้ว ในโลกตะวันตก ความคลั่งไคล้ผิวขาวนั้นปรากฏเด่นชัดมายาวนานและเป็น beauty standard ที่ผู้คนมากมกายพยายามไขว่คว้า ผิวของชาวตะวันตกที่มีโทรขาวอยู่แล้วนั้นไม่ได้สร้างความพึงพอใจสูงสุด แต่ต้องเป็นผิวที่ขาวซีดเผือดใกล้เคียงกับกระดาษหรือหิมะ เพราะมีความเชื่อมั่นว่า ยิ่งขาวมากเท่าใดก็ยิ่งดูบริสุทธิ์สูงส่ง โดยเฉพาะยุค Victorian ที่ชนชั้นสูงหมกมุ่นกับแนวคิดของความตาย ผิวที่ขาวซีดเหมือนร่างไร้วิญญาณนั้นถูกชื่นชมว่าเป็นสุดยอมแห่งความงาม ผู้คนไม่ลังเลที่จะซื้อหา whitening skincare มาใช้ และในขณะนั้น แนวคิดเรื่องความปลอดภัยจากเครื่องสำอางยังเป็นฝุ่นลอยลมตามอากาศ ผลิตภัณฑ์ที่วางขายทั่วไปเต็มไปด้วยสารพิษที่ทำลายทั้งผิวพรรณภายนอกและสุขภาพร่างกาย ในที่สุดแล้ว นอกจากผิวพรรณจะขาวเพียงชั่วขณะแล้วค่อยๆถูกกัดกร่อนจนพังเกินเยียวยาก็อาจจะต้องสังเวยชีวิตเพราะความอยากขาว

แต่จุดเปลี่ยนของค่านิยมคลั่งขาวมาเป็นคลั่งแทนมันเริ่มตรงไหน ?
แม้ Coco Chanel   จะจากโลกนี้ไปหลายสิบปีแล้ว  แต่ตำนานของสตรีทรงอิทธิพลในโลก fashionของเธอไม่ได้ถูกลบเลือนไปไหน        เมื่อเอ่ยถึงชื่อของเธอก็อาจจะทำให้หลายคนนึกถึงดีไซน์เนอร์ที่ทำให้สูทผ้าทวีดเป็นอะไรที่แสนชิค!  แต่ยังมีสิ่งหนึ่ง trendsetter ผู้นี้ได้สร้างเสียงกล่าวขานและเปลี่ยนแปลงอคติของผู้คนจำนวนมากในเวลาต่อมา


มันคือผิวแทนหลังจากทริปบนเรือที่เธอได้มาอย่างไม่ตั้งใจ เมื่อปรากฏตัวที่ Cannes ทั้งช่างภาพและคนรอบข้างต่างชื่นชมในลุคทีดูแปลกใหม่ ในภายหลัง เจ้าชาย Jean-Louis de Faucigny-Lucigne ผู้เป็นสหายของดีไซน์เนอร์ดังได้ให้ความเห็นว่า

"เธอน่าจะเป็นผู้นำเทรนด์การอาบแดด ในเวลานั้น เธอเป็นคนปั้นเทรนดทุกอย่างขึ้นมา"


 Coco Chanel  คือตัวแทนของอภิสิทธิ์ชนที่มีสถานะทางการเงินมั่นคงที่จะท่องเที่ยวอย่างหรูหรา     ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา   โทนผิวสีเข้มถูกเหยียดหยันว่าเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นล่างที่ต้องใช้แรงงานอยู่กลางแจ้ง     แต่เมื่อบุคคลชั้นนำชื่อเสียงโด่งดังปรากฏกายด้วยผิวแทนเปล่งปลั่งที่เกิดจากการออกแดดบนเรือหรู    แนวคิดในด้านลบที่มีต่อผิวาีเข้มเริ่มเปลี่ยนไป     มันได้กลายมาเป็น luxury  ของผู้มีอันจะกินที่สามารถเดินทางไปพักผ่อนในเมืองตากอากาศอันงดงาม   ความแทนที่เคยถูกตีตราว่าดูมัวหมองและไร้ราคา ก็เปลี่ยนแปลงมาเป็นออร่าความงามแบบฉบับคนรวย
ไม่กี่ปีที่ Chanel ได้สร้างคลื่นความนิยมในผิวสีเข้มขึ้นมา   Jean Patou  ดีไซน์เนอร์ชาวฝรั่งเศสจึงได้คิดค้นและปล่อย oil อาบแดดที่ชื่อว่า Huile de Chaldee เป็นครั้งแรก   เขาได้ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ตามเมืองโบราณ  Chaldea แห่ง Babylonia ที่มีชื่อร่ำลือในเรื่องสาวงามผิวสีน้ำตาล

เป็นระยะเวลาเกือบร้อยปีที่ความนิยมในผิวสีเข้มในโลกตะวันตกพุ่งสูงขึ้นมาเรื่อยๆ มันเป็นเรื่องปกติเป็นอย่างยิ่งที่เซเลบสาวที่มีผิวขาวเรียบเนียนราวกับนมสดได้เปิดใจถึง "ปมด้อย"จากความขาวที่ไม่สามารถเปลี่ยนให้มีเฉดที่เข้มขึ้นได้ด้วยการอาบแดด ( ฝรั่งบางคนมีผิวที่บอบบาง หากถูกแดดมากๆ แม้จะมีการทาครีมป้องกันแดดแล้วก็ยังลอกแดงและไหม้ หนำซ้ำสีผิวยังไม่เข้มขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย)


การเปลี่ยนแปลงอคติที่มีต่อผิวเข้มจนกลายเป็นความงามที่สังคมเชิดชูนั้นไม่ได้เกิดขึ้นปุบปับ แต่ค่อยๆเพิ่มพูนความนิยมขึ้นมาเรื่อยๆ ในยุค 1960s ที่มีการเผยแพร่ภาพสีในอุตสาหกรรมบันเทิง และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ผู้คนหันมาเพลิดเพลินกับการวิ่งตามเทรนด์ความงามจากคนดังและเดินทางท่องเที่ยวด้วยเครื่องบินได้อย่างแพร่หลาย ความนิยมในผิวสีบรอนซ์เรืองรองได้พุ่งสูงขึ้นมาเรื่อยๆ มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อสร้างผิวแทนอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องจองทริปไปที่ไหน และดังที่เราได้เห็นกันมาตั้งแต่จำความได้ ภาพของชาวตะวันตกผิวขาวจั๊วะที่ "ย่าง" ร่างกายกลางแดดร้อนแรงที่ชายหาดบ้านเราได้กลายเป็นสิ่งที่ชาชิน กว่าที่นักท่องเที่ยวไทยหลายคนที่เก็บตัวในห้องพักจนแดดร่มลมตกจะออกมาเล่นน้ำทะเล เหล่าฝรั่งในชุดว่ายน้ำตัวเล็กๆก็มีผิวสีแดงจัดกันไปถ้วนหน้า พวกเค้าต่างรู้สึกสมใจกับความเปลี่ยนแปลง เพราะไม่นานจากนั้น ผิวที่แดงเหมือนมะเขือเทศก็จะเปลี่ยนเป็นเฉดสีน้ำตาลเข้มตามความมุ่งหมาย ในแบบสำรวจของอังกฤษบางอันได้แสดงว่า นักท่องเที่ยวแดนผู้ดีราวๆครึ่งหนึ่งให้ความสำคัญกับลุค "เพิ่งกลับมาจากท่องเที่ยว" ที่มีผิวแทนสร้างความอิจฉาให้คนรอบข้างมากกว่าซะยิ่งกว่าการพักผ่อนหย่อนใจในทริปซะอีก! ( theguardian.com)




ผิวแทนได้ยืนหยัดอยู่กับความงามแบบ  Hollywood  อย่างเหนียวแน่น    จนฟันธงได้ว่า  เซเลบสาวที่มีอิทธิพลในเรื่องแนวคิดความงามต่อคนรุ่นใหม่ในอเมริกาจะต้องนำเสนอผิวสีเข้ม   ในเวลาเพียงบางครั้งที่พวกเธอไม่ได้ทำผิวสีแทนและเผยถึงความขาวตามธรรมชาติก็สร้างความฮือฮาจากสังคมออนไลน์ว่า แทบจะจำกันไม่ได้เลยทีเดียว
หลายคนที่ใช้ทุ่มเทเวลาและเงินทองในการทำผิวแทนให้เหตุผลว่า เฉดผิวสีแทนนั้นดูเปล่งปลั่งเหมือนคนที่ออกกำลังกลางแจ้ง ดูสุขภาพดี เหมาะกับสไตล์การแต่งตัวที่หลากหลาย  บางคนยังเชื่อว่า สีผิวที่ดูเข้มนั้นช่วยให้รูปร่างดูเพรียวกว่าเดิม   ส่วนผิวสีขาวตามธรรมชาติไม่ได้สร้างความพึงพอใจให้ เพราะเกรงว่าจะดูซีดเหมือนคนป่วย  เมื่อใส่เสื้อผ้าสีอ่อนแล้วดูกลืนหายไป


การเปิดใจยอมรับผิวสีแทนในสังคมญี่ปุ่น

ผิวขาวคือหนึ่งใน beauty standard ที่ขึ้นชื่อลือชาในประเทศตะวันออก โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออกไหลที่สั่งสมแนวคิดเรื่องผิวขาวอันงดงามสูงส่งไร้ราคี ในนิยายจีนโบราณได้มีการบรรยายคำชื่อนชมถึงสตรีมีเป็นเจ้าของความงามใน level ล่มเมืองล่มปฐพีจากผิวขาวราวกับหิมะแรก ขาวใสจนเห็นเส้นเลือดแตกกิ่งก้านเป็นไรใต้ผิวหนัง ส่วนในเกาหลีนั้นก็ไม่ได้ห่างกันมาก คุณแทบจะไม่ได้เห็นนางเอกผิวสีเข้มใน K Drama และเฉดสีของรองพื้นของแบรนด์เครื่องสำอางเกาหลีก็มีอยู่น้อย ผู้คนนิยมใช้รองพื้นที่สีสว่างกว่าผิวจริงกันเป็นเรื่องปกติ

แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่น  จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มีการยอมรับผิวสีเข้มกันมากขึ้นก็คือ Gyaru  หรือ Gal นั่นเอง
คุณอาจจะเคยผ่านตาคอนเทนท์เรื่องความคลั่งขาวของคนญี่ปุ่นโบราณของเรามาแล้ว (https://www.jeban.com/topic/321278)  การพอกแป้งน้ำที่หน้าจนขาววอกราวกับใส่หน้ากากเคยเป็นเทรนด์ที่สตรีชั้นสูงปลาบปลื้ม  แต่หลังจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของญี่ปุ่นในยุค modern ทำให้ผู้คนเปิดใจยอมรับกับค่านิยมความงามจากต่างประเทศมากขึ้น       ก่อนหน้าที่ยุค gal จะบูม แทบจะไม่มีคนดังทำสีผมเป็นสีอ่อนซะด้วยซ้ำ    แต่เมื่อถึงยุค 90s    นามิเอะ อามุโระ สาวผิวแทนจากโอกินาว่าได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญที่พลิกโฉมประวัติศาสตร์ fashion & beauty ในญี่ปุ่น  เธอและคู่แข่งคนสำคัญอย่างอายูมิ ฮามาซากิได้ขึ้นแท่นเป็นไอค่อนของสาววัยรุ่นมากมาย และเป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดกลุ่ม subculture ที่เรียกว่าสาว gal ขึ้นมา   

เคยมีผู้วิเคราะห์ว่า gyaru หรือ gal คือการประกาศวิถีขบถสังคมจากวัยรุ่นที่ไม่ต้องการยึดติดกับค่านิยมดั้งเดิมอีกต่อไป พวกเธอสามารถ "เยอะ" ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ถึงคนส่วนมากจะคิดว่าผิวสีเข้มจัดและสไตล์การแต่งตัวจะไม่น่าดึงดูดใจเท่ากับสไตล์สาวแบ๊วยอดนิยม แต่พวกเธอแสวงหาการยอมรับเฉพาะผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันเท่านั้น ศิลปินโด่งดังอย่างนามิเอะ โคดะ คุมิ และอายูมิ ( ที่เคยทำผิวแทนอยู่ช่วงหนึ่ง) คือแรงบันดาลใจสำคัญที่จุดประกายให้พวกเธอลุกขึ้นมาทำตัวแตกต่าง

อย่างไรก็ตาม   แม้สาว gal จะชื่นชมผิวสีแทนที่โดดเด่นสะดุดตามท่ามกลางฝูงชน  แต่ความนิยมในเทรนด์นี้ก็ค่อยๆลดน้อยไป  แม้จะสามารถพบพวกเธอได้อยู่    แต่ก็ถูกมองว่า  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใน phase ที่วัยรุ่นแสดงความพยศเท่านั้น  หลายคนที่เติบโตสู่ความเป็นผู้ใหญ่ก็ปิดฉากความเป็น gal ไปอย่างไม่หวนกลับ


ด้วยสีผิวที่เข้มแตกต่างรวมกับ fashion ที่ดูไม่แคร์เสียงครหาของคนที่อยู่รายรอบทำให้ถูกมองว่ามีความก๋ากั่นหรือมั่นใจแบบล้นๆ สวนทางกับคนส่วนมากที่พยายามหลีกเลี่ยงสายตาที่คอยตัดสิน     สื่อบันเทิงมักจะนำเสนอพวกเธอด้วยอคติ   ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสาวผิวแทนสุดซ่าที่ตาม bully นางเอก      หรือจะเป็นสาว gal ใจกล้าเกินเหตุ  แต่เราก็จะได้เห็นสาว gal ที่เป็นนางเอกและตัวละครโดดเด่นเหมือนกันนะ   โดยมากแล้ว  ตัวละครสาวgal  2D จะมาพร้อมกับความมีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยพลังงาน  ไม่ทำตัวเหนียมอาย   จนทำให้เกิดพล็อทสาวผิวแทนที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็น gal นักเลงอย่างในการ์ตูนชื่อดัง Peach Girl ยังไงล่ะ


เมื่อมาถึงคำถามที่ว่า ชาวญี่ปุ่นเปิดใจยอมรับสาวผิวแทนที่ไม่ได้เป็น gal รึเปล่า ? ทำให้เรานึกถึงRola ทาเรนโตะและนางแบบที่มีผู้ติดตามบน Instagram มากที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น (ตัวเลขผู้ติดตามของเธอสูงกว่าคนดังระดับtopหลายคน จะเป็นรองก็แต่นาโอมิ วาตานาเบะ)
ด้วยเชื้อสายบังคลาเทศ เธอจึงมีผิวสีแทนเป็นธรรมชาติ และแม้ว่าจะมีเชื้อญี่ปุ่นเพียงกึ่งหนึ่ง ( แม่ของเธอเป็นลูกครึ่งรัสเซีย-ญี่ปุ่น) แต่เธอสร้างความความสำเร็จอย่างล้นหลามในสังคมที่ยังมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมอย่างแพร่หลาย และมีลูกครึ่งเพียงไม่กี่คนที่ก้าวมาสร้างชื่อเสียงโด่งดังได้ ดูเหมือนว่า วงการ fashion จะอ้าแขนยอมรับลูกครึ่งที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นแตกต่างมากกว่าวงการแสดง Rola รับงานโฆษณาสารพัด ถึงจะย้ายไป LA ก็มีแฟนๆติดตามเธอในบทบาท lifestyle influencer อย่างเหนียวแน่น เมื่อได้ไปส่องช่อง Youtube ของเธอบแล้ว ขอยืนยันว่า ผิวของเธอสวยสุดๆไปเลย เพราะเป็นสีแทนธรรมชาติที่ทั้งเรียบเนียนและ glow ที่แตกต่างจากspray tan ชัดเจน


ตามประสาสาวญี่ปุ่น   Rola ซีเรียสกับskincare  เธอไม่โฟกัสกับเรื่อง whitening   แต่เป็นการบำรุงให้ผิวนุ่มน่าหม่ำไปทั้งตัว  ผิวของเธอเรียบเนียนสม่ำเสมอจริงๆ


เคียวโกะ ฟูคาดะนางเอกสาวที่ชื่นชอบการเล่น surf เคยขึ้นเวทีรับรางวัลด้วยลุคผิวแทนที่สวยแปลกตา ที่ผ่านมาเราจะได้เห็นผิวแทนของ Kyoko จากภาพชุด bikiniใน photobook ลุคนี้ทำให้เธอดูเหมือนดาราเชื้อสายเอเชียนใน Hollywood เลยทีเดียว



มี่ญี่ปุ่น  แม้ว่าผู้คนจำนวนมากจะปรารถนาในผิวขาวเรียบเนียน  แต่ในวงการบันเทิงก็มีที่ยืนสำหรับคนที่ไม่ขาวอยู่นะ   ใน J Drama เราเคยเห็นออร่าของสาวผิวแทนที่ดูมีแรงดึงดูด  เป็นผู้ใหญ่ ลึกลับ  ไม่งุ้งงิ้งแบบ character นางเอกยอดนิยม


พอเปลี่ยนเป็นอีกเพศ เราเชื่อว่าญี่ปุ่นเปิดกว้างกับหนุ่มผิวแทนมากๆ  คนดังที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนุ่มเท่ตลอดกาลอย่างสองหนุ่มด้านล่างนี้ก็ยืนหยัดกับผิวแทนมาตั้งแต่เป็นหนุ่มเอ๊าะ   รวมถึงพระเอกขื่อดังรุ่นหลังบางคนที่มีผิวแทนชัด   ซึ่งอาจจะสวนทางกับ image ของ "อิเคเมน" หรือหนุ่มหล่อ รสนิยมดีมีลุคclean และผิวขาว  แต่ก็มันก็ยากจะปฏิเสธว่า หนุ่มผิวแทนก็ดูเร้าใจไม่น้อยหน้ากันเลย




นางเอกอินเดียที่เพิ่งยอมรับโทนสีผิวเข้มของตัวเองได้ตอนที่ก้าวเข้าสู่ Hollywood


Priyanka Chopra อาจจะไม่คาดคิดมาก่อนว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมจะกลายมาเป็นเครื่องมือสร้างดราม่าเมื่อเธอก้าวมาสร้างชื่อเสียงในอเมริกา ข้อหา "เสแสร้งแกล้งทำ" ในประเด็นสีผิวนั้นมีแรงกดดันจนเธฮต้องพยายามเคลียร์ตัวเองออกจากเรื่องนี้ให้ได้



มันเกิดอะไรขึ้น ?



นางเอก Bollywood ชื่อดังที่โก Hollywood  ถูกวิจารณ์หนักเมื่อเธอและสามีได้แสดงความวิตกกังวลต่อกรณีความรุนแรงจากน้ำมือตำรวจที่ส่งผลให้  George Floyd เสียชีวิตจากการถูกจับกุม พวกเค้าร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเหยื่อและประกาศสนับสนุนความเคลื่อนไหว Black Lives Matter    แต่ไม่นานต่อมา  สาวงามจากอินเดียกลับเป็นฝ่ายถูกถล่มด้วยคำกล่าวหาว่าใช้เรื่องนี้มาสร้างภาพ   เพราะเคยรับงานโฆษณาครีมหน้าขาวมาก่อน   หลายคนฉะว่า  เธอนี่แหละที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการกีดกันทางสีผิว!



Priyanka เป็นหนึ่งในดารา Bollywood ที่ผิวสว่างขึ้นกว่าก่อนที่จะสร้างความโด่งดัง ชาวเน็ทในอินเดียมักวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเปลี่ยนแปลงของเธอด้วยการนำภาพก่อนจะเข้าวงการมาเปรียบเทียบ เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า การกีดกันผู้ที่มีผิวเข้มและเอื้อโอกาสให้กับผู้ที่มีผิวขาวยังปรากฏทั่วไปในหลายประเทศแถบเอเชีย โฆษณาเจ้าปัญหาที่ทำให้ Priyanka ถูกโจมตีนั้นเคยปรากฏในประเทศเราเป็นเรื่องปกติ เพิ่งจะมีความเปลี่ยนแปลงในปีหลังๆ จากการห้ามไม่ให้อ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์ด้วยคำว่า "ทำให้ผิวขาว" แต่ก็ยังมีละครที่นำเสนอพล็อทเรื่องนางเอกใช้makeup ช่วยปลอมตัวให้ผิวสีคล้ำเพื่อบ่งบอกว่านี่คือลุคที่"ขี้เหร่จนจำไม่ได้" แน่นอนว่า พวกเราเข้าใจเรื่องการเหยียดผิวสีเข้มเป็นอย่างดี


จากโฆษณาครีมขาว  Priyanka ในภาพของสาวผิวคล้ำช้ำรักเพราะแฟนหนุ่มโพรไฟล์เริ่ดหันไปมีรักใหม่กับสาวขาวกว่า แต่เมื่อหันมาบำรุงผิวจนสว่างขึ้นมาหลายเฉด  และแล้ว...ผู้ชายที่ทอดทิ้งเธอไปก็มองเห็นคุณค่าแล้วกลับาเริ่มต้นความรักกันอีกครั้ง  อื้อหืม พล็อทแบบนี้เห็นมาตั้งแต่เด็กจนมีลูกโตเป็นสาวก็ยังไม่เปลี่ยน


Priyanka รับมือกับคำกล่าวหารุนแรงด้วยการขอโทษ เธอยอมรับว่านี่คือความผิดพลาดในชีวิตการทำงานวงกการบันเทิว และไม่สามารถย้อนกลับไปเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้ เมื่อได้เห็นโฆษณาอีกครั้งก็รู้สึกเศร้าใจ เพราะย้ำเตือนถึงภาพของตัวเองในวัย 13 ปี ที่พยายามใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพราะอยากขาวขึ้นมากๆ

"ตอนนี้ฉันภูมิใจในผิวสีคล้ำมากๆค่ะ"


ดราม่าครั้งนี้จุดประเด็นให้ชาวอินเดียหันมา debate กันอย่างอื้ออึง รวมไปถึงเซเลบหลายคนที่ออกมาสนับสนุนว่า ความขาวไม่ได้เป็นความงามในรูปแบบเดียวเท่านั้น เซเลบหลายคนหันมาเรียกร้องว่า สังคมควรยุติอคติที่มีต่อผิวสีน้ำตาลเข้ม แต่ในขณะเดียวกัน เซเลบเหล่านี้ต่างก็มีผิวเฉดสว่างกว่าชาวอินเดียอีกจำนวนมาก นั่นเป็นเพราะว่า ในวงการ Bollywood แทบจะไม่มีที่ยืนสำหรับผู้ที่มีผิวคล้ำจัดนั่นเอง

ไม่เพียงแต่ใน Bollywood แต่เฉดผิวที่สว่างกว่าถือเป็นอภิสิทธิ์ที่ผู้คนมากมายปรารถนา มันอาจจะเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาที่ช่วยเอื้อประโยชน์ในการงาน การหาคู่ครอง แต่ในทางกลับกัน ผู้คนมากมายต้องทุกข์ใจกับสีผิวเข้มตามธรรมชาติเพราะไม่เป็นที่ยอมรับ แม้ว่าประเทศอินเดียจะมีจำนวนประชากรนับพันล้านและมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธ์ที่ทำให้มีหลายเฉดสีผิวที่แตกต่างกัน แต่มีเพียงเฉดสว่างเท่านั้นที่ถูกยกให้เป็นความงามขั้นสุดยอด

ปัญหาการเลือกปฏิบัติจากความเข้มของสีผิวที่หนักหนาสาหัสทำให้ผู้คนออกมาเรียกร้องและร่วมทำแคมเปญต่างๆเพื่อต่อต้านแนวคิดคลั่งขาว - กดผิวคล้ำให้ต่ำต้อย   กระแสสังคมที่กดดันUnilever ผู้ผลิตครึมหน้าขาวยอดขายสูงปรี๊ด Fair & Lovely  (จากรายได้ 24,000ล้านรูปี) จนมีรายงานว่า บริษัทกำลังทบทวนเพื่อเปลี่ยนชื่อแบรนด์ จากข้อกล่าวหาว่า ชักนำผู้คนให้คลั่งความขาวด้วยความเชื่อว่า มีเฉพาะผิวขาวเท่านั้นที่ควรค่ากับคำว่า Lovely

ครีมหน้าขาว Fair and Lovely กอบโกยรายได้มาหลายสิบปี และบริษัทเพิ่งยอมรับว่า การใช้คำว่า Fair Light และ White เพื่อโฆษณาชวนเชื่อนั้นไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม


เรื่องราวคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นกับ Johnson and Johnson ที่ได้ประกาศว่า จะยุติการผลิตและจำหน่ายครีม Fine Fairness จาก Neutrogena และ Clear Fairness จาก Clean & Clear เพราะเป็นการชี้นำว่า ผิวขาวหรือผิวสว่างนั้นดูดีกว่าผิวแบบอื่นๆ และเน้นย้ำว่า " ผิวสุขภาพดีคือผิวสวย"

ผลินภัณฑ์สองตัวนี้ได้รับความนิยมในเอเชียและตะวันออกกลาง ซึ่งยังเชิดชูความคิดเรื่อง "ขาวกว่า ดีกว่า" นั่นเอง



เราคือคนหนึ่งที่วาดหวังว่า คนทั้งโลกจะเปิดใจยอมรับความงามที่แตกต่าง หยุดใช้ความเข้มของสีผิวมาเป็นข้ออ้างเพื่อเหยียดหยามคนอื่น  



The End


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE