เบื้องหลังชวนตะลึงจากภาพวาดราชวงศ์ยุโรป

58 12

นิยายรักที่บอกเล่าเรื่องราวของเชื้อพระวงศ์แห่งดินแดนตะวันตกได้กลายมาเป็นแฟนตาซีที่สร้างความประทับใจให้กับผู้คนมากมายทั่วโลก ตั้งแต่ยังเด็ก พวกเราต่างจดจำภาพเจ้าหญิงเจ้าชายที่ครองรักกันอย่างมีความสุขในอาณาจักรอันงดงาม แต่การใช้ชีวิตของผู้ที่มีฐานันดรสูงส่งจากยุคประวัติศาสตร์นั้น อาจจะทำให้คุณเลิกอินกับความละมุนในการ์ตูน Disney ไปเลยก็เป็นได้!


ความทุพพลภาพ

ความปกติทางสมอง

พฤติกรรมจากความฟั่นเฟือน

ลักษณะทางพฤติกรรมบกพร่องจากเพศสัมพันธ์ร่วมสายเลือด

เจ้าสาววัยเด็กผู้กลายเป็นราชินีอายุแสนสั้น เพราะต้องกดดันเรื่องการให้กำเนิดรัชทายาทยังแต่อายุ 14-15  จนร่างกายทรุดโทรมและสิ้นใจหลังคลอด


คุณอาจไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะแฝงอยู่ภายใต้ภาพวาดของราชวงศ์ที่แผ่อิทธิพลอันไพศาลไปถึงทวีปอื่นได้หลายศตวรรษ

เรื่องราวเบื้องหลังผลงานจิตรกรรมชื่อดังที่ทำให้คนยุคหลังรู้สึกตกตะลึงจะเป็นเช่นไร  มาติดตามกันได้ค่ะ


ประเพณีการแต่งงานร่วมสายเลือดอันเข้มข้นของราชวงศ์ Habsburg  


เรื่องการรักษาสายเลือดขัตติยะไม่ให้มีความเป็นสามัญชนมาเจือปนของราชวงศ์ในยุโรปนั้นถูกสืบทอดมาหลายศตวรรษ ในอดีต การแต่งงานในเครือญาติถือเป็นนโยบายที่สามารถขับเคลื่อนให้ราชวงศ์ทรงอำนาจมากขึ้น เพราะไม่เพียงแต่จะรักษาเลือดบริสุทธิ์ ยังเป็นการเพิ่มพูนอำนาจการปกครองและคานอิทธิพลของจักรวรรดิคู่แข่ง เป้าหมายของการให้กำเนิดทายาทนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการสืบราชสมบัติภายในประเทศ แต่เป็นการ "ส่งออก" เลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเองไปปกครองประเทศอื่นๆ
หากเป็นเจ้าชาย ก็จะมีโอกาสรับเลือกให้สถาปนาเป็นกษัตริย์ในดินแดนอื่นที่ไร้รัชทายาท ส่วนเจ้าหญิง จะถูกจองตัวเป็นว่าที่เจ้าสาวของกษัตริย์ในประเทศใกล้เคียงตั้งแต่ยังเด็กๆ และได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสเป็นราชินีเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว

เมื่อ "เครือข่ายอำนาจ"ในรูปแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ทำให้บรรดาราชวงศ์ต่างก็เป็นเครือญาติกัน สามีภรรยาผู้ทรงศักดิ์ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกันนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่ในบางครั้ง ผู้ปกครองแผ่นดินก็จะเลือกหลานวัยเยาว์ของตัวเองมาเป็นมเหสี แน่นอนว่า ในปัจจุบันนี้ นี่คือสิ่งที่ไร้ศีลธรรมและขัดต่อกฎหมาย ผู้คนได้เรียนรู้จากในอดีตแล้วว่า การสมรสในเครือญาตินั้นส่งผลร้าย ซึ่งกรณีตัวอย่างที่สำคัญนั้นได้เกิดขึ้นในราชวงศ์ยุโรปเมื่อหลายร้อยปีก่อนนั่นเอง




Las Meninas



ทายาทกษัตริย์สเปนในวัยเยาว์ ที่ปรากฏเป็นศูนย์กลางแห่งผลงานศิลปะชิ้นเอกของยุโรป ผู้ถูกกำหนดให้เป็นเจ้าสาวของน้าแท้ๆ


Las Meninas ผลงานของจิตรกรชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 17 Diego Velazquez ได้ถ่ายทอดโฉมพักตร์อันไร้เดียงสาของ "อินฟันต้า* Margaret Theresa " ที่ยังเป็นเด็กหญิงวัย 5 ขวบที่รายล้อมไปด้วยนางกำนัล   อินฟันต้าเป็นพระราชธิดาแห่งพระเจ้าเฟลิเปที่ 4 แห่งสเปน และมีสถานะสูงส่งในระดับที่มีความเป็นไปได้ในการสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระบิดา หากไม่มีโอรสชายถือกำเนิดตามมา แต่ในที่สุด โชคชะตาที่เปลี่ยนแปลง อินฟันต้าก็ถูกส่งตัวไปเป็นมเหสีของผู้ปกครองแผ่นดินอื่น  แต่ว่าที่สวามีผู้นั้นกลับมีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดใกล้ชิดกันจนอาจทำให้คนรุ่นหลังต้องช็อค

 ภาพนี้ถูกยกย่องว่าเป็นผลงานอันยอดเยี่ยมและมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วยุโรป  ภาพวาดหลายชิ้นของอินฟันต้าถูกส่งไปถึงพระจักรพรรดิ Leopold ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์* ผู้เป็นน้าแท้ๆ ของเธอ  และมันไม่ใช่ภาพที่มีไว้ชื่นชมความน่ารักของญาติตัวน้อย เพราะมันเปรียบเสมือนกับบันไดขั้นแรก็เพื่อทำความรู้จักกับว่าที่พระมเหสีของจักรพรรดินั่นเอง   ยิ่งไปกว่านั้น การนับญาติของสองราชวงศ์ก็ยุ่งเหยิงขึ้นไปอีก เพราะนอกจากจะเป็นน้า -หลานทางฝั่งแม่แล้ว  หากนับญาติทางฝั่งพ่อ ก็ยังเป็นลูกพี่ลูกน้องกันอีกด้วย ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ทางสายเลือดใกล้ชิดกันมากเข้าไปอีก

*ในราชวงศ์สเปน หากไม่ใช่รัชทายาท จะไม่เรียกพระราชธิดาของจักรพรรดิว่าเจ้าหญิง แต่ใช้อิสริยยศว่าอินฟันต้า (หรืออิงฟังต้า)แทน ส่วนพระโอรสจะเรียกว่าอินฟันเต้

* ในช่วงนั้นราชวงศ์ที่ปกครองสเปนและออสเตรียต่างสืบสายเลือดมาจากราชวงศ์ Habsburg และสมรสกันในเครือญาติมาหลายชั่วคน


ยิ่งไปกว่านั้น อินฟันต้าผมทองที่ดูน่ารักราวกับตุ๊กตาในภาพคือผลิตผลของการแต่งงานในเครือญาติสนิท นั่นเป็นเพราะว่า พระเจ้าPhlipที่ 4และพระนางMariana ผู้เป็นพระบิดาและพระมารดาของอินฟันต้าก็มีความสัมพันธ์เป็นลุงและหลานแท้ๆเช่นเดียวกัน และทำให้เป็นการแต่งงานร่วมสายเลือดที่ใกล้ชิดกันมากติดต่อกัน 2 generation !




การเจรจาทางการทูตเพื่อสู่ขออินฟันต้าไปเป็นมเหสีของจักรพรรดิแห่งออสเตรียใช้เวลายืดเยื้อหลายปี  แต่เมื่อเล็งเห็นว่า การร่วมมือกันระหว่างสเปนและออสเตรียจะสามารถต้านทานอิทธิพลของฝรั่งเศสและประเทศรอบข้างได้  ในที่สุดก็ได้ประกาศการหมั้นหมายเมื่ออินฟันต้ามีอายุ 12 ปี     เมื่ออินฟันต้าอายุครบ 15 เธอได้เดินทางไปยังออสเตรียเพื่ออภิเษกสมรสกับน้าชายผู้มีอายุมากกว่าเกือบ 1 รอบ   และตั้งครรภ์แทบจะทันทีหลังจากการอภิเษกสมรสเป็นจักรพรรดินีแห่ง Holy Roman    

ว่ากันว่า พระจักรพรรดิLeopoldหลงไหลในความงามของมเหสีผู้เป็นหลานสาวมากยิ่งนักถึงกับไม่ยอมห่างจากเตียง แม้ว่าร่างกายจะไม่เติบโตเต็มที่ แต่ก็แบกรับภาระหน้าที่ในการให้กำเนิดรัชทายาทและตรากตรำกับการคลอดอันหนักหน่วงถึง 4 ครั้งและยังแท้งอย่างน้อยๆถึง 2ครั้งภายในเวลาเพียง 6 ปี คุณไม่ต้องคำนวณให้ปวดหัวก็คงทราบว่า อินฟันต้าผู้อ่อนเยาว์ถูกกำหนดชะตาให้มาเป็นมเหสีของน้าชายต้องวนเวียนกับการตั้งครรภ์ซ้ำไม่ได้หยุดพัก และทำให้สุขภาพร่างกายของเธอทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว จักรพรรดินี Margaret Theresa จบชีวิตไปในวัยเพียง 21 ปีเท่านั้น




ขากรรไกรแบบราชวงศ์ Habsburg  ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกิดจากการร่วมประเวณีในเครือญาติติดต่อกันเป็นเวลานาน


จากภาพคือ พระเจ้า Charles ที่2 แห่งสเปน ที่ถูกตั้งสมญานามว่า Charles ผู้ถูกสาป

กษัตริย์ผู้นี้คือราชโอรสของพระเจ้า Philipที่ 4และพระนาง Mariana (ตามภาพบน) หรือน้องชายแท้ๆของพระจักรพรรดินี Margaret Theresa ที่เราได้กล่าวถึงในตอนแรก  แม้ว่าจะเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน Margaret Theresa ถูกยกย่องว่าเป็นราชนิกูลที่มีรูปโฉมงดงามและเป็นที่รักทั่วราชสำนัก แต่ลักษณะที่ผิดปกติของเจ้าชายรัชทายาทได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า นี่คือผลกระทบจากการแต่งงานในเครือญาติจากรุ่นสู่รุ่นของราชวงศ์ Habsburg  แม้จะไม่มีหลักฐานทางพันธุกรรมมายืนยันแน่ชัดก็ตาม

พระเจ้า Charles ที่2 คือกษัตริย์แห่งสเปนที่มาจากราชวงศ์ Habsburg เป็นคนสุดท้าย เนื่องจากไร้ทายาทสืบราชสมบัติ สิ่งแรกที่พวกเราทำให้หลายคนสะดุดใจคือความผิดปกติที่ปรากฏที่ใบหน้า ช่วงขากรรไกรผิดรูปซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในราชวงศ์นี้ แต่ความปกติของพระเจ้าCharles ที่2 ดูหนักหนากว่าเชื้อพระวงศ์คนอื่น เพราะมันได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการพูดหรือแม้กระทั่งการกินอาหาร แม้จะได้รับตำแหน่งชทายาทมาตั้งแต่ยังเล็ก แต่ก็เติบโตมาด้วยความยากลำบากเพราะมีพัฒนาการช้าไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายและสติปัญญาจนไม่สามารถเล่าเรียนให้แตกฉานเหมือนกับผู้ปกครองแผ่นดินคนอื่นๆ เมื่อเติบโตพอจะขึ้นครองบัลลังก์ สภาวะทางร่างกายที่ผิดปกติก็ไม่ได้เอื้อต่อการบริหารราชการแผ่นดิน พระมารดาและสภาขุนนางต้องรับหน้าที่นี้ท่ามกลางความหวากวิตก เนื่องจากกษัตริย์หนุ่มไม่สามารถให้กำเนิดทายาทและต้องทุกข์ทรมานจากโรคภัยต่างๆจนสิ้นชีวิตไปในวัย 39 ปี ส่งผลให้เกิดสงครามแย่งชิงตำแหน่งผู้สืบทอดราชสมบัติตามมา


นั่นแปลว่า จุดประสงค์ในการรวมอำนาจและทรัพย์สมบัติทั้งหลายให้อยู่ภายใต้การครอบครองของราชวงศ์เดียวด้วยการเลือกคู่จากวงศาคณาญาติกลับล้มเหลว เพราะแทนที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับเชื้อพระวงศ์ ลักษณะทงพันธุกรรมที่ผิดปกติกลับทำให้กษัตริย์ในรุ่นหลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ จากการชันสูตรศพพระเจ้าCharles ที่2 ได้พบว่า อวัยวะภายในต่างๆมีความผิดปกติหลายประการ ในกะโหลกศีรษะมีแต่น้ำคั่ง และมีอัณฑะข้างเดียว ไม่น่าสงสัยว่า แม้จะอภิเษกมเหสีสองครั้ง แต่ก็ไร้ทายาทสืบบัลลังก์ 



เรื่องที่ตอกย้ำแนวคิดในการสมรสในเครือญาติใกล้ชิดราชวงศ์นี้ก็คือ   แม้ภาวะผิดปกติทางร่างกายและสติปัญญาของพระเจ้า Charles ที่2 จะเป็นที่เลื่องลือ   แต่เมื่อพระธิดาของจักรพรรดินี Margaret Theresa ผู้เป็นพี่สาวแท้ๆได้รอดชีวิตจากช่วงวัยทารกมาได้  กลับมีการวางแผนจับคู่ให้อินฟันต้าให้ไปเป็นเจ้าสาวขององกษัตริย์สเปนผู้มีฉายาว่าต้องคำสาปจากภูตผีปีศาจ    พูดง่ายๆก็คือ  เตรียมจับหลานไปแต่งกับน้า(และลุง) ถึงสามรุ่นติดต่อกัน   แต่เพราะความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางประการ  พระธิดาคนนี้จึงไม่ได้กลายมาเป็นมเหสีของน้าชาย  แต่สมรสกับผู้ปกครองแคว้นบาวาเรียแทน




* ในยุคประวัติศาสตร์จะมีอัตราการรอดชีวิตของทารกต่ำ และมีความเสี่ยงในการติดโรคและเจ็บป่วยหนักเมื่อยังเป็นเด็กเล็ก  จากสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดทางการแพทย์ทำให้ผู้คนไม่ได้มีอายุยืนยาวนัก
ลักษณะขากรรไกรผิดรูปปรากฏอย่างชัดเจนจากภาพของจักรพรรดิ Charlesที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ด้านบน)  หนึ่งในบรรพบุรุษแห่งราชวงศ์ Habsburgที่ใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 16   ลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมนี้ยังพบเห็นได้จากเชื้อพระวงศ์อีกหลายคน



Joanna ผู้บ้าคลั่ง     ราชินีที่ไม่ยอมแยกจากพระศพของสวามี

หากได้ยินคำว่า The mad king หรือ The mad queen ก็อาจจะทำให้หลายคนนึกถึงซีรีส์ Game Of Thrones แต่ในยุคประวัติศาสตร์ ผู้ปกครองอาณาจักรในยุโรปหลายคนมีอาการเจ็บป่วยทางจิตเวชจนได้รับฉายา "บ้าคลั่ง" เมื่อหลายศตวรรษก่อนที่การแพทย์ยังพัฒนาจนถึงขั้นวินิจฉัยความเจ็บป่วยได้อย่างถูกต้อง หรือมีตัวยาช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการ ราชสำนักจะต้องรับมือกับพฤติกรรมที่เกิดจากความผิดปกติทางจิตของเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงด้วยวิธีต่างๆ


พวกเค้าจะต้องทำเช่นไร หากพระราชินีปรารถนาจะอยู่เคียงข้างสวามีอันเป็นที่รัก  ทั้งๆที่อีกฝ่ายสูญสินชีวิตไปแล้ว เหลือแต่เพียงร่างที่เน่าเปื่อยในหีบศพ


Joanna เจ้าหญิงจากราชวงศ์Trastámara  รัชทายาทแห่งแคว้นกัสติยาและแคว้นอารากอน*   ได้กลายมาเป็นชายาของ Philip  โอรสคนโตของจักรพรรดิ Maximilian ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์    เขาคือเจ้าชายที่มีชื่อเสียงเรื่องรูปโฉมอันดึงดูดใจจนได้รับฉายาว่า Philipรูปงาม  (ในรูปอาจจะบอกอะไรไม่ได้นักเพราะเป็นศิลปะที่นิยมกันในยุคนั้น) หนึ่งในบรรพบุรุษราชวงศ์  Habsburg ที่ปกครองสเปนในเวลาต่อมา  เธอได้ก้าวขึ้นมาเป็นราชินีแห่งกัสติยาแทนที่พระมารดาผู้ล่วงลับและทำให้สวามีได้กลายเป็นกษัตริย์ไปด้วย  แต่เป็นราชินีเพียงแต่ในนามเท่านั้น  เพราะหลังจากสมรสได้เพียงไม่นาน  อาการทางจิตเวชก็ทวีความรุนแรงขึ้น จนพระบิดาและสวามีลงความเห็นว่า  ราชินีJoanna ไม่สามารถทำหน้าที่ปกครองอาณาจักรได้


* เป็นดินแดนที่มีการปกครองตนเอง ต่อมาได้ถูกผนวกเข้ากับก่อตั้งราชอาณาจักรสเปน


ทั้งๆที่มีทายาทด้วยกันถึง6 คน (ทุกคนมีชีวิตจนถึงวัยผู้ใหญ่) แต่พฤติกรรมการนอกใจของสวามีผู้หล่อเหลาได้กลายมาเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้ราชินีเกิดพฤติกรรมจากอารมณ์แปรปรวน และมีข้อบ่งชี้ว่ามีอาการของโรคซึมเศร้า  ว่ากันว่าเธอจะตะโกนใส่สวามีด้วยความหึงหวงจน  ยามที่พระมารดาเจ็บป่วยหนัก ความตึงเครียดที่พุ่งสูงขึ้นทำให้เธอแสดงพฤติกรรมประท้วงเมื่อไม่ได้ดั่งใจ ทั้งกรีดร้องและกระแทกตัวกับผนัง    เสียงร่ำลือว่าเธอมีจิตวิปลาสเริ่มแพร่ไปทั่ว  มีความเชื่อว่า ทั้งพระบิดาและสวามีต่างฉวยโอกาสบั่นทอนอำนาจที่ได้รับสืบต่ออย่างชอบธรรมของราชินีด้วยการกันไม่ให้เธอยุ่งเกี่ยวกับการปกครองอาณาจักร    แต่เพียงไม่นานหลังจากกษัตริย์ Philip ได้รับอำนาจเป็นผู้ปกครองกัสติยาอย่างเต็มตัว ก็ต้องจากโลกนี้ไปอย่างกะทันหันด้วยอาการไข้สูง  

ฉายา "ราชินีผู้บ้าคลั่ง" ถูกกล่าวขานหนักขึ้นไป เมื่อมีเสียงร่ำลือว่า เธอวนเวียนไม่ห่างหีบศพของกษัตริย์ Philip รวมถึงการเดินทางรอนแรมเป็นระยะเวลาหลายเดือนเพื่อนำร่างสวามีไปทำพิธีฝังที่กรานาดาทั้งๆที่ตั้งครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 และยังมีเรื่องเล่าว่า เธอคอยเปิดหีบศพเพื่อจ้องมองร่างเน่าเปื่อยภายใน และทำให้มีคนเชื่อว่า ความรักที่เธอมีต่อสวามีจนถึงขั้นวิปลาสทำให้แสดงพฤติกรรมชวนสยองออกมา

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงแย้งออกมาว่า  พระบิดาของราชินีอาจจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปล่อยข่าวเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของเธอ  เพราะหลังจากนั้น  เขาก็ได้ประกาศตนเป็นผู้สำเร็จราชการทำหน้าที่ปกครองอาณาจักรแทนและส่งตัวเธอไปกักขังในอารามแม่ชีหลวงชั่วชีวิต  แม้โอรสองค์แรกจะได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไปพร้อมกับการเป็นกษัตริย์สเปน  ราชินี Joanna ก็ยังถูกกักกันให้ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว  แม้จะมีโอกาสได้อยู่ร่วมกับ Catalina พระธิดาคนเล็กอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่เมื่ออินฟันต้าเติบโตถึงวัยออกเรือนก็ต้องถูกแยกจากอยู่ดี

ในโลกที่ไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต   การถูกทรยศหักหลงจากคนในครอบครัว  ยิ่งถูกกักขังและทอดทิ้งโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีใครเข้าเยี่ยมนั้นก็ไม่ทำให้แปลกใจนักเมื่อมีรายงานว่า  อาการเจ็บป่วยทางจิตใจของราชินี Joanna ย่ำแย่ลงไปในอารามแม่ชีหลวง  แม้จะมีชีวิตถึง75 ปีซึ่งในยุคนั้นถือว่ายืนยาวเป็นอย่างยิ่ง  แต่ก็ต้องอยู่กับอาการหวาดระแวงว่าแม่ชีผู้ดูแลคือมือสังหาร ต้องทรมานทั้งจิตใจและร่างกายที่เสื่อมถอยลงไปเป็นระยะเวลาเนิ่นนาน     เมื่อจากไปแล้วก็ทิ้งคำถามให้กับคนุ่นหลังว่า สาเหตุที่เธอถูกตัดขาดจากโลกภายนอกและถูกเลือดเนื้อเชื้อไขต่างหมางเมิน  มีจุดเริ่มต้นมาจากโรคจิตเวชที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยสาว หรือถูกยัดเยียดให้เป็นราชินีจิตวิปลาส แล้วถูกคุมขังจนย่ำแย่ไร้ทางแก้กันแน่  ?


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE