อวดรวยอย่างมีสไตล์ดุจผู้ดียุค Victorian
candy 47 14ยุคสมัยอันยาวนานระหว่างการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินี Victoria ถูกยกให้เป็นช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองของกระเทศอังกฤษ ไม่เพียงแต่จะแผ่ขยายอำนาจด้วยการล่าอาณานิคมจนมั่งคั่ง แต่ยังมีการปฏิรูปทางสังคมหลายประการ ทั้งแนวคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ ศิลปวิทยาการหลากหลายแขนง
แต่คราวนี้เราขอเจาะ 'ศิลปะการอวดรวย'!
ชนชั้นสูงแห่งยุค Victorian จะมีวิธีใดเพื่อแสดงรสนิยมอันเลิศหรู มาติดตามกันได้เลย
สับปะรดคือสัญลักษณ์แห่งความร่ำรวยมานับศตวรรษ หากเงินไม่ถึง ก็ต้องเช่าเพื่อสัมผัสความแพง
พวกเราเคยได้ยินเรื่องการเช่ากระเป๋าแบรนด์เนม เครื่องประดับเพชรพลอย เช่ารถหรู หรือแม้กระทั่งเช่าเงินสดวางสินสอด แต่สำหรับยุโรปโบราณ ผลไม้จากเมืองร้อนที่ส่งกลิ่นหอมหวานได้กลายมาเป็นไอเท็มเลอค่า มีเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้นที่ส่งบริวารมาซื้อหาเพื่อนำไปประดับโต๊ะในงานเลี้ยงเพื่อแสดงความล่ำซำ ส่วนคนที่ไม่มีเงินมากพอ แต่อยากสัมผัสความรู้สึกที่ถูกจ้องมองด้วยความอิจฉา พ่อค้าก็มีบริการ 'สับปะรดให้เช่า' เพียงแค่หิ้วสับปะรดเดินไปไหนมาไหน ก็อาจจะเหมือนกับหิ้วกระเป๋าหรูในยุคนี้!
ความคลั่งไคล้สับประรดไม่ได้มีจุดเริ่มต้นในยุค Victorian แต่ทำให้ชนชั้นสูงในยุโรปต้องอัศจรรย์ใจมาเป็นร้อยๆปีก่อนหน้า ในฝรั่งเศสก็มีผู้ยกย่องให้มันเป็นราชาแห่งผลไม้ แต่ชื่อเสียงของมันก็ไม่ได้ระบือไกลไปทุกหย่อมหญ้า เพราะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะเคยได้เห็นสับปะรดด้วยตาตัวเอง เรียกได้ว่าต้อง exclusive จริงๆถึงจะรับอภิสิทธิ์นี้ ในศตวรรษที่ 17 ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อพระเจ้าCharles ที่2 ได้ใช้สับปะรดมาเป็นเครื่องมือเพื่อเอาชนะข้อโต้แย้งทางการทูต หลังจากฝรั่งเศสส่งตัวแทนมาเจรจาเพื่ออ้างสิทธิ์ในเกาะ Saint Kitts พระองค์จึงสั่งข้ารับใช้ให้ยกสับปะรดที่สั่งตรงมาจาก Barbados มาเสวยโชว์ทูตฝรั่งเศสเพื่อประกาศศักดาโดยไม่ต้องบรรยายออกมาเป็นคำพูดว่า "เราหาสับปะรดมากินได้ แต่ท่านทำไม่ได้" กษัตริย์อังกฤษพระองค์นี้ทรงปลาบปลื้มสับปะรดมากถึงขั้นที่เรียกตัวจิตรกรมาวาดภาพนักพฤกษศาตร์ประจำพระราชวังกำลังถวายผลไม้หลายตาให้กับพระองค์ที่กำลังโพสอย่างภาคภูมิใจ จะเรียกว่าเป็น plant selfie แห่งศตวรรษที่ 17 ก็คงไม่ผิด
จากรูปร่างลักษณะของมันทำให้นึกถึงมงกุฏทองคำอันเป็นสัญลักษณ์แห่งเทวสิทธิ์ของกษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดิน จากนั้นเป็นต้นมา จึงมีการใช้โวหารเปรียบเทียบสับปะรดกับคุณภาพอันเลอเลิศ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดก็ตาม
แน่นอนว่า trendsetterในยุคประวัติศาสตร์ก็หนีไม่พ้นเจ้าแผ่นดินผู้สูงศักดิ์ เหล่าชนชั้นสูงย่อมโหยหาอยากครอบครองมันเช่นเดียวกัน แนวคิดที่ว่า สับปะรดคือตัวแทนแห่งความเลิศเลอสูงค่าดุจเชื้อพระวงศ์ถูกส่งต่อมายังยุค Victoria การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเดินเรือที่ทำให้อังกฤษผงาดขึ้นเรืองอำนาจในฐานะประเทศเจ้าอาณานิคมทำให้สับปะรดไม่ใช่ผลไม้ลึกลับอีกต่อไป แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่สามัญชนเอื้อมถึง สำหรับผู้คนมากมายในยุคโมเดิร์น เสน่ห์สำคัญของสับปะรดคือรสชาติเปรี้ยวหวาน สีสันสวยงาม และกลิ่นหอมดึงดูดใจที่สามารถนำไปประกอบอาหารได้ทั้งคาว-หวาน แต่หากเป็นผู้ดียุค Victorian สับปะรดทำหน้าที่ไม่ต่างจากดอกไม้ประดับโต๊ะ มันจะถูกนำมาเวียนใช้ในงานเลี้ยงซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อเน่าเสียแล้วก็ถูกทิ้งไป ใขณะที่ผลไม้ชนิดอื่นที่วางอยู่รายล้อมเป็นตัวประกอบนั้นถูกกินตามปกติ
หากถามหามูลค่าของมัน บอกได้เลยว่าชนชั้นกลางก็ยังเอื้อมไม่ถึง มันแพงมากซะจนต้องมีผู้จ้างเวรยามคอยดูแล หนือแม้กระทั่งสาวใช้ที่ได้รับมอบหมายให้มาซื้อสับปะรดก็ต้องระมัดระวังตัวอย่างสูง เพราะพวกเธออาจจะถูกปล้นสับปะรดระหว่างทาง! ยืนยันได้จากคดีในต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อหัวขโมยถูกลงโทษด้วยเนรเทศไปออสเตรเลียถึง7ปี เพราะขโมยสับปะรด 7ผล
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อพิสูจน์แล้วว่า นี่คือผลไม้ที่แสงสถานะสูงส่งในสังคม ก็เริ่มมีคนหัวไวผลิตสินค้าต่างๆที่มีรูปร่างเหมือนสับปะรด เช่น กาน้ำชา เหยือกน้ำ รวมไปถึงภาพวาด เพื่อตอกย้ำให้แขกเหรื่อได้ประจักษ์อย่างแท้จริงว่า เจ้าของบ้านจัดเต็มความสับปะรดมากแค่ไหน และยังปรากฏดีไซน์สับปะรดกตามสถาปัตยกรรมเก่าแก่ในอังกฤษบางแห่งจนทุกวันนี้
สับปะรดครองความเป็นsuperstar ได้อีกไม่นานนัก หลังจากเรือจักรไอน้ำได้ลำเลียงผลไม้จากดินแดนอาณานิคมเข้ามายังอังกฤษได้ทีละมากๆ จากที่เคยมีราคาแพงจนแทบไม่กล้าจะเอาเข้าปาก สับปะรดก็กลายเป็นสินค้าเข้าถึงง่าย แม้แต่ชนชั้นแรงงานก็ซื้อมากินกันได้สบายกระเป๋า แน่นอนว่า บรรดาผู้ดีจะต้องเสาะหาไอเท็มอื่นมาเห่กันต่อไป
ซุปเต่า เมนูสุดเทรนดี้ที่ต้องนำเข้าถึงแพงเท่าใดก็มีคนทุ่มจ่าย ทำเอาประชากรเต่าทะเลหดหาย
หากพูดถึงเมนูในงานเลี้ยงผู้ดียุค Victoria ที่เสิร์ฟกันอลังการ 4-14 คอร์ส เชื่อว่าหลายคนคงน้ำลายไหล นี่คือช่วงเวลาแห่งการลิ้มลองรสชาติแปลกใหม่จากต่างแดน โดยเฉพาะเครื่องเทศที่ช่วงศตวรรษก่อนนั้นมีค่าซะยิ่งกว่าทอง แต่เมื่อยึดครองอินเดียมาเป็นอาณานิคมได้สำเร็จ ด้วยรสชาติของเครื่องเทศและเครื่องปรุงสุดexotic ก็ได้เพิ่มความหลากหลายให้กับอาหารของชนชั้นสูงให้หลากหลาย เชฟได้นำอาหารดั้งเดิมมาประยุกต์ด้วยความคิดสร้างสรรค์
ตัวอย่าง
Mulligatawny Soup ซุปไก่ปรุงรสด้วยเครื่องเทศอินเดีย
Roast Capon ไก่ตอนยัดไส้เนื้อบดหมักสมุนไพร,เครื่องเทศ และทรัฟเฟิล ทาเนยแล้วอบให้เหลืองอร่าม
Curried Lobster with Rice ล็อบสเตอร์ปรุงด้วยเนยและเครื่องเทศ ผัดในกะทิและครีม เหยาะน้ำมะนาว
Fricandeau of veal with spinach a gravy of brandy and sherry เนื้อลูกวัวอบราดเกรวีที่เคี่ยวจากบรั่นดีและ cherry
เมื่อลองค้นหาภาพเมนูเหล่านี้ ขอบอกเลยว่าท้องร้องเบาๆ
ทว่า ไม่เพียงจะรับเอาการปรุงรสชาติแบบใหม่มาเท่านั้น แต่ยังรับเอาเนื้อสัตว์ที่ฟังแล้วอาจจะทำให้คุณสะดุ้ง
เต่าทะเลสีเขียวจาก Caribbean กลายมาเป็นอาหารโอชะให้กับชนชั้นสูงยุค Victorian กินกันซะจนประชากรเต่าลดฮวบเลยทีเดียว
ตัวอย่าง
Mulligatawny Soup ซุปไก่ปรุงรสด้วยเครื่องเทศอินเดีย
Roast Capon ไก่ตอนยัดไส้เนื้อบดหมักสมุนไพร,เครื่องเทศ และทรัฟเฟิล ทาเนยแล้วอบให้เหลืองอร่าม
Curried Lobster with Rice ล็อบสเตอร์ปรุงด้วยเนยและเครื่องเทศ ผัดในกะทิและครีม เหยาะน้ำมะนาว
Fricandeau of veal with spinach a gravy of brandy and sherry เนื้อลูกวัวอบราดเกรวีที่เคี่ยวจากบรั่นดีและ cherry
เมื่อลองค้นหาภาพเมนูเหล่านี้ ขอบอกเลยว่าท้องร้องเบาๆ
ทว่า ไม่เพียงจะรับเอาการปรุงรสชาติแบบใหม่มาเท่านั้น แต่ยังรับเอาเนื้อสัตว์ที่ฟังแล้วอาจจะทำให้คุณสะดุ้ง
เต่าทะเลสีเขียวจาก Caribbean กลายมาเป็นอาหารโอชะให้กับชนชั้นสูงยุค Victorian กินกันซะจนประชากรเต่าลดฮวบเลยทีเดียว
ว่ากันว่ารสชาติอของซุปเต่าอร่อยซะจนเป็นอาหารที่ถูกกำหนดให้ขึ้นโต๊ะในงานเลี้ยงคริสต์มาสในพระราชวัง แต่ก็มีการวิเคราะห์ว่า สาเหตุของความนิยมเนื้อเต่านั้นอาจจะไม่ต่างกับกระแสความคลั่งไคล้สับปะรด เพราะนี่คือรสชาติที่มีเพียงชนชั้นสูงฐานะมั่งคั่งเท่านั้นที่จะได้ลองลิ้มชิมรส หากเปิดเผยในแวดวงสังคมผู้ดีด้วยกันว่าไม่เคยกินซุปเต่า ก็อาจจะถูกพิพากษาว่าตกเทรนด์หรือถูกมองว่าเป็นพวกสังคมไม่ยอมรับ เพราะผู้ที่มีสถานะสูงในสังคมย่อมได้รับการเชื้อเชิญไปยังงานเลี้ยงยิ่งใหญ่อลังการที่เสิร์ฟเมนูนี้อยู่แล้ว หรือถ้ามีฐานะทางการเงินระดับมหาเศรษฐี ก็ย่อมเคยสั่งเต่าทะเลกองเป็นภูเขาเลากามาจัดงานเลี้ยงโชว์ความล่ำซำ
สำหรับผู้คนยุคโมเดิร์นที่เห็นเต่าทะเลเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่ควรค่ารักษาไม่ให้สุญหายไปจากโลกก็อาจจะช็อค คุณอาจจะอึ้งไปกว่าเดิมเมื่อได้รู้ว่า เรือได้บรรทุกเต่าที่ยังมีชีวิตจาก Caribbean ด้วยการขังพวกมันในอ่างขนาดใหญ่ เต่าหลายร้อยตันจะถูกลำเลียงไปยังอังกฤษและประเทศอื่นในยุโรปเพื่อแปรสภาพเป็นอาหารที่แสดงความศิวิไลซ์
เจ้าของงานเลี้ยงจะต้องเกณฑ์คนงานมาช่วยชำแหละเต่าและปรุงรสในรูปแบบสตูว์ ยิ่งสร้างความประทับใจให้กับแขกเหรือไฮโซ ความนิยมก็ยิ่งพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เต่าเป็นๆนับหมื่นตัวถูกบรรทุกมาส่งที่อังกฤษ และในที่สุดก็ยากจะจับมันมาทำอาหารได้อีก จากที่แพงมากอยู่แล้ว ราคายิ่งกระโดดไปไกล แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนใจป้ำกล้าทุ่มสั่งเต่ามาขึ้นโต๊ะดินเนอร์ในโอกาสสุดพิเศษ
Isabella Beeton (นักเขียนที่ได้ชื่อว่าเป็น Martha Stewart แห่งยุค Victorian เป็นที่รู้จักในชื่อมิสซิส Beeton) ได้บรรยายไว้ว่า นี่คือซุปที่แพงที่สุดในบรรดาซุปที่ถูกเสิร์ฟขึ้นโต๊ะอาหาร ฮิตกันมากจนนักประพันธ์นิยายเด็ก Lewis Carroll ได้ใส่เนื้อเพลงชื่นชมความอร่อยและความสวยงามของซุปเต่าทะเลลงไปในหนังสือ Alice's Adventures in Wonderland ตัวละครที่ร้องเพลงนี้คือเต่าตัวปลอมที่มีแรงบันดาลใจสร้างจากซุปที่เลียนแบบซุปเต่านั่นเอง
เทรนด์ซุปเต่าค่อยๆจางหายไป เพราะจำนวนเต่าที่ถูกล่าจนแทบจะจับไม่ได้อีก ซึ่งจริงๆแล้ว ในช่วงที่ซุปเต่ากำลังโด่งดังในแวดวงคนรวย ก็มีผู้คิดสูตรซุปเลียนแบบซุปเต่ามาทดแทน โดยเลือกเนื้อสัตว์และเครื่องในที่หาได้ง่ายและมีราคาย่อมเยากว่ามาก ผลตอบรับของมันก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่แต่อย่างใด เพราะเมื่อชิมกันแล้วก็ติดใจรสชาติกันถ้วนหน้า กลายเป็นว่า บางครั้ง ในงานเลี้ยงของชนชั้นสูงก็เสิร์ฟทั้งซุปเต่าและซุปเต่าเทียมประชันกันซะด้วยซ้ำ
แสดงฐานะสุดไฮโซด้วยร่ม
เมื่อเรานึกถึง costume ของเหล่าเลดี้ในยุโรปยุคประวัติศาสตร์ ร่มเล็กๆที่ดูบอบบางและประดับประดาอย่างสวยงามเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลย มันคือaccessory ที่ถูกหยิบมาใช้ไม่ต่างจากผ้าพันคอหรือหมวกใบเก๋ นอกเหนือจากนั้นยังมีความสำคัญต่อสถานะผู้ดี เนื่องจากผิวพรรณที่ขาวราวกับจะมองทะลุได้ถูกยกให้เป็นความงามที่ไม่ว่าใครก็ปรารถนา แม้แต่การถูกเปรียบเทียบว่า ขาวซีดราวกับไร้ชีวิต ก็อาจจะถูกมองเป็นคำชม ยิ่งขาวเท่าใด ก็ยิ่งดูสูงส่ง ผู้คนมองว่านี่คือสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ บอบบาง แสดงถึงพื้นเพที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม แดดไม่ให้เจอ แตกต่างจากสตรีชนชั้นแรงงานที่ต้องใช้แรงงานกลางแจ้งเพื่อหาเลี้ยงปากท้องจนผิวคล้ำแดด
ร่มที่ไม่ได้มีไว้เพื่อกันฝน สะท้อนความแตกต่างทางชนชั้นอย่างชัดเจน
สภาพอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ในอังกฤษมักเป็น topic ให้ผู้คนบ่นกันด้วยความหัวเสียมาช้านาน แต่สำหรับผู้ดี ฝนจะตก ลมจะแรงเพียงใดก็ไม่รู้สึกหวั่นใจ แม้จะมีแค่แค่ถือร่มอันเล็กๆปกป้องผิวพรรณจากแสงแดด เพราะพวกเธอรวยพอที่จะเดินทางด้วยรถม้าส่วนตัวพร้อมคนติดตามคอยดูแลยามเดินทางออกไปข้างนอก ในขณะที่ชาวบ้านต้องเปียกปอนหรืออาศัยหลบใต้ร่มคันใหญ่ด้วยกัน
สตรีชนชั้นสูงจะมีร่มกันแดดหลายคัน จากอุปกรณ์ในยุคก่อนที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ร่มพวกนี้มีระยะเวลาการใช้งานที่ไม่นานนัก นำออกมาใช้ไม่กี่ครั้งก็พัง ทั้งผ้าร่มที่ฉีกขาดและซี่ที่หักงอได้ง่าย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนรวย พวกเธอสั่งซื้อใหม่ได้แบบไม่เสียดาย และยังกลายมาเป็นของกำนัลที่ถูกใจคุณผู้หญิง หลายคนสะสมร่มไว้เพื่อเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมกับโอกาส โดยเฉพาะการแมทช์สีและดีไซน์ของร่มกับชุดสวยเริ่ด ดังที่คุณพบได้ตามภาพวาดสาวงามในสมัย Victorian
ชื่อเสียงเลื่องลือของร่มกันแดดในยุคนี้ต้องยกให้ร่มของสมเด็จพระราชินี Victoria หลังจากมีผู้ปองร้ายพยายามลอบปลงพระชนม์หลายครั้ง พระองค์จึงเลือกใช้ร่มที่ดีไซน์ด้วยเกราะป้องกันจากห่วงโซ่เล็กที่ร้อยตัวซ่อนภายใต้ผ้าไหม ในซีรีส์ Victoria ที่ฉายทาง ITV ก็ได้ใส่ฉากเจ้าชาย Albert มอบร่มกันกระสุนให้พระราชินีด้วยความห่วงใยไว้ด้วย
The Afternoon Tea
เมื่อไม่นานมานี้ เราได้ยินคำถามว่า งานเลี้ยงน้ำชายามบ่ายแบบดั้งเดิมของชนชั้นสูงอังกฤษนั้นจะมีบรรยากาศคล้ายกับบรรยากาศ tearoom ของโรงแรมห้าดาวใน London มากแค่ไหน? จะเสิร์ฟแชมเปญเหมือนในยุคปัจจุบันรึเปล่า?
ชนชั้นสูงยุคVictorian เรียกการสังสรรค์อย่างใกล้ชิดสนิทสนมในงานเลี้ยงน้ำชาว่า tête-à-tête ศัพท์ฝรั่งเศสที่แปลตรงคำได้ว่าหัวชนหัว แต่มีความหมายว่าบทสนทนาส่วนตัวระหว่างคนสนิทหรือคนรักที่พูดคุยจู๋จี๋กัน จวบจนปัจจุบันนี้ โรงแรมหลายแห่งก็ยังใช้ศัพท์ tête-à-tête นำเสนอบริการชุดชายามบ่ายสุดหรูที่มาพร้อมกับขนมหลากชนิดวางเรียงรายบนชั้น รวมถึงบริกรที่คอยดูแลอย่างสุภาพ แต่ก็ไม่ตรงกับงานเลี้ยงน้ำชาสไตล์ Victorian ซะทีเดียว
แน่นอนว่าวันเวลาที่หมุนผ่านไปนับศตวรรษ รูปแบบของการจิบน้ำชายามบ่ายย่อมแปรเปลี่ยน ในยุค Victorian นี่ไม่ใช่จุดขายดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว หรือกลุ่มคนที่ต้องการเลี้ยงฉลองในวาระพิเศษ แต่เป็นการสังสรรค์อย่างไม่เป็นทางการของเหล่าเลดี้ผู้สูงศักดิ์ แต่มันสื่อถึงความร่ำรวยได้เช่นไรนะ?
Anna ดัชเชสแห่ง Bedfordหนึ่งในนางสนองพระโอษฐ์และพระสหายสนิทของสมเด็จพระราชินี Victoria คือผู้จุดประกายไอเดียงานสังสรรค์ที่ถูกยกให้เป็นประเพณีสืบทอดจนโด่งดังไปทั่วโลก ด้วยธรรมเนียมดั้งเดิมที่เหล่าผู้ดีต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด นั่นคือ ตารางเวลาการเสิร์ฟอาหารเย็นราวๆสองทุ่ม สำหรับหลายคนที่เข้านอนแต่หัวค่ำแล้ว ฟังดูเป็นอาหารที่เกือบจะเรียกว่ามื้อดึก เมื่อต้องรอการตระเตรียมอาหารจนมืดค่ำ ความหิวที่เข้ามารบกวนก็ทำให้ดัชเชสร้องขอให้บริวารจัดเตรียมอาหารว่างเบาๆ อย่าง น้ำชา ขนมปังทาเนย แซนด์วิช หรือเค้กมาช่วยดับเสียงท้องร้อง เมื่อเอนจอยกับอาหารที่ประทังความหิวก่อนมื้อดินเนอร์บ่อยเข้าก็ปิ๊งไอเดียสร้างอีเวนท์แบบไม่เป็นทางการ เธอเชื้อเชิญเพื่อนฝูงให้มาร่วมจิบชาและกินของว่างแสนอร่อยถึงห้องแต่งตัว และมันกลายมาเป็นกิจกรรมยอดฮิตในแวดวงชนชั้นสูงในเวลารวดเร็ว นั่นยังรวมถึงสมเด็จพระราชินี Victoria ที่ได้จัดงานเลี้ยงน้ำชายามบ่ายขึ้นบ่อยครั้ง
จากที่เคยเป็นอีเวนท์เล็กๆที่ใช้เป็นสถานที่ให้สตรีชั้นสูงได้เม้ามอยแลกเปลี่ยนข่าวสารในห้องส่วนตัว ก็กลายมาเป็นงานเลี้ยงขนาดใหญ่ที่อาจเชิญแขกมาร่วมงานนับร้อย และสามารถพบปะเพื่อเจรจาสร้างผลประโยชน์กับคนใหญ่คนโต หรือนักธุรกิจ ธรรมเนียมการดื่มชาจึงดูเป็นทางการขึ้น สุภาพสตรีต้องเปลี่ยนเป็นชุดสวยหรูสำหรับงานเลี้ยงน้ำชาโดยเฉพาะ ชุดที่ได้รับความนิยม คือชุดที่ดูสวมใส่สบายจากดีไซน์ผูกเอวหรือทบกัน เปิดโอกาสให้ผู้หญิงปลดปล่อยร่างกายจากการบีบรัดของ corset แม้จะมีผู้หญิงที่ใส่ corset มาร่วมงานเลี้ยงน้ำชาอยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย ไฮไลท์สำคัญคือ เมื่อถึงเวลาดินเนอร์ พวกเธอก็ต้องเปลี่ยนชุดสวยหรูจัดเต็มให้ตรงตามธรรมเนียมผู้ดีอีกครั้ง แม้จะมียศถาบรรดาศักดิ์สูงและฐานะร่ำรวยจนดูเหมือนจะใช้ชีวิตสบายๆไปได้ทั้งชาติโดยไม่ต้องทำงานให้เหนื่อยตัว แต่ตารางงานสังคมที่รัดตัวนั้นดูไม่ใช่เรื่องง่ายดายแต่อย่างใด
ว่ากันว่า สำหรับสตรีชั้นสูงที่กว้างขวาง จะตอบรับคำเชิญเข้าร่วมงานเลี้ยงน้ำชายามบ่ายหลายงานในวันเดียว เนื่องจากเป็นยุคสมัยที่คลั่งไคล้ความผอมบางก็จำเป็นต้องควบคุมตัวเองด้วยการชิมของว่างเพียงเล็กน้อยๆ และเน้นหนักที่การดื่มชา ยิ่ง popular ก็ต้องดื่มมากจนมีผลกระทบเป็นอาการตื่นตัวจนนอนไม่หลับ
แม้จะนำเข้าชาจากจีนและอินเดียมานาน แต่ก็ยังถือว่าเป็นสินค้าราคาสูงที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้มีอันจะกิน ส่วนชนชั้นแรงงานที่พอจะรวบรวมเงินได้ก็จะซื้อหาชาราคาถูกมาดื่มทั้งระหว่างการทำงานและกลับไปที่บ้าน แม้จะไม่ได้มีฐานะร่ำรวย แต่ก็สามารถเอนจอยกับชาที่ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย ทั้งยังกระตุ้นให้กระปรี้กระเปร่าระหว่างทำงาน โดยไม่ต้องอาศัยพิธีรีตองหรือมีข้ารับใช้คอยบริการไม่ห่าง แต่สำหรับผู้ดีแล้ว ไม่เพียงจะให้ความสำคัญกับการแสดงกิริยามารยาทให้เป๊ะเท่านั้น แต่วิธีการดื่มชายังถูกจับมาเป็นสัญลักษณ์แห่งชนชั้น หากไม่ทำตามธรรมเนียมผู้ดีก็อาจจะถูกเหยียดหยาม อย่างเทรนด์การชงชาด้วยการผสมนมในน้ำร้อนก่อนจะใส่ใบชาที่ชนชั้นแรงงานนิยมเพราะไม่ต้องการรสชาติชาที่เข้มเกินไป ด้วยความที่ชาราคาถูก ก็จะมีรสชาติขมกว่าชารสละมุนที่ผู้ดีนิยมจึงหันมาใส่นมและน้ำตาลเพื่อทำให้รสชาติอ่อนลงจนถูกปาก ก็เคยถูกชนชั้นสูงเย้ยหยันว่าเป็นพวก MIF หรือ Miffy (milk in first) และใช้คำ slang นี้เปรียบเทียบกับความต่ำต้อยด้อยค่า
(แม้ปัจจุบันผู้คนจะไม่คอยพิพากษาผู้อื่นจากวิธีดื่มชาที่แตกต่างกันแล้ว แต่ก็ยังมีการถกเถียงว่า milk in first หรือ tea in first ที่ดีกว่ากัน)