เจาะเบื้องหลังความปังของอุตสาหกรรมหนังอินเดีย

30 14


เมื่อกล่าวถึงผลงานหนังอินเดีย  ผู้ชมจำนวนมากมายอาจจะยึดติดกับเอกลักษณ์ความเมโล่ดราม่า  ไม่ว่าจะเป็นฉากรัวช็อทสีหน้าอันตื่นตะลึงของนักแสดงในฉากที่มีญาติโกโหติกากองรวมกันนับโหลและต้องได้ซีนถลึงตากันถ้วนหน้า  หรือจะเป็นฉากเต้นข้ามน้ำข้ามภูเขาข้ามทุ่งหญ้าหลายเอเคอร์   รวมถึง meme  ความเล่นใหญ่และพล็อทอัศจรรย์พันลึกที่สร้างเสียงฮาได้เสมอ     และหลายครั้งสิ่งเหล่านั้นทำให้แฟนหนังละครมองข้ามหนังละครจากแดนภารตะไป 


และแม้ความสำเร็จของวงการ  Bollywood จะเลื่องชื่อลือชา มีมูลค่าพุ่งทะยานนับแสนล้าน(บาท)    จากจำนวนประชากรเกินพันล้านในประเทศก็ทำให้มีผู้มองว่า นี่คือข้อได้เปรียบในการสร้างรายได้มหาศาล    แต่ในประเทศเรา ก็ยังถือว่านี่คือผลงานความบันเทิงที่มีแฟนๆติดตามแบบเฉพาะกลุ่ม  

อย่างไรก็ตาม หนังอินเดียคุณภาพได้สร้างชื่อเสียงให้คอหนังนานาชาติประจักษ์มายาวนานหลายทศวรรษ เค้าสร้างหนัง Bollywood ให้ปังได้อย่างไร มาติดตามกันได้เลยค่ะ


กระแสอันร้อนแรงของ Gangubai Kathiawadi  ทำให้แฟนหนังบ้านเราต้องทึ่งกับภาพอันมีเสน่ห์ของย่านโคมแดงแห่งมุมไบรวมถึงบทคมกริบที่่เชือดเฉือนเรื่องสิทธิของ sex workers คนชายขอบที่ถูกเหยียดหยันและถือเป็นเรื่องต้องห้ามของสังคม    ความสนุกสนานของหนังคุณภาพเรื่องนี้ทำให้หลายคนออกปากว่า ต้องเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับหนังอินเดียซะใหม่   จากเดิมที่เชื่อว่าเชิดชูจุดเด่นเฉพาะการเต้นและ acting เล่นใหญ่  ก็มาค้นพบว่า มีอะไรที่คาดไม่ถึงรออยู่อีกมากมาย  ซึ่งคอหนังอินเดียหลายคนได้ออกมายืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า   อุตสาหกรรม  Bollywood ก้าวไปไกลกว่าที่พวกเราคาดคิดกันมานานแล้ว


สตูดิโอทุ่มเงินทุนสูงลิบลิ่วเพื่อเนรมิตโพรเจ็คท์หนังระดับยักษ์ใหญ่


ภาพเบื้องหลังการสร้างตึกรามบ้านช่องย่านกามธิปุระอันเป็นสถานที่ทำมาหากินของกังกูไบอาจจะทำให้แฟนหนังต้องทึ่งถึงการทุ่มทุนเพื่อนำเสนอภาพที่โน้มน้าวใจผู้ชมให้คล้อยตามไปกับฉากพีเรียดในยุค 50s    แต่นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของอุตสาหกรรมหนังอินเดียแต่อย่างใด  

เมื่อไล่เรียงสถิติรายได้ของหนังทำเงินสูงสุดในประเทศอินเดีย  20  อันดับแรก   มีเพียง Avengers: Endgame  เท่านั้นที่ฝ่าแนวล้อมของหนังอินเดียเข้าไปในอันดันดับที่ 8    หรือเอาเข้าจริง  มีหนัง  Hollywood เพียงน้อยเรื่องที่จะสร้างรายได้สูสีกับหนังฟอร์มยักษ์สัญชาติอินเดีย   โดยที่หนังทำรายได้สูงอันดับหนึ่ง ยังเป็นหนัง action fantasy  Baahubali 2: The Conclusion  ที่กวาดรายได้ไปถึง $240 ล้าน (8,336,400,000บาท)  และสร้างรายได้นอกประเทศไปอีก$44ล้าน  (1,528,560,000บาท)     หากนักลงทุนจะทุ่มเต็มที่เพื่อสร้างหนังที่ดูยิ่งใหญ่อลังการเพื่อดึงดูดความสนใจจากแฟนๆก็ไม่สร้างความแปลกใจแต่อย่างใด

หนังอินเดียไม่ได้มีแต่แนว romance หรือ musical เต้นกันสุดชีวิต

หากคุณคิดว่า หนังอินเดียที่กวาดรายได้ล้นหลามจะมีแต่แนว action  กระหน่ำ CG  และตัวประกอบนับร้อยนับพัน แต่จากความสำเร็จของ Dangal   หนังชีวประวัติของครอบครัวนักมวยปล้ำที่มุ่งมั่นฝึกฝนลูกสาวนักมวยปล้ำหญิงในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดปิตาธิปไตยจนประสบความสำเร็จจนสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงอินเดียฝึกมวยปล้ำ      แม้รายได้ในประเทศจะอยู่ในลำดับหก ยังห่างไกลจากหนัง action ระดับตำนานอย่าง Baahubali   แต่กวาดรายได้ทั่วโลกไปถึงราวๆ $340 ล้าน (โดยเฉพาะในจีนก็ทำรายได้ถึง $216.2 ล้าน เข้าไปแล้ว)  นี่คือหลักฐานยืนยันว่า แม้จะไม่ใช่หนังที่นำเสนอความตระการตาด้วยทุนสร้างระดับร้อยล้าน   แต่ก็ประสบความสำเร็จถล่มทลายได้เช่นกัน

หากหยิบประเด็นหนังอินเดียมาคุยกับเพื่อนฝูงครอบครัวเมื่อไร พวกเรามักจะหัวเราะคิกคักกับฉากพระเอกนางเอกจีบกันด้วยการเต้นกระจาย แต่วงการหนังบ้านเค้าหลากหลายไม่แพ้ประเทศอื่น เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมอินเดียที่โด่งดังไปทั่วโลกเรื่องจิตวิญญาณและความเชื่อที่ลึกลับจนดึงดูดให้ผู้คนรอบโลกให้เดินทางเข้ามาสัมผัส   แม้ภาพของผู้คนมักติดภาพความฉูดฉาดของ Bollywood จากหนัง rom-com  แต่ฝั่ง horror นั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศอันมืดหม่น พล็อทหลากหลายจากตำนานและคำสาปที่พร้อมจะเขย่าขวัญผู้ชม 


3 Idiots  หนังเสียดสีระบบการศึกษาของอินเดียด้วยอารมณ์ขันร้ายกาจ  ผู้ชมอาจจะดูไปด้วยความสับสนว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้ดี  เชื่อว่านี่คือหนังที่น่าสนใจที่เหมาะเหม็งกับมือใหม่ที่เพิ่งติดตามหนังอินเดีย รวมถึงคนที่ยังมีอคติกับภาพเดิมๆว่า หนังอินเดียดูเฉิ่มเชยไม่แสดงด้านแบบ 'หัวก้าวหน้า'    บ้างก็เปรียบว่านี่เป็นการตบหน้าผู้ประกอบสัมมาชีพในแวดวงการศึกษาจนแก้มชา นี่คือผลงานที่ผลักดันให้สังคมอินเดียที่ยึดมั่นกับการแข่งขันเรียนอย่างคร่ำเคร่งที่สุดให้เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า พวกเราเรียนไปแล้วได้อะไรกลับมา  หนังได้สร้างเสียงถกเถียงอื้ออึงว่า ถึงเวลาจะต้องปฏิรูประบบการศึกษาของอินเดียแล้วหรือยัง?   มีคำแนะนำให้บรรดาผู้ปกครองชมหนังเรื่องนี้กับบุตรหลาน โดยเฉพาะผู้ที่เชิดชูผู้รักษาระเบียบวินัยในการเรียนและทุ่มเทเกินร้อยเพื่อไขว่คว้าคะแนนระดับท็อปด้วยการยึดติดค่านิยมว่า ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องมีอาชีพวิศวกรหรือแพทย์ที่ฟังดูน่าดึงดูดใจให้มีตัวเลือกคู่ครองดีๆได้ จนต้องกดดันให้เด็กๆเรียนกันเป็นบ้าเป็นหลัง อันเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหา mental healthและอัตราฆ่าตัวตายในอินเดีย     ฟังแล้วเป็นปัญหาที่หนักอึ้ง และบอกเล่าผ่านมุมมองของ comedy  โดยที่ยังรักษาฉากเต้นสนุกสนานไว้อย่างเหนียวแน่น แต่ก็ไม่กระทบต่อแก่นของหนังแต่อย่างใด





note ไว้อีกอย่างก็คือ ประเทศอินเดียมีบทประพันธ์โดดเด่นจำนวนมากที่เป็นต้นแบบของหนังดัง ไม่ต่างจากวงการหนังที่มีชื่อเสียงจากประเทศอื่น มีทั้งหนังสือที่ขึ้นหิ้งอายุเกินร้อยปีที่ถูกนำมาสร้างหนังซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่าง Devdas( ประพันธ์โดย Sarat Chandra Chattopadhyay), 3 idiot สร้างจาก Five Point Someone: What not to do at IIT (ผู้เขียนคือ Chetan Bhagat) และหนังรางวัล Oscar Slumdog Millionaire ดัดแปลงมาจาก Q & A (ผลงานของ Vikas Swarup)\

นอกจากนั้น ยังมีการดัดแปลงบทประพันธ์สุดคลาสสิคจากตะวันตกมาตีความในรูปแบบหนังอินเดีย เพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้ผู้ชมกันอย่างเต็มที่ เราจะได้เห็นหนัง romance ที่สร้างจากนิยายดังของ Jane Austen แบบเต้นกันสะโพกสั่นไหว รวมถึงผลงานของ Shakespeareก็กลายมาเป็นต้นแบบของหนังอินเดียมาเป็นสิบครั้ง


หนังอินเดียมาพร้อมกับหลัก  freedom of speech



ในขณะทั่วโลกได้จับตามองเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกวรรณะ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ คนชายขอบที่ถูกเหยียบย่ำจนไม่สามารถลืมตาอ้าปาก รวมถึงอัตราอาชญากรรมรุนแรงที่หัวหน้าพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดียก็ยังชี้ว่า โลกมองประเทศของพวกเค้าเป็นนครแห่งการข่มขืน ประชาชนไม่ได้จำยอมต่อชะตากรรมที่แลวร้ายอีกต่อไป พวกเค้าหันมาร่วมใจกันประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิในการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


แม้วงการ Bollywood จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นศูนย์รวมของอภิสิทธิ์ชน  ดาราหลายคนมีพื้นเพผู้มีอันจะกิน ยากจะเข้าใจถึงชีวิตอันทุกข์ทน ไม่เคยต้องต้องดิ้นรนเพื่อหนีพ้นจากความยากลำบาก     อย่างไรก็ตาม พวกเค้าเหล่านั้นได้ใช้สถานะคนดังที่ได้รับความชื่นชมจากแฟนๆแสดงความเห็นทาง political  โดยไม่กังวลว่าจะเสื่อมความนิยม    นางเอกระดับsuperstar หลายคนประกาศสนับสนุนสิทธิสตรี ต่อต้านความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมอินเดีย    ส่วนนักสร้างหนังก็ไม่ลังเลที่จะผลิตผลงานที่จุดประกายพลังหญิงออกมามากมาย   แม้แต่เคสฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงโดยไม่ต้องหวั่นเกรงว่า จะมีผู้ใช้อิทธิพลมืดกีดกันไม่ให้พวกเค้าตีแผ่ความอยุติธรรม

ไม่ต่างจาก Hollywood และประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตก วงการหนังอินเดียได้ส่ง No One Killed Jessica หนังที่สร้างจากคดีดังที่เผยถึงความอัปยศของกระบวนทางกฎหมายที่เอื้อให้กับผู้ทรงมีอำนาจ   เมื่อพนักงานเสิร์ฟ  Jessica Lal  ถูกยิงเสียชีวิตอนาถกลาง party ของชาวไฮโซ    แต่ทั้งๆที่มีหลักฐานและพยานหลานคนชี้ชัดว่า นาย Manu Sharma ลูกชายนักการเมืองที่ทั้งร่ำรวยและทรงอิทธิพลเป็นฆาตกรที่ลงมืออย่างอุกอาจ    แต่จากการไต่สวนชั้นต้น เขากลับพ้นผิดไปอย่างค้านสายตาคนทั้งประเทศจนเกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรง  พลังสื่อและเสียงเรียกร้องของประชาชนอินเดียได้สร้างแรงกดดันให้ศาลสูงกรุงDelhi เร่งกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์และพลิกคำตัดสินให้นาย Manu มีความผิดจริงและต้องชดใช้โทษด้วยการจำคุกตลอดชีวิต (เขาถูกคุมขังอยู่ 14 ปีก็ได้รับการปล่อยตัวเพราะเป็นนักโทษที่มีพฤติกรรมดี)

ส่วนสาเหตุที่หญิงสาวที่น่าสงสารผู้นี้ถูกปลิดชีวิตก็เพียงเพราะเธอปฏิเสธไม่เสิร์ฟเหล้าให้เขาหลังจากที่ขายเหล้าในบาร์ไปจนหมดเกลี้ยง แม้ว่าเขาจะยิงปืนใส่เพดานจนเธอต้องหวาดกลัวก็ไม่สามารถหาเหล้ามาเสิร์ฟให้ได้ มันทำให้ลูกชายนักการเมืองโกรธจัดจนยิงออกไปอีกครั้ง และคราวนี้กระสุนพุ่งตรงไปถูกศีรษะของเธอจนสิ้นใจ ผู้ก่อเหตุและเพื่อนๆหายตัวไปจาก party อย่างรวดเร็ว และสามารถหลบเลี่ยงตำรวจไปได้ร่วมๆสัปดาห์ พิรุธต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนจำนวนมากออกมาประนามว่า นี่คือความอัปยศทางกระบวนทางกฎหมายของอินเดียจนสื่อตะวันตกร่วมจับตามอง



รู้หรือไม่?


National Film Awards  งานประกาศรางวัลที่มีชื่อเสียงของอินเดียมีการจัดรางวัล 'หนังยอดเยี่ยมที่ตีแผ่ปัญหาสังคม' ด้วยนะ



Pink หนึ่งในผลงานที่ได้รับรางวัลนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวสามสาวที่ตอบรับคำเชิญแกงค์หนุ่มไฮโซไปดินเนอร์ แต่กลับถูกลวนลามแม้จะยืนกรานปฏิเสธ เหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนพวกเธอถูกทำร้ายร่างกาย เพื่อป้องกันตัวไม่ให้ถูกข่มขืนจึงฟาดอีกฝ่ายด้วยขวดจนเลือดอาบแล้วหนีกลับไป แต่ชีวิตของพวกเธอกลับตกอยู่ในฝันร้ายเมื่อชายทรงอิทธิพลตามคุกคามจนประสาทเสีย และยังเอาคืนด้วยการแจ้งความพร้อมทั้งตราหน้าว่าพวกเธอเป็นโสเภณีให้อับอาย พวกเธอจึงต้องขอความช่วยเหลือจากทนายวัยกลางคนเพื่อกู้เกียรติกลับคืนมา แต่ก็ต้องเผชิญกับ mindset ที่โทษเหยื่อ พิพากษาพวกเธอจากการแต่งกายด้วยกระโปรงสั้นเผยเนื้อหนังและการร่วมดื่มสังสรรค์กับผู้ชายว่าเป็นพฤติกรรมยั่วยวน ประดุจส่งบัตรเชิญให้อีกฝ่ายเข้ามาเสพสมความสุขจากเรือนร่างของพวกเธอเอง ไม่มีสิทธิ์โวยวายว่าถูกล่วงละเมิด ในขณะที่สังคมเหยียดหยามผู้หญิงที่รักสนุกกับการเที่ยวเตร่ยามค่ำคืนว่าเป็นพฤติกรรมเหลวแหลกและกล่าวหาว่าทำอาชีพขายตัว แต่ผู้ชายที่ทำแบบเดียวกันกลับไม่เคยต้องเจออะไรแบบนี้


หนังส่ง message ทรงพลังให้สังคมเรียนรู้กับคำว่า NO MEANS NO ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด หรือสวมใส่เครื่องแต่งกายแบบไหน หากฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมก็ต้องหยุดการกระทำทันที แรงบันดาลใจของผู้กำกับเกิดจากคดีสะเทือนขวัญในอินเดียจำนวนมากที่หญิงสาวถูกฉุดคร่าไปกระทำชำเราตามท้องถนน และจากประสบการณ์ที่เขาได้ยินมาจากเพื่อนหญิงที่ถูกลวนลามแม้จะพูดว่าNOชัดเจน มันทำให้เขาสร้างผลงานเพื่อเรียกร้องสังคมให้เลิกจำกัดคุณค่าความเป็นหญิงจากค่านิยมทางศีลธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวหรือเที่ยวกลางคืนหรือจะเป็นสิ่งใดก็ตาม เพราะไม่มีใครเลยที่สมควรจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ

Pink ประสบความสำเร็จอย่างเกินความคาดหมาย แม้จะได้ตัวนักแสดงระดับตำนานอย่าง Amitabh Bachchan มารับบทนำเป็นทนายจำเลย แต่ก็เป็นหนังที่มีทุนสร้างไม่ถึงสี่ล้านดอลลาร์ ซึ่งรายได้ของหนังเรื่องนี้พุ่งปรู๊ดไปเกินยี่สิบล้านเลยทีเดียว







มีหนังอินเดียจำนวนไม่น้อยที่สร้างมาจากบุคคลและเหตุการณ์ในชีวิตจริง แต่หนึ่งในหนังที่แสดงความกล้าหาญแหวกค่านิยมสังคมอย่าง PadMan นั้นทำให้เราต้องประทับใจในการแสดงออกทางการเมืองผ่านผลงานบันเทิงของชาตินี้ เพราะมันได้เล่าเรื่องราวของชายที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อผลิตผ้าอนามัยที่ถูกสุขลักษณะให้กับผู้หญิงยากจนหลังจากที่ค้นพบความจริงสุดช็อคว่าภรรยาต้องใช้ผ้าขี้ริ้วแทนผ้าอนามัยที่ราคาแพงเกินเอื้อม ในขณะที่คนจำนวนมากมายจะตั้งอคติจากแนวคิดว่าประจำเดือนผู้หญิงคือสิ่งสกปรกที่เป็นเรื่องต้องห้าม ต่ำตมถึงขนาดไม่ควรค่าแม้แต่จะยกขึ้นมาเป็นหัวข้อให้ความรู้กับเด็กๆหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่ต้องใช้ชีวิตกับการมีรอบเดือนโดยเสี่ยงกับอาการติดเชื้อเพราะไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยสะอาดและวิธีการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม

ในหลายพื้นที่ยังมีความเชื่อสวนทางกับการให้ความรู้ประชาชนเรื่องประจำเดือน ผู้คนอาจจะไม่คาดคิดจะได้เห็นหนังที่เชิดชูชายฉกรรจ์ผู้ทุ่มเทอย่างสุดตัวเพื่อประดิษฐ์ผ้าอนามัยราคาประหยัด ความพยายามของเขาจุดกระแสต่อต้านจากคนรอบข้างที่มองว่าเขาเป็นคนบ้าวิปริตที่หมกมุ่นกับเลือดรอบเดือน แต่การตระเวนให้ความรู้กับผู้หญิงให้ตระหนักถึงสิทธิของตนที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย และเรียกร้องให้เพศอื่นๆได้เข้าใจถึงความยากลำบากของคนเป็นผู้หญิงที่ไม่ใช่ว่าจะหากอะไรใกล้มือมาอุดไว้ก็ผ่านไปสบายๆ ความมุ่งมั่นที่จะทลายกำแพงแนวคิดอนุรักษ์นิยมและความเชื่อเก่าแก่แม้จะต้องพบกับแรงกดดันจนต้องท้อแท้ แต่ความห่วงใยต่อผู้หญิงที่ขาดโอกาสนี่เองที่ผลักดันให้เขาสร้างชื่อเสียงในฐานะนักประดิษฐ์และนักธุรกิจอินเดียที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย และปรับทัศนคติของผู้ชมที่ยึดติดว่าประจำเดือนเป็นเรื่องต้องห้ามและเปราะบางต่อความรู้สึกให้หันมายอมรับว่า นี่คือเรื่องธรรมชาติของผู้หญิงที่สมควรจะได้รับกำลังใจและแรงสนับสนุนให้เข้าถึงสิทธิ์ในการรักษาสุขภาพ ไม่ใช่เรื่องสกปรกหรือสัญลักษณ์แห่งความอับโชค


(หนังเค้าก้าวไปถึงขั้นนี้แล้ว และผู้สร้างยังแสดงจุดยืนที่ชัดเจนด้วยการฉายหนังให้เด็กๆตามโรงเรียนในถิ่นห่างไกลชมกันเพื่อรับความรู้กันแบบฟรีๆอีกด้วย)




รู้หรือไม่?
หนังอินเดียได้เข้าชิงรางวัล Oscar มาตั้งแต่หกทศวรรษก่อน


  หนังอินเดียเคยครองตลาดบ้านเราในยุคหนังขาวดำตั้งแต่พ่อแม่ยังหนุ่มสาว  หนังที่  mass ซะเหลือเกินหนีไม่พ้น 'ธรณีกรรแสง'  (Mother India)  ที่เรียกน้ำตาหลั่งไหลท่วมแผ่นดินสมชื่อ    พวกเราอาจจะเกิดไม่ทันปรากฏการณ์ของหนังเรื่องนี้   แต่มันทรงพลังในระดับที่วิ่งฉิวเข้าชิงรางวัล Oscar สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมในปี 1958 (เป็นชาติที่สองรองจากญี่ปุ่นที่เคยส่งผลงานหนังเข้าชิงสาขารางวัลนี้)  หนังถูกส่งออกไปนานาชาติและพากย์หลากหลายภาษา    สำหรับรายได้นั้น  หากคำนวณกับค่าเงินในปัจุบันก็ประเมินออกมาได้ถึง $250 ล้าน    ถึงจะเป็นหนังเงินทุนสูงลิบลิ่วในยุคนั้น  แต่ก็ทำกำไรอื้อซ่า เฉพาะในบ้านเรานั้นยืนหยัดฉายในโรงหนังอยู่ถึงสองเดือน!


หนังอินเดียเรื่องที่สองที่เข้าชิงรางวัลหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมจากเวที Oscar คือ Salaam Bombay! หนังที่ถ่ายทอดชีวิตของเด็กด้อยโอกาสที่ใช้ชีวิตตามท้องถนนของเมืองใหญ่ที่พัวพันกับการลักขโมย ยาเสพติด และค้าประเวณี หนังดิบในระดับที่ดึงตัวเด็กชายด้อยโอกาสที่หนีออกจากสลัมมาใช้ชีวิตริมทางตัวจริงๆมารับบทนำ ภาพความยากลำบากของบรรดาเด็กๆสมจริงจนดึงให้ผู้ชมจมลงไปกับความสิ้นหวังกับปัญหาความยากจนในประเทศอินเดีย หลายคนต้องสะเทือนใจกับเส้นทางชีวิตของเด็กไร้บ้านที่ถูกทอดทิ้งให้เผชิญกับความทุกข์ทนตามลำพัง หนังได้ดึงดูดเสียงวิจารณ์ในแง่บวกในเรื่องการตีแผ่ด้านที่แสนอัปลักษณ์ของสังคมแต่ก็ยังเผยถึงความหวังของชีวิตเล็กๆที่ปรารถนาจะมีความสุข

ไม่เพียงแต่จะเข้าชิง Oscar แต่เรื่องนี้ทั้งเข้าชิงและคว้ารางวัลระดับนานาชาติมาอีกเพียบ รวมถึง Caméra d'Or และAudience Award จากเทศกาลหนังเมือง Cannes ถูกยกให้เป็นผลงานแห่งแนวคิดสัจจนิยมใหม่ชิ้นเอก   ความ real จนต้องอึ้งนี่ยังสร้างเสียงกล่าวขานมาจนปัจจุบัน


เป็นเรื่องปกติที่จะได้เห็นหนังอินเดียคุณภาพฉายที่Cannes และคว้ารางวัล



วงการหนังอินเดียอาจจะถูกวิจารณ์เรื่องความซ้ำซากจำเจ   หากไม่ใช่ฉาก romance ที่คอยเกี้ยวพาราสีกันด้วยท่าเต้นยักย้ายส่ายเอวที่พวกเราคุ้นเคย ก็วนเวียนสร้างความสำเร็จด้วยหนังบู๊ล้างผลาญฟอร์มยักษ์     แต่ถ้าเป็น 'งานสายรางวัล'  เทศกาลหนังเมือง  Cannes ก็อ้าแขนต้อนรับผลงานคุณภาพจากอินเดียมาก่อน  Oscar ซะอีก   ย้อนไปเมื่อปี 1946     Neecha Nagar   คว้ารางวัลใหญ่ Grand Prix   แต่ที่หักมุมคือ  มันเป็นผลงานที่ไม่ได้ฉายในประเทศ!   เนื่องยังอยู่ช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้กฎข้อบังคับของจักรวรรดิบริติช  หนังได้นำเสนอเรื่องราวของชนชั้นที่มีอำนาจที่คดโกงเอารัดเอาเปรียบคนยากจนให้ยิ่งทุกข์ระทม   แต่เชื่อว่าการใช้ชั้นเชิงและสัญลักษณสอดแทรก ในstoryline  ได้สะท้อนถึงการปกครองแบบบริติชราชที่ครอบงำกดขี่ชนพื้นเมือง เชื่อกันว่ามันคือสาเหตุสำคัญที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉาย  ทั้งๆที่ควรจะเป็นผลงานสร้างความภาคภูมิใจของชาวอินเดียและได้รับการโพรโมทเต็มที่ในฐานะหนังอินเดียเรื่องแรกที่คว้ารางวัล Grand Pix  จาก Cannes




หนังสายรางวัลหลายเรื่องอาจจะถูกมองว่าซับซ้อนเข้าถึงยาก   แต่หนังที่จับใจผู้คนมากมายอย่าง The Lunchbox  ได้พิสูจน์แล้วว่า   หนังรักอินเดียที่ค่อยเป็นค่อยไป ไม่โบ๊ะบ๊ะเร้าใจด้วยจังหวะเพลงก็มีเสน่ห์ชวนฟินไม่แพ้ rom-com จาก Hollywood เลยทีเดียว  นักวิจารณ์หนังจากต่างประเทศก็แสดงความปลาบปลื้มกันมาก   นอกจากจะได้รับ standing ovation ที่ Cannes ก็คว้ารางวัลจากการประกวดอื่นๆมาครองอีกหลายสาขา

ผู้กำกับอินเดียที่สร้างชื่อในวงการ Hollywood


ไม่เพียงแต่นักแสดงที่จะ "โกอินเตอร์' เท่านั้น ผู้กำกับจากอินเดียที่ไปไกลระดับ Hollywood พวกเค้าทั้งยกระดับมาตรฐานของการสร้างหนังและปูเส้นทางให้กับผู้กำกับรายอื่นๆให้ตั้งเป้าหมายไกลยิ่งกว่าสร้างหนังดังรายได้สูงในประเทศ

Shekhar Kapur ผู้กำกับ Elizabeth ในปี 1998 และเข้าชิงรางวัลหนังยอดเยี่ยมจาก Oscar

Mira Nair ผู้กำกับหญิงที่สร้างชื่อจาก Salaam Bombay! หลังจากแสดงฝีมือจากผลงานหนังอินเดีย ก็ก้าวมากำกับหนังภาษาอังกฤษอีกหลายเรื่อง (Vanity Fair, The Namesake)


Ritesh Batra  หลังจากสร้างชื่อจาก The Lunchboxก็ได้รับการทาบทามไปกำกับหนัง Hollywood  (The Sense of an Ending,Our Souls at Night)




กระแสความนิยมของกังกูไบในขณะนี้อาจจะจุดประกายให้คุณหันมาคลิกหาหนังอินเดียที่ดูเข้าตา และเราคิดว่าคุณคงไม่ผิดหวัง  ผลงานคุณภาพของเค้ามีให้เลือกกันอย่างจุใจจริงๆนะ!


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE