Quiet Luxury เทรนด์สวยแพงแบบเงียบๆที่กำลังยึดครองโลกแฟชั่น

33 18
ช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สื่อแฟชั่นต่างอวยยศให้กับ  Quiet Luxury ด้วยความเชื่อว่า aesthetic นี้อาจจะกำหนดทิศทางใหม่ของแฟชั่นประจำปี 2023   หลายแบรนด์ดังหันมาให้ความสำคัญกับลุคที่ดูแพง ความงามคลาสสิคเหนือกาลเวลา ไม่จำเป็นต้องคอยวิ่งตามเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปทุกซีซัน  ทั้งยังมีเสียงสนับสนุนว่า นี่ช่างเป็นแนวคิดที่โดนใจคนรักษ์โลก เพราะมันเป็นอีกวิธีที่ช่วยบรรเทาปัญหาขยะเพิ่มพูนจาก fast fashion ที่ฉาบฉวย     แม้ว่า Loud Luxury จะเป็นกลยุทธ์เรียกร้องความสนใจที่ได้ผลบน social media เสมอ  แต่สำหรับหมู่คนทั่วไปที่ไม่ได้แต่งตัวไม่ซ้ำลุคเหมือนกับคนดัง  การเลือกแต่งตัวโดยใช้แนวคิด Maximal ที่โฉ่งฉ่างจนยากจะนำกลับมาใส่ซ้ำอาจจะไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมในการใช้ชีวิตประจำวันนัก




Style สุดเริ่ดในรูปแบบ Quiet Luxury  เป็นเช่นไร   มีเทคนิคใดที่ช่วยให้ดูแพงแบบซุ่มเงียบ   มาติดตามกับเราได้เลยค่ะ

Quiet Luxury คืออะไร?


ในสายตาหลายคน   luxury คือ สิ่งที่จำกัดไว้สำรับกลุ่มคนร่ำรวย เพราะเงินเท่านั้นที่เป็นที่เข้าถึงความหรูหราของสินค้าและบริการจากแบรนด์ระดับ  high end   ชาวเน็ทอาจจะโจษจันเรื่องสไตล์ของมหาเศรษฐีอย่าง  Mark Zuckerberg ที่มักจะใส่เสื้อยืดกางเกงเดนิมที่ดูแตกต่างจากภาพลักษณ์นักธุรกิจหมื่นล้าน  บ้างก็เชิดชูว่า เขาคือผู้ชายที่มีเงินมหาศาลแต่ใช้ชีวิตอย่างมัธยัสถ์ เมื่อได้มาค้นพบว่าเสื้อยืดที่เรียงอัดแน่นในตู้เสื้อผ้าของเขาเป็นสินค้าสั่งทำดีไซน์เนอร์สัญชาติอิตาเลียน Brunello Cucinelli ที่สนนราคาเหยียบหมื่นก็อาจจะทำให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดว่า สมแล้วที่เป็นสไตล์ของมหาเศรษฐีแห่ง Silicone Valley     แต่แนวคิดของ quiet luxury ที่เรากำลังกล่าวถึงนั้นไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นเทรนด์การแต่งกายที่เรียบหรูจากสินค้าแบรนด์เนมราคาแพง    แต่เป็นแนวคิดที่โฟกัสที่ความสวยคลาสสิค ไม่ว่าผ่านไปนานเท่าใดก็ไม่ตกยุคสมัย   แน่นอนว่าจะต้องมีคุณภาพที่คงทน สามารถนำมาใส่ซ้ำได้อีกหลายปีคุ้มค่ากับเงินที่ใช้ไป  

บางคนมองว่า quiet luxury คือสิ่งสะท้อน Recession หรือภาวะเสี่ยงต่อเศรษฐกิจถดถอยหลังจากหลายประเทศต้องรับมือกับวิกฤติโรคระบาด ถึงขั้นกับมีผู้ทำนายไว้ว่า Recession Core จะเข้ามาแทนที่ความ glam จัดเต็มแบบที่เราเห็นกันจนคุ้นตาจากบรรดาคนดัง การประโคมเครื่องแต่งกายด้วยสินค้าราคาแพงทั้งตัวด้วยสไตล์ที่โฉ่งฉ่างแบบ loud luxury นั้นดูสวนทางกับบรรยากาศที่หม่นหมองด้วยความวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจ แม้ว่ายอดขายของแบรนด์เนมจะยังไปได้สวยเพราะคนมีกำลังซื้อก็ยังจับจ่ายใช้สอยสินค้าราคาแพงได้อย่างสบายๆ แต่มีแนวโน้มว่า ผู้คนจะหันมาสู่ความยั่งยืนมากขึ้น การใช้แฟชั่นเพื่อถ่ายทอด statement ว่า "จงมองฉันสิ ฉันสวยและรวยมาก" จะปรับเปลี่ยนมาเป็น "ฉันสวยแพงและมีรสนิยม"

แม้แต่ในกลุ่มคนดังที่ไร้ปัญหาทางการเงินและยังจับจ่ายได้อย่างสบายใจก็ปรากฏก็ได้ดูจะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้อยู่บ้างเช่นกัน   เห็นได้จากแฟชั่นบนพรมแดง หลายคนลดละเครื่องประดับอัญมณีวูบวาบเต็มคอ  บ้างก็จับชุดสวยมาใส่ซ้ำ ปรับเปลี่ยน styling ให้ดูไม่ซ้ำซาก หรือประยุกต์ด้วยการตัดเย็บให้ดูเหมือนชุดใหม่

 Quality Not Quantity


quiet luxury ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องสอยไอเท็มที่แปะป้ายราคาตัวเลขหลายหลักใน luxury shopping store มาใช้   แต่เป็นสินค้าที่ดูปราดเดียวก็รู้ว่าคุณภาพสูง    ดีไซน์ที่ไม่เยอะจัดแต่สวยเนี้ยบทุกรายละเอียด  ทั้ง cutting และ fitting ที่เป๊ะเข้ากับคนใส่ รวมถึงงาน handmade สุดปราณีต  เราอาจจะต้องจ่ายมากกว่า   แต่เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าของไอเท็มที่หน้ามืดซื้อแต่สุดท้ายก็ถูกซุกอยู่มุมตู้เงียบๆโดยที่ไม่ได้แตะต้องซ้ำ มันอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า   เพื่อป้องกันการถูกสะกดจิตว่าของมันต้องมี ไม่งั้นตกเทรนด์ ก็ลองเลือกถามตัวเองว่า นี่คือลุคเป็นตัวเราจริงๆ และคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือไม่?

materials ที่ใช้ตัดเย็บเสื้อมักจะเป็น ผ้าแคชเมียร์ ผ้าไหม  หนัง ผ้าวูล (ทอจากขนสัตว์) แค่ฟังก็ดูมีราคาแล้ว แต่แทนที่จะโฟกัสว่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมีราคาแพงมากแค่ไหน ก็หันมาใช้มุมมองว่า นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่า อย่างกระเป๋าใบเดียวที่อาจจะราคาสูง แต่เมื่อรักษาไว้เป็นอย่างดีก็สามารถนำมาใช้ได้อีกนาน หรือจะเป็นการเลือกตัดชุดกับห้องเสื้อที่เราไว้ใจ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เลือกวัสดุและดีไซน์และไซส์ที่เข้ากับตัวเรา สนนราคาอาจจะไม่ได้ถูกกว่าเสื้อผ้าแบรนด์หรู แต่ตอบโจทย์ความสวยเนี้ยบแบบทุกดีเทล


สวยแพงแบบวินเทจโดยไม่ต้องทุ่มเงินซื้อจนกระเป๋าฟีบแบน  

 นี่คือแนวคิดที่แฟชั่นนิสต้าจากฝรั่งเศสยึดมั่นจากรุ่นสู่รุ่น  หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้แพรีสจะเป็นศูนย์กลางแห่งโลกแฟชั่น  แต่ตู้เสื้อผ้าของพวกเธอไม่ได้อัดแน่นด้วยข้าวของแบรนด์เนมที่ต้องทยอยระบายออกเมื่อเปลี่ยนซีซัน    เพราะเสื้อผ้าที่เข้าตาจะต้องมีคุณภาพดีที่นำมาใช้ได้หลากหลายโอกาส ไม่ว่าจะเอามาใส่ตอนไหนก็ดูไม่เชย    ไม่เสียจริตเมื่อได้เห็นชื่อแบรนด์ดัง แต่เน้นที่ฝีมือการตัดเย็บและคุณภาพเนื้อผ้าที่ทั้งสวยและคงทน   พวกเธอสามารถโอ้อวดด้วยความภูมิใจถึงไอเท็มที่ได้รับตกทอดมาจากญาติผู้ใหญ่แล้วจับมาใส่สวยแบบ timeless  รวมถึงคนที่เสาะหาของดีจากร้านวินเทจที่แม้ว่าจะเก็บรักษามาเกินสิบยี่สิบปีก็ยังดูเริ่ด 

ให้ความสำคัญกับ  story


ไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าจะต้องแสวงหาสินค้าที่เป็น rare item จึงจะเข้าถึง quiet luxury ได้อย่างแท้จริง แต่หลายคนโฟกัสไปยังเรื่องราวเบื้องหลังที่มีคุณค่าน่าจดจำ ดังกระเป๋า Lady Dior ที่หลายคนได้ยินมาแล้วว่า แรกเริ่มเดิมทีมันมีชื่อว่า Chouchou แต่เมื่อเจ้าหญิง Diana ได้รับมันเป็นของกำนัลจากสุภาพสตรีหมายเลข 1 แห่งฝรั่งเศส เลื่องลือว่า เธอรักกระเป๋ารุ่นนี้ซะจนรีบติดต่อ Dior เพื่อสั่งทำกระเป๋าเพิ่มและพามันไปทุกหนทุกแห่ง ทั้งอีเวนท์เป็นทางการไปจนถึง Met Gala จนกลายมาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำตัว และขายดิบขายดีจนจนแบรนด์เปลี่ยนชื่อเพื่อเป็นเกียรติต่อเจ้าหญิงผู้นำแฟชั่น แต่ความ iconic ของกระเป๋ารุ่นนี้ยังไม่ได้หมดเท่านั้น สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบกระเป๋ารุ่นนี้ของมาจากเฟอร์นิเจอร์ที่ Christian Dior ใช้ประดับรันเวย์ในโชว์ยุค 40s และเครื่องรางนำโชคสุดรักของเขา  สายใยแห่งประวัติศาสตร์ทางแฟชั่นที่เชื่อมโยงกันช่วยอธิบายได้ว่าเหตุใดสินค้าบางอย่างจึงครองใจผู้คนมาได้ยาวนาน



  Styling  ได้หลายลุค


เมื่อพูดถึงความ minimal ก็อาจจะทำให้มีคนแย้งว่ามันออกจะน่าเบื่ออยู่บ้าง?    แต่หนึ่งในหลักการสำคัญของ quiet luxury คือการเลือกเสื้อผ้าที่สามารถนำมาประยุกต์ใส่ได้หลายโอกาสและใช้ mix & match ได้อีกหลายลุค   เสื้อผ้าชิ้นเดียวดูจะเข้ากับทุกอย่าง อย่างกระเป๋าพระจันทร์ครึ่งดวงจาก The Row ที่ดูเรียบๆต่างจาก The IT Bags ชื่อดังจากแบรนด์อื่น  แต่ดูเข้ากับสไตล์สุด chic ของ  Kendall จนเธอสะพาย/หิ้วมันไปในหลายโอกาส   ทั้งเดินถนนกลางวัน   ออกอีเวนท์ และดินเนอร์ยามค่ำคืน 


การพลิกแพลงแบบ quiet luxury ยังรวมถึงเทคนิคจับไอเท็มที่ราคาไม่สูงมาเข้าคู่กับไอเท็ม high end  เหมือนกับ Margot Robbie ที่ใส่เดรสโค้ท Mango คลุมเดรสคอเต่าสีขาวจาก The Row   เทคนิคที่เรียกว่า High-Low Dressing  นี้ได้สร้าง effect ที่ทั้ง chic  และมีระดับแบบไม่พยายามจนเกินไป   คีย์สำคัญคือ  จะต้องมีหนึ่งชิ้นที่ช่วยยกระดับให้ลุคโดยรวมมีความเรียบหรูดูแพง กระทั่งที่คนอื่นไม่ได้สะกิดใจว่า คุณสอยชุดสวยมาจากช่วงลดครึ่งราคาที่ห้าง 

 มันเป็นเรื่องปกติที่จะได้เห็นเชื้อพระวงศ์ผู้โด่งดังจากยุโรปใส่เสื้อผ้าซ้ำหลายๆครั้ง    แต่ด้วยสไตล์ที่งามสง่าโดดเด่นของพระราชินี Letizia แห่งสเปนจึงทำให้รับฉายาว่าเป็นราชินีแห่งแฟชั่น   และมันก็ไม่ใช่เสื้อผ้าจากห้องเสื้อชั้นสูงเสมอไป    เธอยังได้รับคำชื่นชมว่าเป็น trendsetter ที่สามารถเลือก mix&match เสื้อผ้าจาก high street brand ที่มีราคาจับต้องได้ออกมาดูเลอค่าไม่ต่างจากตอนที่แต่งตัวด้วยแบรนด์ high end

บอกลา Logo ใหญ่ๆและลาย Monogram เต็มตัว  


เพราะนี่คือแนวคิดที่อยู่คนละฝั่งกับ loud luxury ที่ใช้แฟชั่นเป็นเครื่องมือช่วยประกาศถึงความหรูหราฟุ้งเฟ้อด้านวัตถุดังให้ดังกึกก้อง ภาพเซเลบและ influencers ที่ประโคมแต่งตัวด้วยลาย monogram หัวจรดเท้าลามไปถึงข้าวของเครื่องใช้ (อย่างรถเข็นเด็กหรือถังขยะ!) อาจจะเป็นคอนเทนท์ที่สร้างความฮือฮาระดับ break the internet  แตกต่างจาก quiet luxury ที่ถูกเปรียบเทียบว่า เป็นการกระซิบให้รับรู้เรื่องความแพงแบบแผ่วเบาไม่กระโตกกระตาก เพื่อรักษาจุดยืนแบบ 'น้อยแต่มาก' จึงต้องเลี่ยงการแสดงความร่ำรวยผ่าน logo ที่สะดุดตาของแบรนด์ดัง


เทรนด์ logo จัดเต็มอาจจะทำให้ Fendi ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม loud luxury ร่วมกับ Louis Vuitton และ Gucci แต่ไม่ได้หมายความว่าสาวก Fendi จะต้องดูเยอะไปถึงขั้นล้นกันซะทุกคน ดูจากความสวยปริบของซง ฮเยคโยผู้รับหน้าที่ brand ambassador แห่งเกาหลี เธอเผยด้าน feminine ที่ดูนำสมัย แต่ดู luxurious แบบไม่ต้องแปะชื่อแบรนด์หรือlogo





แม้สินค้าที่มีจุดขายที่ logo และลวดลาย monogram ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ high end จะมีคุณภาพสูงและมีดีไซน์โดดเด่นที่ถูกใจผู้คนมากมาย  แต่ก็เปิดช่องทางให้มีการปลอมแปลงออกมาไม่มีหยุด   ผู้ผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ออกมาล้นตลาดไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าจะต้องเลียนแบบให้ใกล้เคียงต้นฉบับ  ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแบบใดแค่แปะ logo ให้ชัดๆเข้าไว้เป็นพอ   คนบางกลุ่มจึงตั้งแง่กับกับการประกาศ luxury statement  ผ่าน logo และลวดลายเพราะไม่ต้องการจะถูกเข้าใจผิดว่าใช้ของปลอม   แบรนด์ที่ต้องรับมือกับปัญหานี้คือ Burberry ที่ในอดีต ลวดลาย signature ของแบรนด์ได้รับความนิยมในกลุ่ม 'Chavs' (คล้ายเด็กแว้นซ์กับสก๊อย)  จนทำให้ผู้บริโภคที่มีกำลังจับจ่ายใช้สินค้าของแบรนด์มองว่า   Burberry กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัยรุ่นตลาดล่าง  และหลีกเลี่ยงที่จะถูกเหมารวมว่ามีรสนิยม cheap  เหมือนกับ chavs จนส่งผลกระทบกับแบรนด์จนต้องระดมสมองหากลยุทธ์กู้ภาพลักษณ์ความ luxurious กลับมา

ต่างจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบบ quiet luxury แม้ว่าพวกเราจะได้เห็นดีไซน์ที่เรียบหรูเหล่านั้นมาไม่รู้กี่ครั้ง แต่สิ่งที่ปลอมไม่ได้คือคุณภาพที่ปราณีตไปจนถึงฝีเย็บตะเข็บ เนื้อผ้าที่ถักทอจากเส้นใยที่ดูเป็นของราคาแพงและยังมอบความรู้สึกที่เรียบลื่นใส่สบาย

ถึงจะเป็นสไตล์ที่ simple  แต่เราสามารถพลิกแพลงเปลี่ยนเป็นลุคใหม่ได้เสมอ  เหมือนกับเสื้อเชิ้ต oversized ที่ดูเรียบๆของ Zendaya ที่จับมาปรับเป็น minidress ที่เพิ่มแรงดึงดูดทางเพศโดยไม่ต้องเปิดเผยเนื้อหนังมากมาย  เหมาะเหม็งที่สุดสำหรับค่ำคืนเดทกับแฟนหนุ่มผู้น่ารัก  
 
เมื่อ Kendall Jenner สมาชิกครอบครัวทรงอิทธิพลที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่อง loud luxury ปรากฏตัวพร้อมกับความ chic ตามภาพด้านล่าง    สื่อแฟชั่นต่างชื่นชมอื้ออึงว่าเธอช่างสวย classy แบบดูไม่ต้องพยายามและค้นข้อมูลมานำเสนอว่า  จะตามหากางเกงทรงสวยแบบเธอได้จากที่ใด    นั่นคือดีไซน์จากThe Row   label ของแฝด Olsen  อดีตนักแสดงเด็กและ IT girls ที่เคยโด่งดังในยุค  2000s  และก้าวห่างจากแสงสปอทไลท์ไปสร้างแบรนด์  ในขณะที่พวกเธอไม่ได้ปั้นเทรนด์จนกลายเป็นกระแสหวือหวาเหมือนกับห้องเสื้อชั้นสูงฝั่งยุโรป  แต่ได้รับการจับตามองจากกูรูแฟชั่นว่าเป็นหนึ่งในกลุ่ม luxury labels ที่สร้างรากฐานมั่นคงจาก quiet luxury


Loud Luxury จะไม่ถูกแทนที่ไปได้ง่ายๆ  แต่ความแพงแบบซุ่มเงียบนั้นดูยั่งยืนกว่า


 
สไตล์การแต่งตัวแบบเล่นใหญ่สร้างความตื่นตาตื่นให้กับผู้คนมายาวนานข้ามศตวรรษ    ในศตวรรษที่ 18 สตรีชั้นสูงในรั้ววังเคยประกาศศักดาความหรูเริ่ดด้วยกระโปรงที่ใหญ่ซะจนไม่สามารถเดินข้ามประตูเข้ามาตรงๆ    อิทเกิร์ลในยุค Edwardian ใส่หมวกใหญ่โตมโหฬารและจัดเต็มกับการประดับประดาหมวกถึงขั้นหานกสตั๊ฟฟ์มาแปะ!   ไม่แตกต่างจากโลกยุคโมเดิร์น  การแต่งกายที่ให้ความสำคัญกับ glam & glitz  ประโคมแบรนด์เนมทั้งตัวจะเป็นวิธีสร้าง statement ที่มีพลังดึงดูดความสนใจจากผู้คนในโลกออนไลน์ได้มากกว่า    แต่หลังจากนำอวดโฉมให้โลกตะลึงอลังการไปแล้วครั้งหรือสองครั้ง  หากจะนำลุคเดิมมาวนเวียนใส่ซ้ำเรื่อยๆ  ก็คงดูย้อนแย้งกับจุดยืนที่ต้องเว่อวังถึงที่สุด  ไอเท็มบางชิ้นก็ดูจะนำมาประยุกต์กับชิ้นอื่นให้กลายเป็นลุคใหม่ได้ไม่ง่ายนัก

แน่นอนว่า รสนิยมเป็นเรื่องส่วนบุคคล      ไม่ว่าคุณจะเลือกอยู่ฝั่ง  loud luxury  ที่โชว์ความแพงแบบตะโกนสุดเสียงให้โลกได้รับรู้  หรือชื่นชอบ quiet  luxury ที่มาแบบซุ่มเงียบราวกับจะกระซิบกระซาบแผ่วเบาให้เดาออกว่าแพงนะจ๊ะ   หากค้นพบตัวเองแล้วว่า แต่งกายเช่นใดจึงจะรู้สึกดีอย่างแท้จริง  ก็ GO FOR IT! เลยค่ะ


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE