เรื่องราวของ Queen Charlotte จากประวัติศาสตร์เบื้องหลัง A Bridgerton Story
candy 29 13หลายครั้งหลายคราที่พวกเราได้พบกับกระแสต่อต้านผลงานการแสดงที่ยึดหลัก color-blind casting หรือ race swapping เมื่อนักสร้างหนังหันมาคัดเลือกนักแสดงไม่ได้ยึดความสำคัญว่า นักแสดงจะต้องมีเชื้อชาติตรงกับต้นฉบับ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ หรือตัวละครที่ปรากฏในผลงานการประพันธ์และผลงานที่ถูกสร้างขึ้นมาจนผู้ชมติดภาพ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต่างกล่าวหาว่า นี่คือการยัดเยียดเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติโดยไม่เคารพต้นฉบับ ไม่สมจริงและพยายามฝืนความรู้สึกจนเกินรับไหว ยิ่งเป็นผลงานที่ถ่ายทอดเรื่องราวของบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงๆ ย่อมเป็นการลบหลู่กันด้วยการบิดเบือนประวัติศาสตร์
ดราม่าที่เกิดขึ้นกับซีรีส์สารคดี Cleopatra และหนัง Little Mermaid ทำให้บางคนคาดการณ์ไว้ว่า นักสร้างหนังกำลังลงทุนเปลี่ยนแปลงที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า นอกจากจะถูกก่นด่า ผลงานอาจจะเสี่ยงเจ๊งเพราะผู้ชมรับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เสียงต่อต้านนั้นกลับแผ่วลงไปเมื่อ Shondaland ได้นำเสนอซีรีส์ Bidgerton ให้โลกได้รู้จัก แม้จะเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับจักรวาลความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทั้งที่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในยุค Regency ของอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลขุนนางชั้นสูงผิวดำ การสมรสข้ามเชื้อชาติ และราชินีลูกครึ่ง
แต่ผลงานนี้กลับพุ่งทะยานสู่ความสำเร็จถล่มทลาย ติดTop 10 ซีรีส์ที่มีคนดูมากที่สุดของ Netflix ทั้งๆที่มีนักแสดงนำบางคนมีเชื้อชาติแตกต่างจากบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ นั่นคือ ราชินี Charlotte ที่เฉิดฉายออร่านางพญาจนแย่งแทบทุกซีนที่ปรากฏกาย และได้รับความนิยมมากถึงขนาดที่ผู้สร้างตัดสินใจส่งภาคแยกที่เล่าเรื่องราวที่มาราชินีผู้นี้โดยเฉพาะ
เพราะอะไร ตัวละครราชินี Charlotte จึงหลุดพ้นกระแสกดดันของสังคมในประเด็น cast ไม่ตรง race? เรื่องราวที่เกิดขึ้นตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ของเธอจะมีตรงกับซีรีส์แค่ไหน? มาติดตามกับเราสิคะ!
จักรวาลชนชั้นสูงหลายเชื้อชาติใน Bridgerton
Chris Van Dusen นักผลิตรายการโทรทัศน์ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จถล่มทลายของ Bridgerton ได้ให้เหตุผลในการถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมชนชั้นสูงอังกฤษในยุค regency ด้วยตัวละครที่มีความหลากหลายว่า ...
"ผมต้องการสร้างผลงานแนวพีเรียดในวิธีแบบการสร้างจินตนาการแบบใหม่ที่ชวนตื่นเต้น อย่างแรก จะต้องมีการนำเอาตัวละครที่สีผิวหลากหลายและความเป็นเป็นมาที่แตกต่างกัน ต่อมา จะต้องมองหาประเด็นที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ผมอยากจะให้ชาวเกย์มีตัวตน ผมอยากจะขยายจักรวาลนี้ให้กว้างไกล ผมจึงสร้างโลกซีรีส์ยุคพีเรียดที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติเหมือนกับโลกที่พวกเราใช้ชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ ซีรีส์ของผมจะบอกเล่าเรื่องราวความรัก ความสุข การประสบชัยชนะ มันจะเป็นผลงานที่ประกาศออกมาได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็มีคุณค่าคู่ควรต่อทุกสิ่งสรรพ์ และสามารถเป็นได้ยิ่งกว่านั้น"
เขาได้ให้เหตุผลที่กำหนดให้ราชินี Charlotte เป็นสตรีที่มีเชื้อสายผิวดำว่า เมื่อได้ไปเยือน Wilton House แห่ง Wiltshire ความสวยงามโอ่อ่าของคฤหาสน์โบราณที่ตกทอดกันมาหลายร้อยปีทำให้เขารู้สึกทึ่งและปิ๊งไอเดียตัวละครสมทบที่จะเสริมให้ซีรีส์เรื่องนี้ปังยิ่งขึ้น เขาได้สร้างราชินี Charlotte ขึ้นมาโดยใช้การผสมผสานความเป็นเชื้อพระวงศ์ที่สูงส่งและ Beyoncé เข้าด้วยกัน และเป็นผลงานสร้างสรรค์เพื่อเวอร์ชั่นโทรทัศน์ ไม่ได้ปรากฏในนิยาย
"ผมได้เรียนรู้ทฤษฎีที่เกี่ยวกับภูมิหลังเชื้อชาติ Afrrican ของราชินี Charlotte นักประวัติศาสตร์บางคนได้แย้งว่า เธอคือพระราชินีผิวดำคนแรกแห่งอังกฤษจากการสืบเชื้อสายมาจากวงศ์ตระกูลผิวดำเครือหนึ่งในราชวงศ์โปรตุเกส ไม่เพียงแต่จะเป็นการปฏิวัติแนวคิดเรื่องการนำเสนอทฤษฎีประวัติศาสตร์ มันยังเป็นรากฐานสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้ มันได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผมมุ่งมั่นสร้างสรรค์ลงานมาตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อนางเอกของเรื่องก็คือ Daphne ได้เข้าเฝ้าพระราชินี ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นผู้หญิงผิวสี"
ราชินี Charlotte คือใคร?
บางคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องโจ๊กของราชวงศ์อังกฤษที่ว่า แท้จริงแล้วพวกเค้าได้สืบสายเลือดเยอรมันมาหลายชั่วคน การสมรสทางการเมืองระหว่างราชวงศ์อังกฤษและราชวงศ์เยอรมันเกิดขึ้นบ่อยซะจนมีฉากพูดเหน็บแนมประเด็นนี้ในซีรีส์ Queen Charlotte ซะด้วยซ้ำ
เจ้าหญิง Sophia Charlotte ธิดาวัย 17 ของเจ้าชายแห่ง Mirow คือ ดยุค Charles Louis Frederick แห่ง Mecklenburg และเจ้าหญิง Elisabeth Albertine แห่ง Saxe-Hildburghausen เชื้อพระวงศ์ที่ได้ปกครองดินแดนเล็กๆทางตอนเหนือของเยอรมนีได้รับรู้ข่าวใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงของเธอไปตลอดชีวิต ราชวงศ์อังกฤษที่เรืองอำนาจได้เลือกเธอให้เป็นเจ้าสาวของกษัตริย์หนุ่มแห่งสหราชอาณาจักร มีการวิเคราะห์ว่า ภูมิหลังวงศ์ตระกูลที่ไร้อำนาจทางการเมืองทำให้เธอกลายมาเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะราชวงศ์อังกฤษไม่ต้องการให้เครือญาติฝั่งราชินีเข้ามาแทรกแซง หรือหาประโยชน์เพื่อเพิ่มพูนอำนาจ และยังมีผู้ที่มองว่า อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญคือ เสด็จแม่ของเธอให้กำเนิดเจ้าหญิงเจ้าชายถึงสิบคน! นั่นหมายความว่า เธอคือความหวังที่จะให้กำเนิดรัชทายาทให้กับราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่แห่งยุโรปนั่นเอง
แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก เพราะแม้ว่าเธอและกษัตริย์จะสามารถให้กำเนิดเจ้าหญิงเจ้าชายได้ถึง 15 คน!!! (หรือเป็นหนึ่งในเชื้อพระวงศ์ลูกดก) แต่กลับต้องมีความกังวลว่า บรรดาเจ้าหญิงเจ้าชายจำนวนเกินโหลกลับไม่สามารถสืบสายเลือดกษัตริย์ให้ยืนยาวต่อไป เพราะลูกๆต่างมีความสัมพันธ์กับสามัญชนรวมถึงพฤติกรรมคบชู้ แม้จะให้กำเนิดบุตรหลานมาได้ แต่ในช่วงเวลานั้น บุตรนอกสมรสและบุตรที่เกิดจากความสัมพันธ์ต่างชนชั้นจะไม่ถูกนับเป็นรัชทายาทได้ หากเสกสมรสกับสามัญชนก็ถูกล้มเลิกในภายหลัง ด้วยความจำกัดทางเทคโนโลยีการแพทย์ ทำให้ทารกที่เกิดจากคู่ครองที่เป็นเชื้อพระวงศ์ด้วยกันไม่สามารถรอดชีวิตจากโรคภัยต่างๆ จนกระทั่ง โอรสลำดับ 5 เจ้าชาย Edward หรือดยุคแห่ง Kent และ Strathearn ได้ให้กำเนิดเจ้าหญิง Alexandrina Victoria รัชทายาทผู้ได้ก้าวมาเป็นราชินี Victoria ประมุขราชวงศ์ที่สร้างชื่อเลื่องลือแห่งอังกฤษ และเป็นบรรพบุรุษสายตรงของราชวงศ์ Windsor ในปัจจุบันนั่นเอง
ความเป็นไปได้ที่บรรพบุรุษแห่งราชวงศ์ WIndsor จะเป็นลูกครึ่งผิวดำ?
แม้ในปี 1999 ประวัติศาสตร์ Mario de Valdes y Cocom จะเสนอทฤษฎีว่าราชินี Charlotte คือเชื้อพระวงส์ที่มีเชื้อสายผิวดำ African คนแรกของราชวงศ์อังกฤษ จากการวิเคราะห์ภาพเหมือนของเธอที่แสดงรูปลักษณ์ของคนผิวดำ แต่ยังมีเสียงแย้งหนักแน่นว่า ภาพลักษณ์ที่เข้าใจกันว่ามาจากเชื้อสายลูกผสมนั้น เป็นเพียงสไตล์ทางศิลปะของศิลปินแต่ล่ะคน ซึ่งในยุคนั้น คำว่าภาพเหมือนก็ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องดูเหมือนกับคนโพสแบบเป๊ะๆ ที่จริง ภาพเหมือนยุคโบราณที่แกะรายละเอียดใบหน้ามาได้แบบสมบูรณ์แบบนั้นหายากซะด้วยซ้ำ หากมีนักวาดภาพสิบคน ภาพเหมือนก็ต่างกันไปเป็นสิบเวอร์ชั่น! แม้แต่บรรดาสัตว์เลี้ยงในภาพอย่างน้องหมาน้องแมวก็ดูประหลาดย้อนแย้งกับความรู้สึก เมื่อได้สำรวจภาพของราชินี Charlotte ก็พบว่าไม่ได้ดูแตกต่างจากสตรียุโรปผิวขาวคนอื่นๆ ทั้งผิวขาว pale แก้มสีกุหลาบ สีผมน้ำตาล ไม่ใช่สาวผิวเข้มตาคมผม afro เหมือนกับในซีรีส์ ทำให้นักประวัติศาสตร์บางคนออกมาหักล้างว่า ไม่ควรนำภาพวาดดังกล่าวมาเป็นหลักฐานเพื่ออ้างอิงข้อสันนิษฐาน
นักประวัติศาสตร์หลายคนชี้ว่า แม้จะมีการแพร่ข้อมูลเรื่องราชินี Charlotte คือราชินีผิวดำออกไปเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ โดยที่สื่อดังจะจั่วหัวข้อดึงดูดความสนใจด้วยคำว่า 'ราชินีผิวดำ' แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวขาดข้อมูลหลักฐานเป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งผู้ที่นำเสนอแนวคิดนี้คือ J. A. Rogers นักเขียนอเมริกันเชื้อสายจาไมกันที่ชี้ว่า ภาพเหมือนของราชินีปรากฏลักษณะตรงกับคนผิวดำ นั่นคือ จมูกบานกว้าง และริมฝีปากใหญ่ ตรงกับคำพูดบรรยายรูปร่างหน้าตาของเธอจาก Horace Walpole นักเขียนและนักการเมืองชาวอังกฤษที่ใช้ชีวิตอยู่ในยุคเดียวกัน รวมถึงบันทึกจากแพทย์ที่เคยเข้าเฝ้าราชินี ซึ่งปรากฏความเห็นเหน็บแนมว่า เธอมีใบหน้าแบบ Mulatto อันเป็นถ้อยคำยุคเก่าก่อนที่ใช้เปรียบเทียบผู้ที่มีรูปลักษณ์แบบลูกผสมผิวดำและผิวขาวในเชิงดูหมิ่น แต่เขาได้เข้าวังตอนที่ราชินีอยู่ในวัยไม้ใกล้ฝั่งแล้ว และมาตรฐานความงามในขณะนั้นก็แตกต่างจากปัจจุบันลิบลับ
แต่เมื่อมีการเสาะหาบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่จะยืนยันข้อสันนิษฐานนี้ กลับไม่พบว่ามีสิ่งใดที่ระบุได้ชัดเจนว่า ใบหน้าของราชินี Charlotte มีลักษณะเด่นตรงกับคนดำ และยังมีผู้แย้งว่า คำว่าชาวมัวร์ในยุคนั้นไม่ได้ใช้บรรยายเชื้อชาติ แต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา และไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดเต็มที่ว่า บรรพบุรุษของราชินีคือชาวมัวร์ และยังต้องมองถึงความเป็นไปได้ที่บรรพบุรุษผู้นั้นอาจจะมีรูปลักษณ์ตรงกับชนเผ่าเบอร์เบอร์หรือชาวอาหรับ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นคนแอฟริกันผิวดำเท่านั้น
พ่อแม่เป็นเชื้อพระวงศ์จากอาณาจักรในเยอรมัน
แม้จะมีการไล่ family tree ขึ้นไปว่า และมีคำกล่าวอ้างว่า ราชินี Charlotte หรือเสด็จย่าของราชินี Victoria ได้สืบเชื้อสายมาจาก Madragana Ben Aloandro อนุภรรยาของกษัตริย์ Afonso ที่ 3 แห่งโปรตุเกส และ Madragana อาจจะเป็นชาวมัวร์ หรือเป็นไปได้ว่าจะเป็นคนผิวดำ ซึ่งช่วงเวลาที่พวกเค้ามีชีวิตอยู่นั้นห่างไกลกันถึง 5 ศตวรรษ ผ่านมาแล้วหลายชั่วคน ไม่ได้อยู่ในเครือญาติใกล้ชิดตามที่บางคนอาจจะเข้าใจ
ทฤษฎีเหล่านี้ เต็มไปด้วยคำว่า 'อาจจะ' และ 'สันนิษฐาน' หากได้สังเกตภาพวาดของผู้ให้กำเนิดพระราชินี Charlotte ก็เห็นได้ชัดเจนว่า พวกเค้าคือคู่สามีภรรยาชาวยุโรปผิวขาวในยุคโบราณ ไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่แสดงถึงเชื้อชาติที่แตกต่างไปจากเชื้อพระวงศ์เยอรมันคนอื่นๆเลย
ทฤษฎีเหล่านี้ เต็มไปด้วยคำว่า 'อาจจะ' และ 'สันนิษฐาน' หากได้สังเกตภาพวาดของผู้ให้กำเนิดพระราชินี Charlotte ก็เห็นได้ชัดเจนว่า พวกเค้าคือคู่สามีภรรยาชาวยุโรปผิวขาวในยุคโบราณ ไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่แสดงถึงเชื้อชาติที่แตกต่างไปจากเชื้อพระวงศ์เยอรมันคนอื่นๆเลย
พี่น้องราชินีล้วนแต่มีรูปลักษณ์ผิวขาว ดวงตาสีอ่อนแบบคนยุโรป
เมื่อไล่เรียงเหล่าพี่น้องที่เกิดจากครรภ์เกียวกันกับราชินี Charlotte ดยุคและดัชเชสทั้งหลายต่างก็เป็นฝรั่งตาสีอ่อนทั้งนั้น หากจะยกให้พระราชืนี Charlotte เป็นราชินีผิวดำคนแรกของราชวงศ์อังกฤษเพราะภาพวาดเหมือนของเธอดูคล้ายกับสาวลูกครึ่งผิวดำเป็นบางรูป ก็ดูย้อนแย้งกับภาพพี่น้องพ่อแม่เดียวกันที่ฝรั่งกันถ้วนหน้า เรื่องที่เธอจะมีรูปลักษณ์แบบลูกครึ่งผิวดำโดดเด่นออกมาเพียงคนเดียวในหมู่พี่น้องก็ดูจะฟังไม่ขึ้น
หากทฤษฎีของนักประวัติศาสตร์ที่ชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่เธอจะมีเชื้อสายชาวมัวร์เป็นความจริง แต่นั่นอาจจะไม่ได้หมายความว่า พระราชินี Charlotte เป็นคนผิวดำหรือลูกครึ่ง เพราะลักษณะทางพันธุกรรมต่างจะเลือนหายไปจากการสืบสายเลือดของคนรุ่นหลังที่สมรสกันในหมู่เชื้อพระวงศ์ยุโรป (ที่ไม่มีคนผิวดำเหมือนในซีรีส์) ดังที่ Lisa Hilton ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Insider ว่า
"ถึงข้อสันนิษฐานนั้นเกิดเป็นจริง แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึงห้าร้อยปี คงเป็นไปได้ยากที่รูปลักษณ์ทางพันธุกรรมนั้นจะปรากฏบนตัวเจ้าหญิงในศตวรรษที่ 18"
หรือจะยกตัวอย่างชัดๆ ก็เหมือนกับคนดังจำนวนไม่น้อยที่ประกาศว่า ตัวเองได้สืบเชื้อสาย Cherokee หรือเชื้อชาติต่างเชื้อชาติอื่นๆ แต่พวกเค้ามีรูปลักษณ์ของคนผิวขาวเต็มขั้น ไม่ได้ดูเหมือนลูกผสมแต่อย่างใด พวกเราจึงไม่ได้นับว่าพวกเค้าคือ people of colour เพราะเชื้อสายต่างชาติได้เจือจางลงไปมากแล้ว
แม้ราชินี Charlotte จะไม่ได้เป็น woman of color เหมือนในซีรีส์ แต่นักแสดงไม่ต้องตกเป็นเป้าโจมตีเหมือนกับตัวละครอื่น
เพราะอะไร จึงรอดพ้นจากการถูกจับผิดว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์และ woke จนดูเสแสร้ง ต่างจากผลงานเรื่องอื่นที่ถูกสังคมกดดันเรื่อง race swapping?
- นี่คือผลงานที่ดัดแปลงมาจากนิยาย romance ที่ได้ชื่อว่า ขาวประดุจดอก lily! บรรดาตัวละครเด่นในนิยายมีรูปลักษณ์ของคนขาว และไม่ได้มีภูมิหลังที่หลากหลายทางเชื้อชาติ แต่ผู้ผลิตซีรีส์ได้ประกาศชัดเจนว่าได้สร้างโลกสมมุติในยุค Regency ขึ้นมาใหม่ให้มีความใกล้เคียงกับปัจจุบัน ไม่ใช่การนำเสนอความถูกต้องสมจริงเหมือนกับสารคดี
- ฝีมือการแสดงของอันจัดจ้านของ Golda Rosheuvel และ strory line ที่ตรงกับจริตผู้ชมยุคโมเดิร์น ตัวละครราชินีไม่ได้ปรากฏอยู่ใน Bridgerton ในเวอร์ชั่นหนังสือ แต่ได้รับความนิยมซะจนนักประพันธ์ Julia Quinn ได้ส่งนิยาย Queen Charlotte ตามมา ส่วนซีรีส์ Queen Charlotte: A Bridgerton Story ที่เพิ่ง streaming ไปได้ไม่นานก็ได้รับรีวิวจากผู้ชมค่อนข้างดี ส่วนตัวเห็นด้วยกับแฟนๆที่ชื่นชมว่า เขียนบท romance ได้น่าประทับใจกว่า Bridgerton ซะอีก
- นี่เป็นผลงานที่สร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่การ recast จากเวอร์ชั่นเดิม จะเห็นได้ว่า กระแสต่อต้านการเลือกนักแสดงแบบ race swapping จะเกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงกับผลงานที่เคยมีผู้สร้างและประสบความสำเร็จจนขึ้นหิ้งไปแล้ว ดังกรณีของ Little Mermaid ที่แฟนๆ จำนวนมากแสดงความโกรธเคืองที่ Disney เปลี่ยนแปลงเชื้อชาติของเงือกน้อยที่พวกเค้ายึดมั่นว่าจะต้องเป็นสาวน้อยผิวขาวผมแดงยาวสลวย และยโจมตีว่า ภาพของเงือกน้อยผิวดำผมทรง locs นั้นไม่ต่างจากการทำลายความทรงจำในวัยเด็ก
- ส่วนราชินีสุดแสบสันต์แห่ง Bridgerton นั้นถูกสร้างมาจากการดัดแปลงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ก็จริง และยังมีนักแสดงดังอย่าง Helen Mirren ที่รับบทราชินี Charlotte จนเข้าชิง Oscar มาแล้ว แต่มันก็ไม่ได้เป็นภาพลักษณ์ iconic ที่ไม่เลือนหายจากภาพในความทรงจำ ในสายตาของผู้ชมหลายคน การนำเสนอราชินีลูกครึ่งเป็นไอเดียสดใหม่ที่เข้ากับจักรวาลซีรีส์เรื่องนี้ เพราะผู้สร้างได้แต่งเติมเสริมเรื่องราวการปฏิวัติแนวคิดแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ซึ่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะเอาชนะกำแพงอคติ นั่นคือการสมรสข้ามเชื้อชาติของผู้ปกครองอาณาจักรนั่นเอง
facts น่าสนใจของราชินี Charlotte
- ได้พบหน้ากับสวามีเป็นครั้งแรกเพียงหกชั่วโมงก่อนพระราชพิธีอภิเษกสมรส เป็น Married at First Sight ขนานแท้
- เจอหน้าเจ้าบ่าวในช่วงกลางวัน ยามค่ำก็ต้องสวมชุดเจ้าสาที่ไม่พอดีตัวเข้าพิธีวิวาห์ เนื่องการเดินทางยาวไกลทำเอาผ่ายผอมลง
- ในวังมีบรรยากาศกดดันจากศึกแม่สามีจอมบงการ VS ลูกสะใภ้หัวแข็ง ซึ่งหลายราชวงศ์ก็มีดราม่าทำนองเดียวกันปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์
- เธอเป็นเพื่อนทางจดหมายกับพระราชินี Marie Antoinette แห่งฝรั่งเศส แม้ไม่เคยพบหน้ากัน แต่ก็สื่อสารทางตัวอักษรจนเกิดความความสนิทสนม
- ก่อนที่จะก้าวสู่บัลลังก์เคียงข้างกษัตริย์ George ที่ 3 เธอเป็นเจ้าหญิงวัย 17 ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถเรียนรู้เพื่อสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว (สำเนียงอังกฤษสุดเป๊ะของนางเอกซีรีส์ทั้งสองกลายมาเป็น plot hole ที่แฟนๆทักท้วง เพราะเชื่อกันว่า หากราชินีพูดภาษาอังกฤษสำเนียงเยอรมันก็น่าจะให้อารมณ์สมจริงมากกว่า)
- งานบอลเพื่อเปิดโอกาสให้สตรีชั้นสูงเปิดตัวเข้าสู่สังคมผู้ดีหรือ debutante ball ในยุคราชินี Charlotte เกิดขึ้นจริง หลังจากสวามีผู้สูงศักดิ์ได้จัดงานเลิศหรูนี้เพื่อฉลองวันคล้ายราชสมภพให้กับราชินี และจัดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นประเพญีทุกปีแม้ว่าราชินีจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่มันถูกยกเลิกไปในรัชสมัยของพระราชินี Elizabeth ที่ 2
- ราชินีในซีรีส์อาจจะดูเพลิดเพลินกับการจับคู่และกอสสิปไปวันๆ แต่ตัวตนจริงมีคนสนิทรอบตัวเป็นหัวกะทิในหลายสาขา เช่น นักพฤกษศาสตร์ นักธรณีวิทยา นักประพันธ์นิยายและบทละคร
- ความเจ็บป่วยทางจิตเวชของกษัตริย์ George ที่ 3 ปรากฏชัดเจนขึ้นในปีที่ 4 ของการใช้ชีวิตคู่ แต่พระมารดาได้ปิดบังเรื่องนี้ไม่ให้พระราชินี Charlotte ได้รับรู้ เมื่อเวลาผ่านไปก็ค้นพบความจริงที่ยากจะทำใจยอมรับ
- ผลกระทบรุนแรงจากโรค bipolar ของสวามีทำให้ราชินีหวาดหวั่นจนยืนกรานขอแยกห้องบรรทม แต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น 27 ปีหลังจากใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน
- โรคจิตเวชทำให้สวามีไม่อยู่ในสภาวะที่จะปกครองบัลลังก์ได้อีก ทำให้ George เจ้าชายองค์โตผู้เป็นรัชทายาทเข้ามาทำหน้าที่เจ้าชายผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ก็ทำให้ความสัมพันธ์ของแม่ลูกเกิดรอยร้าว เพราะราชินีเชื่อว่าโอรสตั้งตัวเป็นศัตรูแย่งชิงอำนาจจากพระบิดา และใช้เวลานานเป็นปีๆกว่าจะปรับความเข้าใจกันได้
- ราชินีต้องเผชิญกับความเจ็บปวดลึกล้ำเมื่อกษัตริย์เข้าสู่ความวิปลาสเต็มขั้น ทำให้หลายเป็นสตรีโมโหร้ายและซึมเศร้า ถอยห่างจากการเข้าวงสังคมชนชั้นสูง ไม่ยอมแม้แต่จะเข้าร่วมชมคอนเสิร์ตที่เคยโปรดปรานนักหนา
- ราชินีใช้ชีวิตบั้นปลายเงียบๆ โดยแยกกันอยู่กับสวามี และไม่ยอมพบหน้ากันหากไม่มีคนอื่นอยู่ด้วย เนื่องจากต้องคำนึงถึงความปลอดภัย
- เจ้าหญิงเจ้าชายสิบสามคนจากสิบห้าคนสามารถรอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บจนมีชีวิตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่มีถึงสามคนที่เลือกครองตัวเป็นโสดและไม่มีทายาท
- โอรสธิดาที่เหลือนั้นเลือกคู่ครองที่เป็นเชื้อพระวงศ์เหมือนกัน แต่กลับไร้ทายาทที่รอดชีวิต หรือมีแต่บุตรนอกสมรส จนกระทั่งการถือกำเนิดของเจ้าหญิง Alexandrina Victoria แห่ง Kent รัชทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงเพื่อขึ้นครองราชย์ สืบทอดบัลลังก์ต่อจากกษัตริย์ William ที่ 4 ซึ่งครองราชย์ต่อจากกษัตริย์ George ที่ 4 ผูัที่เคยรับหน้าที่เจ้าชายผู้สำเร็จราชการมานานหลายปีนั่นเอง
- แม้จะให้กำเนิดเจ้าหญิงเจ้าชายรวมกันถึง 15 คน และโศกนาฏกรรมของชีวิตคู่ทำให้จิตใจดิ่งสู่ความมืดมน แต่สุขภาพร่างกายของราชินีถือว่าดีเลยทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อได้เปรียบเทียบกับคนยุคก่อนที่มีชีวิตไม่ยืนยาวนัก ราชินีมีอายุขัยยืนยาวถึง 74 ปี