Jane Birkin: Fashion Icon ที่สร้างนิยามใหม่ให้กับสไตล์ฝรั่งเศส

27 10

ข่าวการจากไปของ Jane Birkin ได้สร้างความอาลัยให้กับแฟนๆ ในประเทศฝรั่งเศส แม้ว่าคนรุ่นหลังอาจจะคุ้นเคยชื่อเสียงเรียงนามของเธอจากกระเป๋า Hermès Birkin ที่โด่งดังก้องโลก แต่นับตั้งแต่ยุค 60s เธอได้โชว์พัฒนาการจาก It girl ที่ผู้หญิงด้วยกันต้องหลงไหลมาเป็น superstar แห่งฝรั่งเศส แม้ว่าช่วงหลังๆ เธอจะเก็บตัวเงียบจากวงการเพราะต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ แต่เส้นทางชีวิตของ fashion icon ผู้นี้ก็เต็มไปด้วยประกายเจิดจรัสของผู้ที่เกิดมาเป็นดาว

มาติดตามเรื่องราวของเธอกับเราได้เลยค่ะ


ตำนานแห่งฝรั่งเศสที่ไม่ใช่ชาวฝรั่งเศส


หากอยากรู้ว่า Jane Birkin มีอิทธิพลต่อชาาวฝรั่งเศสสักเพียงใด  ลองดูจากtweet คำไว้อาลัยจากกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศสที่ได้ยกย่องให้เธอเป็นตำนาน Francophone ตลอดกาล (ผู้ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส)  รวมถึงประธานาธิบดี  นายกรัฐมนตรี นายกเทศมนตรี ก็ไม่เพียงแต่ฝั่งการเมือง  ไม่ว่าจะเป็นสื่อ ศิลปินจากวงการภาพยนตร์ ดนตรี และ fashion ก็ร่วมกันบอกลาเธอพร้อมทั้งส่งคำสรรเสริญกันพร้อมหน้า








แต่เพียงได้ยินชื่อสกุลของเธอก็คงรู้เลยว่า มันไม่ได้ฟังดูฝรั่งเศสเอาซะเลย นั่นเป็นเพราะว่า เธอคือทายาทของนาวาตรีแห่งราชนาวีสหราชอาณาจักรและนางเอกชาวอังกฤษ ชีวิตในวัยเยาว์ของเธอไม่ต่างจากเหล่าชนชั้นกลางค่อนไปสูงของอังกฤษ เรียนในโรงเรียนประจำค่าเทอมสูง และเติบโตขึ้นมาในย่าน Chelsea ที่อยู่อาศัยของผู้มีอันจะกินใน London แต่เธอไม่ได้พุ่งตรงเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยตามค่านิยมในกลุ่มคุณหนู ในวัยเพียง 18 ปี เธอก็ตัดสินใจแต่งงานกับกับนักประพันธ์ดนตรีประกอบหนัง/วาทยากรที่อายุมากกว่า 13 ปี แต่คงเดากันออกว่า ชีวิตแต่งงานที่เกิดขึ้นตั้งแต่เป็นสาววัยทีนจะอยู่ได้ไม่ยืดนัก สามีจากไปกับผู้หญิงอื่น ทิ้งให้เธออยู่กับลูกสาวตัวน้อย ความผิดหวังเกิดเป็นแรงผลักดันให้เธอเร่งหางานเพื่อยืนบนลำแข้งตัวเอง

หลังจากหย่าร้าง ด้วยวัยยี่สิบเศษๆ เธอจึงกลายเป็นแม่ลูกติดโฉมงามที่พร้อมจะโบยบินสู่โลกภายนอกและเริ่มออดิชั่นเพื่อรับบทหนังในอเมริกาและอังกฤษ ผลงานที่ทำให้เธอแจ้งเกิดแบบเดินความคาดหมายคือบทสมทบเล็กๆในหนัง Blow Up จากฉากนู้ดที่เธอได้รับคำท้าจากผู้เป็นสามีว่า เธอคงไม่กล้าจะถอดผ้าผ่อนถ่ายหนังเรื่องนี้ แต่เมื่อตัดสินใจโชว์หวิวจริงๆ กลายเป็นว่า ฉากเปลือยที่แรงสุดๆในยุค 60s ได้เป็นใบเบิกทางให้ผู้กำกับคนอื่นๆทาบทามเธอมารับบทสาวงามสุดเซ็กซี่ แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้เธอก้าวไปสู่จุดความโด่งดังอลังการ


สิ่งที่พลิกชีวิตอาชีพศิลปินบันเทิงย่อมเป็นการตัดสินใจแพ็คกระเป๋าบินข้ามทะเลไปไล่ตามหาความฝันที่ฝรั่งเศส แต่สิ่งที่อาจจะทำให้คุณประหลาดใจก็คือ  ในตอนขณะนั้น เธอยังพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้! นี่ต้นแบบชีวิตแบบ Emily In Parisรึเปล่า???

คุณอาจจะเคยได้ยินมาว่า ความสัมพันธ์แบบคู่รักคู่แค้นที่เกิดขึ้นทางประวัติศาสตร์ระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสจะทำให้  Jane  ต้องพบกำแพงอคติ  เธอเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสจากการพูดตามเทป  สำเนียงแปร่งๆและการใช้ slang โดยไม่รู้ความหมายที่แท้จริงทำให้ผู้คนรอบข้างมองเธออย่างขบขัน   แต่ก็เริ่มเป็นที่นิยมเพราะถูกมองว่าดูน่ารักน่าเอ็นดู
แต่หลังจากฝ่าฟันอุปสรรคจนคว้าบทนางเอกแห่ง Slogan  ผลงานที่นำพา Jane วัย 22 มาพบกับ Serge Gainsbourg ศิลปินบันเทิงผู้ยิ่งใหญ่จากฝรั่งเศส และได้ร่วมขับร้องเพลง Je t'aime... moi non plus ประกอบหนังด้วยกันจนโด่งดังขึ้นชาร์ท (แม้ว่าเนื้อหาวาบหวิวจะทำให้ถูกแบนที่อังกฤษ อิตาลี และสเปน แต่ก็ขึ้นชาร์ทอยู่ดี)   ประตูแห่งความสำเร็จก็เปิดกว้างอย่างน่าตื่นเต้น  แม้ว่าแรกพบ พวกเค้าจะไม่ได้มองว่าอีกฝ่ายมีรูปลักษณ์ที่น่าดึงดูดใจ แต่ระหว่างถ่ายทำหนังได้ไม่นานก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาหลงเสน่ห์กันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น     ไม่เพียงแต่เธอจะกลายเป็นคู่ขวัญกับ  Serge  จากหลากหลายผลงาน   พวกเค้ายังดึงดูดความสนใจด้วยภาพลักษณ์ golden couple   แต่งตัวสวยเท่เป็นแพคคู่เสมอ   ถ้าเปลี่ยนมาเกิดเป็นหนุ่มสาวยุคนี้ followers น่าจะพุ่งเลยทีเดียว
 แต่หลายปีที่ได้ครองรักกันท่ามกลางสปอทไลท์และความสนใจท่วมท้นจากมวลชน   หลายคนมักมอง Janeในสถานะที่คล้ายกับตุ๊กตาหน้ารถ  จาก stereotype สาวสวยอายุน้อยที่ควงคู่กับชายผู้ทรงอิทธิพลในวงการบันเทิง  บ้างก็มองว่า เธอพยายามกอบโกยผลประโยชน์จากความสัมพันธ์รูปแบบ  romantic และ creative  เพราะไม่เพียงแต่ Serge จะเป็นชายคนรักและพ่อของลูก เขายังเป็น mentor ที่ผลักดันให้เธอเป็นดาวดังได้    ทั้งแต่งเพลงดังให้เธอและเลือกเธอมารับบทนำในหนังที่เขากำกับ   แต่ในช่วงเวลาไม่กี่ปี จากสถานะ muse ของ Serge  เธอก็ก้าวออกจากเงาของเขาได้สำเร็จ  ชาวฝรั่งเศสยอมรับในความสามารถของเธอ ไม่ว่าจะเป็นผลงานทางดนตรีและการแสดงก็สร้างความนิยมอย่างสูง  จนบางครั้งอาจจะมีคนลืมไปแล้วว่าเธอเป็นสาวอังกฤษขนานแท้   สำเนียงที่แตกต่างที่ปรากฏระหว่างพูดภาษาฝรั่งเศสถือเป็นเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์   ไม่แตกต่างจากส่วนผสมอันลงตัวของอังกฤษและปารีเซียง เกิดเป็นสไตล์สุดเริ่ดที่ได้ใจคนในโลก fashion  

จากที่ถูกมองว่าเป็นตุ๊กตาที่ต้องคอยเชื่อฟังหนุ่มใหญ่คนรักวัยคราวพ่อ  เธอได้ก้าวออกมาแสดงตัวตนชัดเจน  เธอเข้าร่วมประท้วงเรียกร้องสิทธิ์การทำแท้งและต่อต้านโทษประหาร แม้ว่าในยุคนั้น มันเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงต่อการเสียความนิยม หลังจากเลิกรากับ Serge ไปแล้ว เธอก็ยังร่วมงานกับเขาและส่งผลงานโด่งดังออกมาไม่ห่างหายไป ได้รับรางวัลทรงเกียรติทั้งด้านงานแสดงและดนตรีมาหลายครั้ง  รวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร


Swinging Style

สไตล์ในช่วงยังเป็นสาวรุ่นของ  Jane ถูกจัดในกลุ่ม Swinging London ที่ ก้าวจากความหดหู่ในช่วงสงครามมาเป็นความสดใสมั่นใจ    วัยรุ่นสุดเฟี้ยวยุค 60s ต่างหันมาใส่ minidress และ miniskirt  ระบายเปลือกตาด้วยเส้นสีเข้มเน้นชั้นเปลือกตาให้ดูคมลึก และติดขนตาปลอมใต้เปลือกตาจนดูแบ๊วราวกับตุ๊กตา  

ลุคของ  Jane ในช่วงนัั้นจึงไม่อาจถือเป็นความแปลกล้ำหรือฉีกกรอบ  แต่ด้วยแรงดึงดูทางเพศสูงลิบลิ่วทำให้เธอดูเป็นผู้ใหญ่กว่าวัย   เธอมีริมฝีปากอวบอิ่ม นัยน์ตาชวนฝัน และผมม้าที่เป็นเอกลักษณ์มายาวนานหลายปี  แตกต่างจาก Twiggy นางแบบรุ่นราวใกล้กันที่โดดเด่นด้วยภาพลักษณ์ที่ดูอ่อนเยาว์    ลุคที่เผยถึงความงามแบบไม่ต้องพยายามนี่เองที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสติดอกติดใจมากมาย

เป็นผู้มาก่อนกาลในด้านสไตล์สุดแซ่บ


หลายครั้งที่เราได้ชมภาพ retro style ของคนดังก็ทำให้นึกถึงคำว่า fashion สมัยพ่อแม่(หรือผู้ย่าตายาย)ยังเป็นหนุ่มสาว แต่ลองดูให้ชัดๆ style ของ Jane นั้นตรงกับคำว่า timeless ชัดเจน ตรงกับลุคที่ปรากฏอยู่ในหมู่ it girls ยุคโมเดิร์นที่ได้สร้างเสียงฮือฮาจากชาวเน็ทในปัจจุบัน   เธอใส่ชุด see through ที่ร้อนแรงเผยให้เห็นเนินอกที่ไร้บราปกปิดมาตั้งแต่ปลาย 60s ยุคสมัยที่ผู้คนไม่รู้จัก Instagram หรือการใช้ app แต่งภาพ


ถ้าพูดถึงเทรนด์ crop top คนรุ่นเราก็คงนึกถึงความฮิตของมันในช่วง Y2K และกลายเป็นไอเท็มที่สาวๆต้องสอยมาใส่ในยุคนี้ แต่สำหรับช่วง 60s-70s มันถือเป็นเป็นลุตที่ท้าทายเป็นที่สุด อาจจะมี diva ผู้ร้อนแรงอย่าง Cher ใส่ แต่ก็เป็นแนว disco ที่พรุ้งฟริ้งระยิบระยับจับคู่กับกางเกงขาบาน ดูแล้วสร้าง vibe แบบย้อนยุคชัดเจน เมื่อได้เห็น crop top ของ Jane นั้น ดูไม่คล้ายกับไอเท็มที่หนุ่มสาวเมื่อห้าสิบปีก่อนใส่นัก แต่ถ้าเป็นยุคนี้ พวกเราเห็นเสื้อที่สั้นจนหมิ่นๆจะเห็น underboob กันเกลื่อน social media คงไม่ใช่เกินไปหากจะยกให้เธอเป็น trendsetter ผู้มาก่อนกาล
ชุดที่เธอควงคู่กับหนุ่มคนรัก superstar ไปออกงานนั้นดูสวยแซ่บแหกกรอบจากดารายุคนั้นไปเลย   หากเก็บรักษาได้เป็นอย่างดี ย่อมนำมาใส่อวดโฉมบนพรมแดงแบบไม่ต้องกลัวเฉิ่มเชย


Birkin Basket ตะกร้าสานในดวงใจก่อนกระเป๋าหนัง Birkin จะมาถึง

แฟนๆอาจจะนึกถึงแต่กระเป๋า Hermès    แต่ก่อนหน้าที่มี Birkin bag  ไอเท็มคู่ใจที่สร้างความโด่งดังให้กับเธอคือตะกร้าสานใบย่อมไร้ฝาปิด เธอใช้มันหอบสัมภาระติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง  แม้มันจะไม่ใช่กระเป๋าที่ดู glamorous เข้ากับอีเวนท์สุดหรู   แต่สร้างเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร  สร้างเสียงชื่นชมด้วยพลังงานความสดใส


หลายครั้งหลายครา  Jane  จะแต่งกายเรียบง่าย เพียงแค่กางเกงเดนิมและเสื้อยืดสีขาวก็เอาอยู่  แต่เพราะเธอเลือก fitting ที่เน้นจุดเด่นที่เส้นสายสรีระให้ชวนมอง   ลุคที่ดูธรรมดานั้นเป็นความสวย classic  แม้ว่ากาลเวลาผ่านไปนานขนาดไหนก็ยังเป็นภาพที่ดูดีเสมอ
บางคนอาจจะมองว่า เธอมีรูปร่างที่ผอมเพรียวตามแบบฉบับนางแบบ แต่หากเปรียบเทียบกับ supermodel ในยุคนี้ ส่วนสูง 173 cm นั้นจะอยู่ในกลุ่มนางแบบร่างเล็ก   แต่ความสามารถในการนำเสนอ style อย่างเป็นธรรมชาตินั้นทำให้เสื้อผ้าดูสวยเหมือนอยู่บน runway   เมื่อเพิ่มรอยยิ้มที่ดูน่ารักแบบสาวข้างบ้านเข้าไปก็ลงตัว  ท่ามกลางสาวฝรั่งเศสที่มักถูกครหาว่า พวกเธอมีออร่าความเย่อหยิ่งแบบนางพญาจนดูเข้าถึงยาก  ความสดใสของ Jane นั้นก็ทำให้โดดเด่นสะดุดตา  ดูเป็นสาวซุกซนอัธยาศัยดีที่เผลอตัวอีกทีก็หลงรักไปแล้ว

ความโดดเด่นในรูปแบบ influencer ยุค 70s

แม้ในตอนนั้นโลกยังไม่หมุนเวียนไปพร้อมกับ  social media   แต่แทบทุกภาพของ  Jane นั้นดูเป็นมืออาชีพราวกับเธอสวยเป๊ะทุกอิริยาบถ   แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังภาพเหล่านั้นคือ Andrew  พี่ชายซึ่งมีอาชีพผู้กำกับ และยังรับหน้าที่ตากล้องที่คอยเก็บภาพดีๆของน้องสาวและครอบครัวจนสะสมเป็นอัลบั้มชุดใหญ่ 
 หรือคงพูดได้เต็มที่ว่า มันเหมือนกับการถูก lottery หากคนใกล้ตัวมีฝีมือในการถ่ายภาพและยังยินดีติดตามไปเก็บภาพสวยมานำเสนอออกสื่อ  แตกต่างจากคนดังคนอื่นๆที่อาจจะถูก paparazzi กดชัตเตอร์ตอนที่กำลังทำหน้าเหวอหรือเก็ลช็อทที่ดูน่าอายมาประจาน  แต่ภาพของ Jane นั้นดูสวยแบบมืออาชีพราวกัับกำลังถ่ายแบบนิตยสาร มี energy เดียวกันกับ fashion influencer ยุคนี้เลยล่ะ




ที่มาของกระเป๋า  Hermès Birkin  


สำหรับหลายคน Birkin คือกระเป๋าในฝันที่ปรารถนาจะไขว่คว้ามาครอบครอง จากกลยุทธ์ทางการตลาดที่ขึ้นชื่อลือชาว่า "ถึงจะมีเงินแต่ก็ใช่ว่าจะซื้อหากันได้" ที่เพิิ่มพูนมูลค่า โดยเฉพาะ Birkin ที่ความต้องการในตลาด luxury goods สูงมาก เกิดเป็นเสียงเล่าลือถึงด่านการสร้างความสัมพันธ์กับ SA เพื่อจะซื้อมาหิ้วเริ่ดๆสักใบ ถึงขนาดมีคนแชร์ How To Buy A Birkin Bag เพื่อช่วยให้คนอยากได้กระเป๋าหรูพบกับความสมหวัง แม้จะมีคนที่เล่าประสบการณ์เรื่อง waiting list ที่แตกต่างกันออกไป ถึงขนาดที่คนฟันธงว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นเรื่องของการอยู่ให้ถูกที่ถูกเวลา รวมถึงสื่อดังตัดสินใจส่งนักข่าวแฝงตัวไปเป็นลูกค้าเพื่อพิสูจน์ว่า SA จะมีปฏิกิริยาตอบรับเช่นไร

สร้างตำนานที่ลือลั่นถึงเพียงนี้    ที่มาของกระเป๋าที่ขอใช้นามสกุลของ  Jane Birkin  มาตั้งชื่อนั้นเริ่มจากจุดไหน?
เรื่องราวของกระเป๋าสุดหรูนี้ฟังดูไม่ต่างจากพล็อท meet cute ในหนัง rom-com   ในปี 1984  Jean-Louis Dumas   ผู้บริหารมหาเศรษฐีแห่ง Hermès group  ได้ที่นั่ง first class ข้าง Jane Birkin บนเครื่องบินเพื่อเดินทางจาก Paris ไปยัง  London    ตะกร้าสานของเธออาจจะเกะกะเกินไปที่จะวางใกล้ตัว เธอจึงใส่มันไว้ที่ช่องเก็บของเหนือที่นั่ง แต่เมื่อมันตกลงมาจนของกระจัดกระจายก็ต้องเก็บอย่างทุลักทุเล     ผู้บริหารแบรนด์กระเป๋าอันโด่งดังจึงพูดทีเล่นทีจริงว่า  เธอน่าจะหันมาใช้กระเป๋าหนังที่มีซิปเก็บของเป็นสัดส่วน   แต่เธอก็ได้ให้เหตุผลตรงไปตรงมาว่า  ไม่เคยเจอกระเป๋าหนังที่มีดีไซน์ที่รู้สึกชื่นชอบ  หาก Hermès  สร้างสรรค์กระเป๋าใบใหญ่มีช่องเก็บของที่จุของได้จุกๆและสวย stylish ตรงใจ  เธอจะยอมสละตะกร้าที่เป็น signature ของตัวเองแล้วหันมาหิ้ว Hermès แทน

Dumas ไม่ได้เป็น CEO เพียงเท่านั้น เขายังรับหน้าที่ artistic director เพื่อช่วยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ตีตลาด luxury อีกด้วย เธอฉวยถุงที่ใช้รองรับอาเจียนผู้โดยสารมาแทนกระดาษเพื่อร่างแบบกระเป๋าหนังใบโตสวยเก๋ จุดประกายไอเดียให้กับ Dumas และปีต่อมา กระเป๋า Birkin ก็ได้เวลาอวดโฉมสายตาชาวโลก ก้าวสู่ทำเนียบกระเป๋าที่โด่งดังที่สุดตลอดกาล



กาลเวลาทำให้หลายอย่างเปล่ี่ยนไป แม้เธอจะเป็น fashion icon คนสำคัญของฝรั่งเศสและให้ Hermès หยิบยืมชื่อไปออกแบบกระเป๋าที่โด่งดัง แต่ข้อกล่าวหาจากองค์ PETA ว่า ฟาร์มที่เลี้ยงจระเข้เพื่อถลกหนังมาทำกระเป๋านั้นใช้วิธีทรมานจระเข้ด้วยการกรีดแทงจระเข้ทั้งเป็น เรื่องนี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับ Jane เนื่องจากเธอไม่ต้องการจะถูกเหมารวมผูกติดกับกระเป๋าที่ถูกกล่าวหาว่าสร้างกำไรจากการทารุณสัตว์  จึงออกมาขอร้องให้แบรนด์ดังยุติการใช้ชื่อเธอ แ ต่ Hermès ได้ชี้แจงเคลียร์ข้อกล่าวหานี้จากการยืนยันว่า ภาพที่ PETA ใช้เป็นหลักฐานนั้นเป็นฟาร์มที่ Texas  ไม่ใช่ฟาร์มที่ส่งหนังจระเข้ให้กับ Hermès ทำให้เธอตัดสินใจอนุญาตให้แบรนด์ใช้ชื่อของเธอต่อไป


เมื่ออายุมากขึ้น กระเป๋าใบโตก็ดูจะไม่เข้ากับ  lifestyle ของ  Jane  อีกแล้ว   เธอหันมาพกพาสิ่งของน้อยลง  ส่วนกระเป๋า Birkin  ใบโปรดก็ประมูลออกไปจนได้เงินก้อนโตไปบริจาคผู้ประสบภัยธรรมชาติ  เราจึงไม่ได้เห็นเธอหิ้วกระเป๋าหรูในยุคหลัง

"ผู้ที่มีความเป็นฝรั่งเศสมากที่สุดในหมู่ชนชาวอังกฤษได้ลาลับจากโลกนี้ไปแล้ว Jane B ผู้แสนซุกซน งดงามอย่างไร้เหตุผล และไม่เคยล้าสมัยไม่ว่าจะผ่านไปยุคไหน เสียงกระซิบแผ่วๆของเธอนั้นนั้นจะเป็นไอดอลของเราเสมอไป เธอคือสตรีที่มีจิตใจอันมุ่งมั่นผู้ได้อันตรธานจากพวกเราไปสู่ประตูแห่งพระเจ้า"


Rima Abdul Malak Rima Abdul Malak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส


"เธอคือสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ เธอขับขานท่วงทำนองเพลงด้วยถ้อยคำอันแสนไพเราะด้วยภาษาของพวกเรา Jane Birkin คือ ตำนานแห่งฝรั่งเศส เป็นศิลปินขนานแท้"

Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศส


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE