หนัง Barbie ทะยานสู่ความสำเร็จ แต่ woke จนกลุ่มอนุรักษ์นิยมเดือด

27 11
ก่อนที่ Warner Bros จะทุ่มทุนโพรโมทหนัง Barbie ด้วยการส่งทีมนักแสดงเดินทางข้ามทวีปเพื่อปลุกกระแสด้วยอีเวนท์พรมแดงและการตลาดแยบยล หากมีใครสักคนบอกคำทำนายกับพวกเราว่า  Barbie คือว่าที่หนังพันล้าน สามารถโกยเงินได้มากกว่าหนัง superhero ค่ายยักษ์ใหญ่   บางคนอาจจะมองไม่เห็นความเป็นไปได้ว่า Barbie จะเอื้อมไปถึงความสำเร็จใน scale ยิ่งใหญ่เพียงนั้น จากการวิเคราะห์ว่า   Barbie แตกต่างจาก fantasy ฟอร์มยักษ์เรื่องอื่นๆที่ตสามารถดึงดูดผู้ชมได้ทุกเพศทุกวัย   เพราะเชื่อว่า กลุ่มผู้ชมเป้าหมายของหนัง Barbie คงจะมีแต่เพศหญิงและกลุ่มเพศทางเลือกที่ปลาบปลื้มตุ๊กตาที่โด่งดังระดับตำนาน  ส่วนคนดูผู้ชายก็คงเป็นเป็นประเภทที่จำใจตามคนใกล้ตัวเข้าไปดูด้วย แต่ผู้ชมกลุ่มนี้ไม่อาจจะมีพลังผลักดันเพียงพอให้กลายเป็นหนัง Blockbuster ไปได้  เปรียบได้กับกระแสตอบรับของหนัง romantic comedy  ถึงจะเป็นหนังหวานในตำนานที่ยังตราตรึงใจผู้ชม  ก็คงไม่ต้องพูดถึงความคาดหวังไปถึงรายได้พันล้าน เพราะจะให้ผ่านสามร้อยล้านก็ยังเป็นเรื่องยากเย็น

แต่ Barbie ไม่ใช่หนังหวาน เพียงแต่ได้เห็นชื่อ Greta Gerwig ปรากฏเป็นผู้กำกับ ถึงจะไม่ต้องชม trailer ก็คงพอเดากันได้แล้วว่า นี่คือหนัง fantasy comedy ที่มาพร้อมกับ feminist theme อันเป็นคำจำกัดความที่แสนจะเปราะบางสำหรับคนบางพวก นั่นคือ กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ทนไม่ได้หากจะเห็นสตูดิโอยักษ์ใหญ่สนับสนุนผลงานที่ empower สิทธิสตรี และออกมาโจมตีไม่ยั้งว่า มันคือการสร้าง agenda ที่นำไปสู่ความแตกแยกในสังคมด้วยการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังเพศชาย

แต่กระแสตอบรับจากผู้ชมได้พิสูจน์แล้วว่า live-action เรื่องนี้โดนใจมากแค่ไหน ล่าสุด Barbie โกยรายได้รอบโลกไปแล้วถึง $377 ล้าน น่าจะการันตีความสำเร็จที่งดงามได้แล้ว และยังเหลือเวลาอีกนับเดือนให้พวกเราติดตามว่า เส้นทางสีชมพูที่เปล่งประกายระยิบระยับของหนัง Barbie จะไปได้ไกลสักเพียงไหน






 Barbie  เป็นหนัง  feminist หรือไม่?

"มันเป็นหนัง feminist อย่างจริงแท้ที่สุด" Greta Gerwig ยืนยัน  ซึ่งนั่นคงเป็นเรื่องที่หลายคนคาดหมายไว้แล้ว จากผลงาน  Lady Bird (2017) และ Little Women (2019) ที่เปี่ยมไปด้วยมุมมอง feminist ที่เข้าชิง Oscar  หลายสาขา  ซึ่งเธอได้อธิบายเพิ่มเติมถึงแนวทางของ Barbie ว่า

"แนวคิดเรื่อง feminist ของหนังเรื่องนี้ได้รวมทุกฝ่ายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เปรียบเหมือนกับยามน้ำขึ้น ไม่ว่าจะเรือใหญ่เรือน้อยก็ได้อานิสงส์แล่นฉิวตามกันไปหมด"

Margot เสริมตามมาว่า

"เมื่อหลายคนได้ยินคำว่า feminist ก็ฟันธงไปแล้วว่ามันไม่ได้รวมเพศชายอยู่ด้วย แต่ฉันคิดว่า ไม่ว่าใครที่เชื่อมั่นในความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงก็ควรเป็น feminist เหมือนกัน"
"หากได้เห็น Barbie Land ในช่วงเริ่มต้น บรรดา Barbie ทั้งหลายนั้นอยู่ในจุดสูงสุดและ Ken ไม่ได้มีความสำคัญมากเท่าไร นั่นไม่ใช่ความเท่าเทียม"



แน่นอนว่า เสื้อผ้าหน้าผมของ Barbie ที่ดูเหมือนตรงออกมาจาก collection สุดเริ่ด และการเล่าตำนานสืบทอดกันมาของตุ๊กตาที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกสามารถเติมเต็มจิตใจของแฟนๆ แต่ยังมีความโดดเด่นจากการนำเสนอปัญหาความเหลื่อมล้ำของหญิงชายที่เปรียบเทียบกันระหว่างสองโลก บทอันฉลาดเฉลียวพ่วงมากับอารมณ์ขันแบบเจ็บแสบช่วยถ่ายทอด message สำคัญของหนังได้มีอย่างเสน่ห์

สำหรับตัวเราที่เพิ่งตีตั๋วเข้าชมสดๆร้อนๆ ก็เห็นพ้องต้องกันกับ Greta และ Margot ว่า การผจญภัยไปสู่โลกแห่งความจริงของ Barbie นำเธอไปสัมผัสประสบการณ์ของเพศหญิงที่ถูกกีดกัน ทำให้ความขัดแย้งภายในตัวตนก่อตัวขึ้นมา ถาโถมด้วยแรงกดดันจากการถูกประเมินค่าจนรู้สึกว่าไม่ว่าจะทำอะไรก็ผิดไปหมด จากที่เคยมาดมั่นก็จมปลักกับความไม่เป็นที่ปรารถนา ต้องสับสนทุกข์ใจคอยตั้งคำถามต่อความหมายในการมีชีวิตอยู่ของตัวเอง

ท่ามกลางสีชมพูและความฟรุ้งฟริ้งดูแบบ surreal นี่คือสิ่งที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเข้าถึงได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าคุณจะเป็นสาวสุดเริ่ดแบบ Barbie หรือเป็นคนที่ดูธรรมดาไร้จุดเด่นก็ต้องพบกับเรื่องชวนจิตตกได้เหมือนกัน เป็นผู้หญิงช่างอยู่ยาก!




อีเวนท์รวมคนรัก  Barbie ช่วย  boost  กระแส

ผู้ชมในอเมริกาหลายคนรีวิวบรรยากาศในการไปชม Barbie ว่า ได้พบกับกลุ่มผู้ชมหลากหลายวัย ตั้งแต่เด็กวัยใสไปจนถึงคุณยาย บ้างก็เป็นแก็งค์เพื่อนสาววัยกลางคนที่นัดกันแต่งสีชมพูดูน่ารัก แต่ล่ะคนมีท่าทางตื่นเต้นทีจะได้ชมตุ๊กตาในดวงใจในเวอร์ชั่นคนมีชีวิต    พลัง Barbiemania  ยิ่งพุ่งสูงเมื่อแฟนๆแชร์ภาพการรวมตัวที่สนุกสนานทาง social media    ยกระดับการดูหนังเพื่อความบันเทิงมาเป็นการสร้างความทรงจำดีๆด้วยการสานสายใยความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด


Margot เดิมพันความเสี่ยงเพื่อหลุดพ้นจากสถานะนางเอกหนัง  flop


หลายผลงานที่ผ่านมาของ Margot นั้นต้องพบกับความล้มเหลวในแง่รายได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังประเภท Oscar campaign หรือหนัง superhero ฟอร์มยักษ์ จนมีเสียงครหาว่าเธอเป็นนางเอกหนัง flop จนอาจจะไม่ดึงดูดใจนักสร้างหนังอีกต่อไป ที่ผ่านมา นับตั้งแต่แจ้งเกิดจาก The Wolf of wall street เธอก็ต้องพบความท้าทายเมื่อผู้คนตั้งข้อกังขาว่า เธอมีความสามารถทางการแสดงหรือว่ามีดีแค่ความสวย Jim Carey เคยเล่นมุกใส่เธอกลาง talk show ว่า ช่างน่าอัศจรรย์ใจเหลือเกินที่ Margot มาได้ไกลถึงขนาดนี้ทั้งๆที่เสียเปรียบเรื่องรูปร่างหน้าตา และกล่าวชมแบบประชดประชันว่า เธอช่างมีพรสวรรค์อย่างแท้จริง (สื่อว่าเธอได้ดีเพราะความสวยอย่างเดียว) ซึ่งชาวเน็ทตั้งข้อสังเกตว่า แม้ Margot จะยิ้มรับเหมือนกับไม่ได้ถือสาใดๆต่อคำพูดของพระเอก comedy ชื่อดัง แต่ตาของเธอไม่ได้ยิ้มตามไปด้วย





แม้ว่า Margot จะเคยเข้าชิงรางวัล Oscar มาแล้วสองครั้ง แต่สิ่งที่เธอได้เจอมาก็คงไม่ต่างจาก Barbie พวกเราอาจจะได้เห็นตุ๊กตา Barbie ในสารพัด collection ตามสโลแกน You can be anything. เธอเป็นได้ทั้งนักวิทยาศาสตร์ปราดเปรื่อง ประธานาธิบดี และนักเขียนผู้คว้ารางวัล Nobel แต่ยังมีคนมากมายที่ใช้คำว่า Barbie เปรียบเปรยผู้หญิงในแง่ลบซึ่งตรงกับความคิดเหยียดเพศ บางคนเพียงแค่เห็นสาวสวยก็ประเมินค่าไว้ต่ำ ด้วยอคติว่าพวกเธอเป็นพวก bimbo ที่สวยแต่กลวงโบ๋ ใช้รูปร่างหน้าตาเป็นเครื่องมือไต่เต้าหาความก้าวหน้ามากกว่าไขว่คว้าทำฝันให้เป็นจริงด้วยความสามารถตัวเองจริงๆ

การตัดสินใจรับบท Barbie นับเป็นก้าวที่ท้าทายของ Margot เพื่อแสดงฝีมือให้ผู้ชมประจักษ์ว่า เธอไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะลุคสาวบลอนด์สุดเป๊ะเท่านั้น แต่จะใช้การแสดงใน Barbie เวอร์ชั่นใหม่เพื่อลบคำปรามาสว่าเป็นนักแสดงกลุ่ม Box Office Poison (นักแสดงดังที่เคยมีผลงานหนังทำเงินสูง แต่ในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเล่นหนังเรื่องไหนก็แป้กรัวๆ)


ถูกปรามาสมาตั้งแค่ก่อนเข้าฉายว่าจะล้มเหลวเรื่องรายได้เพราะความ Woke 

นับตั้งแต่ได้ส่ง trailer ดึงดูดความสนใจจากสังคม   หนัง Barbie ของ Greta Gerwig ก็พบกับเสียงวิจารณ์ที่คละกันไปทั้งแง่บวกและลบ   ในแง่ inclusivity ที่ผู้สร้างจัดมาแบบเต็มๆ   เราจะได้พบตัวละคร Barbie หลายเชื้อชาติ   พลัสไซส์ นั่งวีลแชร์    ซึ่งได้สะท้อนตุ๊กตา Barbie ยุคโมเดิร์นมีพัฒนาการจากตุ๊กตาแบบ 'พิมพ์นิยม' ดั้งเดิมนั่นคือสาวงามผมบลอนด์รูปร่างเย้ายวนใจไร้ที่ติจากหัวจรดเท้า กลายมาเป็น Barbie ที่ตอบรับความหลากหลาย เปิดจินตนาการของเด็กๆให้กว้างไกลกว่าเดิม    

แต่เพียงแค่เผยว่ามีนักแสดงทรานส์ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางคนก็ฟันธงแล้วว่า หนังเรื่องนี้พยายามมัวเมาเด็กๆให้มีจิตใจเบี่ยงเบน และสาปส่งว่า ผลของการสนับสนุน queer ย่อมต้องลงเอยกับการถูก boycott จนกลายเป็นหนังแป้ก




เข้าฉายไม่กี่วัน กลุ่มคนอคติต้องเงิบ รายได้ทะยานสร้างประวัติศาสตร์


รายได้เปิดตัวที่อเมริกาเหนือที่สูงถึง $155 ล้านทำให้ Barbie เป็นหนังผลงานผู้กำกับหญิงที่เดบิวท์รายได้สูงสุด และแทนที่คนดูจะเลือกชม Barbie หรือ Oppenheimer ก็จองตั๋วสองเรื่องแบบไม่อาจจะตัดใจจนกลายเป็นกระแส Barbenheimer สุดฮือฮา จากแต่เดิมที่มีคนคาดการณ์ว่า มันอาจจะเข้าข่ายการแข่งขันความนิยมแบบ 'อ่อนแอก็แพ้ไป' แต่คราวนี้ หนังทั้งสองเรื่องกลับปลุกชีวิตให้วงการหนังแบบ 'กอดคอกันดัง' ในขณะที่เป็นที่เป็นผลงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ดูเหมือนว่า ตัวเลขรายได้นี้จะทำกลุ่ม anti ยิ่งไม่พอใจกว่าเดิม พวกเค้าสาปส่งมาตั้งแต่แรกว่า Barbie ควรจะพังยับเยินตรงตามคติ 'Go woke, go broke' เหมือนกับกรณีเบียร์ Bud Light ที่ต้องเผชิญกับวิกฤติยอดขายจนสูญเสีบตำแหน่งเบียร์ที่ขายดีที่สุดในอเมริกา หลังจากดึงตัว influencer ทรานส์มาโพรโมทสินค้า แต่ Barbie ได้ได้เดินตามรอบเบียร์ดัง   จากที่รอเยาะเย้ยซ้ำเติม คนกลุ่มนี้ก็ยิ่งประนามหนัง Barbie อย่างรุนแรงเพราะไม่ต้องการให้ผู้คนเห็นดีเห็นงามกับหนังที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ

ชาวเน็ทบางคนเปรียบเทียบว่า นี่ไม่แตกต่างจากความเกลียดกลัวพลังสีชมพูของ Barbie





Barbiemania มาแรง แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเดือดตามคาด


ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับหนัง Barbie ประนามว่าเป็นหนังที่ล้างสมองคนรุ่นใหม่ด้วยการยัดเยียดความ woke จนผู้คนตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับเพศชาย บ้างก็จิกกัดการตีความตุ๊กตา Ken ในหนังว่า ดูอ่อนแอ ขาดความมาดแมนสมชาย   ทั้งๆที่บทบาทของ  Ken ก็ตามวัตถุประสงค์ของผู้ผลิตชัดเจน   นี่คือตุ๊กตาที่เกิดจากเสียงเรียกร้องว่า Barbie ควรจะมีแฟนหนุ่มเพื่อชีวิตที่ดู complete   แต่ Ken ไม่ได้เป็นสินค้าที่ขายดีใกล้เคียงกับ Barbie  ถูกมองเหมือนกับตัวเสริมที่หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก    Mattel พัฒนา  Barbie ออกมาหลากหลายเวอร์ชั่น เพราะการเล่าเรื่องราวของเธอคือหัวใจของธุรกิจนี้   แต่ Ken ถูกมองเหมือนกับตัวเสริมที่หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก     แม้ว่าจะมีแฟนๆ ทีอินกับ concept คู่รัก  แต่ก็ยังมีคนที่ชื่นชม Barbie  โดยไม่จำเป็นต้องจับ Ken มาอยู่เคียงข้าง 

ประเด็นเพศทางเลือกที่กลุ่มขวาจัดรับไม่ได้



ตัวอย่างคือ Movieguide เว็บวิจารณ์หนังสำหรับชาวคริสเตียนที่ประกาศเตือนไม่ให้พ่อแม่พาบุตรหลานไปดูหนังเรื่องนี้ เพราะให้ความสำคัญกับกลุ่ม LGBTQ

"หนังเรื่องนี้สร้างออกมาได้ย่ำแย่ และทำให้สูญเสียแฟนพันธุ์แท้ไป"
"ทั้งๆที่มีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นรากฐานสนับสนุนอันมั่นคงอยู่แล้ว แต่พวกเค้ากลับไม่ให้ความสำคัญ มีครอบครัวเป็นล้านๆที่จะตีตั๋วเข้าชมหนังแต่ Mattel คนกลุ่มน้อยจากประชากร ซึ่งมีการชี้ชัดว่า นี่คือการละทิ้งรายได้ box office"


คำวิจารณ์นี้ดูจะตรงข้ามกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่า Barbie เวอร์ชั่นนี้ไม่ได้ตรงใจแฟนๆไปหมด แต่ผู้คนที่หลั่งไหลเข้าไปชมจนรายได้พุ่งสูงก็ทำฝ่ายอคติต้องเงิบ ตอนนี้หลายคนหันมาคาดหวังแล้วว่า มันกำลังก้าวสู่ list หนังทำเงินสูงสุดในปีนี้


Barbie   ขายความ queer จริงหรือ??


แต่หากถามว่า หนัง Barbie ขาย queer theme แบบจัดเต็มจริงหรือ? แม้จะมีนักแสดงที่เป็นเพศทางเลือกสามคนที่เข้ามารับบทตุ๊กตาใน Barbieland แต่หนังก็นำเสนอบทบาททางเพศในรูปแบบจับคู่ชายหญิงชัดเจน นั่นคือ ตุ๊กตาหนุ่มหล่อสาวสวย Barbie กับ Ken ที่คบหากันที่ติดอยู่ในภาพความทรงจำผู้คนมาเนิ่นนาน



  • Hari Nef เผยว่า เธอไม่ได้รับเลือกให้รับบทตุ๊กตา Barbie เพราะเป็นทรานส์ แต่เพราะเธอดูเหมาะกับบทนี้ เธอไม่ได้แสดงเป็น Barbie ทรานส์ เพราะ Barbie เป็นตุ๊กตาที่ไม่มีอวัยะเพศ
  • Alexandra Shipp ผู้รับบทเป็น Barbie นักเขียนไม่ได้ให้คำจำกัดความในเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของเธออย่างชัดเจน เพียงแต่ประกาศว่าอยู่ในกลุ่มเพศทางเลือก และไม่ได้ระบุว่า ตัวละครนี้เป็น queer หรือไม่ เพียงแต่บอกว่า ไม่ว่าใครเป็นปลุกความเป็น Barbie ในตัวเองได้
  • Scott Evans (น้องชายของ Chris Evans) ที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์มาตั้งแต่วัยทีนรับบท Ken เท้าสะเอวเอียงหน้าโพสในภาพโพรโมดูมีจริตหนุ่มหวาน ทำให้แฟนตั้งข้อสงสัยว่า เขาอาจแสดงเป็น Ken ในเวอร์ชั่นชายรักชาย แต่ตัวละครเหล่านี้าจะมีความ queer แค่ไหน ก็เป็นเรื่องจินตนาการของคนดู

ที่จริงแล้ว ยังมีแฟนหนังแสดงความผิดหวังด้วยซ้ำว่า Barbie น่าจะ queer ให้ยิ่งกว่านี้ อย่างบรรณาธิการนิตยสาร Parade ก็ได้เผยความปรารถนาให้หนัง Barbie ยอมรับเพศทางเลือกมากยิ่งขึ้น เพราะแท้จริง Mattel เคยผลิตตุ๊กตาที่ออกแบบด้วยแรงบันดาลใจจาก Laverne Cox นางเอกทรานส์ชื่อดังเมื่อปีก่อน รวมถึงออกแบบตุ๊กตา gender-inclusive ในเวลาต่อมา 

แต่สำหรับกลุ่ม anti ที่ยึดมั่นแนวคิดอนุรักษ์นิยม การ cast นักแสดง ที่เปิดตัวว่าเป็น LGBTQ อย่างเปิดเผยในชีวิตจริงมารับบทเป็นตุ๊กตาชื่อดังระดับตำนานก็เป็นเรื่องผิดมหันต์แล้ว








haters สาปได้สาปไป   ส่วนกองเชียร์ลุ้นให้รายได้ไม่แผ่ว



แม้ว่า Fox News นักวิจารณ์และนักการเมืองจะจุดกระแสให้สังคมต่อต้านหนัง Barbie แต่ก็สกัดกั้นความนิยมไว้ไม่อยู่ Rollingstone คือสื่อที่เย้ยหยันโต้กลับไปว่า #BoycottBarbie เป็น campaign ที่ล้มเหลวชวนขำสุดๆ จะลงทุนหาตุ๊กตา Barbie มาหักคอ เผาไฟ โยนทิ้งขยะแบบ Ben Shapiro (นักวิจารณ์การเมืองขวาจัดที่มักปรากฏบนหัวข้อข่าวจากคอมเมนท์และพฤติกรรมสุดโต่ง) หรือรีวิวหนังว่าต่ำตมแค่ไหนออก Youtube ยาวนานถึง 43 นาที ก็คงไม่ส่งผลกระทบต่อความนิยมจนรายได้หนังดิ่งลง แต่เปิดโอกาสให้ชาวเน็ทส่งความเห็นเยาะเย้ยเขาอย่างสนุกสนาน



ตัว Margot พยายามโน้มน้าวใจผู้ใหญ่จากสตูดิโอเพื่อจะได้รับคำอนุมัติให้สร้างหนัง Barbie ว่า นี่จะเป็นผลงานที่สามารถทำเงินไปถึงระดับพันล้าน ซึ่งแม้เธอจะยอมรับว่า อาจจะอยากขายของมากจนพูดเกินจริงไปบ้าง แต่ก็นี่คือการจับคู่ผลงานหนังที่กล้าได้กล้าเสี่ยงไม่ต่างจากหนัง Jurassic Park ปี 1993 ที่จับไอเดียการสร้างหนังไดโนเสาร์มาถ่ายทอดผ่านการทำงานของผู้กำกับวิสัยทัศน์กว้างไกลอย่าง Steven Spielberg ซึ่งเปรียบได้ Greta Gerwig ที่ถูกทาบทามมาทำหนัง Barbie

แต่สำหรับประเทศที่ขึ้นชื่อขึ้นชื่อเรื่องแนวคิดชายเป็นใหญ่ ก็ไม่น่าจะคาดหวังถึงรายได้พุ่งฉิวแซงหน้าหนังเรื่องอื่น   สังเกตได้จากกรณีที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเกาหลี เมื่อ Warner Bro ตัดสินใจลบสโลแกน Barbie is everything และ He’s just Ken ที่เป็น message สำคัญของหนังออกไปเหลือเพียงชื่อของ Barbie กับ Ken เพราะเกรงว่าจะจุดประเด็นความขัดแย้งจากกลุ่มต่อต้าน feminist หลังจากสตูดิโอดังทุ่มทุนจัดอีเวนท์พรมแดงฉายหนังรอบปฐมทัศน์ Barbie ก็ยังทำเงินเปิดตัวอยู่ที่ลำดับ 4 ในเกาหลีเท่านั้น (มองได้ว่า อาจจะเลือกจัด premiere ผิดประเทศ) นั่นอาจจะทำให้แฟนๆ Barbie วิตกว่า หากรายได้ทั่วโลกไม่แรงในทิศทางเดียวกับอเมริกาเหนือก็เสี่ยงที่ต้องเจอปัญหาคล้ายกับ The Little Memaid ที่ทำรายได้แบบหืดขึ้นคอแม้จะเปิดตัวได้ดี

ส่วนตัวเลขรายได้จากประเทศอื่นๆอาจจะไม่ได้ชวนวิตกนัก เช่น ฟิลิปปินส์ที่หนังทำเงินเปิดตััวสูงเป็นอันดับ 2 ของปีนี้ หรือจะเป็นออสเตรเลีย บ้านเกิดของนางเอกที่รายได้เปิดตัวพุ่งแรงเป็นดับหนึ่ง ทำให้รายได้จากการเข้าฉายไม่กี่วันอยู่ที่ $377 ล้าน ถึงจะมีผู้ทำนายไว้ว่า หนังคงไม่แรงปลายจนถีบตัวทำรายได้สูงลิบลิ่วทะลุพันล้านเหมือนกับ The Super Mario Bros. Movie แต่นี่คือผลงานหนังต้นทุนสูงเรื่องแรกของ Greta Gerwig ซึ่งตัวเลขต้นทุนที่ถูกประเมินไว้ที่ $145 ล้าน ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่สูงลิบลิ่วเมื่อเปรียบเทียบกับหนังทุนสร้างมโหฬารที่เข้าฉายไปก่อนหน้าคือ Indiana Jones and the Dial of Destiny และ Mission: Impossible – Dead Reckoning Part One



ส.ว. Republican ถูกเย้ย หมกมุ่นแต่เรื่อง Barbie แทนที่จะไปใส่ใจทำงานเพื่อรัฐตัวเอง

Ted Cruz นักการเมืองพรรค Republican ประกาศสงครามกับหนัง Barbie จากประเด็นความขัดแย้งเรื่องฉากแผนที่ซึ่งปรากฏสัญลักษณ์การอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ของจีนและกล่าวหาว่า นี่คือการล้างสมองเด็กสาวให้หลงเชื่อ propaganda ประจบเอาใจคอมมิวนิสต์จีน    แม้ว่าสตูดิโอชี้แจงว่า ภาพแผนที่ดังกล่าวได้สื่อถึงศิลปะการลากเส้นขยุกขยิกแบบเด็กๆซึ่งปรากฏใน Barbieland  ไม่ใช่การแสดง statement ทางการเมือง   แต่ดูเหมือน ส.ว. ผู้โด่งดังจะหวั่นถึงภัยความมั่นคงจากหนัง Barbie  จนต้องนำประเด็นนี้มาขยี้ใหญ่โตออกสื่อว่า   จีนกำลังควบคุมบงการความคิดของชาวอเมริกันด้วยการใช้ข้อได้เปรียบจากการเป็นตลาดสำคัญของหนัง Hollywood มาบีบบริษัทในอเมริกาให้ร่วมโฆษณาชวนเชื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน  

ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเชื่อถือในทฤษฎีสมคบคิดอันนี้ เขากลายเป็นตัวตลกในโลกออนไลน์เมื่อเพจ anti แชร์วีดีโอล้อเลียนด้วย Barbie doll collection รุ่น Ted Cruz นักการเมืองที่แทนที่จะเอาเวลาไปทำงานเพื่อส่วนรวมให้เกิดประสิทธิภาพ เขากลับเอาแต่เปิด war ฉะใส่หนัง Barbie และยังมีชาวเน็ทอีกเพียบที่ส่ง meme ออกมากันแซวเพื่อประชันความฮา แต่เมื่อบางคนนึกถึงอนาคตบ้านเมือง ก็ละเหี่ยใจจนมีอาการหัวเราะกันไม่ออกอยู่บ้าง



แม้เวียดนามจะแบนหนัง Barbie  เพราะเชื่อว่า ฉากที่เผยภาพ ‘เส้นประ 9 เส้น’ สัญลักษณ์แห่งการอ้างสิทธิของจีนเหนือน่านน้ำส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ซึ่งก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศ และหลายคนมองว่า นี่คือประเด็นเปราะบางที่ไม่ควรปล่อยให้มีความผิดพลาดออกมาได้ แต่ฟิลิปปินส์ได้ตัดสินใจปล่อยให้หนังเข้าฉายต่อไป เพราะยอมรับว่า มันเป็นแผนแนวการ์ตูนที่วาดขึ้นมาใน Barbieland ซึ่งไม่ได้มีอยู่จริง  แต่ก็เรียกร้องให้เบลอภาพเส้นประนี้จากฉาก

 เมื่อได้ชมแผนที่เจ้าปํญหาก็พบว่า ไซส์ของทวีปเอเชียนั้นหายไปครึ่งค่อน  หรือตำแหน่งประเทศอังกฤษที่ตั้งอยู่ใกล้ทวีปเอเชีย  ราวกับเป็นแผนที่ที่วาดขึ้นมาจากความจำของเด็กจริงๆ


นักสร้างหนังกล้าชนกับผู้บริหาร  MATTEL เพื่อจุดยืนที่แน่วแน่ แม้จะกระทบกับภาพลักษณ์ของแบรนด์

ผู้ชมแฟนพันธุ์แท้ยังรอชมการบอกเล่าตำนานของ  Barbie    ไม่ว่าจะเป็นภาพจำลองบริษัท Mattel ผู้ผลิตตุ๊กตามูลค่าหลายพันล้านและเรื่องราวตามประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเสริมแทรกด้วยมุกตลกแบบจิกกัดแสบๆคันๆ โดยไม่ได้อวยกันจนไม่ลืมหูลืมตา   แม้แต่เรื่องอื้อฉาวจากข้อกล่าวหาต่างๆที่ Mattel ต้องเผชิญในหลายทศวรรษมานี้ก็ไม่ได้ถูกหมกเม็ดไว้  ทำให้คนที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์  Barbie ได้เปิดหูเปิดตา    มันได้สร้างความกังวลให้กับผู้บริหารจนต้องบินมาหารือกับผู้กำกับและนักแสดงอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงว่า  การนำเสนอ legacy ด้วยมุกตลกเสียดสีเรื่องราวในด้านลบจะทำลายภาพลักษณ์ของแบรนด์


แต่ตัวทีมผู้กำกับและนักแสดงได้ใช้การเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน เพื่อไม่ให้ความเป็น Barbie ตามวิสัยทัศน์ของตนเองต้องเสียทิศทางไป  นี่ไม่ใช่หนังที่สร้างมาเพื่ออวยอย่างเดียว  แต่ไม่ลังเลที่จะหยิบยกเอาประเด็นข้อขัดแย้งต่างๆที่เกิดจาก Barbie มาตีแผ่แบบไม่ต้องสร้างภาพให้ดูโลกสวยจนต้องกลอกตาใส่     มันอาจจะเป็นหนัง fantasy แต่อาจจะทำให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงความ real ถึงขั้นรู้สึกแทงใจดำ

การตามหาตัวตนเมื่อความสมบูรณ์แบบไม่ใช่คำตอบเสมอไป


Barbie อาจจะเป็นได้หลายอย่าง พวกเธออาจจะเป็นตุ๊กตาเพื่อนรักของเด็กหญิง จากรูปลักษณ์ที่สวยงามและบทบาทของสาวเก่งที่ไปรุ่งในแทบทุกสายงานที่พวกเธอต้องการ แต่ Margot Robbie ก็ยืนยันว่า พวกเค้าต้องยอมรับความเห็นของคนที่ไม่ปลื้ม Barbie เช่นเดียวกัน แม้แต่ตัวเธอในวัยเยาว์ก็ไม่เคยนึกอยากจะเล่นตุ๊กตา Barbie และไม่ได้ใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นเหมือนกับ Barbie เมื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาหนัง Barbie ให้เป็นรูปเป็นร่าง เธอจึงทำความเข้าใจว่า จะต้องนำเสนอแง่มุมที่แตกต่างออกไป แน่นอนว่าพวกเค้าจะต้องคำนึงถึงการให้เกียรติต่อตำนานความเป็นมาของแบรนด์ และพร้อมกันนั้นก็ต้องตระหนักถึงสาเหตุที่ทำให้มีผู้เกลียดชังความเป็น Barbie

แต่เธอก็มั่นใจว่า วิธีทำหนังที่เต็มไปด้วยคุณภาพจะทำให้เป็นหนังที่เข้าถึงผู้คนได้แทบทุกกลุ่ม ไม่ได้เล็งเป้าหมายไปที่แฟนๆของตุ๊กตา Barbie เท่านั้น แม้แต่คนไม่ยอมรับวิถีของ Barbie ก็จะเปิดใจชอบหนังเรื่องนี้ได้เช่นกัน








ภาพความสมบูรณ์แบบของ Barbie สร้างเสียงครหามายาวนานว่า สร้างความกดดันให้กับเพศหญิงด้วยการกำหนด beauty standard ที่ยากจะเป็นไปได้   รวมถึงการป้อนข้อมูลใส่สมองเด็กๆเรื่อง lifestyle เลิศเลอด้วย dream house, dream car, dream date, dream fashion pack และสารพัด dream ที่ถูกมองว่าแทนที่สร้างแรงบันดาลใจให้คิดบวก แต่เป็นการมอมเมาให้ยึดติดกับวัตถุนิยม ให้ความสำคัญกับเปลือกนอกมากกว่าการพัฒนาตัวตนภายใน  ส่งผลกระทบเป็นปัญหา self-esteem ต่ำ หากไม่สามารถใช้ชีวิตตามความคาดคาดหวังนั้นได้  บางคนที่ไม่ปลื้ม Barbie ยังแนะนำด้วยว่า ไม่ควรซื้อหามาให้ลูก เพราะเป็นของเล่นที่สร้างทัศนคติที่ไม่ healthy

เราควรโยนความผิดไปที่ตัว Barbie เพียงอย่างเดียวหรือควรพิจารณาปัจจัยใดร่วมด้วย? หนังได้นำเสนอประเด็นความขัดแย้งนี้ไว้อย่างน่าคิด

สำหรับเราที่ไม่ได้รู้สึกผูกพันหรือปลาบปลื้มตุ๊กตา Barbie เป็นพิเศษ  การชมหนัง  Barbie เป็นเวลาเกือบสองชั่วโมงที่ไม่ได้มีแต่ความเพลิดเพลินจากเรื่องราวเบาสมองเท่านั้น   เปรียบเทียบได้กับอารมณ์ที่ได้อ่านหนังสือ self-help ที่ถูกจริตท่ามกลางโลกสีลูกกวาดในจินตนาการ บรรยากาศที่อัดแน่นด้วยความหวานแหววจนดูสับสนอลหม่านนั้นอาจจะถูกมองแบบไม่ถือเป็นเรื่องจริงจัง   แต่ก็มีจังหวะยิง message ที่ทรงพลังใส่จนรู้สึกจุกกับความเป็นจริงในชีวิตที่ยากจะรับมือ    นับเป็นการตกผลึกทางความคิดจากการเสพความบันเทิงบนจอหนังเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง

หากต้องการอยากรู้ให้แน่ชัดว่า นี่คือหนังที่ยัดเยียดความ woke ชวนยี้ หรือหนังที่ตอบโจทย์เรื่องการค้นหาคุณค่าของตัวเองโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นหญิงหรือชาย
ต้องลองพิสูจน์ด้วยตัวเองสิคะ!


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE