Hot Topic: วงการ K-Pop กับศิลปินวัยผู้เยาว์

19 6
ดราม่าความขัดแย้งภายใน HYBE ค่ายดังแห่งวงการ K-Pop ได้จุดประกายข้อถกเถียงร้อนแรงใน social media  ไม่เพียงแต่จะเพื่อแสดงจุดยืนอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายผู้บริหารที่ตนเองสนับสนุน   หลายคนยังได้มองลึกไปถึงความไม่ชอบมาพากลของอุตสาหกรรมดนตรีแห่งนี้  นั่นคือการคัดสรรหนุ่มสาวอายุน้อยมาปั้นเป็นวงไอดอล   ในบางครั้งไอดอลเพิ่งผ่านพ้นวัยประถมมาเพียง 2-3 ปีก็ได้เดบิวท์แล้ว ทั้งๆที่ความเป็นจริงที่รอพวกเค้าอยู่นั้นไม่ได้มีแต่ชื่อเสียงและเงินทองจากความสำเร็จเท่านั้น  แต่ยังมีแรงกดดันทั้งจากค่ายผู้ปลุกปั้นและชาวเน็ทที่พร้อมจะเข้ามารุมโจมตีฉีกทึ้งเมื่อเห็นสิ่งที่พวกเค้าไม่พึงพอใจ ทำให้หลายคนเกิดความห่วงใยต่อศิลปินผู้เยาว์ที่อาจจะถูกตีคุณค่าราคาเป็นสินค้าและสถานะที่ต้องเผชิญกับความ toxic จากหลายรอบทิศ ส่งผลให้จิตใจเกิดความเสียหายจากความ toxic ที่รุมเร้ามาจากรอบทิศ

ข้อแตกต่างระหว่าง Pop Idols จาก  USA และ K-Pop ที่ชี้ชัดถึงแรงกดดันที่ศิลปินวัยเยาว์ต้องแบกรับไว้


เมื่อใดก็ตามที่ผู้ได้เห็นศิลปินวัยทีนสร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จ คลื่นแห่งความชื่นชมในพรสวรรค์ย่อมถาโถมเข้ามาพร้อมกับความคาดหวังถึงการพัฒนาความสามารถเพื่อให้เปล่งประกายในฐานะมืออาชีพไปอีกยาวนาน แต่ชื่อเสียงโด่งดังและความร่ำรวยที่เพิ่มพูนขึ้นมานั้นกลับกลายเป็นดาบสองคมสำหรับศิลปินหลายคน แม้ว่าจะมีผู้ที่แทบจะเติบโตขึ้นมาในกองถ่ายและทัวร์คอนเสิร์ตจนเคยชินกับแสงสปอทไลท์และเสียงกรีดร้องจากแฟนๆผู้คลั่งไคล้ แต่พวกเค้าหลายคนกลับได้ถ่ายทอดความรู้สึกเจ็บปวดที่ถูกผลักดันให้รีบเป็นผู้ใหญ่เกินวัย ต้องเผชิญกับแรงกดดันที่รายล้อมรอบด้านทั้งๆที่ยังเป็นเพียงวัยรุ่นที่ขาดประสบการณ์ชีวิต หนำซ้ำยังมีพวกหิวโหยผลประโยชน์คอยเข้าหา จิตใจที่เต็มไปด้วยบาดแผลได้นำไปสู่ปัญหา mental health ดังที่ได้เห็นจากตัวอย่างชัดเจนจากpop idols ฝั่ง USA ไม่ว่าจะเป็น Britney Spears, Justin Bieber, Miley Cyrus, Selena Gomez และอีกหลายคน

ศิลปินจากตะวันตกที่เราเอ่ยถึงต่างได้รับอิสระในระดับหนึ่งในการแสดงออกและการตัดสินใจตามสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่มีกฎเหล็กจากต้นสังกัดมาควบคุม พวกเค้าสามารถแสดงความเห็นส่วนตัวตามหลัก freedom of speech มีอิสระในการออกเดทและการถ่ายทอดตัวตนผ่านผลงาน (หรือมีปากมีเสียงในการเลือกในสิ่งที่พวกเค้าอยากจะทำจริงๆ) แม้ว่าจะมีทีม PR คอยดูแลเรื่องภาพลักษณ์ไม่ให้พัวพันกับ scandal มากเกินไป แต่เมื่อต้องรับมือกับข้อกล่าวหาที่สร้างความเสียหาย ก็จะพบว่า เมื่อปล่อยเวลาผ่านไปสักพัก ศิลปินวัยรุ่นเหล่านี้มักรอดตัวจากสถานการณ์ล่าแม่มดในโลกออนไลน์ได้เสมอ ถึงแม้ว่าจะทำผิดพลาดไปจริงๆ หากขออภัยและสัญญาว่าปรับปรุงตัวใหม่ก็จะได้รับการให้อภัย



แต่ถึงกระนั้น เมื่อศิลปินเหล่านี้ต้องวนเวียนอยู่กับพลังงานด้านลบอย่างต่อเนื่อง ความมุ่งมั่นสร้างความฝันให้เป็นจริงก็ต้องแลกกับความเจ็บป่วยทางจิตใจ

นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในอุตสาหกรรมบันเทิงในดินแดนเสรีนิยมฝั่งตะวันตก ขนาดว่าไอดอลดังมีอิสระในการใช้ชีวิตมากกว่าไอดอล K-Pop หลายเท่าก็ยังต้องต้องทุกข์ตรมกันถึงขนาดนั้น หากลองจินตนาการถึงศิลปินในเกาหลีใต้ที่อนาคตทุกอย่างขึ้นอยู่กับการควบคุมของต้นสังกัดและการพิพากษาจากสาธารณชน เด็กๆที่เพิ่งอยู่ในวัยมัธยมจะต้องแบกรับแรงกดดันหนักหนาสาหัสสักเพียงใด?


ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 น้องวอนยองที่กำลังก้าวสู่วัย 14 ที่ร่วมขึ้นแสดงเพลง  Side To Side ของ Ariana Grande ในรายการ Produce 48  ทั้งเนื้อเพลงที่กล่าวถึงการมี sex มากถึงขนาดเดินไม่ตรงและท่าเต้นอันเย้ายวนก็ทำให้โลกออนไลน์ถกเถียงกันอย่างร้อนแรง  กลายเป็นเรื่องตลกร้ายในสังคมที่ผู้คนจำนวนมากยังยึดมั่นกับแนวคิดอนุรักษ์นิยมและคอยจับผิดไอดอลที่แต่งตัว sexy แต่ฝ่ายนักปั้นศิลปินดูไร้ปัญหากับการจับเด็กสาว 14 ปีมาแสดงเพลงที่มีเนื้อหา18+ 
ไม่เพียงแต่ไอดอลสาวใสที่ตกเป็นเป้า sexualise  จองกุกแห่ง BTS ก็เคยได้ชื่อว่าเป็นศิลปินผู้เยาว์ที่ถูก sexualise มากที่สุด  แฟนเกิร์ลหลายคนพร่ำเพ้อถึงหนุ่มใสวัย 15-16 ผ่านแฟนตาซีเรื่องเพศ ทำให้ Army  ต้องออกโรงปกป้องและตั้งยังฉายาให้กับแฟนเกิร์ลที่คิดเรื่องสัปดนกับมักเน่ทองคำว่า "Pedo Noona" (นูนาใคร่เด็ก)  บางคนกล่าวโทษ Big Hit ว่า ใช้ความอ่อนเยาว์ของจองกุกมาเป็นจุดขายเปิดทางให้เกิดการพฤติกรรมจาบจ้วงล่วงเกินจากพวกนูนาที่มักประกาศว่า 'ยอมติดคุก' หรือแสดงความหลงไหลใบหน้าที่ดูอ่อนใสไร้เดียงสาแต่มีร่างกายแบบชายหนุ่มเต็มตัว  กระทั่งร่วมฉลองที่เขาผ่านสู่วัยบรรลุนิติภาวะ  แม้ทุกวันนี้เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว  แต่เมื่อ Army หลายคนมองย้อนกลับไปก็ยังรู้สึกรังเกียจพฤติกรรมนี้ไม่คลาย


หลายคนเชื่อว่า ยิ่งเดบิวท์เร็วเท่าไร ก็ยิ่งเปิดทางสู่ความเป็น superstar ได้เร็วมากขึ้น แต่สิ่งที่อาจจะมองข้ามไปคือความพร้อมทางจิตใจของศิลปินที่ยังวัยวุฒิน้อย แม้ว่าเด็กๆจะทุ่มเทเต็มที่ในการเทรนเพื่อไขว่คว้าความฝันในการเป็นไอดอลชื่อดังระดับโลก แต่โลกแห่งความเป็นจริงที่รออยู่เบื้องหน้าไม่ได้เต็มไปด้วยความอ่อนโยน ไม่เว้นกระทั่งบรรดาแฟนๆที่มอบความรักให้พวกไอดอลอย่างล้นหลาม แต่หากเกิดเหตุการณ์พลิกผันที่กระตุกต่อมความไม่พอใจของ FC ขึ้นมา ความรักที่เคยได้รับอาจจะแปรเปลี่ยนเป็นอาวุธทิ่มแทงไอดอลรุนแรงยิ่งกว่าแอนตี้แฟนซะอีก เพราะฉะนั้น แนวทางปฏิบัติของต้นสังกัดในการปกป้องศิลปินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด แต่กลายเป็นว่า ในหลายครั้ง ไอดอลต้องอยู่ในสถานะไร้ทางเลือก ได้แต่ก้มหน้าก้มตาเป็นเป้าโจมตีอยู่ฝ่ายเดียว เมื่อเกิดเหตุการณ์สุดสะเทือนใจขึ้นมา สังคมก็อาจจะแสดงท่าทีตื่นตัวต่อปัญหา mental health และ cyber bullying ในหมู่ศิลปิน และเรียกร้องให้ค่ายต่างๆ take action อย่างจริงจังเพื่อป้องกันความสูญเสีย แต่เรื่องก็ค่อยๆเงียบหายไปตามวันเวลา

ข้อสงสัย: ค่ายเพลงกำลังหาผลประโยชน์จากการนำเสนอไอดอลผู้เยาว์ด้วยภาพลักษณ์วัตถุทางเพศ (Sexualisation)

การใช้เสน่ห์ทางเพศเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับธุรกิจบันเทิงอย่างแยกกันไม่ออก  ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ผู้คนเปิดใจต่อการแสดงออกทางเพศของศิลปินดารามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นเปิดเผยเนื้อหนัง ท่าเต้นเย้ายวนใจ  หรือจะเป็นเนื้อเพลงที่สื่อถึงเรื่องบนเตียง แต่การขายเรื่องเพศย่อมต้องคำนึงถึงเส้นแบ่งบางๆเรื่องวัยของศิลปิน  ดังกรณีของ New Jeans  เกิร์ลกรุ๊ปมหัศจรรย์ที่สร้างความสำเร็จสุดอลังการ แต่หนึ่งผลงานใน EP เปิดตัวของพวกเธอกลับดึงดูดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ด้วยความหมายที่สื่อไปในทางเพศในเพลง Cookie  ที่ชาวเน็ทยืนยันว่า ฟังยังไงก็เหมือนกับการเชิญชวนหนุ่มมาลองลิ้มชิมรสไอดอลสาวใสมากกว่าขนมนุ่มเนียนหวานฉ่ำตามชื่อเพลง ความหมายเพลงที่เหมือนกับการอุปมายั่วเย้าให้คิดลึกนั้นไม่ได้แตกต่างไปจากเพลงะ  Sweetest Pie  ของ Dua Lipa  นัก แต่ความแตกต่างก็คือ หนึ่งในสมาชิกวง New Jeans  ยังเป็นเด็กสาววัย 14 เท่านั้น  ดราม่าที่เกิดขึ้นทำให้บางคนเชื่อจริงจังว่า  ต้นสังกัดของพวกเธอจงใจปั่นกระแสด้วย  controversy  และเด็กสาวกลุ่มนี้จำใจต้องถ่ายทอดด้านที่เป็นวัตถทางเพศเพราะพวกเธอยังอายุน้อยเกินไปที่จะลุกขึ้นมางัดกับผู้ใหญ่
อีกหนึ่งในความวิตกกังวลของแฟนๆ คือ เรื่องสวัสดิภาพและจิตใจของไอดอลผู้เยาว์ที่ต้องพบปะกับกลุ่มแฟนชายกลางคน  บางคนเชื่อว่า สมาชิก  New Jeans แสดงสีหน้าท่าทางที่ดูระมัดระวังตัวและอึดอัดใจในการพูดจาจ๊ะจ๋ากับผู้ชายวัยพ่อ  แม้การ์ดจะดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้เกิดการถูกเนื้อต้องตัวศิลปิน แต่ก็อดมองในแง่ร้ายไม่ได้ว่า ศิลปินผู้เยาว์ที่มีจุดขายเรื่องความใสซื่อบริสุทธิ์จะกลายเป็นแฟนตาซีของกลุ่มที่หมกมุ่นเรื่องโลลิคอน  และห่วงใยว่า พวกเธออาจจะถูกล่วงเกินจากน้ำมือพวกโรคจิตใคร่เด็ก 
เพียงไม่กี่วันก่อนหน้านี้ น้องใหม่วง ILLIT ที่เดบิวท์มาพร้อมกับดราม่าร้อนแรงติดๆกันจน FC วิตกแทนก็ถูกซ้ำเติมจากสื่อและชาวเน็ทฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ว่า  สอดแทรกสัญลักษณ์บางอย่างใน MV เพลงฮิต  Magnetic ที่สื่อถึงอาการใคร่เด็ก และตราหน้าว่า อุตสาหกรรมเพลงเกาหลีใช้เสน่ห์ทางเพศของเด็กสาววัยรุ่นเป็นวัตถุทางเพศมาแล้วหลายครั้ง และผู้ที่ได้ชม MV นี้ต่างหากกระอักกระอ่วนต่อ message แอบแฝงที่ไม่เหมาะสมนี้
ชาวเน็ทบางคนฟันธงว่า MV เพลงนี้มี reference มาจาก  Lolita นิยายอันลือลั่นของ Vladimir Nabokov อย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่ภาพที่ทำให้นึกถึงปกหนังสือนิยายเรื่องนี้ในเวอร์ชั่นต่างๆ  ยังมีองค์ประกอบอื่นๆที่เชื่อมโยงแฟนตาซีของความใคร่เด็กจากนิยายเรื่องนี้  แม้จะมีคนมองว่า ข้อกล่าวนี้เป็นเพียง conspiracy  ที่ใช้ทำลายชื่อเสียงของไอดอลหน้าใหม่  ยังมีหลายคอมเมนท์ตรงกันว่า แม้เนื้อเพลงและท่าเต้นๆของห้าสาวาจะดูน่ารักน่าเอ็นดู   แต่กลับสัมผัสถึงความ creepy ของ MV และเชื่อว่า ค่ายเพลงรู้เห็นเป็นใจในการนำเสนอไอดอลวัยทีนในด้านที่สุ่มเสี่ยงเพื่อจะปั่นกระแสให้แรงไว้ก่อน

ชาวเน็ตจีนบางคนแซะวงการ K-Pop  แรงถึงขนาดนำไปเปรียบเทียบกับวงการ AV ญี่ปุ่นที่คอนเทนท์แนวโลลิคอนยังสร้างความนิยมสูงลิบลิ่ว!!

เมื่อเอ่ยถึงญี่ปุ่นแล้ว ก็น่าจะทำให้บางคนนึกถึงวงการไอดอลสาวใสที่ใช้วิธีการตลาดเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นชายวัยฉกรรจ์ และเป็นที่จับตามองจากสื่อตะวันตกมานานหลายปี สำนักข่าว BBC ก็เคยส่งนักข่าวไปลงพื้นที่จริงเพื่อสำรวจด้านมืดของวงการไอดอลในประเทศนี้มาแล้ว แต่สำหรับฝั่ง K-Pop ที่สร้างความนิยมไปในหลายประเทศทั่วโลก ย่อมถูกจ้องจับผิดทุกความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เชื่อว่า ต้นสังกัดยักษ์ใหญ่เล็งเห็นแต่ความสำเร็จจากตัวเลข ถึงวิธีการตลาดของพวกเค้าจะทำให้ไอดอลดูแย่ในสายตาคนอื่น แต่ตราบใดที่ยังขายดิบขายดี เสียงโจมตีเรื่อง sexualize ศิลปินผู้เยาว์จะไม่ทำให้สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และคนที่กลายเป็นแพะรับบาปก็หนีไม่พ้นไอดอลนั่นเอง


หนึ่งในการวิเคราะห์ที่น่าสนใจคือ  กระบวนการเทรนเด็กวัยใสเพื่อคัดสรรผู้ที่มีศักยภาพและมีแววว่าจะ 'ขายได้' มากที่สุดมาปลุกปั้นเป็นไอดอลมีความพัวพันกับการใช้อำนาจในทางไม่เหมาะสมของผู้ที่มีสถานะผู้บังคับบัญชา  (Abuse of power)  เพื่อแลกกับโอกาสในการก้าวสู่เส้นทางสายไอดอล เด็กๆหัวอ่อนที่ควบคุมได้ง่ายนั้นอาจจะกลายเป็นเหยื่อของนักปั้นมือทองและนายทุน หลังจากที่พวกเค้าได้เดบิวท์และสร้างชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาแล้ว ก็ได้เผยประสบการณ์อันยากลำบากที่เกิดขึ้นระหว่างที่เป็นเด็กฝึก  หลายคนแม้จะกลายเป็นศิลปินขวัญใจแฟนๆก็ยังถูกรับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจน FC ต้องรวมตัวเรียกร้องให้ต้นสังกัดปรับปรุงการดูแลศิลปินมาแล้วหลายครั้ง


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE