10 ข้อควรรู้คู่นักรีวิว "ลิขสิทธิ์งานออนไลน์" ฉบับเข้าใจง่ายอัปเดตล่าสุด

116 75
เคยมั้ยคะ? ตั้งใจทำรีวิวอย่างดี แต่มีคนเอารูปหรือไอเดียเราไปใช้ งานออกมาดูแล้วคุ้นไม่ไหว!

จีบันเข้าใจดีว่าการทำกระทู้รีวิว มันเหนื่อยม้ากกก! ต้องทำทุกอย่างเองคนเดียว ทั้งคิดไอเดีย ถ่ายรูป แต่งรูป และเขียนรีวิว ซึ่งงานออนไลน์จะโดนก็อปกันได้ง่ายมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำอะไรไม่ได้เลยนะ

บ้านเรามีกฎหมายปกป้องดูแลผลงานที่สร้างสรรค์ของทุกคนนะคะ โดยฉบับล่าสุดที่ประกาศใช้หมาดๆ เลยก็คือ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 5 ปี 2565 ประกาศใช้วันที่ 23 สิงหาคม 2565 นี้ ซึ่งเป็นตัวที่เพิ่มเติมมาจากฉบับปี 2537

ไม่ต้องกลัวจะซับซ้อนค่ะ เพราะเราเลือกสรุปมาให้แล้ว รับรองว่าได้ใช้จริงแน่นอน!

1. Q: เขียนรีวิวคล้ายกัน ผิดไหม?

    A: คัดลอกแบบเป๊ะๆ หรือเหมือนบางส่วนที่สำคัญ ผิดนะ

เนื้อหาเหมือนกันเป๊ะ มีคนก็อปงานเราไปลงที่อื่นแบบเหมือนเป๊ะๆ แบบนี้ผิดแน่นอน


เนื้อหาเหมือนแค่บางส่วน แต่เป็นสาระสำคัญ ที่พิสูจน์ได้ว่าสร้างมาด้วยความพยายามของเราเอง อันนี้ก็ผิดเหมือนกัน


เนื้อหาเหมือนแค่บางส่วน แต่เป็นคำทั่วไป ที่ใครๆ ก็เขียนได้ ไม่ว่าจะเล่าแบบสลับคำ หรือเปลี่ยนมู้ดการเล่า อันนี้ค่อนข้างยากเลยค่ะ ที่จะพิสูจน์ได้ว่าเขาก็อปเราหรือเปล่า ถึงจะไม่ผิดลิขสิทธิ์ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำนะ และถ้าอยากเอาเนื้อหาของใครมาลง ก็ควรขออนุญาตไว้ก่อนดีที่สุด


งานเขียนรีวิว บทความต่างๆ ที่ลงในสื่อออนไลน์ ถือเป็นงานประเภทวรรณกรรม และนับเป็นงานสร้างสรรค์ใน 9 ประเภท ที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครอง ส่วนเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริงทั่วไป เช่น ส่วนผสมสกินแคร์ตามฉลาก ก็ไม่เข้าข่ายงานที่เป็นลิขสิทธิ์ สามารถนำมาใช้ได้

2. Q: รีวิวสินค้า รูปและเนื้อหาเป็นของใคร

    A: ของเราแน่นอน ยกเว้นว่าแบรนด์จ้างหรือให้ของมา

ซื้อเองรีวิวเอง (Real User) ลิขสิทธิ์เป็นของผู้รีวิว ถ้าแบรนด์มาเห็นแล้วเอารูปไปโพสต์ต่อในแอคเคาท์แบรนด์ หรือมีคนเอาไปโพสต์เปิดรับพรีออเดอร์ขายของ แบบนี้ไม่ได้นะ ไม่ว่าใครเอาผลงานไปใช้ ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรีวิวก่อนเสมอ จะยินยอมให้ใช้ได้ฟรี หรือเสียเงินก็แล้วแต่ตกลงกัน

แบรนด์ให้ของ (Given by Brand) ลิขสิทธิ์เป็นของผู้รีวิว ถ้าแบรนด์ส่งของมาให้ ไม่ว่าจะมีข้อกำหนดว่าต้องรีวิวเป็นการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ถ้าเราทำการรีวิวลิขสิทธิ์ก็จะเป็นของแบรนด์ เพราะการให้ของสามารถมองว่าเป็นการจ้างได้เหมือนกัน ของที่ได้เปรียบเหมือนค่าตอบแทน

แบรนด์จ้าง (Sponsored) ลิขสิทธิ์เป็นของแบรนด์ ข้อนี้สิ่งที่สำคัญมากๆ คือการทำ "สัญญาจ้างงาน" ในสัญญาต้องระบุรายละเอียดให้ครบ ว่าผลงานที่รีวิวเป็นของผู้ว่าจ้าง หรือเป็นของผู้รีวิว ถ้าไม่มีการทำสัญญากัน ผลงานที่เราทำก็จะเป็นของแบรนด์ในทันที ทางที่ดีเวลาทำงานร่วมกับแบรนด์ ให้ตกลงกันให้เรียบร้อยว่าผลงานเป็นของเราเท่านั้น และขอบเขตการให้แบรนด์นำไปใช้มีแค่ไหน

ไม่ว่าแบรนด์จะให้ของมาหรือแบรนด์จ้าง ควรตกลงความเป็นเจ้าของผลงานกันก่อนตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะได้เงินหรือไม่ก็ตาม

3. Q: คุยงานผ่านไลน์ ถือเป็นสัญญาไหม

    A: เป็น แต่ทำสัญญาจ้างดีกว่านะ

เดี๋ยวนี้หลายแบรนด์ตกลงจ้างงานผ่านทางไลน์ ไม่ได้ส่งเป็นหนังสือสัญญาจริงจัง ซึ่งแชทไลน์ก็ถือว่าเป็นสัญญาได้ เพราะในกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะทำต้องสัญญาจ้างทำของในรูปแบบไหน

และสามารถใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาที่ชั้นศาลได้ น้ำหนักจะสู้สัญญาจ้างไม่ได้ อยู่ที่ดุลพินิจของศาลว่าจะเชื่อไหม ทางที่ดีทำสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรและมีการลงชื่อจะดีที่สุด

ถ้าทำงานกับแบรนด์แล้วคุยกันแค่ทางไลน์ แคปแชทเก็บเป็นหลักฐานกันไว้ด้วยดีกว่า เผื่อเกิดเหตุการณ์ Leave หรือ Unsend แชทขึ้นมา ที่ไม่อาจคาดเดาได้

4. Q: เอารูปหรือเนื้อหาคนอื่นมาใช้ แล้วให้เครดิตผิดไหม?

    A: ผิดนะ ให้เครดิตไม่เท่ากับเอามาใช้ได้

การเอารูปหรือเนื้อหาของคนอื่นมาใช้ ต้องขออนุญาตเจ้าของก่อนเสมอ ถ้าไม่ได้ขอแต่แปะเครดิตไว้ ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ผิด รวมถึงรูปของแบรนด์ต่างๆ ด้วย แม้ส่วนใหญ่แบรนด์อาจไม่ฟ้องเพราะถือเป็นการช่วยโปรโมตสินค้าก็ตาม แต่ถ้าเขาไม่พอใจก็สามารถฟ้องร้องได้อยู่ดี

ส่วนธีสิส งานวิจัย หรือบทความ ถ้าเอาเรื่องเขามาอ้างอิง ต้องขออนุญาตก่อน สามารถส่งอีเมลหรือติดต่อไปที่เจ้าของโดนตรงได้เลย ถ้าเนื้อหาที่เราเอามาลงเป็นข่าวข้อเท็จจริง ก็ไม่ถือเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ แต่ต้องดูดีๆ ว่ามีความเห็นมากกว่าข้อเท็จจริงหรือเปล่า ถ้ามีเราจะเอาส่วนที่เกินจากข้อเท็จจริงมาใช้ไม่ได้

5. Q: ใส่โลโก้แบรนด์ในรูปรีวิว ผิดไหม?

    A: ไม่ผิด แต่ควรได้รับอนุญาตก่อน

เวลารีวิวเราก็อาจจะใส่โลโก้แบรนด์ไปด้วย ซึ่งการนำโลโก้ของแบรนด์มาใช้จริงๆ ไม่ได้เข้าข่ายความผิดในกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ไม่ว่าจะทำงานร่วมกับแบรนด์หรือรีวิวเองก็ตาม ก็ควรสอบถามแบรนด์ก่อนว่าใช้ได้มั้ย แบรนด์อยากให้ใส่ลงไปหรือเปล่า หรือได้ทำอะไรกับโลโก้อันนั้นมากไปมั้ย

ถ้าใช้โลโก้แบรนด์แล้วรีวิวเกิดความเสียหายหรือแบรนด์ไม่พอใจ แบรนด์ก็สามารถฟ้องกฎหมายอาญา ความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ แต่ก็ไม่เสมอไป ต้องดูที่เนื้อหาที่รีวิว (อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล)


ส่วนถ้าโลโก้เป็นเครื่องหมายการค้าของแบรนด์ด้วย ต้องดูเจตนาการใช้ ถ้าไม่ได้มีเจตนาเอาไปใช้ในการค้า แบรนด์อาจใจดีมองว่าเป็นการช่วยโปรโมตได้ แต่ทางที่ดีถ้าจะใช้ก็ขออนุญาตไว้ก่อนดีกว่านะ


  • ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ให้ดูกฎหมายที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนการค้าแทน

6. Q: จัดวางรูปคล้ายกันผิดไหม

    A: ไม่ผิด การจัดวางไม่เป็นงานที่มีลิขสิทธิ์

การวางรูปแบบ (Layout) ไม่ถือว่าเป็นงานสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางตำแหน่งรูป ข้อความ การตกแต่ง หรือเนื้อหา เช่น จัดวางเป็นรูปสี่เหลี่ยมหลายช่อง หัวใจ วงกลม หรือข้อความล้อมรูป  ถ้ามีคนจัดวางรูปคล้ายเรา ก็ไม่ใช่เรื่องผิด รวมถึงการจัดวางองค์ประกอบภายในรูป หรือตำแหน่งรูปในรูปถ่ายก็ไม่ใช่งานที่มีลิขสิทธิ์

7. Q: ไอเดียเหมือนกัน ผิดไหม

    A: ไม่ผิด ต้องออกมาเป็นชิ้นงานก่อนนะ ไอเดียไม่นับ

ไอเดีย ไม่ว่าจะสตอรี่บอร์ดหรือดราฟต์ โครงเรื่องต่างๆ ยังไม่ถือเป็นงานสร้างสรรค์จะมีลิขสิทธิ์ได้ต่อเมื่อออกมาเป็นชิ้นงานแล้วเท่านั้น 

ตัวอย่าง เราโพสต์ในไอเดียการทำกระทู้รีวิวใหม่ไว้ในเฟซบุ๊กตัวเอง แต่วันรุ่งขึ้นดันมีคนทำกระทู้เหมือนที่เราโพสต์เฟซไป อันนี้ไม่ผิดนะคะ เพราะเรายังไม่มีชิ้นงานออกมา การโพสต์เฟซบุ๊กเป็นเพียงแค่ไอเดีย ไม่ว่าจะจดไอเดียใส่โน้ตในสมุดหรือคอมไว้ แต่ยังไม่เป็นชิ้นงานออกมา ก็ถือว่ายังไม่มีลิขสิทธิ์นะ

แต่ถ้าไอเดียที่โพสต์ไว้มีการเล่าอย่างละเอียดว่าจะทำงานยังไง เช่น บรีฟอย่างละเอียด ถ้ามีการให้รายละเอียดงานยาวพอ ก็อาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้


แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบังเอิญเหมือนกันไม่ได้ ถ้างานที่ออกมามีไอเดียคล้ายกัน แม้ว่าต่างคนต่างทำ ศาลอาจตัดสินให้ทั้งคู่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการคัดลอก ถ้ามีการพิสูจน์ได้ว่าแต่ละคนสร้างสรรค์ออกมาเองจริงๆ


ในทางกลับกัน ถ้าเราเขียนกระทู้ไว้แล้ว แต่ไม่ได้เผยแพร่ งานนั้นก็จะมีลิขสิทธิ์แล้วทันที แม้จะยังไม่มีใครเห็นก็ตาม

8. Q: แปลหรือรวบรวมเนื้อหามาจากต่างประเทศ ผิดไหม

    A: ไม่ผิด ถ้าแปลมาจากข่าวข้อเท็จจริง

การแปลข่าวหรือเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง (Fact)
  • การแปลตามตัว: ไม่ผิดลิขสิทธิ์ สามารถทำได้ แต่ถ้าเราแปลผิด หรือสื่อความหมายให้เจ้าตัวถูกมองในแง่ลบ อันนี้เขาอาจจะฟ้องเราได้ ทั้งนี้แปลแล้วห้ามเอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์
  • การแปลพร้อมเสริมการวิเคราะห์ หรือเรียบเรียงเอาใหม่ของผู้แปล: สามารถทำได้และถือเป็นงานสร้างสรรค์ของเรา ที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครอง
การแปลบทความ หนังสือ งานวิจัย หรือธีสิส 

ต้องขออนุญาตผู้เขียนก่อนเสมอ ถ้าเจ้าของภาษาต้นฉบับอนุญาตให้เราแปลได้ ผู้แปลก็จะมีลิขสิทธิ์ในงานแปลของตัวเอง แต่ถ้าไม่ได้รับอนุญาตให้แปล ก็เท่ากับผิดกฎหมาย ถึงงานแปลนั้นก็จะไม่มีลิขสิทธิ์ แม้จะหยิบมาแปลนิดๆ หน่อยๆ ยังไงก็ถือว่าผิด

แต่นี่คือแค่กฎหมายไทยเท่านั้น ถ้าจะแปลเนื้อหาจากต่างประเทศ เราสามารถดูกฎหมายลิขสิทธิ์ของอนุสัญญาเบิร์นได้ ว่ามีประเทศไหนเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญานี้บ้าง ก็จะได้เอามาใช้ในขอบเขตที่เหมือนกันได้ หรือลองดูก่อนว่าเว็บเขาเขียน Disclaimer หรือ Copyright ไว้ว่ายังไง แต่ทางทีดีก็ติดต่อผู้เขียนที่เราต้องการเอางานของเขามาแปลเลยดีกว่า การทำซ้ำ ดัดแปลง ต้องได้รับอนุญาตก่อนเสมอ


ทั้งนี้ถ้าแปลผิดความหมาย แม้จะขออนุญาตก่อนแล้ว แต่ทำให้คนในข่าวเสียหาย ก็จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ (ต้องดูเจตนาว่าตั้งใจดัดแปลงมั้ย) 


9. Q: พิสูจน์ยังไงว่าเป็นผลงานเราจริง ไม่ได้ก็อปใคร

    A: แสดงที่มาของงาน หรือเวลาบันทึกในคอมพิวเตอร์

ถ้ามีคนมากล่าวหาว่าเราก็อปงาน หรือเราต้องการพิสูจน์ว่างานชิ้นนี้เป็นของเราจริงๆ หลักฐานที่จะสามารถพิสูจน์ได้คือที่มาของงานนั้น เช่น โครงเรื่อง ไอเดีย ดราฟต์ สตอรี่บอร์ดของงานชิ้นนั้น หรือจะเป็นบันทึกการประชุมก็ได้ ว่ามีการคิดงานนี้เกิดขึ้นจริง

แต่ถ้าไม่มีอะไรเลย ก็สามารถใช้เวลาในคอมพิวเตอร์พิสูจน์ได้ ว่างานของเราเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือเผยแพร่ไปเมื่อไหร่ เพื่อยืนยันว่าเราเผยแพร่ก่อน หรือทำหนังสือรับรองความเป็นลิขสิทธิ์ให้กับตัวเองไว้ก่อนก็ได้ แม้งานนี้เราทำเองไม่มีใครรู้ แต่เราก็สามารถรับรองตนเองได้นะ

  • ไม่ได้มีระบุชัดเจนในกฎหมาย

10. Q: เมื่อมีคนก็อปรูปหรือเนื้อหารีวิว ทำยังไงดี

      A: แจ้งเว็บนั้นให้เอาลง รอการตอบกลับ แล้วไกล่เกลี่ยหรือฟ้องร้อง

1. แจ้งให้เว็บไซต์หรือโฮสติ้งนั้นให้เอาลงเป็นลายลักษณ์อักษร ตามช่องทางต่างๆ ที่ติดต่อได้ เช่น การอินบ็อกซ์ หลังไมค์ เพื่อเก็บหลังฐานว่าเราแจ้งแล้ว

2. รอให้ทางเว็บต้นทางตอบกลับมา ว่าจะดำเนินการเอาลงภายในกี่วัน

3. ไกล่เกลี่ยกับคู่กรณี (ทำหรือไม่ก็ได้) จะใช้บริการไกล่เกลี่ยของกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือไกล่เกลี่ยกันเองก็ได้ ถ้าไกล่เกลี่ยแล้วยังไม่สำเร็จ ไม่ยอมความกัน ก็ฟ้องร้องได้เลย

*** ข้อมูลเหล่านี้นำมาจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

หากสงสัยเรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิด สามารถติดต่อได้ทางสายด่วน 1368

สำหรับทางจีบันดอทคอม ในฐานะออนไลน์คอมมูนิตี้ที่ชวนเพื่อนๆ มาแชร์คอนเท็นต์เกี่ยวกับความสวยความงามและการดูแลตัวเอง เข้าใจมากๆ ว่ากว่าจะเป็นหนึ่งกระทู้เนี่ย ต้องใช้ความพยายาม ใช้แรงกาย แรงใจกันมากขนาดไหน

ดังนั้นเราต้องเป็นครีเอเตอร์หนึ่งเดียวในชิ้นงานของตัวเองเท่านั้น! ซึ่งถ้าเพื่อนๆ เจอกระทู้ละเมิดลิขสิทธิ์ก็แจ้งจีบันได้ตามลิงก์ด้านล่างเลยค่า จีบันพร้อมซัพพอร์ตเพื่อนๆ ทุกคนเพื่อปกป้องสิทธิ์และไม่อยากให้มีการละเมิดสิทธิ์ โดยได้อัพเดทช่องทางการร้องเรียนตามกฎหมายที่อัพเดทใหม่ และส่วนอื่นๆ ก็พร้อมช่วยเหลือเต็มที่เลยนะ <3

>>ขั้นตอนการแจ้งกระทู้ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ Jeban.com<<