เรื่องเล่าของเจ้าหญิง Victoria แห่ง Wales: สตรีสูงศักดิ์ผู้เชิดชูความโสด
candy 34 13เรื่องราวความรักจากนิยายคลาสสิคหลายเรื่องอาจจะบอกเล่าถึงความซาบซึ้งตรึงใจของหนุ่มสาวจากสังคมสูงผู้ดีที่จับมือฝ่าฟันอุปสรรคจากรอบข้างจนได้พบกับความสุขสมหวังในตอนจบ แต่มันก็ยังได้บอกเล่าถึงทัศนคติของผู้คนในยุคประวัติศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับสถานะทางสังคม การเงิน และการส่งเสริมเกียรติยศของวงศ์ตระกูล
ยิ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ในยุโรป การแต่งงานถูกรวมเป็นหนึ่งในนโยบายทางการเมืองเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของอำนาจของราชอาณาจักรและรักษาสายเลือดบริสุทธิ์ที่สูงส่ง การสมรสในหมู่เครือญาติถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติและจำเป็นต่อความมั่นคงของราชวงศ์ บรรดาเจ้าหญิงเจ้าชายจะถูกกำหนดให้เสกสมรสกับเชื้อพระวงศ์จากต่างประเทศ บ้างก็เป็นขุนนางระดับสูงที่สืบทอดบรรดาศักดิ์เก่าแก่และมีฐานะมั่งคั่ง
แต่เมื่อย้อนไปในรัชสมัยที่สมเด็จพระราชินีนาถ Victoria ได้ปกครองราชวงศ์ British เจ้าหญิงโฉมงามผู้เป็นหลานสาวของพระองค์ได้ตัดสินใจแน่วแน่ว่า จะไม่เสกสมรสออกไปจากราชวงศ์ Windsor เหมือนกับพี่น้อง แม้ว่าจะมีบรรดาชายหนุ่มที่มีสถานะสูงส่งชั้นแสดงเจตจำนงเพื่อสานความสัมพันธ์ และเธออาจจะมีโอกาสก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ราชินีหรือจักรพรรดินีของประเทศใกล้เคียง
เหตุใดเจ้าหญิงผู้นี้จึงยึดมั่นกับสถานะโสดตลอดชีวิต มาติดตามกับเราได้ค่ะ
เจ้าหญิง Victoria Alexandra Olga Maria คือพระธิดาลำดับที่ 4 ของเจ้าชาย Albert เจ้าชายแห่ง Wales ผู้เป็นรัชทายาทของสมเด็จพระราชินีนาถ Victoria และเจ้าหญิง Alexandra แห่ง Denmark (ในภายหลังเมื่อเปลี่ยนรัชสมัย เจ้าชาย Albert ขึ้นครองราชย์โดยใช้พระนามว่า กษัตริย์ Edward ที่ 7) เหล่าคนใกล้ชิดจะเรียกเจ้าหญิงด้วยชื่อเล่นที่น่ารักว่า Toria และเป็นพระธิดาเพียงผู้เดียวไม่เคยเสกสมรส จนทำให้มีผู้สนใจตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวเลือกในการใช้ชีวิตของเธอ เพราะพวกเราต่างก็คุ้นเคยกับชีวิตของเจ้าหญิงที่ได้รับการทาบทามจาก suitors* โพรไฟล์เยี่ยม และต้องพิจารณาคัดสรรสามีที่สมบูรณ์แบบอย่างถี่ถ้วน แม้จะมีสิ่งบ่งบอกชัดเจนว่า การสมรสหลายครั้งหลายคราไม่ได้มีพื้นฐานจากรักแท้ แต่เป็นความเหมาะสมตามมาตรฐานค่านิยมสังคมของยุคนั้น เจ้าหญิงที่สืบเชื้อสายเจ้าแผ่นดินย่อมถูกเปรียบเป็นดอกฟ้าที่มีแต่บุรุษที่คู่ควรเท่านั้นที่อาจจะมีสิทธิ์เอื้อมถึง
เจ้าหญิง Victoria ที่มีเสียงเลื่องลือว่างดงามที่สุดในบรรดาเจ้าหญิงพี่น้องทั้งสาม รวมไปถึงบุคลิกภาพและความสามารถในศาสตร์ต่างๆ มีคำบรรยายไว้ว่า ในบรรดาพี่น้องทุกคน เจ้าหญิง Victoria โดดเด่นกว่าใคร เธอเฉลียวฉลาดที่สุด มีอารมณ์ขัน และมีความเป็นมิตรไม่ถือตัว เธอเป็นสาวสวยรูปร่างสูงเพรียว ดวงตาสีฟ้าสดใส รักสัตว์และมีงานดิเรกที่น่าสนใจ เห็นได้ชัดว่า คุณสมบัติเหล่านี้ฟังน่าดึงดูดใจราวกับนางเอกในนิยายดัง ในขณะที่พี่สาวอย่างเจ้าหญิง Louise ทั้งขี้อายและเงียบขรึม ส่วนเจ้าหญิง Maud น้องสาวคนรองก็มีนิสัยทอมบอยจนมีชื่อเล่นมาดแมนว่า Harry แต่พี่น้องทั้งสองคนก็ตัดสินใจเสกสมรสกับบุรุษมีบรรดาศักดิ์ในวัยยี่สิบเศษๆ (นับว่าแต่งช้าสำหรับสุภาพสตรีในยุคนั้น) ฝ่ายเจ้าหญิง Victoria มี่ถูกมองว่าเนื้อหอมมากที่สุดกลับบอกปัดคำขอแต่งงานจากชายหนุ่มสูงศักดิ์หลายคน
*suitors ผู้ที่แสดงเจตนาชัดเจนว่าต้องการเกี้ยวพาเพื่อการสมรส
เสด็จแม่หวงมาก!
บางคนวิเคราะห์ไว้ว่า สมเด็จพระราชินี Alexandra ที่ได้ก้าวสู่บัลลังก์ของมเหสีเคียงข้างกษัตริย์ Edward ที่ 7 เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนรู้สึกเข็ดหลาบกับพฤติกรรมฉาวโฉ่เรื่องความประพฤติผิดทางเพศของสวามีนับตั้งแต่ยังมีสถานะเจ้าชายแห่ง Wales อันเป็นที่มาของฉายาฉาวโฉ่ว่า Dirty Bertie จึงไม่ต้องการให้ธิดาที่หวงแหนต้องพบกับชะตากรรมแบบเดียวกัน จากในช่วงเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวที่มีสิทธิ์เต็มที่ในการเลี้ยงดูโอรสธิดา จนสมเด็จพระราชินีนาถ Victoria วิจารณ์โอรสและชายาผู้มาจาก Denmark ว่าไม่อบรมให้เจ้าหญิงเจ้าชายยึดมั่นในระเบียบวินัยอันเคร่งครัด และปล่อยให้มีอิสระจนซุกซนเกินไป แต่ตัว Alexandra (ที่ในตอนนั้นยังมีบรรดาศักดิ์เจ้าหญิงแห่ง Wales จนกระทั่งสวามีขึ้นครองราชย์) รู้สึกยินดีที่ได้ทำหน้าที่แม่อย่างเต็มที่และเป็นไปได้ว่าพยายามปกป้องเจ้าหญิงเจ้าชายววัยเยาว์จากความกดดันหนักอึ้งของราชสำนัก แต่กลับถูกมองว่า ยึดติดกับลูกๆมากจนไม่สามารถปล่อยวางให้พวกเค้าใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ แม้พ่อแม่ในยุคนั้นจะวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งหากบุตรหลานยังไม่มีคู่ครองแม้จะผ่านวัยที่เหมาะสม แม้ว่าเจ้าหญิงจะกลายเป็นสาวโสดตลอดชีวิตซึ่งอาจจะเรียกเสียงครหาจากภายนอก แต่ Alexandra หวงและห่วงลูกๆซะจนไม่ต้องการให้พวกเค้าห่างกาย บางคนเชื่อการเรียกร้องจากพระมารดามีอิทธิพลต่อ Victoria จนเธอปฏิเสธเชื้อพระวงศ์หนุ่มรูปงามจากต่างแดนไปติดๆกันหลายคน แม้แต่ suitor ที่พระมารดาสนับสนุน เธอก็มิได้เหลียวแล
แต่แม้ว่าคนนอกจะฟันธงว่าเธอถูกบีบบังคับให้เลือกเส้นทางสาวโสด แต่มีรายงานว่า เธอเคยต้องตาต้องใจเจ้าชาย Christian รัชทายาทแห่ง Denmark ผู้เป็นศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งเป็นผู้เข้าชิงที่ได้รับแรงสนับสนุนจากพระมารดาของเธอที่มาจากราชวงศ์ Denmark เช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่า หากเธอยอมรับคำขอแต่งงานก็จะก้าวสู่ตำแหน่งว่าที่ราชินีแห่ง Denmark ทันที อีกหนึ่งคู่แข่งที่พยายามทาบทามเธอไปเป็นเจ้าสาวคือกษัตริย์ Carlos ที่ 1 แห่ง Portugal แต่คำเรียกร้องให้เธอเข้าสู่นิกายโรมันคาทอลิกที่ราชวงศ์ British ไม่เห็นชอบก็ทำให้คว้าน้ำเหลวมาตั้งแต่เริ่ม
ร่ำลือว่า แม้จะเป็นเจ้าชายที่มีคุณสมบัติสูงทะลุมาตรฐานเจ้าบ่าวของราชวงศ์อังกฤษ แต่สมเด็จพระราชินี Alexandra จะไม่มีทางยอมรับการเกี่ยวดองกับเชื้อพระวงศ์จาก Prussia หรือมีเชื้อสาย German เป็นอันขาด เนื่องมาจากความเกลียดชังฝังใจหลังจาก Prussia ทำสงครามกับ Denmark ที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพระองค์ แม้ที่ผ่านมานั้น สังคมอังกฤษจะมองว่าฝรั่งเศสคือศัตรูคู่แค้นและ Prussia นับเป็นพันธมิตร และญาติพี่น้องของสวามีจะเสกสมรสกับเชื้อพระวงศ์ German หลายคน เช่น เจ้าหญิง Victoria ธิดาคนโตของสมเด็จพระราชินีนาถ Victoria ได้เสกสมรสกับเจ้าชายรัชทายาทแห่ง Prussia และภายหลังกลายมาเป็นราชินีแห่ง Prussia แต่สมเด็จพระราชินี Alexandra กลับแสดงออกถึงการต่อต้านชนชาตินี้แบบไม่ไว้หน้าใคร จนมีเกิดข้อสันนิษฐานว่า หนึ่งในนโยบายที่เข้มงวดในการพิจารณาถึงคู่ครองของลูกๆนั้นจะตัดรายชื่อผู้ที่มาจาก Germany ไปได้เลย ตัวเลือกของว่าที่สวามีของเจ้าหญิงทั้งสามจึงแคบลงไปอีก
ปฏิเสธไมตรีจากบุรุษสูงศักดิ์มาแล้วหลายคน
หลายคนคงได้ยินมาก่อนว่า การหาคู่ของเชื้อพระวงศ์นั้นก็วนเวียนอยู่กับเครือญาติ ดัง สมเด็จพระราชินีนาถ Victoria ที่ได้สร้างตำนานรักตราตรึงใจกับเจ้าชาย Albert ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้อง มาถึงเชื้อพระวงศ์รุ่นหลานก็ดูไม่แตกต่างกันนัก แกรนด์ดยุค Nicholas Alexandrovich, Tsarevich of แห่ง Russia ลูกพี่ลูกน้องของเจ้าหญิง Victoria (ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็น จักรพรรดิ Nicholas ที่ 2 แห่ง Russia) ก็เคยสารภาพว่าตกหลงรักญาติผู้พี่เข้าเต็มเปา เขาเยินยอเธอว่าเปรียบเหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่น่าอัศจรรย์ใจ คุณสมบัติอันยอดเยี่ยมของเธอนั้นดึงดูดใจถึงขั้นที่ไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้ หลังจากที่ได้ฟังคำพูดพร่ำเพ้อของว่าที่จักรพรรดิ น้องชายของพระองค์คือแกรนด์ดยุค Michael Alexandrovich และเจ้าชายอีกคนที่เป็นสหายกัน คือ แกรนด์ดยุค Alexander Mikhailovich ก็หันมาหลงไหลเจ้าหญิง Victoria กันพร้อมหน้าพร้อมตา แต่แม้ว่าเจ้าชายจาก Russia ทั้งสามจะหล่อเหลามีเสน่ห์และยังเป็นผู้ที่อยู่ลำดับต้นๆในการขึ้นครองราชย์ แต่เจ้าหญิงก็ไม่ได้ตอบรับไมตรีที่นอกเหนือจากความเป็นมิตร
อีกหนึ่งตัวเลือกเจ้าบ่าวที่สังคมชั้นสูงจับตามองคือ Archibald Primrose เอิร์ล Rosebery นักการเมืองหนุ่มที่ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เขาได้ร้องขอเพื่อพบปะเจ้าหญิงที่คฤหาสน์ Marlborough หลายครั้งและแสดงท่าทีชัดเจนว่าปรารถนาตัวเจ้าหญิงที่เข้าสู่วัยยี่สิบตอนปลายมาเป็นภรรยา แต่ดูเหมือนว่าเขาไม่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคของชนชั้นไปได้ ฝ่ายพ่อแม่ของดอกฟ้าที่เขาหมายปองไม่ได้ประทับใจความคิดเรื่องลูกเขยเจ้าที่มีอาชีพนักการเมือง ซึ่งไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด แม้แต่คำขอแต่งงานจากกษัตริย์ประเทศใกล้เคียงก็ยังเคยคัดค้านมาแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงต้องถอยไปตามระเบียบ
แม้จะมีผู้ให้ข้อมูลว่า สมเด็จพระราชินี Alexandra ได้ตัดใจให้ธิดาสองคนเสกสมรสและเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยตัวเอง แต่เจ้าหญิง Victoria ได้เลือกรักษาความโสดไว้โดยไม่มีทีท่าเปลี่ยนใจ จนเกิดเป็นความเชื่อว่า เจ้าหญิงให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้เป็นแม่ยิ่งกว่าความสุขของตัวเอง นักประวัติศาสตร์บางคนชี้ว่า ความยึดติดในธิดาคนโปรดของสมเด็จพระราชินี Alexandra มาจากความเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจที่ค่อยๆสั่งสมตัวเมื่อต้องทุกข์ระทมจากพฤติกรรมของสวามีที่มีความสัมพันธ์ผิดศีลธรรมกับหญิงมากหน้าหลายตา รวมถึงโอรสคนเล็กคือเจ้าชาย Alexander ที่สิ้นใจหลังจากลืมตาดูโลกไม่นาน ซ้ำเติมด้วยโรคระบาดที่พรากชีวิตของเจ้าชาย Albert Victor โอรสคนโตที่เคยได้รับการวางตัวเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ในวัยเพียง 28 ปี เจ้าหญิงจึงปรารถนายิ่งยวดที่จะเป็นให้กำลังใจให้กับพระมารดา เธอไม่อาจจะตัดใจปล่อยให้ผู้ให้กำเนิดต้องเผชิญกับความเจ็บปวดอย่างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย ถึงจะได้รับคำขอแต่งงานจากเจ้าชายรูปงามหรือขุนนางผู้ร่ำรวย ก็ลงเอยด้วยความผิดหวังของฝ่ายชาย
เรื่องราวของคุณแม่ที่ยึดติดลูกสาวจนไม่ยินยอมให้แต่งงานนั้นไม่ได้เป็นเรื่องแปลกล้ำในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ยุโรป ที่ใกล้ตัวที่สุดคงหนีไม่พ้นสมเด็จพระราชินีนาถ Victoria ที่ไม่อนุญาตให้เจ้าหญิง Beatrice ธิดาคนสุดท้องเสกสมรสกับเจ้าชาย Henry แห่ง Battenberg ทั้งๆที่เธอหลงรักเขาหมดใจ ทั้งคู่ต้องพยายามนับปีเพื่อทำให้พระองค์ยอมรับ และในที่สุดก็ได้รับการอนุมัติให้สมรักสมรส แต่มีข้อแม้สำคัญคือ เจ้าหญิงและสวามีจะแยกตัวไปอาศัยที่อื่นไม่ได้ และสร้างครอบครัวในเขตรั้ววังเดียวกันเท่านั้น เจ้าหญิงยังต้องทำหน้าที่คล้ายกับเลขานุการส่วนตัวให้กับพระมารดาดังเดิม ห้ามแม้แต่การเดินทางครั้งละนานๆ เพราะพระองค์ไม่สามารถรับได้ไหวหากไม่มีธิดาคนโปรดอยู่ใกล้ๆ เมื่อใช้ชีวิตคู่ไปได้สิบปีก็เกิดข่าวลือว่า นอกจากต้องใช้เขยเล็กของสมเด็จพระราชินีนาถ Victoria เบื่อหน่ายที่ใช้ชีวิตไปวันๆไม่ได้รับมอบหมายงานใดๆให้รับผิดชอบ จนทำให้เขาร้องขอเพื่อไปทำหน้าที่ทหารต่อสู้ในสงครามที่ Africa ตะวันตก แต่กลับต้องพบกับจุดจบจากการติดเชื้อมาลาเรียในปีเดียวกัน เจ้าหญิง Beatrice ที่กลายเป็นม่ายตั้งแต่วัยสาวก็ยิ่งโฟกัสไปที่กับสมเด็จพระราชินีนาถ Victoria ที่มีพระชนม์ชีพยืนยาว และแน่นอนว่า เจ้าหญิง Victoria ผู้เป็นหลานสาวจะถูกเปรียบเทียบว่ากำลังก้าวตามรอยของเสด็จอาที่ปรนนิบัติข้างกายพระมารดาจนสิ้นลมหายใจ
แกรนด์ดัชเชส Olga Alexandrovna แห่ง Russia ผู้มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องได้วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจครองตัวเป็นโสดของเจ้าหญิง Victoria ไว้ว่า เรื่องนี้ทำให้เธอรู้สึกสงสารเห็นใจเป็นอย่างยิ่งเพราะดูราวกับเป็นการทำหน้าที่นางกำนัลผู้เชื่อฟังทุกคำพูดของพระมารดา และเธอยังเปรียบเทียบกับชีวิตของตนว่า ตัวเธอลุกขึ้นมาต่อต้านพระมารดาที่คอยบงการเรื่องการเลือกสวามีแต่ "สำหรับ Toria มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย"
เจ้าหญิง Victoria อาจจะถูกมองว่าใช้ชีวิตภายใต้เงาของพระมารดาที่โด่งดังด้วยภาพลักษณ์ราชินีผู้โดดเด่นด้านความงามและรสนิยมทางแฟชั่น แต่อีกมุมหนึ่ง สมเด็จพระราชินี Alexandra ต้องเผชิญกับปัญหาทางจิตใจ, ร่างกายที่อ่อนแอลงหลังจากการการคลอดบุตรถึงหกครั้งและปัญหาทางการได้ยินที่เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ จนอาจจะเป็นสาเหตุที่หันมายึดธิดาคนกลางเป็นที่พึ่งพาทางใจ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เจ้าหญิง Victoria จะรู้สึกต่อต้าน มีการเปิดเผยบันทึกของเจ้าหญิงที่ต้องเข้าร่วมอีเวนท์ร่วมกับพี่สาวเพียงสองคนไว้ว่า
"มันช่างเป็นความรู้สึกที่ย่ำแย่ที่ต้องมางานนี้โดยไร้ท่านแม่ที่รักอยู่เคียงข้าง"
ค้านกับการตั้งข้อสันนิษฐานว่า เจ้าหญิงต้องกล้ำกลืนฝืนทนต่อการเรียกร้องบงการของสมเด็จพระราชินี หากมองอีกด้านหนึ่ง การเลือกดำเนินชีวิตสุขสบายตามความคุ้นเคยอยู่แล้วไม่ได้ฟังดูเลวร้าย แม้ยุคนั้นจะมองสาวโสดราวกับเป็นของมีตำหนิที่ไม่มีใครเลือก แต่เจ้าหญิงไม่จำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับราชสำนักใหม่หากต้องเสกสมรสเข้าสู่ราชวงศ์อื่นหรือตระกูลขุนนางที่มี lifestyle แตกต่างจากรั้ววัง การเลือกคู่ที่ไม่ได้ศึกษาเรียนรู้กันในระยะเวลาพอเพียงและพิจารณาจากสถานะที่คู่ควรมิใช่ความรักถือต้นเหตุของชีวิตคู่ที่พังทลายมานักต่อนัก ดังที่เจ้าหญิงบางคนที่ต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรมใช้ชีวิตไร้สุขหลังแต่งงานและไม่สามารถขอหย่าร้างเพื่อเริ่มชีวิตใหม่ได้เพราะขัดต่อค่านิยมในขณะนั้น
หลังจากเจ้าหญิง Victoria คอยอยู่ดูแลพระมารดามาเกือบหกทศวรรษ ความตายก็ได้พรากทั้งสองจากกัน เมื่อสิ้นพระมารดาไปแล้ว เธอได้เลือกใช้ชีวิตในบั้นปลายที่สงบสุขในเมืองเล็กๆที่ Buckinghamshire ไม่ต้องหนักใจกับความกดดันและดราม่าภายในราชวงศ์ เธอยังได้ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ทั้งถ่ายภาพ ทำสวน ฟังดนตรี เลี้ยงสัตว์และงานการกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้คนในชุมชนอยู่ไม่ขาด สิบปีต่อมา เธอก็หมดอายุขัยตามพระมารดาไปในวัย 67 ปี จนทำให้หลายคนมองว่า เธอได้ใช้ชีวิตอย่างมีอิสระจริงๆเพียงไม่นานนัก
เจ้าหญิงได้ท่องเที่ยวไปต่างประเทศกับสมเด็จพระราชินีหลายครั้ง เธอมีความรักใคร่สนิทสนมกับกษัตริย์ George ที่ 5 ผู้เป็นพี่ชายจนต้องคอยติดต่อสนทนาทางโทรศัพท์กันทุกวัน เธอยังเป็นเพื่อนที่ดีกับอดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยขอเธอแต่งงานและเชื้อเชิญเขามาเป็นหนึ่งในแขกร่วมสังสรรค์ที่คฤหาสน์ในชนบท แท้จริงแล้ว การทำหน้าที่เพื่อนคู่ใจที่คอยดูแลบุพการีอาจจะไม่ได้เป็นภาระหนักอึ้งจนเกิดความหมองหม่นดังที่หลายคนเชื่อว่าเธอติดอยู่ในบ่วงของการทำหน้าที่ลูกมาทั้งชีวิต แต่หากมองอีกมุม มันอาจจะเป็นอิสระอีกรูปแบบหนึ่งของสาวโสดผู้สูงศักดิ์ที่ไม่ถูกจำกัดเรื่องการใช้ชีวิตในสังคมชายเป็นใหญ่ในยุคนั้น
พวกเราที่ใช้ชีวิตในยุคโมเดิร์นต่างก็รับรู้แจ่มแจ้งแล้วว่า การแต่งงานไม่ใช่การหวังผลทางธุรกิจที่สามารถการันตีว่าจะต้องลงเอยด้วยความสมหวังกันทุกคู่ ส่วนผู้ที่เลือกความโสดก็สามารถใช้ชีวิตที่ได้รับการเติมเต็มจนมีความสุขไม่แพ้คนมีคู่ครอง จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า Toria เจ้าหญิงหญิงเพียบพร้อมผู้นี้ก็จะตัดสินใจเลือกครองตัวเป็นโสดด้วยแนวคิดแบบก้าวหน้า และไม่ได้เหี่ยวเฉาทั้งชีวิตเพราะพระมารดาห้ามแต่งงาน?
The End