ซึมเศร้า ไม่ได้แปลว่าเป็นบ้า และไม่ใช่คนไม่รู้จักคิด

5 5

เพื่อน ๆ คงได้เห็นข่าวการเสียชีวิตของน้องสาววีเจจ๋า ณัฐฐาวีรนุช ทองมี โดยเนื้อข่าวดังกล่าวบอกว่าน้องสาวของวีเจจ๋าตัดสินใจจบชีวิตตัวเองโดยการกระโดดลงจากที่จอดรถชั้น 10 ซึ่งหลาย ๆ คนอาจยังไม่รู้จักโรคซึมเศร้าอันเป็นต้นตอของเรื่องนี้ดี วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจโรคนี้กันแบบง่าย ๆ

ยาวหน่อยนะ

ทำความเข้าใจง่าย ๆ

  • ซึมเศร้าเป็นโรคในกลุ่มอาการทางจิตเวช เป็นซึมเศร้าไม่ได้แปลว่าเป็นบ้า ไม่ใช่คนอ่อนแอ ไม่ใช่เรื่องแย่ มีใครห้ามตัวเองไม่ให้เจ็บป่วยได้เลยตลอดชีวิตบ้าง? ก็เหมือนกับร่างกายที่เป็นหวัดใหญ่ ไม่สบายต้องกินยา ซึมเศร้าก็เช่นกัน จิตใจเราไม่สบาย เป็นหวัดก็ต้องไปรักษา

  • ผู้ที่เป็นซึมเศร้าต้องรักษาด้วยการพบแพทย์เพื่อเยียวยาหัวใจและรับยารักษาระดับสารเคมีในสมอง 

  • โรคซึมเศร้ามีชื่อภาษาอังกฤษว่า Major Depressive Disorder มีอาการซึมเศร้าที่กินระยะเวลาที่ยาวนานติดต่อกัน และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น งานการไม่คืบหน้า(รู้สึกตนเองด้อยค่าไม่อยากทำอะไร) ซึ่งจะต่างกับความเครียดในชื่อภาษาอังกฤษว่า Stress ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นแล้วสักพักก็หายไป

  • บางคนบอกว่าเราเจอเรื่องราวที่แย่มากกว่านี้ แต่เรายังไม่เห็นคิดทำร้ายตัวเองเลย อยากให้ทำความเข้าใจนะคะว่าผู้ที่เป็นซึมเศร้า เมื่อสารเคมีในสมองมันลดลง มันส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท เขาจะไม่สามารถคิด มอง หรือตัดสินใจทำอะไรได้แบบในสถานการณ์ทั่วไป ลองจินตนาการดูว่าเราอดนอนมาหลายชั่วโมงแล้ว เราง่วงมาก ๆ แต่เราจะไม่นอน ไป ๆ มา ๆ เราก็เริ่มเบลอ คิดช้า ฟังคนพูดไม่เข้าใจ เพราะว่าเราง่วง สมองอยากหลับแล้ว ถึงเวลานั้นเราสั่งสมองเราให้รีเฟรช สดใส เหมือนตอนนอนเต็มอิ่มคงเป็นไม่ได้หรอก

  • ดังนั้นเราจึงไม่ควรเปรียบเทียบความเครียดของตัวเอง หรือเหตุการณ์แย่ๆที่ตนเคยเจอมากับผู้อื่น ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นหรือไม่เป็นซึมเศร้าก็ตาม การรับรู้ และสถานการณ์ที่แต่ละบุคคลเจอมาย่อมแตกต่างกันอยู่แล้ว คำพูดของเราอาจเป็นเหมือนหนามทิ่มแทงความรู้สึกผู้อื่น

  • โรคซึมเศร้าไม่สามารถรักษาได้ด้วยการเข้าวัดปฏิบัติธรรม บางคนปฏิบัติธรรมแล้วทรุดหนักกว่าเดิมก็มี ส่วนคนที่จิตใจดีขึ้นก็มี ซึ่งถ้ามันเป็นอย่างแรกคงไม่ดีแน่ ดังนั้นอย่าไล่ผู้ที่เป็นซึมเศร้าไปวัดฟังธรรมเลย พาเขาไปพบจิตแพทย์เถอะค่ะ แล้วเราจะได้คนที่น่ารัก สดใสร่าเริง กลับคืนมา

  • การพบจิตแพทย์ไม่ได้แปลว่าเราเป็นบ้า เราสภาพจิตไม่ปกติ เราแค่ไม่ค่อยสบาย เราอยากหายจึงจำเป็นต้องไปหาหมอ ทุกคนก็มีโอกาสไม่สบายได้พอ ๆ กัน

  • ผู้ที่เป็นซึมเศร้าไม่ได้ต้องการให้คนทั้งโลกมาสงสาร หรือเดินเข้ามาแล้วบอกโอ๋นะคนดี เขาไม่ได้เรียกร้องความสนใจ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ไม่มีใครอยากป่วยหรอก ขอแค่ความเข้าใจพวกเขาและไม่คิดซ้ำเติมก็เพียงพอแล้ว (ความเข้าใจที่ไม่ใช่ไปบอกเขาว่าเราเข้าใจนะแก ไม่ใช่ อย่าทำ อาจไปกันใหญ่ได้ ไม่ต้องพยายามแกล้งเข้าใจ แค่อย่าซ้ำก็พอ) ทุกวันนี้เห็นคอมเมนท์ในแฟนเพจเฟสบุ๊คแล้วน่าใจหายมากเหลือเกิน ไม่เข้าใจ ไม่รู้จักโรคนี้ ก็อย่าไปซ้ำเติมครอบครัวของผู้เสียชีวิต หรือคนที่กำลังเป็นโรคนี้อยู่และยังมีชีวิตอยู่นะคะ

ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโรคและอาการของผู้ที่เป็นซึมเศร้า (จากรพ.รามาเลย ชัวร์สุด)

https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017

ปี 2558 ประเทศไทยมีผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสูงถึง 4,104 คน(ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ)

มีทั้งที่ทำสำเร็จ และไม่สำเร็จ คิดเป็นอัตราส่วน 6.31 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูง

เชื่อหรือไม่ มากกว่า 90% ของผู้ที่คิดฆ่าตัวตาย คิดทำร้ายตัวเอง ไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

คือผู้ที่อยู่ในกลุ่มโรคของซึมเศร้า

ตัวเลขนี้ให้ความรู้สึกน่าใจหายคล้าย ๆ กับอาการเจ็บป่วยทางร่างกายด้วยโรคต่าง ๆ การเป็นซึมเศร้า ไม่ใช่การเกิดภาวะเครียดธรรมดา ไม่ใช่เป็นแค่ความรู้สึกแล้วเดี๋ยวก็หายไป ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าจะติดอยู่กับความรู้สึกเศร้า ติดกับปัญหาที่เป็นของเราเอง ความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่อยากมีชีวิต

โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคที่รักษาไม่ได้ รักษาไม่หาย การรักษาของแพทย์จะกินระยะเวลานาน แต่มันจะค่อย ๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยสามารถกลับมาร่าเริงแจ่มใสได้ ทั้งนี้นอกเหนือจากการรักษาของแพทย์แล้ว บุคคลรอบข้าง หรือบุคคลทั่วไปที่บังเอิญเจอข้อความของกันและกันในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้

หยุดได้ไหม ถ้อยคำที่ว่ากล่าวผู้ป่วย"เรื่องแค่นี้ทำไมต้องคิดสั้น...ผมนี้เจอปัญหามากมายยังอยู่ได้เลย"

"ไปเข้าวัดฟังธรรมสิจะได้ไม่ฟุ้งซ่าน จะได้คิดแต่เรื่องดี ๆ"

"ทำไมเป็นคนอ่อนแอ" "ไม่รักพ่อแม่แล้วหรือยังไง คิดถึงคนที่รักเราบ้างสิ"

ในมุมของผู้ที่เป็นซึมเศร้า เมื่อพบการตอกย้ำจากสังคมหรือบุคคลรอบข้าง อาทิ ปัญหาเล็กแค่นี้ทำไมแก้ไม่ได้ ดูคนนั้นคนนี้สิ เขาเจอปัญหามากกว่าเราอีก ทำไมเราไม่สู้ คำพูดประมาณนี้อาจไปทับถมความรู้สึกของผู้ป่วย เป็นการตอกย้ำว่าเขาไม่มีค่า เรื่องแค่นี้ทำไมจัดการปัญหาไม่ได้ ซึ่งเท่ากับว่าเราไปขุดปมความรู้สึกไม่ดีให้มันทวีคูณยิ่งขึ้นไปอีก

ผู้ป่วยไม่ได้อยากป่วย ไม่ได้เรียกร้องความสนใจ ไม่ได้อ่อนแอ การตัดสินใจกระทำบางสิ่งบางอย่างเกิดจากภาวะความผิดปกติของสารเคมีต่อระบบประสาท (ย้ำรอบที่ 500) เขาจะคิดหรือตัดสินใจทำบางอย่างที่แตกต่างจากความคิดในภาวะปกติ

สมมติว่าคุณติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้ไอจามทั้งวัน เราใส่มาสก์คาดปากแล้วเดินไปบอกคุณว่าอย่าไอสิ อย่าจามสิ ทำตัวแบบคนสบายดีได้ไหม เรารำคาญ เราไม่ชอบ ทำไมเรายังอยู่ได้ ไม่เห็นไอเลย ทำไมคุณต้องไอละ ไม่ไอได้ป่ะ ทำตัวใหม่สิจะได้ไม่ต้องไอ

ผู้ที่เป็นซึมเศร้าก็เช่นกัน ขึ้นชื่อว่า'โรค' ขึ้นชื่อว่า'ไม่สบาย' มันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม จะไปบอกว่าที่เขาคิดมันผิด ต้องคิดใหม่ มันก็ไม่ได้อยู่แล้ว เหมือนให้คนที่ติดเชื้อโรคหยุดจาม จะได้หายเป็นปกติ ถามจริง หยุดจามแบบอั้นไว้นี่เขาจะหายเลยเหรอ บอกเขาแบบนี้แล้วเขาจะหายโดยไม่ต้องไปหาหมอ?

เราอาจกินผักมาก ชอบกินผลไม้ประเภทส้ม สับปะรด ทำให้เราติดหวัดใครยาก แต่ไม่ใช่ทุกคนบนโลกที่ชอบกินผัก และสามารถกินผลไม้ได้แบบเรา เช่นเดียวกับเรื่องที่เราประสบพบเจอ ยังไงก็ไม่มีทางเหมือนกับเขา เพราะตลอดเวลที่ผ่านมา เราดำเนินชีวิตกันคนละแบบ กินคนละอย่าง อวัยวะในร่างกายของเราก็ต่างกัน ระบบการทำงานก็ต่างกัน เอาง่าย ๆ ทำไมบางคนกินมากถึงยังผอม ก็เพราะระบบเผาผลาญเขาดีกว่าไง มันจึงเปรียบเทียบไม่ได้เลยว่าเราเจอเรื่องร้ายแรงกว่า (จริงหรือ?) หรือเราเจอเรื่องเลวร้ายเยอะแยะแต่ทำไมเราไม่คิดฆ่าตัวตาย ยังไงมันก็ไม่เหมือนกันหรอก

โรคซึมเศร้าคือไข้หวัดใหญ่ของจิตใจร่างกายเราเป็นหวัดได้ฉันท์ใด จิตใจเราก็เป็นซึมเศร้าได้ฉันท์นั้น

ซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ การไปพบจิตแพทย์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์หยุดซ้ำเติมผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าและครอบครัวกันนะคะ

คำพูดหลายๆคำพูด ทั้งการเปรียบเทียบตนเองกับผู้ป่วย การสั่งสอนผู้ป่วยให้คิดแบบตนเอง

มันเป็นการทำร้ายผู้อื่น คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าคำพูดของคุณจะไปแทงใครจนเจ็บเข้า

ไม่มีใครอยากไม่สบายหรอก...

ขอบคุณข้อมูลจากคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

             เพจดราม่าแอดดิก, ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ

และขอบคุณที่เพื่อน ๆ จีบันที่จะไม่เป็นส่วนหนึ่งในการซ้ำเติมผู้ป่วยค่ะ

อยากสอบถามข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับการเข้าพบจิตแพทย์สามารถเม้นท์ได้เลยนะคะ ยินดีตอบค่ะ

สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1667 ก็ยินดีให้คำปรึกษาน๊าาาา


Cindie

Cindie

สวัสดีค่ะ นี่ " ซินดี้ " เอง
ชอบทำรีวิวให้ทุกคนได้อ่านกัน
❤ Makeup, Skincare, Movie, Food ❤
ติดตามเม้าท์มอยเพิ่มเติมกันได้ทางทวิตเตอร์

@LONELYCINDIE หรือเมล์มาที่ ✉
lonelycindie@gmail.com ขอบคุณค่ะ

FULL PROFILE