Diversity In Asia's Entertainment Industry -การเปิดรับความแตกต่างในวงการบันเทิงเอเชีย

15 1
วงการบันเทิงนั้นสามารถสะท้อนค่านิยมของสังคมได้อย่างชัดแจ้ง ท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลกที่คนมากมายกำลังเชิดชู diversity  บางสิ่งที่ถูกมองเป็นเรื่องต้องห้ามหรือเสี่ยงต่อแรงต่อต้านนั้นกำลังถูกเปลี่ยนโฉมจากการยอมรับความแตกต่าง บางประเทศในเอเชียเคยถูกมองว่ามักยึดติดความคิดแบบหัวเก่าแบบบีบคั้นให้คนที่แตกต่างต้องแอบซ่อนเร้นในมุมมืดของสังคม แต่สัญญาณความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว
Open Gay K Pop Idol
อุตสาหกรรม K-Pop นั้นได้สั่นสะเทือนวงการดนตรีในหลายประเทศ  คุณจะได้เห็นไอดอลวงแล้ววงเล่าที่รวมเอาหนุ่มสาวหน้าตาดีมาแสดงฝีมือร้องเต้นสร้างความประทับใจให้กับแฟน ๆ  มันจึงไม่ใช่เรื่องพิสดารแต่อย่างใดหากจะมีไอดอลที่มีรสนิยมทางเพศที่รักชอบเพศเดียวกันอยู่ด้วย  เหล่าแฟนเกิร์ลอาจจะรู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นมาหากได้เห็นไอดอลเพศเดียวกันออดอ้อนออเซาะกันเอง  จุ๊บแก้มกันเมื่อไรกรี๊ดกระจายเมื่อนั้น   แต่ถ้าให้ระบุตัวของนักร้องดังที่เปิดเผยตนว่าเป็นเกย์  คุณอาจจะต้องนึกนานหน่อย 
Holland หนุ่มหน้าใสที่เดบิวท์ไปเมื่อต้นปีนี้ ด้วยการประกาศอย่างมั่นใจว่าเขาเป็นไอดอลที่เป็นเกย์อย่างเปิดเผยคนแรก
ไม่ต้องบิดพริ้วเรื่องตัวตนในผลงานเพลง  MV ของน้องมีพระเอก 2 คน และมีฉากรักหวานจนใจเต้น 
"ผมอยากจะเป็นเหมือนกับพวกเด็กๆ ที่สามารถแสดงความรู้สึกของตัวเองอย่างจริงใจได้   ผมเขียนเพลงนี้สำหรับเด็กที่เผชิญกับความลำบากจากตัวตนของพวกเค้า  ผมอยากจะช่วยปลอบโยนพวกเค้าด้วยเพลงนี้ฮะ" Holland ได้เล่าที่มาของเพลง Neverland ที่เป็นที่กล่าวขวัญ
"อย่างที่รู้กันนะฮะ ในเกาหลีใต้ ไม่ค่อยมีคนดังที่ออกมาพูดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือแม้กระทั่งแสดงความเห็นของตัวเอง   ผมรู้ว่ายังมีคนแบบเดียวกันกับผมที่เปิดเผยตัวตนทางเพศอยู่  มันจึงเหมือนกับฝันที่เป็นจริงที่ได้มาอยู่ตรงนี้ฮะ"
ตอนเรียนมัธยม น้องเคยเล่าเรื่องเป็นเกย์ให้เพื่อนสนิทฟัง  แต่ก็กลับถูกเอาไปบอกเล่าต่อจนโดนรังแกอย่างหนัก  "ไม่มีใครที่จะช่วยปลอบใจผมได้เลยฮะ  แม้แต่พ่อแม่ เพื่อน หรือจะเป็นคนมีชื่อเสียง  ผมจึงต้องผ่านประสบการณ์หนักหนาสาหัสนี้เพียงลำพัง  ผมจึงคิดว่าน่าจะมีคนดังที่สามารถพูดปกป้องคนอื่นๆ ที่ต้องเจอแบบเดียวกันได้  ทำให้ผมได้มาเดบิวท์ในชื่อ Holland ฮะ" 
กระแสเพลง Neverland ตอบรับบนยูทูปนั้นดีเชียวล่ะ  มีเสียงสนับสนุนการแสดงตัวตนของ Holland และเชื่อมั่นว่าเขาจะสร้างจุดเปลี่ยนต่อความคิดอันเย็นชาต่อเพศที่ 3 ( 4 ,5 ,6 ....) ในสังคมเกาหลีใต้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงวิจารณ์ ต่อการจัดเรท MV ของน้องให้เป็นเรท R  ทั้ง ๆ ที่ MV ของไอดอลคนอื่นที่มีฉากจูบ ยกตัวอย่างเพลง In Love With Someone Else ของ Suzy ที่มีฉากจูบดูดดื่มของพระนางได้เรท PG 13   ราวกับจะบอกว่า ควรจะต้องปิดหูปิดตาผู้ชมจากฉากแสดงความรักของเพศเดียวกันมากกว่า
โชคดีที่เรามีเพื่อนชาวเกาหลีใต้ที่มาจากเมืองหลวง  เมื่อมีข้อสงสัยในเรื่องราวของสังคมที่นู่นจึงตั้งประเด็นถกกันได้แบบเต็มที่ ด้วยความที่เพื่อนเป็นประเภท "หัวก้าวหน้า" จึงคิดว่าการออกมาอาศัยที่ต่างประเทศนั้นจะเหมาะกับเขามากกว่าที่จะถูกกดไว้ในกรอบที่สวนทางกับตัวเอง  เขายืนยันว่า  ชายที่เป็นเกย์อาจจะไม่ได้พบความยากลำบากในการดำรงชีวิตมากนัก เพราะคนรอบข้างจะไม่ตามมาทำร้ายร่างกายหรือใช้คำเหยียดหยามคุณว่า "fag" เหมือนในตะวันตก  (ลองนึกภาพของวัยรุ่นเกย์ที่ถูกพวกเกเรตามเตะต่อยในซีรีย์ Glee)  

คุณสามารถเปิดเผยรสนิยมแฟชั่น ผัดหน้ากรีดตา ใส่เสื้อผ้าสีหวานและมีพิธีกรรมบำรุงผิวยุ่งยากแบบเพศหญิงโดยจะถูกมองว่าเป็นหนุ่มสำอางที่รู้จักดูแลตัวเอง  แต่ในแง่ของการยอมรับในเรื่องความสัมพันธ์นั้นกลับยากที่จะทำให้คนรุ่นเก่ายอมรับ และด้วยแนวคิดที่เคารพผู้อาวุโสอย่างเคร่งครัดนั้นทำให้คนรุ่นใหม่พลอยเย็นชากับเรื่องรักร่วมเพศ  คุณจะไม่ได้เห็นคนที่เปิดเผยรสนิยมทางเพศที่แตกต่างมากนัก  หรือถ้ากล้าหาญเปิดตัวตนกับสังคมจริง ๆ คุณอาจจะได้รับการปฏิบัติที่กระอักกระอ่วน  เมื่อถึงวันรวมญาติ  พวกเขาอาจจะพยายามเป็นกันเอง แต่ก็มองด้วยสายตาที่คลางแคลง หรือพูดกระทบให้เจ็บใจ   อย่างร้ายคุณก็จะถูกตัดจากวงโคจรครอบครัวที่ไม่สามารถยอมรับคนรักเพศเดียวกันของคุณได้และเร่งเร้าให้รีบแต่งงานกับผู้หญิงที่ดูเหมาะสม  

"หากคุณเป็นชาว LGBT  ที่เกาหลีใต้ก็จะได้รู้จักโลกของความโดดเดี่ยว " เพื่อนของเราเล่าให้ฟังด้วยเสียงเศร้า ๆ และเสริมว่านี่อาจจะเป็นเหตุผลที่มีคนดังที่ come out แบบนับหัวได้  เขายังเปรียบเทียบข้อแตกต่างจากการอาศัยที่ประเทศไทยว่า  "การที่ผมได้ไปชมคอนเสิร์ตของนักร้องเกย์หนุ่มไว้หนวดที่เมืองไทย ได้เห็นเค้าแสดงแบบ feminine อย่างเต็มที่แล้วได้รับเสียงกรี๊ดด้วยความรักจากแฟนๆ ทำให้ผมอยากจะอยู่ที่นี่ต่อไปเรื่อย ๆ " 
มันเหมือนตลกร้ายที่บรรดาเกมโชว์ต่างๆ หรือแม้แต่ในคอนเสิร์ตเอง บรรดาไอดอลต่างโชว์ skinship เพื่อเป็น fan service ยิ่งถูกเนื้อต้องตัวกันแบบแนบแน่น แฟนๆ ยิ่งกรีดร้องด้วยความถูกใจ  แต่หากคุณบอกคนอื่นว่าเป็นเกย์ กลับถูกปฏิบัติอย่างแบ่งแยกและรู้สึกเหมือนเป็นส่วนเกินของสังคม จนต้องปิดบังความจริงไว้และอาจจะต้องอยู่กับความระแวงไปตลอดชีวิต 
เกาหลีใต้มีการจัด Pride ที่ยิ่งใหญ่ที่มีคนเรือนแสนเข้าร่วมแสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิชาว LGBT  คุณจะได้ชม MV และหนังที่มีเนื้อหาของความรักเพศเดียวกัน แต่มันยังเป็นตราบาปหรือสิ่งต้องห้ามในชีวิตจริงที่สร้างความกดดันในการดำเนินชีวิตให้กับพวกเค้า
โจ ควอนนักร้องหนุ่มจาก 2AM ที่มีกระแสข่าวลือเรื่องรสนิยมทางเพศมายาวนานหลายปี  เขาเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบที่ตัดสินใจรับบท drag queen ในละคร musical จนต้องออกมาตอบโต้
"โอเคครับ Priscila เป็นละคร musical ที่ยอดเยี่ยม และอย่างที่ทุกคนรู้กัน ผมรับเล่นเป็นเกย์ในเรื่อง  การที่ได้เห็นความเห็นที่ขลาดเขลาไม่เปิดใจในเพจส่วนตัวนั้นทำให้เศร้าใจ   แต่ผมก็ได้ทุ่มเทให้ความรักกับบทนี้และก็ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในผลงานสุดเจ๋ง  เจอกันที่เวทีโชว์นะครับ" 
โจ ควอนได้ชี้แจง

"ผมรู้ว่ายังมีความเข้าใจผิดและข้อความร้ายกาจอีกมากมายหลังจากที่สื่อได้เผยแพร่ภาพละครออกไป  ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะให้ผู้คนเข้าใจ   คุณอาจจะคิดว่านี่มันก็แค่ละครเกย์จากภาพโปสเตอร์ อย่างไรก็ตาม Priscilla ไม่ใช่แค่เรื่องที่เกี่ยวกับรักร่วมเพศหรือการข้ามเพศ  แต่ยังนำเสนอเรื่องราวของครอบครัว มิตรภาพ  ความรักจากพ่อและการสื่ออารมณ์ที่หลากหลาย

ผมเพียงต้องการจะแสดงความสามารถว่าผมทั้งมุ่งมั่นและทำมันได้ดี  แนวคิดในแง่ลบจากความรังเกียจรังงอนได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุผลที่ผมอยากจะก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง  เยือกเย็นสุขุมมากขึ้นและทุ่มเทให้มากขึ้นไปอีก

มันเป็นสิ่งที่ยากเพราะผู้คนตอบสนองผลงานของผมจากสิ่งที่พวกเค้ามองเห็น  แต่ผมได้เลือกเส้นทางนี้แล้ว  ผมจึงต้องทำใจยอมรับในสื่งที่ตามมา  แต่เมื่อผมได้ยินความเห็นอันรุนแรงหรือแม้กระทั่งสิ่งแย่ๆ อื่นๆ ที่อาจไม่ได้มาจากความตั้งใจ มันไม่ได้เป็นผลดีต่อจิตใจของผมนักแม้ว่าจะพยายามมากเท่าใดก็ตาม"
โจควอนแสดงความสามารถในการแต่งหญิงและร้องเต้นสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับผู้ชม เขาใส่ส้นสูงแสดงเพลง Crazy In Love ของ Beyonce ได้พีริ้วไหวร้อนแรง (การไขว้ขาแมงมุมนั้นสุดยอดจริงจัง) จนรับคำชื่นชมจากแฟนๆ  แต่มันหลีกเลี่ยงเสียงคาดคั้นให้เค้าเปิดเผยเรื่องเพศไปไม่ได้เลย 
"ไม่มีใครมากำหนดความเป็นตัวผมได้หรอกครับ  สำหรับผมที่ให้ความนับถือในตัวทุกๆคนในโลกนี้  ผมได้เตรียมพร้อมที่จะทุ่มเต็มที่  ไม่ว่าจะอยู่ในภาพของชายแต่งหญิง นักร้องเพลงบัลลาดหรือนักเต้นที่เก่งกาจ   ผมได้แสดงออกถึงความเป็นโจ ควอน ไม่ใช่คนอื่น ผมไม่ได้พยายามจะแก้ตัวว่าตัวเองไม่ได้เป็น drag queen  ผมแน่ใจว่าคุณคงรู้กันอยู่แล้วว่าผมยังเก่งไม่เข้าขั้นศิลปินแต่งหญิง   แต่ในฐานะของคนที่พยายามจะเปล่งประกาย ผมกำลังเปิดเผยให้คุณเห็นการแสดงที่ตัวเองมีความเชื่อมั่น    แน่ล่ะที่จะมีคนที่ไม่ได้ชื่นชอบมัน แต่นี่คือตัวตนของผม ผมจะไม่ฝืนไปทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบหรอกนะ  ผมมีความเชื่อในตัวตัวเองและรักในสิ่งที่ทำ"
แฟน ๆ หลายคนยืนยันว่า ไม่ว่าโจควอนจะเป็นชายที่รักเพศตรงข้าม เกย์ ไบ drag หรือ queer ก็จะยังนิยมชมชอบและขอยกย่องในความเป็นตัวของตัวเองของนักร้องดัง แต่โจควอนก็ต้องทุกข์ใจกับเสียงเหน็บแนมการนำเสนอการแสดงแบบแต่งหญิง  ความอยากรู้อยากเห็นของนักเสพกอสสิปนั้นทำให้ข่าวลือสะพัดไม่หยุด  ว่ากันว่าการเลือก cover เพลง Born this way ที่เรียกว่าเป็นหนึ่งในเพลงชาติชาวเกย์ อาจจะเป็นการส่งสารประกาศตัวตนจากโจควอนก็เป็นได้
เมื่อ 3 ปีก่อน ได้เกิดการdebate กันครึกโครมจากฉากรักในซีรีย์ Seonam Girls High School Investigators ที่ทำให้องค์กร Korea Communications Standards Commission โทรศัพท์ร้องเรียนจากประชาชนที่ได้ชมฉากแสดงความรักของตัวละครสาวมัธยมที่จูบกันดูดดื่ม
ซีรีย์ถูกติเตียนอย่างรุนแรงจากคนที่ยึดมั่นว่ารักร่วมเพศเป็นสิ่งต้องห้ามต้องถูกผนึกไว้ในช่องหลืบลึกของสังคมโดยไม่ให้มีผู้ใดได้รับรู้ว่านี่คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นคู่กับสังคมมนุษย์มายาวนาน  

แต่เนื้อหาจากฉากเลสเบี้ยนในซีรีย์นั้นได้สะท้อนปัญหาสิทธิชาว LGBT อย่างตรงไปตรงมา  เด็กผู้หญิงที่รักกันพยายามปิดบังเรื่องความสัมพันธ์เป็นความลับ  แต่ก็ถูกคนไม่หวังดีพยายามแฉให้คนภายนอกได้รู้  เมื่อตัวตนถูกเปิดเผยก็นำมาสู่เรื่องการติฉินนินทาที่ลามไปเป็นการ bully ในโรงเรียน   ทางแก้ปัญหาน่ะเหรอ ? คนที่เป็นเกย์ก็ต้องหนีออกจากสังคมนั้นไปอยู่ในที่ใหม่ที่ไม่รู้เรื่องนี้

เมื่อหลายปีก่อน ช่อง KBS ตกเป็นเป้าหมายโจมตีเมื่อออนแอร์ Daughters of Club Bilitis ซีรีย์ที่สะท้อนเรื่องราวของคู่รักคู่ชีวิตเลสเบี้ยน 3 วัยที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคในการดำเนินชีวิตภายในสังคมที่เต็มไปด้วยอคติ  แม้ว่าตารางการฉายจะอยู่ตอนเทียงคืนก็ไม่สามารถหยุดยั้งคำวิจารณ์ของผู้คนได้  ในเพจ Daughters of Club Bilitis มีชาวเน็ทเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์หลายพันความเห็น รวมไปถึงการโจมตีว่าซีรีย์ที่เสนอเรื่องหญิงรักหญิงคือตัวอย่างที่เลวร้ายต่อเยาวชน และกล่าวหาว่าซีรีย์เรื่องนี้เป็นอาชญากรรมอันตรายต่อมนุษยชาติ

หลังจากมีเสียงติเตียนว่าสร้างซีรีย์ชี้นำให้คนหลงผิด KBS จึงปรับ rate ที่เหมาะสมกับผู้ชมที่มีอายุมากกว่า 19 ปีขึ้นไป  หรือนั่นคือการส่งสารว่า ในการรับชมซีรีย์ที่ไม่ได้ขายเลิฟซีนหรือฉากรุนแรงแต่เป็นการถ่ายทอดแง่มุมของชาวเกย์   แม้ว่าคุณเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้วแต่มีอายุไม่ถึงrate ที่ตั้งไว้ มันก็ไม่เหมาะสมที่คุณจะรับรู้เรื่องราวของส่วนหนึ่งในสังคมที่มีความเป็นคนเท่าเทียมกัน ?

เมื่อ KBS ได้ตัดสินใจรีรันซีรีย์เรื่องนี้อีกครั้ง  กระแสต่อต้านเริ่มกลับมาใหม่ สมาคมผู้ปกครองถึงกับเดินทางมาที่ช่องเพื่อคัดค้าน ในที่สุด ผู้บริหารก็ได้ตัดสินใจล้มเลิกรีรันของซีรีย์โดยมีการชี้แจงว่า

"มีการแสดงความเห็นจำนวนมากจากกลุ่มผู้ปกครอง  แต่พวกเรามีความหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมเกาหลีในทิศทางที่ดีขึ้น  เราได้พยายามแก้ไขเรื่องตารางเวลาเพื่อตอบสนองต่อความคิดเห็นอันหลากหลายนี้  แต่ลงท้ายเราต้องยุติการเอาซีรีย์มาฉายใหม่ด้วยเหตุผลจากความวิตกกังวลถึงผลกระทบต่อเด็กวัยรุ่น"


แต่ถ้าเป็นวงการหนังนั้นดูจะเปิดกว้างมากกว่า  หนังที่มีเนื้อหาของชาว LGBT บางเรื่องคว้ารางวัลใหญ่และมีกระแสตอบรับที่ดี  คุณจะได้เห็นหนัง Man on high heels ที่ได้พระเอกดังอย่างชาซึงวอนมารับบทผู้หญิงข้ามเพศที่ต้องซ่อนตัวภายใต้ภาพตำรวจผู้ห้าวหาญ  ตัวตนของ "เธอ" ที่อยู่ข้างในนั้นโหยหาที่จะผ่าตัดแปลงเพศด้วยปมที่แสนเจ็บปวดตอนยังเป็นวัยรุ่น 
In Between Seasons  ว่าด้วยเรื่องราวของสองหนุ่มเพื่อนรักที่สนิมสนมกันราวกับเป็นพี่น้อง แต่แม่ของอีกคนต้องมารู้ความลับว่าทั้งสองเป็นคนรักกันจึงพยายามขับไล่ให้อีกฝ่ายออกไปจากลูกชายของเธอ
Memento Mori  หนัง horror ปลายยุค 90s ที่กล้าหาญแหวกกรอบสังคมอนุรักษ์นิยมด้วยเรื่องราวของรักของเด็กสาวไฮสคูลสองคนที่ถูกคนรอบข้างต่อต้านจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมและความสยดสยอง
Diversity in Pop Culture
คริสตัล เคย์  นักร้องเพลง R&B เชื้อสายแอฟริกันอเมริกันเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่า เพื่อจะสร้างชื่อที่ญี่ปุ่น เธอต้องพยายามทำตัวให้เข้ากับความนิยมในดนตรีพ็อพแบบลูกกวาด ทุกอย่างต้องสดใสน่ารัก   คริสตัลยอมรับว่า  "มันยังมีเนื่องการกีดกันทางเชื้อชาติอยู่ค่ะ  คนบางกลุ่มก็ไม่สามารถยอมรับได้ว่าคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศ  แม้กระทั่งในวงการบันเทิงก็ตาม"

"ชั้นถือว่าตัวเองเป็นคนญี่ปุ่น เพราะชั้นเกิดและเติบโตที่นี่  แต่ชั้นกลับกลายเป็นคนต่างชาติเพราะรูปลักษณ์ของตัวเอง"  


หากคุณชมผลงานของคริสตัล  จะพบว่ารูปลักษณ์ของเธอดูไม่ต่างจากฮอลลีวู้ดเกิร์ลูกผสมที่คุ้นตาหลายคนที่อยู่ในกลุ่มlight skin (lighter than black and darker than white )  เธอมีสัญชาติญี่ปุ่นและพูดภาษาญี่ปุ่นแบบเจ้าของภาษา  แต่แฟนเพลงของเธอได้เขียนบทความแสดงความเห็นอย่างเผ็ดร้อนว่า  แม้จะมีคนยกให้คริสตัลมีความสามารถไม่แพ้ฮิคารุ อุทาดะ  แต่เธอก็ไม่มีทางที่จะได้รับแรงสนับสนุนใกล้เคียงกับซุปตาร์อาร์แอนด์บี ด้วยเหตุผลผู้คนมองเธอเป็นคนต่างชาติ ต่างจากฮิคารุที่แม้จะมีทั้งสัญชาติอเมริกันและญี่ปุ่น ใช้ชีวิตระหว่าง 2 ประเทศและพูดคล่องแคล่วทั้ง 2ภาษา แม้จะเคยถูกล้อในช่วงแรกว่าพูดญี่ปุ่นไม่ชัด  คนที่ญี่ปุ่นก็มองว่าเธอเป็นสาวญี่ปุ่นเต็มร้อยอยู่ดี    แม้ว่าจะมีลูกครึ่งในวงการที่ได้เปิดใจถึงความรู้สึกที่เหมือนเป็นคนนอก  แต่มันอาจเป็นเรื่องญี่ปุ่นเองคงจะไม่อยากยอมรับนัก  



อารีอาน่าเล่าให้ฟังถึงแรงจูงใจในความฝันที่จะเป็นมิสแจแปนลูกครึ่งคนแรกว่า

"เพื่อนของชั้นฆ่าตัวตาย   เค้าเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นเหมือนชั้น แต่เป็นลูกครึ่งฝรั่งค่ะ  เราสนิทกันมากและโทรหากันตลอด  เขาไม่เคยรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ใด คนญี่ปุ่นไม่ยอมรับเขา ส่วนที่ต่างประเทศก็ไม่ใช่ เพราะเขาพูดภาษษอังกฤษไม่ได้   ชั้นอยากจะใช้การประกวดนี้ช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ญี่ปุ่นค่ะ"
คริสตัล เคย์เคยมีอัลบั้มเปิดตัวขายดีขึ้นอันดับ 1ในสัปดาห์แรกและร่วมงานกับศิลปินดังๆส่งซิงเกิ้ลโลดแล่นตามชาร์ทและปัจจุบันก็ยังทำเพลงที่ญี่ปุ่นอยู่  แต่เด็กรุ่นใหม่บางคนอาจจะมองว่าเธอเป็นนักร้องลูกครึ่งที่เคยดัง แม้คริสตัลจะได้เซ็นสัญญากับค่ายใหญ่  แต่เธอได้รับการว่าจ้างเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าเพียงน้อยชิ้น และเป็นแบรนด์ไม่ได้รับความนิยมนัก

แต่ว่ากันว่า  ญี่ปุ่นกำลังจะเปิดใจให้กับ diversity อย่างช้าๆ และเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน




เธลมา อาโอยามะ สาวลูกครึ่งญี่ปุ่น- ตรินิแดดผู้เคยมีเพลงที่ขายดีขึ้นอันดับ 1 Oricon charts
Beni สาวลูกครึ่งอเมริกันที่ยืนหยัดโด่งดังมาตั้งแต่เป็นวัยทีนจนตอนนี้อายุขึ้นลข 3 และส่งงานเพลงวิ่งปรู๊ดปร๊าดในชาร์ท
แต่ก็เคยมีคนวิเคราะห์ค่ะว่า Beni นั้นมีลุคที่ไม่แตกต่างจากนางแบบนิตยสารแฟชั่นของญี่ปุ่นที่นิยมลูกครึ่งตากลมโต ถ้าฟังแต่เสียงก็หวานใสสไตล์นักร้อง J Pop นิยมกัน และนั่นอาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผู้คนเปิดใจตอบรับจนเป็นศิลปินชื่อดัง
ไอ คาริน่า อูเอมูระ  สาวลูกครึ่งญี่ปุ่น อเมริกัน (พ่อญี่ปุ่น  แม่ครึ่งญี่ปุ่น- อิตาเลียนที่เป็นอเมริกันเต็มขั้น) ที่ถูกยกให้เป็นราชินีเจ้าหญิงเพลงอาร์แอนด์บี เคยส่งเพลง Story ออกมาขายดีถล่มทลายเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว  เสียงของเธอแหบต่ำมีพลังโดดเด่นแตกต่างแบบ american urban และสร้างปรากฏการณ์ในญี่ปุ่น มีงานพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์ยักษ์ใหญ่และร้องเพลงประกอบหนังละคร   ตอนที่เธอครวญเพลงตอนเล่นเปียโนนี่อลิช่า คีย์ชัดๆ ค่ะ
เป็นศิลปินที่ดูจะไม่ต้องขายความคาวาอิ สดใสร่าเริง หรือแม้กระทั่งรูปลักษณ์พิมพ์นิยม  ไอเป็นสาวห้าวที่มั่นใจ     ประสบความสำเร็จในระดับเจัดคอนเสิร์ตที่บุโดกังมาแล้วค่ะ
Che'Nelle  สาวมาเลย์เชื้อสายจีน-อินเดีย - ดัชท์ ที่เคยออกอัลบั้มขายดีระดับแพลตตินั่ม  เพลงรักหวานซึ้งที่เชเนลขับร้องทำให้มีคนเรียกเธอว่าเจ้าหญิงแห่งความรัก  จะเห็นได้ว่าเธอก้าวข้ามกำแพงกั้นขวางเรื่องเชื้อชาติอย่างสวยงาม เชเนลไม่มีเชื้อสายญี่ปุ่นเลย เธอมีสัญชาติออสซี่และเปล่งประกายด้วยรูปลักษณ์สาวงามจากมาเลย์เต็มขั้น


candy

candy

ติดตาม Mouth On The Web แล้วอย่าลืม Mouth On The Face นะคะ ^ ^

FULL PROFILE