อย่าหยุดที่ความกลัว พลังลิปสติกสีส้ม เริ่มแล้ว! #HEARMETOO

18 1
ช่วงนี้ถ้าใครไถฟีด IG หรือเฝ้าอยู่ที่หน้าจอโซเชียล คงจะสงสัยว่าทำไมบรรดาเซเลปคนดังต่างหยิบลิปสติกสีส้มมาใช้กัน หรือแม้แต่ชุด หรือเครื่องประดับก็กลายเป็นโทนส้มไปซะหมด ไม่ต้องแปลกใจ เพราะตอนนี้แคมเปญรณรงค์ยุติความรุนแรงในผู้หญิง #HEARMETOO ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

คนที่ติดตามข่าวอยู่ตลอดก็จะรู้ว่า ปรากฎการณ์ #MeToo ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ย้ำเห็นว่าผู้หญิงกล้าที่จะลุกขึ้นมาเผชิญหน้าความไม่ยุติธรรมทางเพศ ที่พวกเธอเป็นฝ่ายถูกกระทำมาตลอด

ปรากฎการณ์ปลุกกระแสด้วยคนดังในฮอลิวู้ด อย่าง อลิสซา มิลาโน ที่ได้ออกมาทวิต #MeToo ผ่านทางทวิตเตอร์ ผลตอบรับคือมีผู้คนนับล้านต่างออกมาบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่ เลดี้ กาก้า , แกเบรียล ยูเนี่ยน และ อีแวน เรเชล วูด ทำให้กระแส #MeToo นี้โด่งดังไปทั่วโลก

ในขณะที่กระแส #MeToo ในฝั่งเอเชียยังเห็นภาพไม่ชัดเจนนัก ด้วยวัฒนธรรมของฝั่งตะวันออก ที่ผู้หญิงมักถูกทำให้อาย และต้องทนก้มหน้าอยู่กับความเงียบเพียงลำพัง

แต่วันนี้ปรากฎการณ์สีส้ม #HEARMETOO เริ่มชัดเจนขึ้นแล้วในประเทศไทย โดยกรุงเทพถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในเมืองที่ริเริ่มแคมเปญนี้ พร้อมกับเมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย และอีก 4 เมืองในอเมริกา และยุโรป (นิวยอร์ค , ลอนดอน , อิสตันบูล และ แม็กซิโก ซิตี้) ทำให้การล่วงละเมิดทางเพศไม่กลายเป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามจากคนในสังคม

“ผู้หญิงอดทน เป็นคนโลกต้องการ แต่ผู้หญิงกล้า เป็นคนที่โลกขาดไม่ได้”

จะอดทนอยู่ หรือลุกขึ้นมาสู้ด้วยตัวเอง?


พลังของโซเชียลมีเดียกำลังทำให้ข้อความนี้ไปไกลมากขึ้น ทำให้คนหันมามองปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวมากขึ้น

มณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ชำนาญการงานสื่อสารองค์กร ยูเอ็น วูเมน สำนักงานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ยอมรับว่า ข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ ที่ถูกนำเสนอจนกลายเป็นเรื่องคุ้นชิน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถิติความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงสูงถึง 1 ใน 3 ท่ามกลางวัฒนธรรมทางสังคมที่มองหาคนผิดที่เป็นผู้หญิง ทำให้พวกเธอมักถูกคำกล่าวโทษ เสียดสี ว่าร้ายตามมาอยู่เสมอ

"ทุกวันนี้ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บนรถไฟฟ้า รถเมล์ สถานศึกษา ในที่ทำงาน หรือแม้แต่คำพูดของผู้ชาย ที่อาจนำมาสู่ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นได้"


ในช่วง 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (25 พ.ย.-10 ธ.ค. 61) ยูเอ็น วูแมน จึงได้ชวนผู้หญิงไทยมาร่วม รณรงค์ ทาลิปสติกสีส้ม โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก #HEARMETOO #มีอะไรจะบอก ทั้งเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าที่จะพูดและบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง

คุณอ้วน อารีวรรณ จตุทอง อดีตรองนางสาวไทย ผู้ที่เคยผ่านพ้นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งปัจจุบันเธอได้ผันตัวเองเป็นนักกฎหมาย และผู้ร่วมรณรงค์เพื่อปกป้องสิทธิสตรีมานานกว่า 20 ปี บอกว่า ตอนนี้ผู้หญิงไทยที่เผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ไม่ได้อยู่โดยลำพัง ยังมีองค์กรพัฒนาเอกชน อย่างมูลนิธิเพื่อนหญิง มีบ้านพักฉุกเฉิน ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ เยียวยาจิตใจ มีศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC ระดับอำเภอ หรือแม้แต่ในโรงพยาบาล ที่มีโรงซ่อมสามี ซึ่งมีทีมแพทย์เข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยค้นสาเหตุความรุนแรงที่อาจมาจากสารเคมีในสมอง ปัญหายาเสพติด หรือติดเหล้าร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่ามีผู้หญิงไทย 2 หมื่นราย ที่เข้าสู่ระบบ OSCC แต่มีเพียง 200 รายหรือ 10% เท่านั้น ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และสุดท้ายจบที่การไกล่เกลี่ย ยอมความ ซึ่งนอกจากกลไกขององค์กรพัฒนาเอกชนแล้ว ยังต้องผลักดันให้เกิดนโยบาย และกฎหมายที่จะช่วยเยียวยา และดูแลผู้เสียหาย อย่าง พรบ. ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงหาแนวทางในการปรับปรุงข้อกฎหมายอาญา ที่มีหลักคิดเอื้อให้ยอมความ ซึ่งนำไปสู่การกระทำซ้ำ และเหตุฆ่ากันตาย จากโรคถูกทำร้ายซ้ำๆ (Battle wife syndrome) เพิ่มขึ้น

ผู้หญิงไม่ควรต้องละอายถ้าถูกกระทำ ผู้หญิงมีสิทธิที่จะเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเอง เป็นเรื่องของคนทุกคนในสังคม ที่ต้องร่วมกันแก้ไข คอยให้กำลังใจและสนับสนุน

คนที่สนใจแคมเปญนี้ลองเข้าไปดู Immersive 360-Degree Experience จำลองสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นในรูปแบบออนไลน์ 360 องศา ผ่านเว็บไซต์ของแคมเปญ ซึ่งจุดเริ่มต้นความรุนแรงทางเพศอยู่ในห้องครัว ที่ที่ผู้หญิงถูกกดขี่จนกลายเป็นเคสคลาสสิค รวมถึงหนังสั้นที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้หญิงไทยทุกคน ให้กล้าพูด กล้าเล่าในสิ่งที่เจอ ที่เว็บไซต์ www.hearmetoo.or.th

#HEARMETOO เสียงของผู้หญิงจะไม่เงียบ ไม่สมยอมอีกต่อไป


tarnnn

tarnnn

แต่งหน้าไม่เก่ง แต่เราเป็นสายอุปกรณ์ ว่างๆ ก็ช็อปปิ้งคลายเครียด ล้มละลายได้ทุกวันเพราะเราคือ Jeban team

FULL PROFILE