ชีวิตนอกกรอบของ นาดา ไชยจิตต์ Intersex Trans กะเทยก็เผยงานผิวได้ ไม่จำเป็นต้องแต่งแรง
Alice Kerdplanant 22 10
อินเตอร์เซ็กส์ (Intersex) คือผู้ที่เกิดมามีฮอร์โมนหรือคุณสมบัติทางกายภาพของทั้งเพศหญิงและเพศชายรวมกัน ถ้าแปลตามความหมายไทยตรงๆ คือ คนที่เกิดมามีภาวะเพศกำกวม ซึ่งฟังดูแง่ลบ กลุ่มคนอินเตอร์เซ็กส์จึงเสนอคำว่า “ผู้ที่มีเพศสรีระหลากหลาย”
งานวิจัยบอกว่าจำนวนประชากรอินเตอร์เซ็กส์อาจจะมีถึง 1.7% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งมากกว่าฝาแฝด แต่ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังมองว่าอินเตอร์เซ็กส์คือความผิดปกติ
แม้ว่าคำนิยามทางเพศจะมีหลากหลายมากกว่าแค่ ชาย หญิง แต่บางครั้งคอมมูนิตี้ของ LGBTQIAN+ ก็มีกรอบความงามที่กำหนดไว้แล้วเช่นกัน หลังจากที่เราฟังเรื่องราวของคุณนาดา ไชยจิตต์ ก็ยิ่งย้ำว่า "ความงามไม่ได้มีแค่แบบเดียว"
หากเพศบนโลกนี้หลากหลายได้ บิวตี้ก็หลากหลายได้เช่นกัน
ทำความรู้จัก Intersex Trans ผ่าน คุณนาดา ไชยจิตต์
คุณนาดา ไชยจิตต์ (she / her / hers) เป็นผู้ก่อตั้งองค์กร Intersex Thailand และเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรนักเพศวิทยาคลินิก แพทยศาสตร์ทางเพศ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พื้นเพเป็นคนกรุงเทพจากครอบครัวมุสลิม มีพี่ชาย 3 คน ส่วนเธอเป็นลูกคนที่ 4
แม้ครอบครัวจะแจ้งเกิดให้เธอเป็นผู้ชาย แต่คุณนาดารู้ตัวมาตั้งแต่เด็กว่าเธอไม่เหมือนคนอื่น ตั้งแต่ตอนขลิบที่ทำให้รู้ว่าอวัยวะเพศที่มีไม่ใช่ของผู้ชาย แต่เธอก็ถูกเลี้ยงมาให้เป็นผู้ชายอยู่ดี เธอจึงมีประสบการณ์ไม่ต่างจากผู้หญิงข้ามเพศ
กะเทยก็มีบิวตี้สแตนดาร์ด
เมื่อพูดคำว่า จริตกะเทย สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวคือความแรง ความเล่นใหญ่ หน้าต้องจัด ชุดต้องเต็ม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ บิวตี้สแตนดาร์ด ที่ส่งผลต่อชุมชนคนข้ามเพศเช่นกัน
ชุมชนคนข้ามเพศสมัยนั้นยังแอนตี้สไตล์หวานๆ เป็นธรรมชาติ เพราะในสังคมคนข้ามเพศมีความเชื่อว่า จริตต้องแรง ต้องแต่งแรง
"เราจําได้ว่าเล่นน้ําสงกรานต์ แล้วเราแต่งแบบใสๆ ระเรื่อๆ แล้วเพื่อนขับรถผ่านมาพอดี นางเอาน้ําทั้งกะละมังสาดใส่เราจนเละ เพราะว่าเราไม่ยอมมีสไตล์ตามจริตของกะเทยหรือคนข้ามเพศในในยุคก่อน ซึ่งมันต้องแบบ เปรี้ยว หน้าต้องเข้ม"
ตรงกันข้าม เมื่อคุณนาดามีสไตล์แบบลุคธรรมชาติ ก็โดนต่อต้านจากชุมชนคนข้ามเพศอยู่ช่วงหนึ่ง ถึงจะมีลุค "ผู้หญิงเรียบร้อย กิริยาอ่อนหวาน" แต่คุณนาดาไม่ได้มองว่านี่เป็นสิ่งดี
"เราก็ไม่ชอบที่เขาบอกว่า หนูดีจังเลย หนูเรียบร้อย มันก็เป็นการแสดงความกลัวคนข้ามเพศอย่างหนึ่ง เพื่อนเราก็ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกในเพศที่เขาอยากเป็น เขาอยากแต๋น ก็กลายเป็นว่าสังคมต่อต้าน บอกว่าเป็นการแสดงออกที่เกินเลย"
ถ้าบีบเสียงอีกนิดนะ จะเป็นผู้หญิงแล้ว
นอกจากมาตรฐานแบบ "เล่นใหญ่" อีกด้านนึงของบิวตี้สแตนดาร์ดในชุมชนคนข้ามเพศคือความเป็นหญิงแบบสุดโต่งที่มีภาพจำคือดาราสาว ปอย ตรีชฎา คือต้องสวยหวานแบบปอย
คุณนาดาก็เลี่ยงการถูกเปรียบเทียบไปไม่ได้เช่นกัน เมื่อมีคนคอยบอกว่า "ถ้าบีบเสียงอีกนิดนึงนะ จะเป็นผู้หญิงแล้ว" "ถ้าแต่งหน้าอีกนิดนึง จะใช่เลย"
ไม่ว่าทางใดก็ทางนึง คุณนาดาก็ต้องเจอกับบิวตี้สแตนดาร์ดแบบคนข้ามเพศสายแซ่บ หรือแบบความเป็นผู้หญิงจ๋าอยู่ดี
แต่ปัจจุบันสังคมเปิดกว้างขึ้นมาก ค่านิยมความงามของชุมชนคนข้ามเพศก็เปิดกว้างขึ้นเช่นกัน งานผิวโกลว์ เมคอัพสไตล์เกาหลีเริ่มเป็นที่ยอมรับ ไม่แปลกแยกอีกต่อไป
"ถ้าอยากพิสูจน์ความเป็นหญิงให้คนเห็น ผิวต้องดี หุ่นต้องดี"
คุณนาดาโตมาในยุคนิตยสาร เธอจึงตามเทรนด์การแต่งหน้า แต่งตัว ผ่านแม็กกาซีนแฟชั่น และแคตาล็อกแบรนด์เครื่องสำอางอย่าง Mistine Avon Cute Press
เนื่องจากที่บ้านค่อนข้างเคร่ง ตอนเด็กๆ เธอจึงไม่ค่อยสนใจเรื่องการประโคมเครื่องสำอางเท่าไหร่ ตรงกันข้ามสำหรับคุณนาดา ความเป็นหญิงของตัวเองคือผิวพรรณต้องดี ผมต้องสวย หุ่นต้องดี
"แต่ไม่ได้หมายความว่าเครื่องสําอางของแม่จะเล็ดรอดมือเรานะคะ เวลาแม่ได้แป้งมา เขาก็จะมาอวดเรานะ เพราะที่บ้านเป็นเด็กผู้ชายกันหมด พอเขาขึ้นนอนปุ๊บ เราก็ลงบันไดมา แกะตลับ แกะแป้ง ต้องฝึกแท็บยังไงให้ดูไม่ออกว่ามีรอยใช้แล้ว ถ้าปลอดภัยก็ควรจะเล่นแป้งที่เขาทาแล้ว เสร็จแล้วก็ลบหน้า ไปนอน"
"ถ้าเราต้องการจะพิสูจน์ให้คนเห็นความเป็นหญิงของเรา มันต้องออกจากผิว ผิวต้องผุดผ่อง นวลเนียน และอีกอย่างมันทําให้เราไม่โดนที่บ้านจับต้องด้วย ถ้าเรามีลิปสติกแท่งหนึ่งเราอาจจะโดนทุบ"
เมื่อแต่งหน้าให้มีสีสันไม่ได้ การดูแลผิวเป็นหนทางเดียวที่คุณนาดาแสดงออกความเป็นหญิงได้ตั้งแต่มัธยมต้น แต่พ่อแม่ก็ยังเอาครีมไปทิ้งอยู่ดี คุณนาดาก็ต้องคอยซ่อนครีมไม่ให้ใครเห็น
"ความสวยความงามคือเรื่องของการประทินผิว คิดถึงตอนนั้นก็มีความสุขจริงๆ ค่ะ มันเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยเยียวยาจิตใจเราที่ต้องใช้ชีวิตเป็นผู้ชายในแต่ละวัน ช่วยหล่อหลอมความเป็นคนข้ามเพศ เป็นอินเตอร์เซ็กส์ของเราไม่ให้แหลกสลายไปซะก่อน"
"จนไม่ว่า แต่หน้าต้องสวย"
อีกบทบาทของคุณนาดาคือนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ เมื่อเธอไปช่วยเหลือรุ่นน้องข้ามเพศที่ถูกนักการเมืองท่านหนึ่งล่วงละเมิดทางเพศ แต่นักการเมืองท่านนั้นกลับฟ้องร้องคุณนาดาแทน จนทำให้คุณนาดาจิตตก และป่วยเป็นซึมเศร้า ถึงอาการจะย่ำแย่ แต่สิ่งที่คุณนาดาฮึดสู้ทำตลอดคือการดูแลผิวตัวเอง
"เรายังต้องใช้ผิว อย่างน้อยที่สุดทุกวันเราตื่นมาตอนเช้า แล้วเราเห็นตัวเองในกระจก แล้วเรารู้สึกดีกับร่างกายเรา หน้าเรา หุ่นเรา เรากลับมาดูแลตัวเอง ตอนที่เป็นซึมเศร้าไม่รู้ตัวเลยนะคะ"
แต่งหน้าเต็มไม่รอด It's not you!
สมัยที่คุณนาดาทำงานที่สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ผู้มีความหลากหลายทางเพศส่วนใหญ่ก็จะแต่งหน้าจัดเต็ม สไตล์งานผิวอย่างคุณนาดาแทบจะไม่มีเลย จนเธอเริ่มอยากแต่งจัดเต็มบ้าง แต่พอลองแต่งหน้าแบบจัดจ้าน กลับโดนเพื่อนๆ เบรกว่า "นี่ไม่ใช่เธอเลย"
ตั้งแต่นั้นมา เธอเลยเริ่มศึกษาวิธีแต่งหน้าตามเว็บบอร์ดต่างๆ (จีบันด้วยนะ) และติดตามบิวตี้บล็อกเกอร์ แต่ท้ายสุดก็ค้นพบว่า แต่งหน้าจัดเต็มไม่ใช่สไตล์ของนาดา ไชยจิตต์ เลย
พี่กะเทย ไม่เท่ากับ ช่างแต่งหน้า
ผู้หญิงโดยกำเนิด และทรานส์เจนเดอร์ คือประชากรส่วนใหญ่ในวงการบิวตี้ เมื่อเราถามคุณนาดาว่าคิดเห็นอย่างไรกับพื้นที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ คุณนาดาได้ให้ความเห็นว่า
"ก็ต้องยอมรับว่าตอนนี้บิวตี้บล็อกเกอร์ทรานส์เจนเดอร์ LGBTQIAN+ เยอะมากเลย อาจจะ stereotype ไปหน่อยว่า เออ เกิดมาเป็นทรานส์มันก็ทําได้แค่นี้แหละ วงการคอสตูม เสื้อผ้า หน้าผม แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือ มันเปิดโอกาส ผู้หญิงก็เยอะแยะ แต่เรายืนอยู่บนเวทีเดียวกัน อยู่หน้าบ้านเหมือนกัน"
"คอมมูนิตี้ผู้มีความหลากหลายทางเพศก็สนับสนุนด้านการแต่งหน้า แต่งตัว อย่างโครงการเรื่องสุขภาพของคนข้ามเพศ ก็จะมีกิจกรรมฝึกอาชีพ เช่น ฝึกแต่งหน้า หรือว่าน้องข้ามเพศแล้วก็เป็นคนพิการที่อยากเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ พวกเราก็ระดมทุนกัน บริจาคเครื่องสําอาง หรือเงินสดให้น้องไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆ"
"พี่กะเทยไม่เท่ากับช่างแต่งหน้า หลายคนก็แต่งไม่เป็นค่ะ แต่ว่าการที่เราแต่งหน้าได้เนี่ย ก็เป็นทักษะชีวิตอย่างหนึ่ง ถ้ามีติดตัวไว้ก็ดี"
3 บิวตี้ไอเท็มที่คุณนาดาชอบมาก
เห็นผิวคุณนาดาดูสดใสขนาดนี้ เราอดถามไม่ได้เคล็ดลับความงามคืออะไร เธอบอกว่าทริคดูแลผิวคือการใช้สกินแคร์สูตรน้ำ เน้นดื่มน้ำเยอะๆ เติมน้ำให้ผิว และนี่คือ 3 บิวตี้ไอเท็มที่คุณนาดาชอบมาก
- Clarins Lip Comfort Oil เน้นบำรุง ให้สีระเรื่อ
- Artistry Skin Nutrition Vitamin C+HA3 Daily Serum ช่วยให้หน้าดูโกลว์ ดูอิ่มฟู ตอบโจทย์เรื่องริ้วรอย
- Clinique Happy และ Clinique Happy Heart น้ำหอมกลิ่นโปรดที่พกติดตัวตลอด
จงอย่ายอมแพ้ในการเป็นตัวของตัวเอง
สุดท้าย สิ่งที่คุณนาดาอยากบอกกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่อยากแต่งหน้า แต่งตัว ให้ตรงเพศ แต่โดนจำกัดการแสดงออก คือ
"อย่าเพิ่งยอมแพ้ค่ะ จะบอกว่าอดทนก็รู้สึกว่าเราไม่ควรอดทนกับอะไรแบบนี้ แต่ว่าสถานการณ์แต่ละคนไม่เหมือนกันใช่ไหมคะ บางคนยังอยู่ในสถาบันการศึกษา หรือว่าอยู่ในครอบครัวที่ไม่เปิดรับ บางคนจะได้แต่งตัวก็ต่อเมื่อออกจากบ้านแล้ว
แต่ทุกครั้งที่คุณมีโอกาส จงใช้เวลากับมันอย่างเต็มที่ ทุกรองพื้นที่คุณปาดลงไปบนผิว ทุกมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่คุณใช้ ทุกลิปสติกที่คุณทา ทุกแปรงปัดหน้า มาสคาร่าที่คุณใช้ ถ้ามันบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนคุณ คุณจงใช้เวลาอยู่กับมันอย่างมีความสุขที่สุด"
แต่ทุกครั้งที่คุณมีโอกาส จงใช้เวลากับมันอย่างเต็มที่ ทุกรองพื้นที่คุณปาดลงไปบนผิว ทุกมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่คุณใช้ ทุกลิปสติกที่คุณทา ทุกแปรงปัดหน้า มาสคาร่าที่คุณใช้ ถ้ามันบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนคุณ คุณจงใช้เวลาอยู่กับมันอย่างมีความสุขที่สุด"
ขอบคุณคุณนาดา ไชยจิตต์ ที่มาแชร์ประสบการณ์และพูดคุยกับเรา ความงามมีหลากหลายรูปแบบ เหมือนกับคำนิยามทางเพศ ที่ไม่ได้ถูกจำกัดแค่แบบเดียว
อ่านบทสัมภาษณ์ชาว LGBTQIA+ เพิ่มเติม
- ตัวตนของ LGBTQIAN+ หลากหลายแต่ไม่ถูกยอมรับ ทำไมการเป็นตัวเองเป็นเรื่องยากนัก
- แต่งหญิงแล้วไม่คลิก ลุคแมนชิคๆ ก็ยังไม่ใช่ ถอดบทเรียน Non-Binary กับ เจมส์ Badbitch
- ตุ๊ด? เกย์? ฉันก็คือฉัน “อาร์ม นรวิชญ์” แก้มบ่มแดดและหมวกเบเร่ต์ ทำไมจะหล่อเท่และน่ารักพร้อมกันไม่ได้
- ตัวตนที่ถูกจำกัดในกรอบราชการ "อีฟ สุพิชชา" Pansexual ผู้ชอบแต่งตัวโลลิต้าและทำสีผมพาสเทล
- คิวเบเล่ย์ คณาสิต อดีตผู้ถูกตีตราว่าตุ๊ดง่อย สู่ผู้ก่อตั้ง Non-Binary Thailand ที่มาพร้อมปากสีแดงสุดมั่น
- เมื่อทรานส์แมนต้องหุ่นล้ำบึ้ก แต่ปาร์คเกอร์ Transmasculine ขอแหวกแนวเป็นเด็กอีโมร่างบาง
- เฟลอร์ สิรินทร์ เป็นผู้หญิง เป็น Bisexual เป็นคนแซ่บ ที่ใช้รอยสักประกาศตัวเอง