คิวเบเล่ย์ คณาสิต อดีตผู้ถูกตีตราว่าตุ๊ดง่อย สู่ผู้ก่อตั้ง Non-Binary Thailand ที่มาพร้อมปากสีแดงสุดมั่น
Alice Kerdplanant 28 11
นอนไบนารี่ (Non-Binary) คือคำนิยามทางเพศสำหรับผู้อยู่ที่นอกระบบชายหรือหญิง และไม่ได้ยึดติดกับระบบสองเพศ (ชาย-หญิง เท่านั้น)
ถือว่าเป็นสเปกตรัมที่นอกกรอบความเชื่อเดิมของคนทั่วไปว่าเพศมีแค่ชายหรือหญิงเท่านั้น ต่อให้จะข้ามเพศ เป็นเกย์ ทอม เลสเบี้ยน ก็ควรจะดู แมน หรือ สาว การเดินทางค้นพบตัวเองของนอนไบนารี่จึงเต็มไปด้วยขวากหนาม เพราะดูไม่เข้าพวกกับกลุ่มไหนเลย
สำหรับเรา คุณคิวเบเล่ย์ คณาสิต พ่วงอำไพ เลยเป็นคนกล้าหาญมากที่สู้กับสังคมจนกลายเป็นตัวเองในทุกวันนี้
ทำความรู้จัก นอนไบนารี่ ผ่านคุณคิวเบเล่ย์
คุณคิวเบเล่ย์ คณาสิต พ่วงอำไพ (xe / xem / xirs) นักขับเคลื่อนสิทธิเพื่อความหลากหลายทางเพศ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Non-Binary Thailand และทำงานกับพรรคก้าวไกลในประเด็นความหลากหลายทางเพศ
คุณคิวรู้ตัวตั้งแต่ 7 ขวบว่าตัวเองแสดงออกต่างไปจากเด็กชายคนอื่น ทั้งตุ้งติ้ง ออกสาว คลุกคลีอยู่กับเด็กผู้หญิง และไม่พอใจเวลาโดนเรียกว่าเด็กผู้ชาย แต่ก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองอยากเป็นผู้หญิง เพียงแต่ว่ายี่สิบกว่าปีก่อนยังไม่มีคำเรียกเพศที่หลากหลาย ถึงมีก็มีแต่คำว่าตุ๊ด กะเทย ดี้ เกย์
ผ่านไปหลายปีจนคุณคิวอายุ 25 เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย และเป็นโรคซึมเศร้า เลยมีเวลาสำรวจตัวเอง และได้รู้จักคำว่านอนไบนารี่ครั้งแรก
"แค่บรรทัดเดียว เรารู้เลยว่า เนี่ย คือเรา นี่แหละคือคําที่เราตามหา สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือความตื้นตันใจ ขนลุก ร้องไห้ ทั้งดีใจทั้งเสียใจ ตื้นตันใจว่าเราได้ค้นพบคำที่ใช้เรียกตัวเองแล้ว แล้วก็เริ่ม เอ๊ะ ยังมีคนอื่นอีกไหม แต่ถ้าคนที่เป็นเหมือนเราที่ไม่รู้จักตัวเองแล้วต้องเจ็บปวด ต้องซึมเศร้าล่ะ"
"แน่นอนทุกคนก็โตมาในสังคมระบบสองเพศ ชายเป็นใหญ่ แล้วคิวถูกพ่อส่งไปเรียนโรงเรียนชายล้วนด้วย เขาต้องการดัดนิสัยให้เราเป็นผู้ชาย แต่โรงเรียนชายล้วนนี่แหละ ทําให้ปัญหาเพิ่มมากขึ้น เพราะมันเข้มข้นไปด้วยความเป็นชาย Toxic Masculinity (ความเป็นชายที่เป็นพิษ) อะ แต่เราเด็กใหม่ เดี๋ยวก็ไปเจอกลุ่มเพื่อนที่เป็นคนข้ามเพศ กะเทย อะไรอย่างงี้ แต่เชื่อไหมคะ พอเราอยู่ตรงนั้นจริงๆ แล้ว เนี่ย เราไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มไหนเลย"
เป็น "ตุ๊ดง่อย" ในสายตากะเทยโรงเรียนชายล้วน
"อย่างเพื่อนที่เรียกตัวเองว่าเป็นกะเทย เขาจะมีระบบโซตัส ตอนวันแรกที่เราไปเรียน ที่เสาธง เราสังเกตว่ารุ่นพี่กะเทยพยายามสลับกันมาดูอะไรสักอย่าง ว่ามีกะเทยคนอื่นมั้ย แล้วเขาก็เรียกกันไปรวมตัว มีอบรมจากรุ่นพี่ ซึ่งเขาก็มองเราแต่แบบ เอ๊ะ คนนี้เรียกดีไหมนะ สุดท้ายเราไม่ถูกเรียกไป เพราะเขาไม่รับว่าเราควรจะเป็นกลุ่มเดียวกับเขา"
"เรามารู้ตอนหลังตอนอยู่ม.ปลายว่า นอกจากไม่รับเราเข้ากลุ่ม เขายังใช้เราเป็นตัวเปรียบเทียบว่าเป็นคนที่ไม่มีจุดยืนของตัวเอง ไม่มีคุณสมบัติที่ดีของการเป็นกะเทย เขาจะเรียกคิวว่า ตุ๊ดง่อย ก็คือ ตุ๊ดที่ไม่มีความสามารถ ไม่สวย งานศิลปะไม่ได้"
"เราก็เป็นคนหลากหลายทางเพศเหมือนกัน แต่ก็ยังมีแบ่งความงามมาตรฐานของกลุ่มว่ากระเทยจะต้องสวย กะเทยจะต้องมีความสามารถ แล้วพออยู่ในสังคมเกย์ เกย์ก็ไม่ยอมรับเราอีก เพราะว่าเกย์บูชาความแมน ต้องเล่นกล้ามแต่งตัวเหมือนผู้ชาย"
ลิปสติกสีแดง คืออัตลักษณ์ของคิวเบเล่ย์
ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์แบบไหน คุณคิวเบเล่ย์ขอทาปากแดงไว้ก่อน เพราะเป็นตัวช่วยเสริมความมั่นใจ และแสดงความเป็นตัวเองมากที่สุด
"สีแดงบนปากคิวเนี่ย น่าจะคล้ายๆ ที่คนบอกว่า ปากไม่แดงไม่มีแรงเดิน แต่นอกจากนั้นแล้ว มันสื่อสารเรื่องความกล้า ความทรงพลัง ความมั่นใจของเรา และยังเป็นอัตลักษณ์ของเราด้วย คิวไม่ได้ใช้ฮอร์โมน เพราะฉะนั้นลิปสติกจึงเป็นสิ่งเดียวที่บ่งบอกว่าเราไม่ได้เป็นผู้ชายที่อยู่ในนอร์ม เพื่อยืนยันว่าเราเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เราเป็นนอนไบนารี่"
"ถ้าใครบอกว่าห้ามทาลิปสติก มันไม่ใช่แค่ห้ามไม่ให้เราแต่งหน้าเสริมความมั่นใจอย่างเดียว แต่มันคือการลบเลือนอัตลักษณ์ของเราด้วย อัตลักษณ์ทางเพศมันอยู่ภายใน แต่สิ่งที่คนเห็นมันคือการแสดงออกทางเพศ ผ่านการแต่งกาย จริตเสื้อผ้าหน้าผม เพราะฉะนั้นลิปสติกที่คิวพยายามสื่อสารจากภายในว่าเราหลุดพ้นจากระบบสองเพศ"
"แต่อย่างช่วงโควิดที่ต้องใส่หน้ากากก็สูญเสียความมั่นใจไปเหมือนกัน"
มั่นใจแค่ไหน แต่สายตาคนรอบข้างก็ทำให้หวั่น
"วันนี้ตื่นมา ฉันอยากจะแต่งตัว แต่งหน้า ทาปาก เลือกชุดสวยๆ มั่นใจละ แต่ทันทีที่เราจะก้าวขาออกจากประตูบ้าน สิ่งที่ต้องกังวลตามมาคือผู้คนในสังคมจะปฏิบัติกับเรายังไงนะ เราไม่ได้คิดไปเอง มันคือประสบการณ์ที่คิวก็ยังเจออยู่ถึงทุกวันนี้ สายตา คำนินทาของคนรอบข้าง"
"อย่างเวลาเราไปดูเสื้อผ้าโซนผู้หญิงแบบเอนจอยๆ พนักงานก็เดินมา เอ่อ คุณผู้ชายต้องการเลือกซื้อชุดอะไรคะ ก็ทําให้เรารู้สึกแย่แล้ว เหมือนกับว่านี่ไม่ใช่โซนของคุณนะ แล้วก็ยังจะเรียกเราว่าคุณผู้ชายซ้ำๆ รู้สึกว่า เฮ้ย! เราก็แต่งขนาดนี้ เรียกคุณลูกค้าไม่ได้เหรอ"
"ต่อให้เราจะบอกว่า เอ้ย! ไม่ต้องแคร์หรอก เราเป็นตัวของเรา มันเป็นสิทธิของเรา แต่เวลาเราต้องไปอยู่ตรงนั้น พลังงานของเราหนึ่งคนกับพลังงานลบของคนทั้งสังคม มันต่างกันนะ ต่อให้เราจะเก่งแค่ไหน คุณก็สู้กับแรงกดดันมหาศาลของสังคมไม่ได้ตลอดหรอก"
วงการบิวตี้และแฟชั่นที่เหมือนจะเปิดกว้าง แต่ก็ยังมีกรอบ
แม้ปัจจุบันคำว่า Androgynous (มีลักษณะของทั้งชายและหญิง) และ Unisex (ใส่ได้ทั้งเพศชายและหญิง) จะเป็นเทรนด์ในวงการแฟชั่น แต่เมื่อเราถามคุณคิวเบเล่ย์ว่าคิดเห็นอย่างไรกับพื้นที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ คุณคิวเบเล่ย์ตอบว่า
"ในวงการแฟชั่นจริงๆ คิวรู้สึกว่ามันยังมีกรอบบางอย่างอยู่ บิวตี้สแตนดาร์ดถูกครอบงําโดยระบบสองเพศนะ คือเราจะมองเห็นมาตรฐานความงามแบบผู้ชาย มาตรฐานความงามแบบผู้หญิงอย่างชัดเจน ส่วนมาตรฐานความงามแบบผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกมองว่าต้องดูจัดจ้าน ดูแหวกไปเลย ซึ่งมันไม่ธรรมชาติ แน่นอนว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้แต่งตัวจัดจ้านตลอดเวลา"
"เพราะฉะนั้นแล้วแฟชั่นอาจจะสะท้อนความสุดโต่งของความหลากหลายทางเพศมากเกินไป จนบางทีไม่มีพื้นที่ให้คนที่ดูจืดๆ หรือสเปกตรัมอื่นๆ ว่าจริงๆ แล้ว เขาก็อาจจะอยากได้ลุคทํางาน ลุคธรรมดาที่ไม่ต้องแต่งตัวจัด"
ขอให้กำลังใจผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคน
สุดท้าย สิ่งที่คุณคิวอยากฝากถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่โดนจำกัดการแสดงออก คือ
"อยากกอด อยากให้กำลังใจ อยากจะบอกว่าขอบคุณที่เกิดมาแล้วยังมีชีวิตอยู่ อาจจะฟังดูแปลก แต่เรารู้สึกว่าแค่พวกเราได้เติบโตขึ้นมาและใช้ชีวิตในสังคมนี้ได้ ก็เก่งกันมากแล้ว"
"ถ้ายังไม่มั่นใจในตัวเอง ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอัตลักษณ์ไหน เริ่มต้นจากการศึกษาบทความก่อน แล้วหลังจากนั้นหาชุมชน หรือเพื่อนสักคนที่ไว้ใจได้ พูดคุยและปรึกษาเขา แต่ถ้ามั่นใจมากขึ้น อยากลองไปเรียนรู้ ก็แนะนํากลุ่มตัวเองก่อนเลยค่ะ Non-Binary Thailand เป็นกลุ่มปิดในเฟซบุ๊ก เข้ามาเรียนรู้ในพื้นที่ที่ปลอดภัยตรงนี้ก่อนได้"
"ส่วนการค้นหาตัวเอง ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องกดดันตัวเอง ใช้เวลาไปทั้งชีวิต การค้นหาของคุณ ไม่จําเป็นต้องสิ้นสุดลง ใช้เวลากับตัวเองให้มีความสุข ดําเนินชีวิตของเราต่อไป ค่อยๆ ค้นหา แต่หาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คุณอาจจะเป็น Questioning ยังไงคุณก็คือคนหนึ่งในคอมมูนิตี้"
ขอบคุณคุณคิวเบเล่ย์ คณาสิต พ่วงอำไพ ที่มาแชร์ประสบการณ์และพูดคุยกับเรา แม้แต่เรื่องเพศก็ยังมีหลากหลายสเปกตรัมให้ค้นหา สิ่งที่ใช่อาจจะไม่ต้องซ้ำกับคนอื่นก็ได้ ความงามก็เช่นกัน
อ่านบทสัมภาษณ์ชาว LGBTQIA+ เพิ่มเติม
- ตัวตนของ LGBTQIAN+ หลากหลายแต่ไม่ถูกยอมรับ ทำไมการเป็นตัวเองเป็นเรื่องยากนัก
- แต่งหญิงแล้วไม่คลิก ลุคแมนชิคๆ ก็ยังไม่ใช่ ถอดบทเรียน Non-Binary กับ เจมส์ Badbitch
- ตุ๊ด? เกย์? ฉันก็คือฉัน “อาร์ม นรวิชญ์” แก้มบ่มแดดและหมวกเบเร่ต์ ทำไมจะหล่อเท่และน่ารักพร้อมกันไม่ได้
- ตัวตนที่ถูกจำกัดในกรอบราชการ "อีฟ สุพิชชา" Pansexual ผู้ชอบแต่งตัวโลลิต้าและทำสีผมพาสเทล
- เมื่อทรานส์แมนต้องหุ่นล้ำบึ้ก แต่ปาร์คเกอร์ Transmasculine ขอแหวกแนวเป็นเด็กอีโมร่างบาง
- ชีวิตนอกกรอบของ นาดา ไชยจิตต์ Intersex Trans กะเทยก็เผยงานผิวได้ ไม่จำเป็นต้องแต่งแรง
- เฟลอร์ สิรินทร์ เป็นผู้หญิง เป็น Bisexual เป็นคนแซ่บ ที่ใช้รอยสักประกาศตัวเอง